เรื่อง: อภิรดา มีเดช / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: อนุช ยนตมุติ
จากปรากฏการณ์การสั่งจองหนังสือ สิทธารถะ ฉบับพิเศษ จนเว็บไซต์ล่ม และสามารถปิดการขายทั้ง 1,000 เล่มได้ภายในเวลา 12 ชั่วโมง
หรือกับโครงการระดมทุนผลิตหนังสือที่ระลึก แบบ ‘วรรณกรรมไม่จำกัด’ ซึ่งเป็นงานระดมทุนเพื่อจัดพิมพ์หนังสือคลาสสิก ก็ดำเนินมาถึงปีที่สาม และเล่มที่สาม The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism โดย มักซ์ เวเบอร์ ซึ่งถือเป็นงานโหดหินที่จะช่วยทำความเข้าใจทุนนิยมอย่างถึงแก่น
ความสำเร็จของโครงการจัดพิมพ์หนังสือเหล่านี้ ทำให้ทั้งคนทำและคนอ่านทึ่งว่า อนาคตของหนังสือเล่มยังไม่มืดหม่นเสียทีเดียว
ความคิดที่ว่า สื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายน่ะใช่ แต่กับหนังสือเล่ม อาจจะต้องกลับมาคิดใหม่กันอีกครั้ง
WAY พูดคุยกับ กิตติพล สรัคคานนท์ บรรณาธิการหนุ่มแห่งสำนักพิมพ์พันหนึ่งราตรี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘วรรณกรรมไม่จำกัด’ ผู้ดำเนินรายการด้านศิลปะวัฒนธรรมออนไลน์ ‘สัตตะ’ และเจ้าของร้านหนังสือ ‘Books & Belongings หนังสือและสิ่งของ’ ในยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์ทยอยล้มหาย แต่ผู้ชายคนนี้กลับเปิดร้านหนังสือ และยังมุ่งมั่นกับงานจัดพิมพ์หนังสือคลาสสิกเล่มหนาปึ้ก
ทำไมถึงตั้งใจทำร้านหนังสือในช่วงเวลาแบบนี้
คือร้านนี้เป็นร้านที่ไม่ได้ขายหนังสือแบบร้านหนังสืออิสระทั่วไป จริงๆ มันคนละ segment กันเลย แล้วข้างบนร้านนี้เป็นออฟฟิศสองออฟฟิศ เพราะฉะนั้น พื้นที่ประชุมในอุดมคติก็คือชั้นล่างนี้ เมื่อก่อนเวลาประชุม เราก็จะไปร้านกาแฟหรือร้านหนังสือคนอื่น ก็เลยคิดว่า ก็ทำตรงนี้ไป แล้วเดี๋ยวเราค่อยจริงจังกับมัน มีหนังสือให้คนอ่าน มีหนังสือน่าสนใจที่เราอยากให้เขาอ่าน ก็ค่อยแนะนำไป เพราะเราไม่ได้เน้นปริมาณ เราเน้นงานที่น่าสนใจจริงๆ แล้วค่อยๆ สั่งมาเรื่อยๆ แล้วลองดูสิว่ามันจะไปได้อย่างไรบ้าง
แต่หลักๆ ก็คือ อยากให้แตกต่างจากร้านหนังสือทั่วไป แม้กระทั่งหนังสือภาษาไทยที่เลือกมา เราก็ติดต่อกับบางเจ้าเท่านั้นเอง ถามว่าพออยู่ได้ไหม ตอนนี้ก็ยังอยู่ไม่ได้หรอก เพราะคนที่เข้าส่วนใหญ่เป็นฝรั่ง คือฝรั่งจะเยอะ เพราะร้านมันไม่สื่อสารกับคนไทย คนไทยจะรู้สึกว่า นี่มันอะไร ขายเฟอร์นิเจอร์หรือเปล่า จะมีคนเดินเข้ามาถามตลอด เก้าอี้ตัวนี้เท่าไหร่ เพราะชื่อข้างหน้าเขียนว่า สิ่งของด้วยไง เขาก็ถามราคาหมดละครับ ว่าชิ้นนี้เท่าไหร่
แสดงว่าแถวนี้นักท่องเที่ยวน่าจะเยอะ?
เยอะครับ ลูกค้าฝรั่งก็มีเข้าเกือบทุกวัน แต่ถ้าวันไหนมีลูกค้าไทย เราก็สามารถแนะนำหนังสือไปได้บ้าง เพราะอยากแนะนำ ส่วนฝรั่งเขาซื้อของเขา เพราะเขารู้จักอยู่แล้ว
สัดส่วนระหว่างหนังสือภาษาไทยกับต่างประเทศของที่ร้านเป็นอย่างไร
ตอนนี้พยายามเน้นไปที่ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยก็จะมีของสำนักพิมพ์ตัวเอง และของเพื่อนๆ บางคนที่มาฝาก ไม่ได้เน้นภาษาไทยมาก เพราะภาษาไทยก็จะเชียร์ให้ไปบุ๊คโมบี้ เชียร์ให้ไปก็องดิด เชียร์ให้สั่งจาก Readery เพราะเราก็ฝากขายช่องทางนั้นอยู่ด้วยเหมือนกัน
แต่ถ้ามาที่นี่ คุณจะได้หนังสือทำมือบางเล่ม บางอย่างที่เราแนะนำ ถ้าคุณจะเขียนหนังสือ เขียนนวนิยายจริงจัง คุณอ่านเล่มนี้สิ เรามีหนังสือที่ ถ้าเป็นนักสะสม ‘ต้องมี’ เพราะเป็นสำนักพิมพ์ที่ประณีตและพิมพ์ทุกอย่างจำกัด ก็ต้องมาหา ก็จะปนๆ กัน มีทั้งนวนิยาย ปรัชญา และสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับเขา
ตอนเปิดร้านใหม่ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพื่อนผมที่เป็นฝรั่งอยู่ดี นักเขียนไทยไม่อ่าน คือไม่รู้ มาก็คือมา ถ่ายรูป สวยงาม แต่อ่านก็น้อย ก็ยังเป็นฝรั่ง เป็นคนเวียดนาม ที่รู้จักหนังสือพวกนี้อยู่บ้าง แต่เราก็ไม่ได้เน้นกำไร เพราะที่สั่งมา สมมุติว่าสั่งมา 800 มันเป็นช่วงลดราคาพอดี เราก็อาจจะขาย 900 ประมาณว่า ขายหนังสือพวกนี้กำไรจะอยู่ที่ประมาณหลักสิบ คือเหมือนกับอยากให้เขาอ่าน อยากให้ร้านเรามี
นอกจากหนังสือแล้วก็มีจัดงานเสวนาอยู่เรื่อยๆ ด้วยใช่ไหม
ตอนนี้คงต้องค่อยๆ ปรับ ค่อยๆ ศึกษา แต่เราเน้นไปที่กิจกรรม พยายามให้มี Talk มีจัดงานที่ร้าน มีนิทรรศการเล็กๆ อะไรแบบนี้ ก็จะทำให้มันอยู่ได้ ด้วยออนไลน์ จะลองหาวิธีดูว่าจะทำอย่างไรบ้าง หน้าร้านก็คงมี แต่ก็คงจะขายออนไลน์มากขึ้นด้วย
ถามว่าเพจ Books and Belongings มีคนเข้ามาไหม ส่วนใหญ่จะเข้ามาถามว่า ร้านเปิดกี่โมง วันเสาร์เปิดไหม แล้วเราก็จะได้ลูกค้ากลุ่มนี้มา อย่างมีคนอยากได้โมบี้ดิ๊ก เขาก็จะเข้ามาดู ก็ inbox เข้ามา เราก็จะได้ลูกค้าจากออนไลน์ส่วนหนึ่งด้วย
เดี๋ยวนี้คงต้องเน้นสื่อสารทางออนไลน์เป็นหลัก?
