เมื่อถังขยะในบ้านเต็ม เราก็เพียงนำมันไปทิ้งในถังขยะใกล้บ้านที่ทางผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเตรียมไว้ให้ ซึ่งจะมีรถเก็บขยะมารับไปเทไว้ในบริเวณกำจัดขยะ แล้วจึงจะมีคนเก็บขยะทำหน้าที่แยกว่าขยะชิ้นไหนรีไซเคิลได้ ขยะชิ้นไหนควรเผาทิ้ง ชิ้นไหนควรฝังกลบ แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างจริงจังเท่าไหร่ แม้จะพยายามปลูกฝังวินัยในการแยกขยะจากต้นทาง แต่ดูเหมือนว่าปลายทางการกำจัดขยะในประเทศไทยมักเป็นการเผาหรือฝังกลบ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย
สำหรับประเทศญี่ปุ่น นอกจากจะมีโรงงานแปรรูปขยะเป็นพลังงานที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งขยะและสิ่งแวดล้อมได้ผล ‘คน’ ก็เป็นแรงสำคัญสำหรับจัดการกับขยะไม่แพ้กัน
ในเมืองคิตะคิวชู ทางตอนเหนือของเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเคยเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นพื้นที่โรงงานผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ผลที่ตามมาทำให้เกิดมลพิษทั้งทางน้ำและอากาศ โรงงานในคิตะคิวชูปล่อยควันพิษสู่ผืนฟ้า ปล่อยของเสียสู่แม่น้ำและทะเล จนทำให้สีฟ้าของน้ำทะเลของอ่าวโดไคกลายเป็นสีเหล็ก ซึ่งผู้คนต่างเรียกมันว่า ‘ทะเลแห่งความตาย’
ชาวเมืองคิตะคิวชูเริ่มวิตกกังวลว่าถ้ายังปล่อยให้ควันพิษและน้ำเสียจากโรงงานเกิดขึ้นเรื่อยๆ เด็กๆ ของพวกเขาจะได้รับผลกระทบแน่ๆ และคนในเมืองก็จะมีสุขภาพที่แย่ลง จึงหันมาหาวิธีการแก้ปัญหา
วิธีการง่ายๆ ที่ชาวคิตะคิวชูเริ่มทำคือ ให้ชาวเมืองร่วมกันแยกขยะ โดยมีถังสีต่างๆ สำหรับขยะแต่ละประเภท โดยจะแบ่งเป็น ขยะเผาได้ รีไซเคิลได้ กระป๋อง ขวดพลาสติกใส (PET) พลาสติก และขยะที่เผาไม่ได้ ซึ่งจะนำไปฝังกลบ จากนั้นจึงนำไปวางในแต่ละจุดเก็บขยะ ซึ่งมี 11,000 จุด ต่อ 40 ครัวเรือน
“เมื่อมีพนักงานมาเก็บขยะไปแล้ว ก็จะมีการคัดแยกอีกที หลังจากนั้นก็ส่งต่อให้เอกชนนำขยะไปรีไซเคิล สำหรับคนที่ไม่แยกขยะจะไม่มีพนักงานมาเก็บที่หน้าบ้าน หรือถ้าใครขี้เกียจแยกจริงๆ จะมีถุงสีฟ้าที่ตั้งราคาสูงกว่าถุงปกติ เพื่อให้คนในเมืองตั้งใจแยกขยะ” จุนอิจิ โซโนะ ผู้อำนวยการ Asian Center for Low Carbon Society ประจำเมืองคิตะคิวชู ให้ข้อมูล
ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมของเมืองคิตะคิวชูจึงค่อยๆ ทุเลาลงและกลับมาสะอาดสดใส เป็นเมืองแห่งผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาชาติให้ความสนใจ
“เรามีศูนย์ชุมชนทำหน้าที่รวบรวมขยะ ซึ่งจะได้เงิน 7 เยนต่อ 1 กิโลกรัม และยังมีการไปเคาะที่หน้าประตูเพื่อรับขยะ โดยจะได้รับเงิน 5 เยนต่อขยะ 1 กิโลกรัม เป็นวิธีหนึ่งที่เรานำมาใช้จัดการขยะและทำให้เมืองของเรามีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” โซโนะกล่าว
การแยกขยะของเมืองคิตะคิวชู เริ่มทำตั้งแต่ต้นสาย มีการร่วมมือกันของ ‘คน’ ทุกๆ ฝ่ายตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ที่ปลายน้ำนั้นมีการจัดการขยะด้วยระบบต่างๆ อย่างดี เรื่องพื้นที่ขนาดเล็กของประเทศที่ไม่สามารถขยายไปได้มากกว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันจัดการขยะ และเมืองกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง
หลายพื้นที่ในประเทศไทย ยังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการจัดการขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน ภูเก็ตก็เป็นพื้นที่สำคัญที่ต้องมีการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง
ถาวร จิรพัฒนโสภณ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า ทางภูเก็ตได้มีการจัดการขยะอย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการฝังกลบ ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา กรมโยธาฯ ได้สร้างเตาเผาขยะเตาแรกความจุ 250 ตันขึ้นมา แต่ด้วยพื้นที่จำกัดและภูเก็ตยังเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ขยะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องขอความร่วมมือจากเอกชนในการสร้างเตาเผาขยะแห่งที่สอง ความจุ 700 ตันขึ้นมาเพิ่ม
ในปี 2558 ด้วยปริมาณขยะมูลฝอยกว่า 748 ตัน ทำให้เตาในปัจจุบันและหลุมฝังกลบไม่เพียงพอ จึงต้องปรับปรุงเตาแรกเพื่อรองรับขยะที่เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้ ถาวรเห็นว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง
บริเวณนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จึงริเริ่มโครงการผลิตพลังงานจากขยะ อาทิ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส ที่มีการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกวันละ 200 ตัน หรือปีละ 66,000 ตันต่อปี และได้ร่วมมือทำวิจัยกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับแปรรูปขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิง เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะมีการพัฒนาและขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
หากแต่ละชุมชนมีการจัดการขยะที่ดี แยกประเภทขยะที่จะนำไปรีไซเคิลหรือนำไปทำลายอย่างเป็นระบบแล้ว ปลายทางในการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพของประเทศไทยน่าจะอยู่ไม่ไกลจนเกินไป
อ้างอิงข้อมูลจาก:
งานสัมมนา ‘Municipal Solid Waste Management in Thailand’
thaipublica.org