ผู้ลี้ภัยไม่ได้ต่างจากเราในแง่ความรู้สึกของการเป็นมนุษย์หนึ่งคน ทั้งความสุขและความเศร้า
ไม่น่าเชื่อว่าเก้าอี้ 3 ตัว และแว่นตา 3 อัน จะกลายเป็นเครื่องมือพาเราเข้าไปรับรู้เรื่องราวของผู้ลี้ภัยทั้ง 3 คนได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที
1
เจมี่ เด็กหนุ่มชาวมองตาญาด ชนกลุ่มน้อยเอเดผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศเวียดนาม ถูกคุกคามจากรัฐ เนื่องจากขัดแย้งทางศาสนาจนต้องลี้ภัยมาเป็นกรรมกรที่ประเทศไทย เขามีความฝันอยากกลับไปช่วยพัฒนาเรื่องสิทธิเสรีภาพให้คนในประเทศตัวเอง
2
อาลี เธอเกิดและโตที่โซมาเลีย อาศัยอยู่กับคุณยายในหมู่บ้านชนบท แต่เหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชนเผ่า ทำให้คุณยายเสียชีวิต เธอไปเป็นสาวใช้ในบ้านหลังหนึ่งจนได้พบรักกับหลานชายเจ้าของบ้านแต่กลับถูกกีดกันเพราะมีทางสถานะที่ต่าง เธอถูกครอบครัวฝ่ายชายไล่ล่าและตามก่อกวนจนลูกชายเสียชีวิต จนเธอต้องหนีไปซาอุดิอาระเบีย และพาลูกๆ ที่เหลือลี้ภัยมาที่ประเทศไทย
3
เวนดี้ อดีตผู้ประกอบการชาวจีน ดีกรีดอกเตอร์ที่ให้การช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกอำนาจมืดจากรัฐบาลท้องถิ่นทำร้าย จนตัวเองถูกคุกคามและต้องหลบหนีมาประเทศไทยในที่สุด
จิรวัฒน์ เอื้อสังคมเศรษฐ์ ศิลปินผู้ทำงานด้านวิดีโอและภาพยนตร์ ผู้จัดทำนิทรรศการ ‘ฉันไม่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในโลกความจริงของคุณ’ ว่าด้วยประเด็นผู้ลี้ภัยที่พาผู้เข้าชมไปพบอีกโลกหนึ่งที่ไม่ถูกมองเห็น ผ่านการใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) และวัตถุเสมือน (AR)
WAY ชวน จิรวัฒน์ คุยถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการ ตลอดจนมุมมองต่อความเป็นมนุษย์ รวมถึงเรื่องราวระหว่างทางขณะทำงานกับผู้ลี้ภัย เพราะการเดินทางในเส้นทางศิลปินของจิรวัฒน์ ทำให้เขาเจอกับเพื่อนในโลกคู่ขนาน เพราะถึงแม้ ‘ผู้ลี้ภัยในเมือง’ จะมีตัวตน แต่เรากลับไม่เคยมองเห็นพวกเขาเลย พวกเขาต้องเผชิญกับการจองจำที่น่าเศร้า ต้องทนอยู่กับความกลัวอย่างหดหู่ เพราะช่องโหว่ของกฎหมายที่พร้อมเล่นงานพวกเขาได้ทุกเมื่อ แม้เขาจะยืนยันสถานะลี้ภัยจาก UNHCR แล้วก็ตาม
โปรเจ็คต์นี้เริ่มขึ้นได้อย่างไร
ต้องบอกก่อนว่า การเดินทางครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว โปรเจ็คต์นี้ได้รับความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น Amnesty International Thailand หรือ Asylum Access Thailand ทั้งคู่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องข้อมูล รวมถึงเป็นผู้ประสานงานต่างๆ จนทำให้นิทรรศการนี้เกิดขึ้นได้
คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการคือการทำให้ ‘มองเห็น’ สิ่งที่ ‘มองไม่เห็น’ สมมุตินะ สมมุติคุณเห็นกำแพง คุณนึกถึงอะไร? บางคนเห็นกำแพงตั้งเฉยๆ บางคนอาจจะมองเห็นไปถึงแรงงานที่ก่อสร้างกำแพงนี้ขึ้นมา เราจึงพยายามตั้งคำถามในโปรเจ็คต์นี้ ผ่านการรับรู้ของคน
