ไปทำอะไรที่ Keep on the Grass

ภาพ: antizeptic & take it like a chemist

Keep on the Grass เป็นชื่อเทศกาลงานดนตรีโฟล์ค จัดครั้งแรกในปี 2013 ที่รีสอร์ทเกือบร้างแห่งหนึ่ง อยู่ระหว่างทางไปเขาใหญ่

หลังจากปี 2013 งานนี้ก็จัดอีกหลายครั้ง ปกติจะเป็นช่วงต้นปี สองครั้งถัดมาคือปี 2014  และ 2015 เว้นวรรคไปปีหนึ่ง แล้วกลับมาให้หายคิดถึงอีกครั้งเมื่อกลางเดือนมกราคม 2017 ที่ผ่านมา

นึกย้อนแล้วก็น่าทึ่ง ที่ผมซื้อบัตรไปเสพดนตรีในสถานที่เดิมทุกปีไม่มีขาด ตั้งแต่ปีแรกที่รีสอร์ทเก่าโทรม ห้องน้ำมีแต่ปลวก พื้นที่โดยรอบว่างเปล่า จนครั้งล่าสุดมีสิ่งปลูกสร้างหน้าตาคล้าย co-working space ประหนึ่งยกมาจากเอกมัย

แต่เวทีก็ยังอยู่ตรงหุบเขา ที่ที่เราปูเสื่อบนพื้นหญ้า คว้าถุงนอนมาห่มกายา แล้วเอนหลังฟังเพลง ตั้งแต่แดดร่มลมตกสี่ห้าโมงเย็น จนถึงอากาศสดชื่นเย็นยะเยือกในตีสี่ของวันรุ่งขึ้น

(เปิดเพลง 04.00 A.M. ประกอบ https://www.youtube.com/watch?v=KqpAxzbUWdU)

Keep on the Grass เริ่มจากการนิยามว่าเป็นคอนเสิร์ตดนตรีโฟล์ค แต่ไปๆ มาๆ ศิลปินที่มาเล่นมีตั้งแต่ มาโนช พุฒตาล ไปจนถึง Desktop Error แถมสิ่งหนึ่งที่งาน Keep on the Grass พยายามทำบ่อยๆ คือการกลืนกลายระหว่างงานสร้างสรรค์หลายๆ แขนง ปีหนึ่งจึงมีช่วงอ่านบทกวี โดย ซะการีย์ยา อมตยา (ผู้เขียน ไม่มีหญิงสาวในบทกวี)

Death of a Salesman

อีกสิ่งที่ผมชอบมากในทุกๆ ปี คือความคิดสร้างสรรค์ของเวที

เราจะเห็นได้จากความพยายามในการผสมผสานวงดนตรีรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ จากชื่อคุ้นๆ จนถึงชื่อที่ไม่คุ้นเลย (เพราะชื่อวงเพิ่งตั้งกันเดี๋ยวนั้นก่อนเล่น…) หรือการชวนวงอินดี้ — ประเภทที่คงไม่ปรากฏใน Fungjai — อย่าง ร.ร.เล็กในทุ่งกว้าง (วงดนตรีผสมผสานเครื่องสายและเครื่องดนตรีพื้นเมือง สมาชิกคือเด็กนักเรียนในจังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงมัธยม) ซึ่งก็เป็นความเพลิดเพลินแบบที่เราคงไม่ได้พบเจอจากคอนเสิร์ตที่ไหน

แต่อย่าเพิ่งวางใจไป Keep on the Grass ไม่ใช่เทศกาลเพลงใสๆ (แม้เซ็ตกว่าครึ่งจะเป็นชุดอะคูสติก) เพราะหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ณ เวทีเดียวกันนี้ ก็พลันหมอกลงจัดหนาแน่น มองจากแถวหลัง เราจะเห็นกลุ่มควันพวยพุ่งทางนู้นทีทางนี้ที เหมือนการประชุมหวูดรถไฟ คลอเคล้าด้วยเสียงเอคโค่และจังหวะเรกเก้จากวง Srirajah Rockers

(คงจะคล้ายกับ event 4/20 บริเวณสนามหญ้าในมหาวิทยาลัยโคโลราโด แบบที่ วิจักขณ์ พานิช เล่าไว้จนได้กลิ่น… ฟังเพลงดีกว่าครับ https://www.youtube.com/watch?v=l-gH1U695nc)

ผมไม่แน่ใจหรอกว่าเสน่ห์ของการไปชมดนตรีของงาน Keep on the Grass คืออะไร มันมีหลายส่วนผสมผเส อาจเป็นเพียงการหลุดไปอยู่ในพื้นที่และเวลาจำเพาะ ต้นไม้ต้นนั้นที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์ค เพลย์ลิสต์ที่แตกต่างแต่ก็เข้ากันอย่างประหลาด การได้ฟัง selina & sirinya อีกครั้ง เหมือนย้อนอดีตที่หล่นหาย หรือ Death of a Salesman ที่ทำให้นึกเสียดายว่าเราเคยมีแผ่นซีดีแต่อยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ส่วนผสมระหว่างความเป็นมืออาชีพและความประหม่า การอยู่ในโลกส่วนตัวและการอยู่ในที่สาธารณะ ความสงบในสรรพสำเนียง เป็นบรรยากาศที่แปลกไปจากคอนเสิร์ตอื่นๆ แม้เราจะดวดเบียร์ไปกี่กระป๋อง หากเราต้องเดินไต่เนินขึ้นไปเติมเสบียง ก็รับรองได้ว่าสร่างแน่ๆ

ช่วงเวลาที่งดงามที่สุด คือห้วงขณะแสนสั้นที่เรากำลังเอนหลังลงบนหญ้า มีท้องฟ้าเป็นหลังคา ปล่อยให้ดนตรีบรรเลงไป จนกระทั่งเช้า…

ผู้ชมทยอยตื่น เดินออกไปจากหุบเขา ออกไปอาบน้ำล้างหน้าแปรงฟัน พระอาทิตย์สว่างเรืองรอง เป็นเช้าที่ดี แต่มีบ้างบางคนที่ยังหลับสบาย ในฝันของเขาเหล่านั้น คงมีดนตรีแห่งความเงียบบรรเลง

และเมื่อถึงบ้าน เราจะมีเพลย์ลิสต์ใหม่ๆ รวมถึงนักดนตรีที่เราเพิ่งได้รู้จัก อย่างเช่นวงนี้ https://soundcloud.com/333333/vb86zua4xrre

หวังว่าสองปีข้างหน้า เราจะไปนอนกลิ้งตากน้ำค้างบนหญ้าผืนนั้นอีก

อ้อ จากการไปงานนี้มาสี่ครั้ง สิ่งที่เปลี่ยนไปมีสองอย่าง คือ
หนึ่ง, ไม่ค่อยมีวงไหนเอาแผ่น CD มาขายแล้ว
สอง, จากที่เคยเตรียมเต็นท์ไปกาง ล่าสุด เราเอาไปแค่เสื่อ ถุงนอน…และหมอนนุ่มๆ


ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/KeepOnTheGrassMusicFestival/?fref=ts เผื่อปีต่อๆ ไป จะได้ไปสูดกลิ่นอายด้วยกัน

 

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า