จาก J-A-S-S เป็น J-A-Z-Z สู่การประกาศอิสรภาพทางดนตรีของ Ella Fitzgerald

นับแต่ปี 2012 เป็นต้นมา องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ทุกวันที่ 30 เมษายน เป็น ‘วันแจ๊สสากล’ (International Jazz Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำความสำคัญและบทบาทในเชิงการทูตที่ประสานผู้คนในทุกมุมโลกเข้าด้วยกันของดนตรีแจ๊ส

ย้อนไปช่วงทศวรรษ 1920 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) คุณค่าในชีวิตถูกเปลือยเปล่า ผู้คนล้มตายจากโรคระบาดและสงครามอย่างไร้ความหมาย ยุคสมัยของ Lost Generation จึงได้ถือกำเนิด พร้อมๆ กับดนตรีที่ไร้แบบแผนและเน้นการด้นสดอย่าง ‘แจ๊ส’ (Jazz) 

แจ๊สมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา มีจังหวะการเล่นที่ฟังแล้วอาจรู้สึกขัดกันเหมือนการกระโดดไปมา (Syncopation) จึงเป็นธรรมดาชาวอเมริกันผิวขาวที่เติบโตมากับดนตรีที่ประสานสอดคล้องกันจะเกิดความรู้สึกไม่คุ้นหู หรือกระทั่งเหยียดหยามดนตรีแจ๊ส 

การด้นสด (Improvise) ส่งผลให้แจ๊สกลายเป็นสิ่งตื่นเต้นแปลกใหม่สำหรับชนผิวขาว การไร้แบบแผนคือสิ่งที่หลุดออกนอกขนบดนตรีตะวันตก การไร้โครงสร้างทางดนตรีที่ชัดเจนทำให้เหล่าผู้ฟังเกิดความสับสน แต่นั่นก็ไม่อาจเป็นอุปสรรคขวางความนิยมในดนตรีแจ๊สที่ก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

แม้ในปัจจุบัน ภาพลักษณ์ของดนตรีแจ๊สจะดูเป็นดนตรีที่น่าทึ่ง มีชีวิตชีวา ทั้งยังถูกนำมาเล่นและจัดแสดงในแวดวงสังคมต่างๆ แต่หากหันกลับไปมองจุดเริ่มต้นที่เกิดจากศิลปินผิวสีผู้โหยหายอิสรภาพจากการเป็นทาสในนิวออร์ลีน อาจกล่าวได้ว่า ดนตรีแจ๊สเป็นเสมือนพื้นที่อิสระที่พวกเขาจะสามารถบรรเลงอะไรลงไปก็ได้อย่างเสรี สามารถบอกเล่าและแสดงความรู้สึกส่วนตัวได้เต็มที่อย่างไม่มีข้อจำกัด แจ๊สจึงเป็นดนตรีแห่งการโหยหาอิสรภาพ เป็นผลผลิตของทาส โดยทาส และเพื่อทาส

เมื่อการด้นสดกลายเป็นหนึ่งในเทคนิคสำคัญและภาพลักษณ์หลักของดนตรีแจ๊ส สิ่งที่นักดนตรีแจ๊สต้องเผชิญกับการแสดงในทุกครั้งคือ การคิดและหาโน้ตดนตรีไปพร้อมกับขณะที่กำลังแสดง เพื่อโต้ตอบกับเพื่อนร่วมวง

ถ้าใครเคยดู The Great Gatsby (2013) คงจำฉากที่พระเอกขับรถในมหานครนิวยอร์กได้ มันวุ่นวายไร้ระเบียบ ปาดไปปาดมาน่าหวาดเสียว ฉากดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงจังหวะของการด้นสดและยุคสมัยของ Jazz Age ได้เป็นอย่างดี 

การอาศัยสัญชาตญาณ (จากการฝึกซ้อมอย่างหนัก) ที่สัมพันธ์กับการแก้ไขปัญหา หรือเดินคอร์ดเฉพาะหน้าของเพลงแจ๊ส ก็ชัดเจนตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของคำคำนี้ ซึ่งว่ากันว่า เดิมเริ่มต้นด้วยคำว่า ‘Jass’ แต่เมื่อมีแฟนเพลงมือพิเรนทร์ไปลบตัว J ออกจากแผ่นป้ายจนเหลือเพียง ‘Ass’ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์โดยที่ยังรักษาเสียงและท่วงทำนองแจ๊สที่สะกดด้วย J-A-S-S ให้กลายเป็น J-A-Z-Z

คงไม่มีตำนานไหนจะดังไปกว่าการแสดงสดในงานประกาศรางวัลแกรมมีของสตรีผิวสีผู้เปลี่ยนลูกคอให้กลายเป็นเครื่องดนตรีอย่าง Ella Fitzgerald (เธอยังเป็นศิลปินผิวสีคนแรกที่ได้รางวัลแกรมมีอีกด้วย) ครั้งนั้น Fitzgerald เลือกร้องเพลง Mack The Knife เพลงที่กำลังฮิตระเบิดระเบ้อไปทั่วบ้านทั่วเมือง

Mack The Knife เป็นเพลงละครเวที มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบังเอิญพบศพนอนแผ่กลางท้องถนน ผู้คนต่างพากันสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของฆาตกรฉายา ‘Mack The Knife’ ตามชื่อเพลง

“ฉันไม่เคยได้ยินผู้หญิงร้องมันมาก่อน แต่ด้วยความที่มันกำลังดังมาก จึงอยากจะร้องให้พวกคุณได้ฟัง หวังว่าฉันจะจำเนื้อร้องทั้งหมดได้” คือคำพูดเกริ่นก่อนเริ่มร้องของ Fitzgerald ราวกับเธอกำลังกังวลว่าจะพลาดลืมเนื้อร้องของเพลงนี้ไป และสิ่งที่เธอกังวลก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ หลังร้องไปได้ไม่เท่าไหร่ เธอดันลืมเนื้อขึ้นมาเสียอย่างนั้น ณ ตอนนี้เองการเดินเพลงอย่างเคร่งครัดตามจารีตของตะวันตกก็ได้หยุดลง การด้นสดแบบ Jazz ได้เริ่มขึ้น โดยมีเสียงของ Ella Fitzgerald คอยทำหน้าที่สร้างและบรรเลงประวัติศาสตร์

“Oh what's the next chorus, to this song, now
This is the one, now I don't know
But it was a swinging tune and it's a hit tune
So we tried to do Mack the Knife”
photo: Ella Fitzgerald in Berlin 1962 | รับฟังได้ที่: Ella Fitzgerald MacK the Knife Live in Berlin Audio

อ้างอิง

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า