ย้อนกลับไปก่อนหน้า เราเริ่มต้นสนใจคำว่า ‘นักโทษทางความคิด’ เรามองว่าอาชญากรรมไม่ควรเกิดขึ้นเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง ไม่มีใครสมควรถูกตัดสินว่าเขาเป็นอาชกรเพียงเพราะเขาคิดต่าง เพราะความคิดเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและลื่นไหล ความพยายามควบคุมจากผู้มีอำนาจต่างหากที่เป็นปัญหา การควบคุมที่ไม่ยุติธรรมจนทำให้คนเหล่านี้ต้องเดินทางออกจากประเทศตัวเองคือสิ่งที่มีปัญหา
ตอนที่พัฒนาโปรเจ็คต์นี้ไปเรื่อยๆ เราพบว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ภายใต้ม่านหมอกของปัญหานี้ เราจึงเริ่มศึกษาในประเด็น ‘ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมือง’ ขึ้นมาก
พอเราเริ่มทำงานเรื่องนี้ไปสักพัก เราพบว่าประเทศไทยยังมีความผิดฝาผิดตัวในประเด็นผู้ลี้ภัยอยู่มาก แม้มีคนพยายามจะสื่อสารว่า ผู้ลี้ภัยเขาเพียงต้องการอยู่ที่ประเทศไทยเพื่อเดินทางต่อนะ แต่ก็ไม่อาจสลัดอคติที่เกิดขึ้นได้ เรายังมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นอื่น มองผู้ลี้ภัยเป็นคนที่อันตราย หลายๆ ปัจจัยหล่อหลอมระบบความคิดของเรา จนทำให้เกิดภาพจำว่าผู้ลี้ภัยคือคนไม่ดี คนที่สร้างปัญหา สมควรแล้วที่เขาจะต้องถูกเนรเทศ มันตอกย้ำกับภาพจำเดิมๆ ที่คิดว่าสุดท้ายแล้วผู้ลี้ภัยก็คือกลุ่มคนที่เคยทำอะไรไม่ดี เขาไม่ควรจะมาอยู่ในประเทศเรา
ทุนเดิมเราเป็นคนสนใจเรื่องประเด็นสังคมและชอบศึกษางานเกี่ยวกับคนอยู่แล้ว ย้อนไปเมื่อ 4-5 ปี เราเคยทำงานในประเด็น ‘คนที่ถูกอุ้มหาย’ เช่น บิลลี่ ทนายสมชาย ประเด็นเหล่านั้นมีส่วนคล้ายนิทรรศการนี้เหมือนกันตรงที่เรามักเชื่อว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่มีทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน แต่ความจริงแล้วคนที่หายไป หรือการเกิดผู้ลี้ภัย มันอาจจะใกล้ตัว เป็นคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่แหละ ไม่ใช่คนใหญ่คนโตอะไรเลย สักวันหนึ่งมันจะเกิดกับใครก็ได้
คุณใช้ VR และ AR ในการเล่าเรื่องผู้ลี้ภัย ช่วยเล่ากระบวนการทำงานในนิทรรศการครั้งนี้ให้ฟังหน่อย
เรานำประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นตัวตั้ง แล้วคิดหาวิธีการสื่อสาร จึงค้นหาเครื่องมือที่จะมารับใช้ ซึ่งการทำงานศิลปะไม่ควรจะยึดโยงว่าเราจะทำงานแค่ภาพถ่ายหรือวาดรูปบนแผ่นแคนวาสเท่านั้น ทุกอย่างเป็นเครื่องมือได้หมด เราจึงสนใจเทคโนโลยีและเลือกใช้มันเป็นเครื่องมือสื่อสาร
จริงๆ แล้ว virtual reality (VR) และ augmented reality (AR) ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย มีงานศิลปะมากมายที่ใช้เทคโนโลยีเช่นนี้เป็นตัวเล่า เพราะความสามารถของ virtual reality (VR) มันคือการสร้างโลกเสมือน เมื่อคุณต้องสวมแว่นตาอันใหญ่เพื่อรับชม นั่นเท่ากับว่าคุณได้ตัดบริบทรอบๆ ออกไปและมันพาคุณออกไปนอกพื้นที่ พาคุณไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย ไปที่ไหนก็ได้ ซึ่งมันสอดคล้องไปกับธรรมชาติในการเดินทางของผู้ลี้ภัยเหมือนกันนะ