ถ้ามีคนคุยด้วย คุยเลย ต้องเต็มที่ครับ เพราะพวกเราก็ไม่มีอำนาจต่อรอง เมื่อก่อนเราอยากจะลงหน้าหลังไทยรัฐเพื่อโปรโมทให้คนรู้จัก ตอนนี้มันมีทางอื่นอีกตั้งเยอะ สปอนเซอร์แอดของเฟซบุ๊คเราซื้อหลักสิบ หลักร้อย เราก็ได้เห็นเหมือนกัน สมัยก่อนจะลงสป็อตวิทยุ ขอผู้จัดแทบตายให้พูดสามคำ ยังไม่พูดเลย คือมันยาก แต่เดี๋ยวนี้ audience อยู่กับเราแล้ว ก็เน้นเหมือนเดิม ถ้าถามเรา จุดแข็งอยู่ที่โซเชียลกับพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารข้อมูล หรือการใช้โซเชียลของคนมันเปลี่ยนไป โปรเจ็คต์พวกนี้มันเกิดขึ้นได้ เราว่าเล่ม โมบี้ ดิ๊ก (เล่มที่ 2 ของโครงการ วรรณกรรมไม่จำกัด) ชัดเจนว่าอยู่ออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย คนออนไลน์ทั้งนั้นเลย ฉะนั้น สิ่งพิมพ์ก็คงคล้ายๆ กับที่ใครเขียนสเตตัสไว้ว่า ถึงเวลาที่นิตยสารต้องปรับตัว
ในมุมของเรา มองว่านิตยสารควรปรับตัวอย่างไร
ผมคิดว่า สิ่งที่เราเรียกว่า magazine ต่อไปมันคือ evergreen content คือเขียวตลอด สดตลอด เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ เขาก็จะซื้อเล่มนี้
ผมไม่ได้บอกว่า Kinfolk สุดยอดนะ แต่มีใครคิดว่า Kinfolk เล่มแรกมันไม่สามารถอ่านได้ตอนนี้บ้าง คนก็อ่านนะ มันไม่มีเรื่องไหนที่ดูจะเก่าเลย หลายๆ เล่มที่พวกนิตยสารราคาแพงทำให้เหมือนกับเป็นวารสาร เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาไม่เชย ภาพสวย เนื้อหาอ่านได้เรื่อยๆ
สำหรับผม ผมอ่านหนังสือบางเล่ม อย่าง The Paris Review นี่ไม่มีเชย อ่านได้เรื่อยๆ บทสัมภาษณ์อ่านครั้งที่ 2-3 ก็ยังไม่เชย เรื่องสั้นก็อ่านได้
ผมว่า ถ้านิตยสารจะอยู่ต่อไป มันต้องแบบนี้ แล้วดูหน้า Ads ถ้าลูกค้าสามารถไปกับเราได้ (คือขอเถอะ ขอออกแบบให้ได้ไหม) คือมันไปด้วยกัน แล้วคุณจะคลาสสิกมาก อยู่ไปได้อีกนานเลย
หรือถ้าไม่ได้โฆษณาขอแค่นี้ก็พอ อย่างเล่ม The Happy Reader เล่มเล็กๆ ทำบางๆ ก็ได้ โฆษณาตัวเราเอง อันนี้ไม่แพง ราคาประมาณร้อยกว่าบาท เอาคนหน้าตาดีมาขึ้นปกทุกเล่ม จริงๆ คือแนวหน้าตาดีอ่านหนังสือ
สำหรับ ‘โครงการวรรณกรรมไม่จำกัด’ ซึ่งผ่านมา 2 ปี ทำสำเร็จมาแล้วทั้งสองเล่ม คือ The Republc และ Moby-Dick อยากรู้ว่าทำไมจึงเชื่อในการระดมทุน
ถ้าถามผม ผมว่าตอนนี้เราพ้นระบบสปอนเซอร์มาแล้ว เราเชื่อในพลังของคนอ่าน เราเชื่อในคนธรรมดา ไม่ได้เป็นหน่วยงานหรือองค์กรรัฐ แล้วโครงการวรรณกรรมไม่จำกัดก็คือการ join กับคนที่เป็นนักอ่านจริงๆ มันก็เลยสวนกระแสพอสมควรตอนที่เราทำ เพราะเราไม่ได้ต้องการคนหลักพัน หรือหลักหมื่นที่จะมาสนับสนุน เราต้องการแค่หลักร้อยที่เขารู้สึกว่า เขาโอเค แล้วผลตอบรับก็ถือว่า เขาไม่ได้ให้เรามาแล้วจบ แต่มันได้ตัวบทที่สามารถดาวน์โหลด หรือขอไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้
แต่ข่าวดีที่ตามมาคือ ผู้แปลและบรรณาธิการน่าจะได้รายได้หลังจากนี้อีก เพราะมีสำนักพิมพ์ที่รับช่วงต่อไปผลิต
ซึ่งก็ยกให้เขาไปจัดการต่อได้
ใช่ เพราะลิขสิทธิ์พวกนี้จริงๆ คือลิขสิทธิ์ของผู้แปล แล้วสัญญาที่ผู้แปลทำกับโครงการในช่วงแรกๆ คือ เขาต้องอนุญาตให้คนอื่นๆ ดาวน์โหลดไปใช้ได้ ตอนนั้นที่เราทำ ยังไม่ได้มาพิจารณาว่าผู้แปลซึ่งยังมีชีวิตอยู่ แล้วเขามีวิชาชีพ เขาจะได้ประโยชน์อะไรหลังจากนั้นอีกบ้าง เรามองเรื่องการ donate ให้กับผู้แปล
สมมุติว่าผู้แปลติดต่อกับสำนักพิมพ์ที่จะนำไปพิมพ์ต่อโดยตรงได้ก็จะดีที่สุด แล้วสำนักพิมพ์นั้นก็ช่วยสนับสนุนเขา มันมีทั้งสองรูปแบบ หนึ่ง ช่วยตามเปอร์เซ็นต์ที่เขาควรจะได้ ซึ่งในนี้ก็จะมีทั้งผู้แปลและบรรณาธิการที่ควรจะได้
อีกอันหนึ่งก็คือ คล้ายกับว่า ถ้าไม่ได้ช่วยตรงนั้นมาก อาจจะช่วยจำนวนหนึ่ง จนสามารถลดราคาในส่วนนี้ลง เพื่อให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ผลิตในรูปแบบที่ประหยัด อย่างเล่ม โมบี้ ดิ๊ก ราคาปก 800 บาท สมมุติว่ามีสำนักพิมพ์ไปทำต่อ เป็นปกอ่อน เหลือสัก 400-500 บาท ให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้ มันก็ดี ดีทุกรูปแบบ
เพราะฉะนั้น ตอนนี้ที่มองก็คือ ถ้ามีสำนักพิมพ์ไปรับช่วงต่อ ทำให้มันดีขึ้นในลักษณะที่ save cost ขึ้น ยิ่งดีเลย เพราะมันเท่ากับกระจายหนังสือ แน่นอนว่ามันเปิดอยู่แล้วในรูปออนไลน์ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านออนไลน์ได้ เพราะเขาก็จะชอบการอ่านหนังสือมากกว่า
