อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแลปท็อป สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต มักจะถูกสายตาคนส่วนใหญ่ตัดสินในฐานะผู้ร้ายว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นการหมกมุ่นอยู่แต่ในโลกโซเชียลมีเดียจนไม่สนใจคนรอบข้าง การล่อลวงจนนำไปสู่การละเมิดทางเพศ แต่กรณีผื่นคันที่เกิดกับเด็กชายวัย 11 ในสหรัฐล่าสุด ก็ทำให้ภาพลักษณ์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ตกต่ำอยู่แล้วแย่ลงไปอีก
ใช้ iPad แล้วผื่นขึ้น
รายงานโดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ระบุว่า เด็กชายวัย 11 ขวบ ที่มารับการรักษาอาการผื่นคันบนผิวหนังที่หาสาเหตุไม่ได้ มีสาเหตุมาจากการแพ้สารนิกเกิล (Nickel) ซึ่งเป็นโลหะที่คนส่วนใหญ่เกิดอาการแพ้
ดร.แชรอน เจค็อบ และ ดร.เชลา อัดมานิ ทีมแพทย์ผิวหนังเจ้าของเคส จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ประจำโรงพยาบาลเด็กแรดี (Rady Children’s Hospital) ทั้งคู่ค้นหาสาเหตุอาการแพ้ของเด็กชายอยู่ 6 เดือน ก่อนจะทราบแน่ชัดว่าเขาแพ้นิกเกิล ซึ่งเป็นส่วนผสมหนึ่งที่ฉาบอยู่บนผิวด้านหลังจอ iPad1
จากรายงาน iPad เครื่องดังกล่าว เป็นเวอร์ชั่นแรกที่ครอบครัวเขาซื้อมาตั้งแต่ปี 2010 ผลการตรวจสอบพบสารนิกเกิล และอาการผื่นคันดังกล่าวยุบลงเมื่อเด็กชายหลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณหลังจอโดยตรงด้วยการใช้เคสใส่ iPad
คริส เกเธอร์ โฆษกบริษัทแอปเปิลแถลงผ่านอีเมลว่า อาการแพ้ที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์แอปเปิล ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก นอกจากนั้นยังยืนยันว่า
“ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสำหรับเครื่องประดับ โดยผ่านการรับรองจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (US Consumer Safety Product Commission) ในสหรัฐและสหภาพยุโรป”
เอมี สตอรี โฆษกของ CTIA-The Wireless Association กลุ่มบริษัทผู้ผลิตและให้บริการด้านโทรคมนาคมให้ข้อมูลว่า นิกเกิลไม่ใช่สารที่อุตสาหกรรมนิยมผสมในสารเคลือบหรือฉาบผิวผลิตภัณฑ์เท่าไหร่ เนื่องจากมันสามารถขวางคลื่นความถี่วิทยุที่จะเข้าเครื่อง ซึ่งเธอไม่เคยได้ยินมาก่อนว่าทางผู้ผลิตรายใดเลือกใช้นิกเกิลด้วย
คนแพ้นิกเกิลโปรดทราบ
นอกจากต้องระวังการสัมผัสอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ โดยตรงแล้ว นิกเกิลยังผสมอยู่ในสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เครื่องประดับ สร้อย ตุ้มหู ซิป ตะขอชุดชั้นใน ลูกบิดประตู ลูกกุญแจ ขาแว่น กระดุมกางเกง แม้แต่เหรียญก็สามารถปล่อยสารนิกเกิลออกมาทำปฏิกิริยากับผิวหนังจนเกิดผื่นคันได้ หากสัมผัสนานเกินกว่า 3 นาที ยิ่งมีความชื้นหรือเหงื่อร่วมด้วย จะเสี่ยงต่อการเกิดผื่นคันเร็วขึ้น
ไม่เฉพาะบริเวณที่สัมผัสโลหะโดยตรงอย่างข้างแก้มหรือติ่งหู จะทำให้เกิดผื่นหรือตุ่มคันเท่านั้น เพราะมือสามารถเป็นตัวกลางพาสารนิเกิลไปสู่ผิวหนังบริเวณอื่นๆ อาทิ ใบหน้าส่วนอื่นๆ และหัวคิ้ว ไปจนถึงบริเวณอื่นๆ เช่น แผ่นหลัง หรือขาพับ
วิธีสังเกตเบื้องต้นว่าแพ้นิกเกิลหรือไม่ สำหรับสาวๆ ให้ดูว่าเคยแพ้ตุ้มหู ใส่แล้วติ่งหูบวมแดง มีน้ำเหลืองหรือหนองหรือไม่ ถ้ามีอาการดังกล่าวให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะมาจากการแพ้นิกเกิล ส่วนผู้ชาย อาจจะลองสังเกตบริเวณหัวเข็มขัด หรือกระดุมกางเกงโลหะที่อาจสัมผัสผิวหนังโดยตรง
อาการผื่นคันหรืออาการแพ้นิกเกิล แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต แต่จะทำให้ผู้ที่แพ้รู้สึกรำคาญใจและอดไม่ได้ที่จะต้องเกา จนทำให้เสียบุคลิก สำหรับหญิงสาว หากทิ้งไว้ไม่รักษา เมื่อผิวหนังยุบตัวลงแล้ว อาจทิ้งรอยแผลเป็นสีเข้มไว้ให้ดูต่างหน้า
จากสถิติล่าสุดของเด็กๆ ในสหรัฐที่แพ้นิกเกิลอยู่ที่ร้อยละ 25 ขณะที่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว จำนวนคนแพ้นิกเกิลอยู่ที่ร้อยละ 17 สำหรับความเสี่ยงต่อการแพ้นิกเกิล พบว่าเพศหญิงเสี่ยงต่อการแพ้นิกเกิลมากกว่าเพศชาย และส่วนใหญ่เมื่อปรากฏอาการแล้ว อาจต้องรับมือกับการแพ้ในระยะยาว
สำหรับผู้ที่แพ้นิกเกิล แพทย์ผิวหนังแนะนำให้ใช้สปีกเกอร์โฟน แทนการใช้โทรศัพท์แนบใบหน้าตามปกติ นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ระบุว่า อาหารที่คนแพ้นิกเกิลควรหลีกเลี่ยงเพราะอาจกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้เพิ่มเติม ได้แก่ อาหารทะเล โดยเฉพาะหอย ไข่ ธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ชา ช็อคโกแลต สัปปะรด พรุน ฯลฯ ซึ่งอาจทดสอบดูได้ว่า อาหารชนิดไหนสามารถกระตุ้นอาการ ด้วยการสลับรับประทานอาหารแต่ละประเภทเป็นรายสัปดาห์
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com /
nickelinstitute.org