ความน่าสนใจของ VR คือการเปลี่ยนแปลงเวลาและพื้นที่ มันพาคนที่เข้ามาชมไปเจอกับอะไรต่างๆ ทั้งที่เขายังนั่งอยู่ที่เดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปคือห้วงเวลา ก็เหมือนธรรมชาติของผู้ลี้ภัยเขาใช้ชีวิตอยู่กับเรา เขากินข้าว เขาเดินสวนกับเรา แต่เราแค่ไม่เห็นเขา ห้วงเวลาของเราและเขาที่มันเดินคู่ขนานกันไป เทคโนโลยี VR จึงเข้ามาตอบโจทย์และผมจึงเลือกใช้มันเพื่อสำรวจและทำความรู้จักกับห้วงเวลาของผู้ลี้ภัยที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่นเดียวกับ AR ที่เน้นคือการเพิ่มหรือเสริมให้มีรายละเอียดขึ้นมา ลักษณะโดยรวมของเทคโนโลยีทั้งคู่นี้ไม่ได้ต่างกันในเชิงการนำเสนอ เป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องที่ดี
เทคโนโลยี AR VR ไม่ยากเกินไปหรือสำหรับการสื่อสารประเด็นนี้
ที่เราใช้เทคโนโลยี AR VR เป็นเครื่องมือ เพราะต้องการพูดถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่ให้ปรากฏขึ้น ซึ่งผู้ชมงานจะได้สัมผัสประสบการณ์ของผู้ลี้ภัยในเมืองที่เรามองไม่เห็นหรือมองข้ามได้ด้วยสายตาปกติ มันอาจจะยาก ยากเพราะเราไม่คุ้นชินกับการใช้และการผลิตมันมากกว่า มันจึงเกิดระยะแปลกๆ ขึ้นบ้าง ในฐานะคนทำงาน เราก็ไม่ได้เก่ง หรือทำงานออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราหวังว่าจะมีศิลปินท่านอื่นๆ นำวิธีการ วิธีคิด และเครื่องมือนี้ไปพัฒนาต่อให้แข็งแรง
จุดประสงค์ของนิทรรศการนี้คืออะไร
จุดประสงค์มีหลายสเต็ปมาก แน่นอนว่าความคาดหวังสูงสุดของเราคือการที่เราสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ อย่างน้อยทำให้มีการจัดการเกิดขึ้นมา แต่คำว่าจัดการมันเป็นไปได้หลายทาง เราไม่ได้ฟันธงว่ารัฐไทยต้องปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยแบบไหน แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรามองเห็นพวกเขาก่อนก็ยังดี
เพราะการมองเห็นนำไปสู่การรับรู้และเกิดการถกเถียง เราแค่หวังว่าสักวันหนึ่งประเทศของเราน่าจะนำเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอย่างจริงจัง พูดกันเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่าประเทศเราพร้อมในการดูแลผู้ลี้ภัยหรือไม่ หรือเราจะจัดการอย่างไร ถ้าผลสรุปออกมาว่าประเทศของเราไม่พร้อม ก็คือไม่พร้อม ก็หาทางออกกันไป แต่ปัญหาคือตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะลักลั่นทางกฎหมาย
ปัจจุบันประเทศไทยมีสำนักงาน UNHCR ตั้งอยู่ นั่นแปลว่าเรายอมให้ผู้ลี้ภัยเข้ามาขอสถานะได้ เพื่อให้เขาเดินทางไปยังประเทศที่สามต่อ แต่ระหว่างที่ให้สถานะลี้ภัยเขาแล้ว เราไม่มีกฎหมายอะไรที่รองรับสถานะนั้นเลยและนั่นหมายถึงความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับ เขาหวาดกลัว เครียด บางคนก็ไม่มีความสุข ถึงแม้เขาจะได้บัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยแล้วก็ตาม ซึ่งเราว่านี่คือเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะฉะนั้นโจทย์แรกของเราคือการทำให้มองเห็น ท้ายที่สุดมันอาจจะนำไปสู่การตั้งคำถาม และอาจจะไปเขย่ามายาคติอะไรบางอย่างที่คนไทยใช้มองผู้ลี้ภัยก็เป็นได้
คุณต้องการเปลี่ยนภาพจำหรือการรับรู้ต่อผู้ลี้ภัยไปสู่การรับรู้แบบไหน