สำหรับการแก้ไขเพื่อเป็นเวอร์ชั่นของตัวเอง ก็สามารถทำได้ด้วยใช่ไหม
ได้ แต่ก็ต้องคงชื่อของผู้แปลเอาไว้ เครดิตของผู้แปลก็สำคัญ แล้วจริงๆ ในเงื่อนไขที่อยากเพิ่มเติมเข้าไปคือ ถ้าเป็นการจัดพิมพ์เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว แนะนำว่าควรจะพูดคุยเจรจากับผู้แปลและบรรณาธิการที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย เพราะถือว่าช่วยเหลือผู้แปล
ผมคิดว่าบางเล่มอย่าง The Republic ถ้ามีปัญหาเพราะว่า หนึ่ง เป็นหนังสือที่ใช้เป็นตำรา ใช้ประกอบการทำวิทยานิพนธ์ ประกอบการทำอะไรทั้งหลายแหล่ แล้วเขาต้องการทำในเวอร์ชั่นของเขา แก้จากต้นฉบับนี้เพื่อให้วิทยานิพนธ์หรือข้อเขียนทางวิชาการของเขาสมบูรณ์ขึ้น แบบนี้ทำได้ เพียงแต่ในเรื่องของ commercial เท่านั้นเองที่ทางโครงการอาจจะต้องกลับมาพิจารณา
เพราะเมื่อก่อนทำกันอยู่คนสองคน เราก็ใช้วิธีศึกษาเอาจากกติกาที่มีอยู่ในต่างประเทศว่าเขาจะจัดการอย่างไรได้บ้าง แต่พอเราทำงานผ่านมาสองเล่มแล้ว เราก็รู้ว่า กติกาพวกนี้มันเอื้อประโยชน์แบบนี้ แต่ก็ทำให้ประโยชน์บางอย่างของผู้แปลลดลง ก็ต้องกลับมานั่งดูกัน ซึ่งปลายปีนี้ จะขยับขยายมาทำทางด้านสังคมวิทยา ด้านปรัชญาเพิ่มเติมด้วย
เล่มนี้จริงๆ ถือเป็นเล่มสำคัญ The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism โดย Max Weber แค่เชิงอรรถก็หนามากแล้ว ก็คิดว่า มันเหมาะกับการทำแบบนี้ สมมุติถ้าผมเป็นสำนักพิมพ์ทั่วไป สำนักพิมพ์ที่ถึงแม้จะมีอุดมการณ์ แต่โอกาสในการขายหรือการคืนทุนผ่านระบบทั่วไป มันช้าแสนช้า ถ้าโชคดีก็ขายดี ได้พิมพ์ซ้ำแน่นอน แต่ถ้าโชคไม่ดีก็พัง แล้วประโยชน์มันก็จำกัดด้วย
สมมุติว่าผมเป็นสำนักพิมพ์อิสระ พิมพ์ได้พันเล่ม คนเข้าถึงตัวบทของผม มันก็แค่พันคนที่ซื้อไป หรือเอาไปซีรอกซ์หรือเอาไปทำอะไรต่อ คงไม่สามารถเข้าถึงในด้านอื่นๆ ได้ ซึ่งตัวบทพวกนี้ ในโลกตะวันตกมันเป็นของสาธารณะอยู่แล้ว เป็น Public Domain บ้านเราสิ่งเหล่านี้แทบไม่มี ไม่ได้ digitize ขึ้นไป ซึ่งการเข้าถึงตรงนี้มันสำคัญ
ฉะนั้น ถ้าเราทำในส่วนที่เราเป็นเอกชนอย่างเดียว มันก็จะได้แบบหนึ่ง ดังนั้นเรารู้สึกว่า ยังอยากให้โครงการนี้มันผลักดันงานที่เอกชนทำไม่ไหวต่อไป เล่มบางๆ เราก็ไม่แนะนำให้ทำ เพราะรู้สึกว่า ใครๆ ก็ทำได้ ใครๆ ก็สามารถผลิตได้
ถ้าหนังสือหนา 40-50 หน้า แทบไม่ต้องระดมทุน แต่ถ้ามองว่า 40-50 หน้านั้นสำคัญและจำเป็น แล้วต้องการเงินจำนวนไม่มาก สักสองถึงสามหมื่นเป็นค่าระดมทุนสนับสนุนการแปล สมมุติเป็นงานของ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) เล่มที่ยังไม่มีคนแปล และไม่หนามาก ก็อาจจะทำได้ ถ้ามองว่ามันสำคัญ
แนะนำว่า ถ้าจะทำ ควรจะทำเล่มที่มันโหดนิดหนึ่ง เพราะเราคิดว่า ถ้าทำแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ มันอาจจะทำไม่ได้เลย แต่ถ้ามาที่นี่จะมีทีมงาน พูดง่ายๆ ตั้งแต่ต้นฉบับจนไปถึงจัดหน้า พิสูจน์อักษร ประชาสัมพันธ์ มันมีคนเข้ามาช่วย สำหรับผมเอง ถ้าไม่มี Readery ก็ลำบากเหมือนกัน ฉะนั้น จริงๆ มันก็เหมือนกับการพึ่งพาอาศัยกัน
แบบนี้ก็ต่างจากโมเดลแบบสำนักพิมพ์ ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
ใช่ โครงการไม่ได้มองตรงนี้เลย ส่วนนั้นเขาก็ไปตกลงกันเอง ประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้แปล ไม่เกี่ยวอะไรกับโครงการ
โครงการวรรณกรรมฯ เหมือนกับจุดเริ่มของการทำให้งานมันไปถึงจุดที่สำเร็จเป็นตัวบท แล้วอีกด้านก็เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้แปลกับสำนักพิมพ์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะผู้แปลตัวเล็กๆ โอกาสที่จะไปเสนองานกับสำนักพิมพ์ก็น้อย สำนักพิมพ์ที่จะมีเงินหมุนเวียนพอที่จะพิมพ์งานคลาสสิกก็ยิ่งมีจำกัด ถ้าเขาเห็นว่ามันดี เขาจะมีเงิน ก็อย่างที่บอกว่า สำนักพิมพ์อาจจะพิมพ์ได้พันเล่มสองพันเล่ม แต่ประโยชน์ที่กระจายออกไป ว่าตัวบทมันพิมพ์แล้วนะ อาจจะไม่มากเท่ากับการที่เราเปลี่ยนบทพวกนี้ให้เป็นออนไลน์แล้วสามารถดาวน์โหลดไปอ่านได้ หรืออย่างน้อย เรียกว่า การกลับมาดูมัน พิจารณา วิจารณ์ แก้ไข มันเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้