อย่างที่บอกว่าบางคนอาจจะมีชุดความคิดบางอย่างที่ใช้มองผู้ลี้ภัย มองแบบภาพจำเดิมๆ มองว่าเขาอาจจะเป็นคนที่การศึกษาไม่สูงหรือมองว่าเขาคือคนร้าย
ในงานของเรานำเสนอผ่านสิ่งที่เราเจอ เราเจอผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ประกอบการที่จบปริญญาเอกจากอังกฤษ เขาต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยเพราะเขาทำงานให้ช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกทำร้ายจากรัฐบาลท้องถิ่น จนถูกคุกคามจากภาครัฐ และเขาต้องหนีเข้าประเทศไทย แม้เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังรอเดินทางต่อ แต่ระยะเวลากว่า 4 ปีที่เขารอ มันหดหู่และมืดมิด เขาต้องอยู่ในห้องแถวเงียบๆ ใช้เงินเก็บที่มีไปเรื่อยๆ เพราะไม่คิดว่าจะอยู่นาน เขาหวังว่าจะอยู่ให้พอแค่รอวีซ่าเพื่อย้ายไปประเทศอื่น ช่วงเวลาที่ยาวนานนี้ เขาต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เงียบๆ ทำงานอะไรไม่ได้ มีแค่คอมพิวเตอร์เครื่องเดียวซึ่งก็ต้องระวังในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมาก ในทุกๆ วัน เขาต้องพยายามทำให้ตัวเองจางหายไป เพราะเมื่อไรก็ตามที่ตัวเขาปรากฏนั่นหมายถึงเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองถูกกระทำมากขึ้น
เช่นเดียวกับอีกเคสหนึ่งเป็นเด็กเวียดนามอายุ 17 ที่ลี้ภัยเข้ามาในประเด็นศาสนา เรามักคิดว่าผู้ลี้ภัยที่มักเข้ามาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองเพียงอย่างเดียวแต่ความจริงไม่ใช่ คริสเตียนในประเทศเวียดนามจะนับถือพระเจ้าเป็นจุดสูงสุด แต่คุณพ่อของคนนี้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณท้องถิ่น เป็นตัวแทนสื่อสารกับพระเจ้าที่ถูกคัดเลือกโดยชาวบ้าน แต่รัฐบาลมีการพยายามเข้าไปแทรกแซงในการคัดเลือกครั้งนี้ จึงมีความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวของเขา พ่อของเขาจึงถูกไล่จับ ครอบครัวของเด็กคนนี้จึงตัดสินใจส่งตัวเด็กคนนี้เข้ามายังประเทศไทยเพื่อย้ายไปประเทศที่สาม ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย เด็กคนนี้จึงต้องทำงานทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ตั้งแต่กรรมกร เป็นแรงงาน ซึ่งความฝันของเขาคือการกลับไปเวียดนาม เพื่อทำงานสานต่อในประเด็นเรื่องสิทธิ ผมว่ามันเจ๋งมากเลยนะ ที่เด็กคนนี้เขาเข้มแข็งและไม่คิดว่าสิ่งที่เขาเจอมันคือเรื่องที่ต้องเผ่นหนี
คุณพูดคุยเรื่องไหนกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้
เราคุยกันเหมือนเพื่อนเลย ยอมรับว่าตอนแรกที่เริ่มทำงาน เรามีความ empathy ในใจอยู่จนล้น เราเข้าไปด้วยความสงสาร แต่พอทำงานกับผู้ลี้ภัยไปเรื่อยๆ ความรู้สึกนั้นมันไม่จำเป็น เพราะบางครั้งความรู้สึกเหล่านั้นมันทำให้เขารู้สึกแตกต่าง ผมเชื่อว่าผู้ลี้ภัยหลายๆ คน เขาก็ไม่ต้องการให้สงสาร ฉะนั้นเนื้อหาในนิทรรศการจึงหลีกเลี่ยงการสื่อสารความดราม่าแบบนี้ไป
ผมต้องการให้คนที่เข้ามาชมนิทรรศการไม่เจอกับชีวิตที่ดราม่า เพราะเราไม่ได้เล่าเรื่องที่ทุกข์ทรมานของพวกเขาอย่างชัดเจน เราทำให้เห็นถึงเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ related ได้ ทำให้เราเห็นผู้ลี้ภัยในฐานะของเพื่อนมนุษย์ ในฐานะของแม่คนหนึ่ง ในฐานะของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน หรือในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่ง ผมเข้าใจว่าทุกคนมีภาพจำในการมองผู้ลี้ภัยอยู่ แต่นิทรรศการนี้ทำให้เห็นว่า ‘เฮ้ย พวกเขาเป็นมนุษย์แม่ เป็นมนุษย์ลูก เป็นมนุษย์พ่อ เหมือนกับทุกๆ คนเลย’
ทำไมประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ถึงเป็นพื้นที่หอมหวานของผู้ลี้ภัย
เราว่าที่ผู้ลี้ภัยเขาเลือกที่จะมา มี 2 เหตุผลหลัก 1. ประเทศไทยมีสำนักงานผู้ลี้ภัย 2. ค่าครองชีพไม่สูง ถึงแม้ผู้ลี้ภัยบางคนเข้ามาอาจจะไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แต่การต้องหนีจากบางสิ่งเป็นระยะนานๆ เป็นเรื่องนอกเหนือแผนชีวิตของพวกเขา ประเทศไทยและกรุงเทพฯ จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างโอเค
คิดอย่างไรกับผู้ลี้ภัยไทยที่ย้ายไปอยู่ที่อื่น
ถ้าถามเรา เราก็อยากพูดประเด็นนี้ แต่เรารู้ว่ามันมีความละเอียดอ่อนมาก เราอยากให้นิทรรศการนี้เปิดประเด็นและเป็นตัวจุดชนวนถึงการมองเห็นคำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ ก่อน อยากให้คนที่เข้ามารับชมไม่ได้ถูก set up ด้วยข้อมูลอะไรบางอย่างไว้ แต่เราหวังใจไว้อย่างหนึ่งว่าถ้ามองเห็นความเป็นผู้ลี้ภัยในเมืองไทยแล้ว เราก็จะมองเห็นผู้ลี้ภัยไทยที่ไปอยู่ที่อื่น ถ้าถามว่าคิดเห็นอย่างไร ผมมองว่าเรื่องนี้มันไม่ต่างจากการเป็นนักโทษทางความคิดอย่างที่ได้กล่าวไป มันไม่ถูกต้องหรอก
อีกอย่างที่เป็นโจทย์สำคัญคือถ้าพูดถึงคนที่ต้องหลบลี้หนีภัยทางการเมืองเพียงเพราะเขาเห็นต่าง ผมว่าเรื่องนี้ใกล้ตัวเรามากขึ้น อาจจะเกิดขึ้นกับเราก็ได้ในสักวัน เราอาจจะคิดว่าไม่เป็นไร ฉันอยู่ข้างเดียวกับรัฐ ฉันคิดเหมือนรัฐ แต่ต้องอย่าลืมว่าไม่มีอะไรการันตีว่าอำนาจรัฐจะไม่เปลี่ยนแปลง สักวันคุณอาจจะกลายเป็นคนที่เห็นต่างก็ได้ และถ้าเรายอมรับและก้มหัวให้มาตรการที่รัฐจัดการกับประชาชนแบบนี้ได้ อะไรจะเกิดขึ้นในสังคมคุณอาจจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยก็ได้ เราควรไม่เห็นด้วยในมาตรการนี้หรือเปล่า
ท่ามกลางความแตกแยกทางการเมืองในปัจจุบันนี้ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องคิดเหมือนกันนะ การมีความคิดเห็นทางการเมืองที่ต่างกันคือความสวยงามด้วยซ้ำ แต่สิ่งสำคัญคือมาตรการที่นำมาจัดการกับคนที่เห็นต่างมากกว่าที่เราไม่ควรจะยอมรับ
คุณกำลังบอกว่า คนไทยต้องทำความรู้จักคำว่าผู้ลี้ภัยใหม่
ใช่ครับ ปัจจุบันจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองที่อาศัยบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวนประมาณ 6,500 คน ถ้าเทียบกับประชากรไทยในประเทศ ไม่ใช่จำนวนที่เยอะ มันเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่มองว่านั่นเป็นแค่ตัวเลข แต่มอง 6,500 คือชีวิตคน เขาเป็นคนที่กินข้าวเหมือนกับเรา เขามีญาติพี่น้อง เขาเป็นคนมีความรัก เขาคือคนที่มีความทุกข์ มีความต้องการ ถ้าเรามองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ต่อให้มีหลักสิบคนมันไม่น้อยนะครับ