ที่เราทำโครงการของเราได้ง่ายกว่ากระบวนการพิมพ์ปกติกับสำนักพิมพ์อิสระก็ดี สำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ก็ได้ เขาก็คล้ายๆ กับว่า เขาค่อนข้างจำกัด คืออาจจะไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะให้งานเขาไปอยู่ออนไลน์ได้ ทุกอย่างจะมีเรื่องที่เรียกว่า ประโยชน์ทางด้านการจัดพิมพ์ การถือครองลิขสิทธิ์การพิมพ์ ทั้งที่จริงๆ งานพวกนี้มันไม่มีลิขสิทธิ์แล้วในทางสากล
แล้วอย่างนั้น โครงการนี้อยู่ได้ด้วยอะไร
โครงการนี้เหรอ ถ้าทำแค่โครงการนี้จะอยู่ไม่ได้ โครงการนี้เป็นการทำเสร็จแล้วเราก็แยกย้ายกันไป คือในเชิงธุรกิจ เราไม่สามารถทำให้มันเป็นองค์กรธุรกิจได้ อันนี้พูดกันแบบตรงๆ ว่า ถ้าทำเพื่อให้เป็นโครงการที่เป็นธุรกิจ มันจะน่ากลัวครับ
คือหลังจากนั้น สมมุติว่าผมมีสำนักพิมพ์ แล้วผมจะเอาพวกนี้ไปทำในรูปแบบต่างๆ แต่ผมจะทำทุกอย่างที่ผมต้องการไม่ได้ เช่น ผมเอาตัวบทนี้ไป แล้วเวลาคนดาวน์โหลดต้องเสียเงิน ซึ่งมันเปิดฟรี ผมทำแบบนี้ก็ไม่ได้ หรือถ้าผมเอาไปพิมพ์เป็นหนังสือ ผมลด margin ลง สมมุติ โมบี้ ดิ๊ก เหลือเล่มละ 150 บาท พิมพ์ออกมาให้ได้ 5,000 เล่ม ฉบับนักเรียน แล้วผมก็ขายทำกำไร อย่างนั้นผมก็ทำได้ แต่พอดีว่า มันมีคนอื่นที่ทำได้ดีกว่าผม มีสำนักพิมพ์ที่เขาดูแลเรื่องงานคลาสสิก สำนักพิมพ์ที่พร้อมจะรับช่วงต่อไปเผยแพร่ แล้วก็ให้ประโยชน์แก่ผู้แปล มันย่อมดีกว่า
นั่นละครับ ก็เลยจะไม่มีในด้านของธุรกิจ เพราะมันต้องแยก ถ้าไม่แยก มันจะมีปัญหา แต่คราวนี้ มันก็จะเป็นอีกด้านที่เราต้องเคลียร์ ตอนนี้ไม่มีใครสงสัยแล้วว่าเราจับเสือมือเปล่า เพราะมันไม่ใช่ประโยชน์ของตัวเรา แล้วเราก็รู้สึกว่าวันหนึ่ง คนอื่นๆ ก็สามารถมารับช่วงต่อได้ ผมก็พยายามถ่ายทอด คือมีคนใหม่ๆ เข้ามา มีคนที่มีความสนใจด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เข้ามาร่วมสมทบ ฉะนั้น ตัวโครงการไม่ได้มีเป้าหมายทางธุรกิจ แต่มีเป้าหมายว่าให้สามารถทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำ แล้วก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
เหมือนสิ่งมหัศจรรย์มากเลย
(หัวเราะ) มันก็ควรจะต้องมี ก็ต้องให้เครดิตคนที่ริเริ่ม อย่างวรงค์ (หลูไพบูลย์) สำนักพิมพ์บทจร เขาเป็นคนริเริ่ม ส่วนผมเป็นคนรับลูกมาแล้วก็ทำให้มันเป็นจริงได้ ก็ต้องขอบคุณไผ่-เวธัส (โพธารามิก) ที่ทำเล่มแรก ทุกคนก็เสียสละตัวเองหมด แต่ผู้แปลเขาก็ได้ค่าตอบแทนในจุดที่เขาพึงพอใจ
การหาผู้แปลที่สามารถแปลตรงจากภาษาต้นฉบับได้ไม่น่าจะง่าย
แต่อยากทำอย่างนั้นให้ได้ทุกเล่ม แต่พอดีเล่มของ มักซ์ เวเบอร์ เป็นภาษาเยอรมัน ถึงจะเป็นคนที่อ่านเยอรมันได้ ก็อาจจะไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นตำราที่มีความยาก ถึงเข้าใจภาษาเยอรมัน แต่อาจจะไม่ช่วย ถ้าเขาไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางสังคมวิทยาหรือปรัชญา ซึ่ง term บางอย่าง คนรู้เยอรมัน บางครั้งก็ไม่รู้ละติน คนรู้เยอรมันก็อาจจะไม่รู้เศรษฐศาสตร์บางอย่าง เพราะฉะนั้น ผู้แปลก็จะพยายามสอบทานจากหลายๆ สำนวน ซึ่งก็ช่วยได้
ทำไมถึงเลือกเล่มนี้
จริงๆ เรามีโครงการย่อมกว่านั้น เราทำเล่มเล็กกว่า ชื่อ Politics as a Vocation โดย Max Weber กับอีกเล่ม เป็นงานบรรยายของเวเบอร์เหมือนกัน เป็นเล่มบางๆ แต่โครงการนี้ พอดีริเริ่มโดยสำนักพิมพ์สมมุติ แล้วทางสมมุติยังไม่ได้พิมพ์ ก็คุยกันว่า หรือจะเอาไปผลิตกันเอง ก็เลยส่งมาที่โครงการฯให้พิจารณา แล้วโครงการฯคุยกันไปคุยกันมา ก็บอกว่า อย่างนั้น เราทำในสิ่งที่ยังไม่ได้แปลดีกว่า สองเล่มที่ว่านั้นแปลไปแล้ว ถ้ามาเปิดเป็น public ก็คงไม่ใช่ ก็เลยได้ข้อสรุปว่าเอาเล่มที่ยังไม่ได้ทำดีกว่า
ดูเป็นหนังสือที่หาคนอ่านไม่ง่ายเลย
คิดว่ามันเฉพาะทาง แต่สัก 600 คนก็เพียงพอให้ระดมทุนได้ ตอนนี้ก็ต้องรอดูว่าตัวเลขออกมาเท่าไหร่
เราวางไว้แค่หนึ่งเล่มต่อปีเท่านั้นเลยหรือ
ใช่ครับ เพราะมันต้องกลับไปทำงานจริงๆ ไม่อย่างนั้น เดี๋ยวเราจะไม่มีวิชาชีพกัน คือเราก็ต้องมีงานที่ได้เงินด้วย
แบบนี้ก็เท่ากับไม่ได้เน้นที่ค่าตอบแทน
ไม่ค่อยได้หรอกครับ เพราะถ้านับเวลาร่วมปีแล้วหารเฉลี่ยต่อเดือน อาจจะเหลือหลักร้อย สมมุติได้ค่าประสานงาน 10,000 บาท ค่าจัดหน้า 20,000 บาท ค่าประชาสัมพันธ์สัก 5,000 บาท รวมๆ กัน แล้วมีน้องช่วยตั้งกี่คน แล้วแต่ละคนก็เรียกว่าทำเต็มที่ บางคนต้องมานั่งอ่าน นั่งจัดหน้า ถ้านับเป็นเงินเดือนน้องแต่ละคนก็ไม่พอครับ น่าจะไม่โอเค ถ้าทำเป็นธุรกิจก็ยังไม่แนะนำ