บางทีนับจากสถานการณ์ตอนนี้ การที่เขาลี้ภัยมาอยู่ในกรุงเทพฯ มันไม่ใช่เรื่องหอมหวานและความโรแมนติกอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นกับดัก ผู้ลี้ภัยทุกคนมีความฝันที่ย้ายไปประเทศที่สาม เขาคิดว่าตัวเองปลอดภัย เพราะเขามีบัตรรับรองจาก UNHCR เขาคิดว่าตัวเองใช้ชีวิตแบบปกติได้ แต่ความจริงคือไม่ใช่ ความเป็นคนของพวกเขาหายไป เขารู้สึกตัวเองเป็นผี เขาทำอะไรไม่ได้ ไม่มีสวัสดิการ ทำงานก็ไม่ได้ หดหู่ กลัว แถมยังถูกมองว่าเข้ามาแย่งทรัพยากรคนไทยอีก
แล้วประเทศไทยควรเริ่มแก้ปัญหานี้อย่างไร
สิ่งที่เราทำได้เร็วๆ คือ การลงนามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามจึงทำให้ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญกับการไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ และเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและถูกคุมขัง รวมทั้งอาจถูกผลักดันส่งกลับ หรือเสี่ยงต่อการแสวงหาประโยชน์ หรือ การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ
อย่าลืมนะครับว่าเรากำลังพูดถึงกรณีผู้ลี้ภัยที่มีบัตรประจำตัวจาก UNHCR แต่ถ้าเรามองไปยังกลุ่มผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้บัตร ยิ่งซับซ้อน เพราะเขากลายเป็นคนที่ไม่มีความหวังเข้าไปใหญ่ ซึ่งในทุกๆ ปี รัฐบาลเองก็ได้รับเงินสนับสนุนจาก UNHCR ด้วย ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายมันจึงไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลต้องแบกรับฝ่ายเดียว สถานการณ์ตอนนี้เหมือนประเทศไทยกำลังพูดอ้อมแอ้มว่าเราพร้อมหรือไม่พร้อมกันแน่ ถ้าเราไม่พร้อมจริงๆ ก็ไม่ต้องมีสำนัก UNHCR ไหม เราจะได้ไม่ต้องเป็นประเทศปากว่าตาขยิบ?
หากให้ประเมินการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัยที่ผ่านมา เช่น กรณีโรฮิงญา ชาวอุยกูร์ หรือฮาคีม คิดว่าประเทศไทยทำหน้าที่เป็นอย่างไร
ผมคิดว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องที่มันไม่ได้กระทบกับคนที่มีอำนาจ ก็มักจะถูกจัดการแบบหนึ่ง อาจจะไม่ได้เร่งรีบ ไม่ได้จริงจัง ในกรณีผู้ลี้ภัยในเมือง ผมไม่เชื่อว่ารัฐไม่รู้ เชื่อว่าคนที่ทำหน้าที่ policy ก็รู้ว่ามีผู้ลี้ภัยตกค้างอยู่ในกรุงเทพฯอยู่มาก เชื่อว่าเขารู้สถานการณ์ทุกอย่าง แต่เขาจะจัดการหรือไม่อีกเรื่อง ถ้าผู้ลี้ภัยกรณีไหนที่ไม่ได้กระทบกับอำนาจเขา เขาก็คงไม่ทำมั้ง ดังนั้นเราจึงอยากส่งเสียงดังๆ ออกไป อยากกระทุ้งให้เขารู้ว่ามันมีปัญหานี้อยู่นะ
คิดว่าโมเดลแบบไหนเป็นโมเดลที่ดีในการจัดการเรื่องผู้ลี้ภัย
ผมว่าปัญหาหลัก เมื่อถามหาโมเดลที่ดีคือการมีโมเดลมันมีได้แค่ในระยะใดระยะหนึ่งเท่านั้น
เมื่อโลกเปลี่ยนไป รูปแบบความขัดแย้งก็มีหลากหลายมากขึ้น ณ วันนี้เรามีจำนวนผู้ลี้ภัยในโลกจำนวนมหาศาลในแบบที่เราจินตนาการไม่ออก ดังนั้นการสร้างโมเดลที่ดีสำหรับทุกประเทศจึงมีความท้าทาย เพราะเราไม่รู้ข้อสรุปของแต่ละสถานการณ์ได้เลย เราไม่รู้ว่าสงครามซีเรียจะจบเมื่อไร เราไม่รู้การก่อการร้ายต่างๆ จะจบที่ตรงไหน ดังนั้นมันจึงไม่มีโมเดลที่สมบูรณ์ในการจัดการหรอก