สมมุติโครงการจะเก็บเอากำไร อย่างที่บอกไปแล้วว่า ทำได้อย่างเดียวคือ ต้องไปพิมพ์หนังสือขายหลังจากนี้ เอาตรงนี้ไปพิมพ์ แต่ก็ไม่ใช่ทางของเราอยู่ดี เราก็ไม่พิมพ์งานคลาสสิกเล่มหนาๆ สำนักพิมพ์พันหนึ่งราตรีก็พิมพ์แต่เล่มบางๆ สำหรับคนที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ
ตั้งใจเจาะกลุ่มนี้เลยเหรอ
(หัวเราะ) เขาน่ารักดีนะ คือไม่ค่อยมีใครรู้จัก แม้กระทั่งมูราคามิในเพจผมยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเลย ก็ตลกดี คนจะถามว่า หมอนี่เป็นใคร เขียนหนังสือดีจัง เราก็จะแนะนำให้ไปซื้อที่ Readery หรือกำมะหยี่ ประจำครับ
แต่ segment ของคนนอกโลกวรรณกรรมมันกว้างมากนะ คิดว่าในด้านหนึ่ง โครงการวรรณกรรมไม่จำกัด ก็อยากจะเข้าไปสู่ segment นี้แหละ เพราะว่าหลายคนก็เหมือนกับ อาจารย์ให้อ่าน The Republic สมมุติเรียนรัฐศาสตร์ปีหนึ่ง มาถามเพื่อทำการบ้าน แบบนี้จะมีเต็มไปหมด จริงๆ ม.6 ก็เริ่มมีเข้ามาถามแล้วเหมือนกัน ประมาณให้ช่วยสรุปให้หน่อย ก็จะเจอคนแบบนี้ด้วย
ถ้าลองนึกภาพตาม มันจะไม่ใช่แบบตอนที่สำนักพิมพ์ทับหนังสือจะพิมพ์ Les Misérables ออกมา หรือสำนักพิมพ์สามัญชน จะพิมพ์ สีแดงกับสีดำ (Le Rouge et le Noir) มันจะไม่ใช่บรรยากาศอย่างนั้นเลย แต่จะเป็นบรรยากาศเหมือนงานวัดงานบุญ อันนี้มันจะเป็นลักษณะอย่างนั้น แล้วคล้ายๆ กับว่า เป้าหมายมันคือทำบุญบ้าง เพราะงานจะเป็นลักษณะที่กระจายเป็นของสาธารณะ ซึ่งต่างกัน ตอนนี้ถ้าใครอยากอ่านสีแดงกับสีดำ ก็จะต้องยืม แต่หนังสือมันดี ก็คิดว่า จริงๆ มันควรจะเผยแพร่ได้มากกว่านั้น
ในเพจ ‘พันหนึ่งราตรี’ จะมีการอัพเดทอยู่เรื่อยๆ เหมือนพยายามหากลุ่มคนอ่านใหม่ๆ
กลุ่มคนใหม่ๆ เยอะมาก แล้วก็เพิ่งมาศึกษากับทีมอย่างจริงจังว่า จริงๆ คนที่คลิกไลค์สเตตัสเรา ไม่เคยคลิกไลค์เพจด้วยซ้ำ แต่ก็แชร์กันไป ยังมีอีกหลายคนไม่เคยไลค์เพจเลย ยอดไลค์ของเพจ 60,000 กว่าคน มีคนที่ไม่ได้ไลค์เพจเราเต็มไปหมดเลย แต่เขาก็แชร์ไป เขาอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพจเราขายหนังสือ ซึ่งก็น่ารักไปอีกแบบ ไม่รู้ด้วยว่าเราเป็นสำนักพิมพ์
แต่รู้ว่าบางคนที่เป็นแฟนเพจแล้วเวลาเราผลิตอะไรออกไป เขาพร้อมจะสนับสนุน ซึ่งสำหรับเรา ขายพวกเขาได้สักหมื่นคน เราก็สบายแล้ว ซึ่งเขาก็ซื้อกันจริงๆ นะ บางคนถือว่าใช้ประโยชน์ทางจิตใจ เวลาอ่านเพจเรา แชร์เพจเรา พอเราผลิตหนังสือออกมา เขาก็เหมือนกับอยากช่วย เพราะอยากให้เพจอยู่ได้ ซึ่งเราขอแค่ทุกครั้งที่พรีออร์เดอร์ ขอแค่หลักร้อยหลักพัน ก็โอเคแล้ว
ก็คิดว่า จริงๆ ในโลกที่อยู่นอกโลกวรรณกรรม แวดวงวรรณกรรม คนมันเยอะมากเลย แล้วแทบไม่โจมตีเขาว่าเป็นนักอ่านแจ่มใสหรืออะไร เพราะบางทีเขาไม่อ่านเลยด้วยซ้ำ บางทีเขาไม่ได้อยู่ในโลกของหนังสือเลย แต่เป็นโลกของเด็กที่เล่นเฟซบุ๊ค เล่นไลน์ ดูยูทูบ ยังมีอีกหลายกลุ่ม
อย่างที่บอกว่า ไม่แน่ นอกจากรายการสรุปข่าวให้คนฟัง เราอาจจะต้องมาสรุปหนังสือที่เราอ่านให้คนฟังหรือเปล่า ก็ไม่แน่นะ เหมือนกับเด็กสมัยนี้ก็ไม่เล่นเกม แต่ก็ดูการรีวิวเกม การแคสต์เกม ประมาณอย่างนั้นเลย นี่ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่เราอาจจะต้องกลับไปทำความเข้าใจว่าโลกมันมี medium ไม่ใช่แค่หนังสือที่เป็นตัวกลาง แต่ต้องมีคนที่ทำหน้าที่อ่านให้พวกเขาฟัง ก็ตัดสินไม่ได้ว่ามันดีไม่ดี แต่นี่คือข้อเท็จจริงที่มันเป็น
แบบนี้ทำให้เพจพันหนึ่งราตรีให้ความสำคัญกับภาพประกอบ เพราะคิดว่ามันช่วยเสริมเนื้อหาใช่ไหม
ใช่ จริงๆ บางอันก็ฮาร์ดคอร์มาก เหมือนกับเราอ่านหนังสือมา แล้วเอามาแปลใส่เพจ บางอันน้องเขาเห็นเป็นหนังสือแปลกๆ ก็เอามาแชร์ แต่มันก็ popular ได้นะ บางเล่มก็ไม่ได้มีแปลเป็นไทย บางเล่มก็ไม่น่าจะเป็นกระแสได้ บางอันก็เป็นปรัชญาเสียเหลือเกิน แต่ว่ามันก็ไปกับภาพ
ภาพมันก็ทำให้คนรู้สึกว่า สบายใจที่จะแชร์ เมื่อก่อนก็จะเป็นหน้านักเขียนโหดๆ ขาวดำ ซึ่งจะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง แต่เราคิดว่า เมื่อเราจะผลิตแล้ว ก็ทำภาพมาก็ได้ มันก็เป็น asset ของพวกเรา วันหนึ่งจะจัดแสดงก็ได้ ถ้าจะทำออกมา จะเป็นดิจิตอล หรือจะไปทำเป็นซิลค์สกรีน หมายถึงไปจ้างผลิต ก็ได้ทุกรูปแบบ ซึ่งน้องที่เป็น Illustrator ก็ทำเต็มที่ ทำมาเรื่อยๆ หลายสไตล์มาก
ส่วนใหญ่เป็น quote เกี่ยวกับความรักด้วยไหม ก็เลยเข้าถึงคนง่าย
ก็พยายามปนๆ ช่วงเช้าจะเป็นเรื่องชีวิต กลางคืนจะเป็นเรื่องหงอยๆ เหงาๆ ความรักก็อาจจะมาช่วงหัวค่ำ ก็แล้วแต่ มันต้องไม่น้อยไม่มากเกินไป บางอันก็เบลนด์การเมืองเข้าไป แต่เขาก็ไม่รู้หรอก ก็นึกว่าเป็น quote ความรักธรรมดา ก็แชร์กันไปเรียบร้อย แต่ตัวเรา ตอนที่ทำ เรารู้อยู่ว่าเราพูดเรื่องอะไร ซึ่งคนก็จะไปไม่ถึงเมสเสจตรงนั้นหรอก เขาก็จะได้แค่ระดับหนึ่ง
สำหรับเรา มู้ดของมัน ถ้าเอามาดูดีๆ มันก็มีความแปรผันไปเรื่อยๆ มันไม่ได้นิ่งที่เรื่องความรักอย่างเดียว ก็พยายามจะให้มันมีกำลังใจ ปรัชญาที่มันยุ่งๆ ยากๆ บ้าง แต่หลักๆ แล้วตอนนี้มันเป็นพันธกิจของเรากับผู้อ่านและแฟนเพจ
เราก็พยายามปรับอยู่เรื่อยๆ นะ เรียกว่าทำหนังสือมา ยังไม่เคยทำหนังสือขายดีที่กำลังจะหมดแล้ว อย่างของภู่มณี (ศิริพรไพบูลย์) ซึ่งก็ต้องขอบคุณแฟนเพจว่า มีอะไรก็ซื้อหมด ตันตาเลีย ก็ซื้อไปได้อย่างไรไม่รู้ เพราะมันอ่านยากมากเลย แต่เขาก็ซื้อกัน
เหมือนกับว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ว่าจะแบ่งแยกได้อีกแล้วว่า คอวรรณกรรม จะมาแบบนี้ ผมว่าเปล่าเลย มันคือแพ็คเกจจิ้ง ข้างในจะใส่อะไรก็ได้ อย่างเพจเรา ข้างในจะเป็นอะไรก็ได้ แต่คนก็จะรับได้ เพราะเขารู้สึกผูกพันกับเรา เพราะฉะนั้น ตอนนี้เก็บไว้เลย พวกฐานของเรา ที่เป็นแฟนเพจ พยายามทรีตเขาเหมือนญาติพี่น้อง ก็เราอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็ไปด้วยกันได้จริงๆ ในด้านหนึ่ง
แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องมาขายอะไรด้วยตัวเองหมด แต่มันจำเป็น เอาเข้าจริงมันจำเป็น เพราะเราไม่ส่งกับสายส่ง เล่มปกอ่อนสองเล่มหลังแทบไม่ต้องส่งผ่านสายส่งแล้ว
ถือว่าปรับโมเดลเลยไหม
ปรับเลยครับ สมมุติว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเรามีคนซื้อหนังสือเราแน่ๆ 500-1,000 คน เราก็ผลิตแค่นั้นแหละ หนังสือเราก็ไปถึงมือเขาโดยที่ไม่ต้องผ่านสายส่ง แต่ตอนที่เราทำก่อนหน้านี้ หนังสือมันไป circulate อยู่ในตลาด อยู่ในโกดังเก็บสินค้า จนมันพัง เยินหมด
แล้วหนังสือเรา จริงๆ ก็เป็นหนังสือปกแข็งซึ่งทนทานระดับหนึ่ง ถึงปกจะเลอะง่าย แต่ปรากฏว่า ตอนนี้ที่กลับมามันชำรุด 200 กว่าเล่ม สำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์ 1,000 เล่ม 200 กว่าเล่มที่ชำรุดที่เขาส่งกลับมาถือว่าเยอะนะ
เราก็เลยมาคิดกันใหม่ว่า จะจัดการกับมันอย่างไรดี แต่ถ้าเก็บไว้ที่เรา หนูคงไม่กัด แมลงสาบคงไม่แทะ แต่มันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันก็ยังเป็นหนังสือใหม่อยู่ ก็เลยคิดว่า ไม่แน่ เราอาจจะค่อยๆ ปรับรูปแบบการทำงานตรงนี้
คือพบกันในหน้าร้านน้อยลงอยู่แล้ว อย่างหนังสือของสำนักพิมพ์เล็กๆ จะอยู่ไม่นานหรอกครับ ประมาณ 6 เดือน เก่งสุด ต่อให้ขายได้ด้วย หรือขายหมด ก็อาจจะไม่มีรีออร์เดอร์ สมมุติวางแต่ละร้านห้าเล่ม ขายหมดก็หมด มันอาจจะไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะกับเราเท่าไหร่ แล้วร้านหนังสืออิสระ เราก็เกรงใจเขา พื้นที่แต่ละที่ ในเมืองก็ดี หรือที่อื่นๆ ก็ดี มันก็มีน้อย เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือก
ตอนนี้บอกไม่ถูกเหมือนกัน แต่เขาบอกว่า มันเป็นขาลงของธุรกิจสิ่งพิมพ์ แต่ผมกลับมองว่า มันเป็นขาขึ้นของสำนักพิมพ์เล็ก สำนักพิมพ์อิสระ ตัวสำนักพิมพ์อิสระมันมีจุดแข็งมากขึ้น โซเชียลมีเดียทำให้เขารู้สึกเหมือนพี่เหมือนน้อง
เมื่อก่อนคุยกับฝรั่งที่ทำ startup ธุรกิจมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ เขาบอกเขาไม่เข้าว่าคนไทยจ่ายเงินก่อนที่จะได้สินค้าได้อย่างไร เขาไม่เคยเข้าใจเลยว่า ธุรกิจพวกนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ผมก็อยากบอกเขาเหมือนกันว่า ธุรกิจพวกนี้ของเราอยู่ได้ก็เพราะความเชื่อใจของคนอ่านที่มีต่อเรา
ในเมืองไทยคุณต้องโอนเงินมาก่อนส่งของทุกที่ ไม่มีทางที่เราต้องส่งของไปก่อน แต่ของฝรั่งคือ ส่งของก่อนที่จะสามารถตัดเงินจากบัตรเครดิตของผู้สั่งซื้อได้ คือเขาอาจจะตัดบัตรตั้งแต่ตอนสั่งซื้อก็จริง แต่คนขายจะยังไม่ได้เงิน แล้วถ้าคนสั่งขอยกเลิก คนสั่งอาจจะได้เงินคืน
สมมุติว่าเป็นสำนักพิมพ์อิสระของฝรั่ง เขาก็จะได้เงินช้ากว่าเรา ของบ้านเราได้เงินสดมาก่อนเลยตั้งแต่พรีออร์เดอร์ ซึ่งของฝรั่ง เข้าใจว่าเป็นเรื่องเครดิตการ์ดด้วย 45 วัน อันนี้นึกไม่ออกเหมือนกันว่ามันต่างจากของเราอย่างไร แต่ช้าครับ ถ้าเราผูกกับพวกบัตรเครดิตจะได้เงินช้า คือจะไม่ได้ทันที
คือเราปรับมาเป็นพรีออร์เดอร์?