แต่สิ่งหนึ่งในฐานะมนุษย์ที่อยู่ในโลกเดียวกัน คือการพยายามทำความเข้าใจกับผู้ลี้ภัยใหม่ พยายามทำความเข้าใจคน มองความเป็นอื่นในอีกแบบหนึ่ง คุณปฏิเสธความแตกต่างไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มันขึ้นอยู่กับว่าคุณดีลกับคำว่าผู้ลี้ภัยอย่างไร ถ้าคุณดีลด้วยอคติ มันจะยิ่งสร้างปัญหามากกว่าการพยายามทำความเข้าใจ ยอมรับ และหาวิธีจัดการในแบบที่เราทำได้หรือเปล่า นี่คือโมเดลที่ดีที่สุด
ตลอดเวลาที่อยู่กับโปรเจ็คต์นี้ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
โห น้ำตาจะไหลเลย (หัวเราะ)
เรารู้สึกว่าการมีอยู่ของตัวเราในที่สุดมันก็จะหายไป เราไม่ได้มีความสำคัญกับโลกขนาดนั้น ดังนั้นการที่เราทำอะไรบางอย่างให้คนอื่นได้บ้าง หรือการที่เราพยายามจะมองเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาของคนอื่นบ้าง แต่ผมไม่ได้จะบอกว่าผมทำเพื่อคนอื่นนะ เพราะสุดท้ายผมก็ทำเพื่อตัวเองนั่นแหละ เราอยากอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ วันหนึ่งเรามีลูกเราก็อยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ เราไม่อยากเห็นสังคมที่อคติใส่กัน ฆ่าแกงกัน ใส่ร้ายกัน ผมจะพูดกับทุกคนเสมอว่าผมทำเพื่อตัวเอง เริ่มทำเพื่อตัวเอง โดยแค่มองในสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเอง งานนี้ยังไม่ได้ช่วยทำให้รู้สึกดีขนาดนั้น ถ้าพูดถึงศิลปะผมดีใจที่ได้แสดงผลงาน แต่สิ่งที่มันเติมเต็มจิตใจคือการเริ่มหวังว่าวันหนึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง
หมายเหตุ: นิทรรศการนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ 18 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2563 สามารถเข้าชมได้ที่โถงกิจกรรมชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ปี 2559 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทั่วโลกได้กำหนดให้ การรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของขบวนการขับเคลื่อนเพื่อสิทธิมนุษยชนระดับโลก โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ในโลก ร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อวัตถุประสงค์หลักดังต่อไปนี้
1) เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้สามารถลี้ภัยไปดำเนินชีวิตได้อย่างถูกกฎหมายและมีความปลอดภัยในประเทศต่างๆ ในโลกเพิ่มมากขึ้น 2) เพื่อให้เกิดการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับทวิภาคีและระดับพหุภาคี ในการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น 3) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกร่วมกันส่งเสริมสิทธิในการลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น และยุติการผลักดันส่งกลับ (refoulement) ในประเทศที่มักมีการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ลี้ภัยต้องกลับไปเผชิญกับอันตรายต่อชีวิตที่อาจเกิดขึ้นในประเทศที่พวกเขาลี้ภัยมา |