ถ้าเป็นของพันหนึ่งราตรีก็มีพรีออร์เดอร์บ้าง แต่บางอันแทบจะเรียกได้ว่า ไม่ค่อยได้พรีออร์เดอร์เท่าไหร่ เหมือนกับพอจะเปิดพรีออร์เดอร์ปุ๊บ หนังสือก็เสร็จแล้ว เล่มบางนิดเดียวด้วย ก็เลยใช้เวลาไม่นาน แต่ก็จะพยายาม เดี๋ยวจะดูบาลานซ์ก็คือ ทั้งเปิดพรีออร์เดอร์ จัดแคมเปญนู่นนี่ ซึ่งก็ตลกดีว่า เออ เมื่อก่อนถ้าเราทำหนังสืออย่าง ตันตาเลียออกมา คงเจ๊งแน่ๆ คงขายไม่ได้ พันเล่มนี่ไม่รู้ว่าขายกี่ปี
แต่ตอนนี้คิดว่า อะไรก็ได้แล้วครับ (หัวเราะ) อย่างหนังสือของมาร์เกซ (กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนดังชาวโคลอมเบียที่ถนัดแนวสัจนิยมมหัศจรรย์) อาจจะกลายเป็นหนังสือขายดี ป๊อปๆ เลย เหมือนของบทจร เล่ม รักเมื่อคราวห่าลง ถ้าเซ็ตดีๆ มันก็ไปได้
เหมือนความรักเป็นของที่หาได้โดยทั่วไป ความสนใจของคนก็จะมีค่อนข้างมาก ก็เลยคิดว่า ในด้านหนึ่ง เราอาจจะดึงเขาเข้ามา แต่เราก็ต้องพยายามหาบาลานซ์ให้เขาได้คิดในมุมต่างๆ การเมืองบ้าง ปรัชญาบ้าง
คิดอย่างไรที่หนังสือหลายเล่มขายได้เพราะปก
ก็จริง ปกนี่เป็นตัวสำคัญ หลายคนใน Goodread ด่าสำนักพิมพ์ผมว่า ไม่น่าซื้อเลย เพราะตอนแรกคิดว่าปกเป็นแบบนี้ พอไปอ่านดันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ประจำครับ แต่ทำไงได้ ปกมันต้องมีดีไซน์ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเนื้อหามันต้องป๊อปไปกับปกด้วย ปกอาจจะป๊อป แต่เนื้อหาอาจจะฮาร์ดคอร์นิดหนึ่ง
เลือกเรื่องอย่างไร
จริงๆ เราเลือกวรรณกรรมฮาร์ดคอร์นะ เดี๋ยวมีอีกเรื่องหนึ่งก็ฮาร์ดคอร์ เป็นของเพื่อนบอร์เกซ (โฆเซ ลุยซ์ บอร์เกซ) แต่น่าจะอ่านง่ายกว่าบอร์เกซ ก็คงเป็นความรักอีกนั่นแหละ จริงๆ คือเรื่องมันพอจะบิลด์ได้ เรื่องคล้ายๆ The Matrix แต่ในยุคที่ยังไม่มีไซเบอร์สเปซ ยุคที่ยังไม่มีแนวคิดเรื่อง โลกที่เป็น hyperreality ยุคนั้นน่าจะมีแค่เครื่องฉายภาพยนตร์ แต่เขาก็คิดได้แล้วว่า ตัวละครไปหลงรักตัวละครใน virtual reality แล้วจะทำอย่างไร เพราะยังไงมันก็คนละเวลา มันเป็นแค่ภาพบันทึก
ตัวเอกจะทำให้รู้สึกว่า ผู้หญิงคนนี้จะรักมันได้อย่างไร ก็รักไม่ได้อยู่แล้ว สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวมันถูกบันทึก เหมือนไปเล่นหนังเพื่อซ้อนภาพตรงนั้นให้รู้สึกว่า ถ้ามีใครหลงมาที่เกาะนี้แล้วเห็นมัน ก็จะคิดว่ามันคือคนรักของผู้หญิงคนนี้
แต่เรื่องมันซับซ้อนกว่านั้น นั่นแค่ส่วนเดียวของเรื่อง เป็นเรื่องแบบผจญภัยติดเกาะ ตัวนี้คือแกนที่บิลด์ได้ เพราะข้างในยังมีเรื่องของปรัชญา ประมาณว่า คนกลัวตาย แล้วพยายามคิดว่าทำยังไงถึงจะมีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ อารมณ์เหมือนกับ Island of Dr. Moreau แต่ปรับให้เป็นเรื่องที่ไม่มีสัตว์ประหลาด ไม่มีการทดลอง แต่เป็นเรื่องการทำอย่างไรก็ได้ ให้เรามีชีวิตอยู่ชั่วนิรันดร์ ถึงแม้จะเป็นแค่ภาพที่ถูกฉายออกไป
เราก็เลือกเรื่องแบบนี้ ในด้านหนึ่ง ก็มีงานฮาร์ดคอร์ ของ อติภพ (ภัทรเดชไพศาล) จะเป็นงานเกี่ยวกับดนตรีของเขา ซึ่งคงไม่มีที่ไหนพิมพ์ แต่เราก็พิมพ์ไม่เยอะ แต่ทำหนังสือให้สวยไปเลย เปิดออกมาให้รู้สึกว่า แค่ดูดีไซน์ก็คุ้มแล้ว จบ เนื้อหาค่อยว่ากัน ถ้าสังเกตเราไม่เน้นเปลือก แต่เราเอาเปลือกมาขายเลยครับ คือคิดว่ามันต้องไปด้วยกัน ทั้งสไตล์ ดีไซน์
ถือว่าใช้ประโยชน์จากดีไซน์ให้เต็มที่
เนื้อหาอ่านไม่อ่านก็ค่อยว่ากัน ซื้อไปเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยไปรีวิวด่าทีหลัง (หัวเราะ)
ตอนนี้อ่านหนังสือเยอะไหม
ตอนนี้ต้องอ่าน จะพยายามอ่านที่มันได้ใช้ประโยชน์ เพราะตอนนี้ผมทำรายการ ‘สัตตะ’ กับอาจารย์ธเนศ (วงศ์ยานนาวา) ด้วย ก็เลยคิดว่า บางอย่างก็ต้องอ่านไป เพื่อจะเอาไปใช้ตรงนั้น ก็จะให้มัน relate กัน หรือถ้าทำวารสาร ช่างกลวรรณกรรม ก็จะพยายามให้มัน relate กัน
ช่วงนี้จะอ่านอาทิตย์หนึ่งประมาณ 1-2 เล่ม ซึ่งมันก็ต้องอ่าน เพราะเป็นงานด้วย แต่ถ้าเป็นงานภาษาไทย แล้วตกมาถึงมือ บางทีจะส่งไปให้ทีมงานอ่านก่อน ถ้าเป็นวารสารแล้วต้องรีวิว ก็จะส่งให้ช่างกลคนอื่นๆ อ่านไปก่อน ส่วนเราก็อ่านได้ แต่ก็ต้องมีคิว แต่ต้นฉบับก็อ่านเองครับ ถ้าส่งมาให้พิจารณาก็ยังต้องอ่านอยู่
สภาพเศรษฐกิจมีผลกับสำนักพิมพ์บ้างไหม
ที่บอกว่า เศรษฐกิจดี ขายดีอย่างไร เราไม่เคยรู้จักเลยครับ คือไม่ต้องคุยกันเลย เรื่องแบบสำนักพิมพ์ขายดี เพราะเราขายไม่ดีมาตลอด ก็เลยไม่รู้เลยว่า สภาพโดยรวมของเศรษฐกิจเป็นยังไง เพราะเราอยู่ในภาวะวิกฤติมาตลอด (หัวเราะ) นึกออกไหม เวลาที่บอกว่า เฮ้ย สัปดาห์หนังสือปีนี้ขายไม่ดี เราขายได้ 10 เล่มเอง คือถ้าเราเอาไปฝากยังรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ารถเลย เลยไม่รู้ว่าที่ว่าดี ดียังไง และไม่ดี ไม่ดียังไง เพราะเราอยู่ในสภาพร่อแร่มาตลอด แล้วก็ต้องมาดูกันว่ามันยังไง เพราะบทกวีมันขายยากมากเลย เหมือนกับพิมพ์พันเล่มอาจจะยังเยอะไป
มีคนเคยพูดว่า ถ้านักเขียนอุดหนุนงานกันเอง วงการจะอยู่ได้
ทีแย่ก็คือนักเขียนไม่อ่านด้วยน่ะสิ มันโหดกว่านะ มันไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลยด้วยซ้ำ เพราะว่า หนึ่ง เล่นเฟซบุ๊ค (หัวเราะ) ก็อาจจะนับรวมเป็นการอ่าน แต่หมายถึงหนังสือเป็นเล่มไง
ถ้าเอาเฉพาะนักเขียนที่ส่งชิงรางวัลมารวมๆ กันแล้วเวียนๆ กันซื้อ ผมว่าพอจะอยู่ได้นะ แต่ต้องขอบคุณนักเขียนหลายคนนะ เพราะมีนักเขียนมาช่วยระดมทุน โมบี้ ดิ๊ก เยอะ เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่า มันไม่ได้แค่การซื้อหนังสือที่ระลึก หรือระดมทุน แต่เขาคิดว่ามันเป็นการให้กับสังคมด้วย ก็ว่านักเขียนไม่ได้ เพราะเล่มนี้ก็มีนักเขียนมาร่วมจำนวนหนึ่ง (หลักสิบ) ก็ถือว่าเยอะแล้วสำหรับเรา เพราะไม่คิดว่าจะมีขนาดนี้ นักเขียนรุ่นใหญ่ท่านหนึ่งยังซื้อตั้งสิบเล่ม แต่ให้ลงชื่อคนอื่น ก็ฮาดี
เวลามีคนเมสเสจมาที่เพจ เราตอบกลับไวแค่ไหน
Very Responsive ตอนนี้ 4 นาทีแล้ว ผมว่ามันต้องทำให้เขารู้สึกว่า เวลาเมสเสจหาเรา เขาไม่มีคนอื่นแล้วทั้งโลก เพื่อที่จะถามว่า เรื่องรักของบางเรา มีขายไหม ซึ่งเราไม่ได้ขายไง บางอย่างเราตอบได้เราก็ตอบ แต่ถ้าตอบไม่ได้ ก็โยนไปร้านหนังสือออนไลน์ Readery หรือร้านอะไรก็ตามที่น่าจะมี
ผมว่าคนไม่ชอบรอ คือเรารอเขาได้นะ แต่พอเป็นเขารอเราจะไม่ค่อยได้ อันนี้ก็เป็นนิสัยของคนปัจจุบัน เขาไม่ชอบรอ แล้วบางที 10-20 นาที ผมว่า ก็อาจจะเป็นการตัดสินชี้วัด บางทีถ้าเราโยนเลขบัญชีไปให้ โอนเงินมาเลย มันจะมีลักษณะของการ ถ้าเรา participate เร็ว ก็ดี
ต้องมีแอดมินคอยตอบเมสเสจในเพจตลอดไหม
เสาร์อาทิตย์จะดูตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราเอาเงินเขามาก่อน ผมว่าตอบไปเถอะ ถ้าเราทำสินค้า แล้วสำนักพิมพ์เราต้องการหาช่องทางในการอยู่ได้ในแบบใหม่ๆ ผมว่า participate ไปเลย เพราะนี่คือจุดแข็งของสำนักพิมพ์อิสระ สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่มีทางขนาดนี้ แล้วจุดแข็งของ Readery ก็ดี หรือพวกร้านค้าออนไลน์ ก็คือการ participate สูงมาก
Readery อาจจะได้เปรียบ เพราะเขารับทุกช่องทาง inbox เขาก็รับ ไปหน้าเพจก็โอเค แล้วของเขาจะมีส่งตั้งแต่แบบธรรมดาไปจนถึงด่วนมาก แต่ของเราก็จะมีแบบเดียวคือไปรษณีย์ไทย