ภาพเปิดตัว Rockstar ของ ‘ลิซ่า’ ลลิษา มโนบาล ในฐานะศิลปินแห่งค่าย LLOUD ที่เธอเป็นเจ้าของเอง ในสีผิวที่เข้มกว่าเมื่อครั้งเธอเป็นศิลปิน K-POP ปลุกให้คำว่า blackfishing กลับมามีชีวิตในสื่อสังคม โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม X อีกครั้ง
บทความนี้ไม่ได้ต้องการถกเถียงว่าลิซ่าเป็น blackfishing หรือไม่ หากแต่อยากชวนผู้อ่านทำความเข้าใจรากเหง้าแห่งศัพท์บัญญัตินี้
Blackfishing คืออะไร
Blackfishing เป็นศัพท์ใหม่ เกิดขึ้นเมื่อปี 2018 นี้เอง นักหนังสือพิมพ์ชื่อ วันนา ทอมป์สัน (Wanna Thompson) เป็นคนแรกที่ใช้ศัพท์คำนี้ เพื่อสื่อถึงการกระทำของศิลปินผิวขาวที่หยิบยกเอาอัตลักษณ์ของคนดำโดยเฉพาะสีผิวและทรงผม มาใช้เป็นจุดขายของตนเอง
“สาวๆ ผิวขาวที่คอสเพลย์เป็นผู้หญิงผิวดำ” คือนิยามสั้นๆ ที่ทอมป์สันอธิบายคำว่า blackfishing ในแอคเคานต์ Twitter (ปัจจุบันคือ X)
ทอมป์สันเคยให้สัมภาษณ์ CNN ในปี 2021 ตอนที่กระแสถกเถียงประเด็นนี้ดังในโลกตะวันตกว่า เธอพุ่งเป้าไปยังบุคคลสาธารณะและเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่พยายามทำให้ตัวเองดูเป็นคนผิวดำ ทั้งการทำสีผิวให้แทนมากเกินไป การทำผม หรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ผู้หญิงผิวดำเป็นผู้บุกเบิกหรือนิยมมาก่อน
“แทนที่พวกเขาจะชื่นชมวัฒนธรรมของคนผิวดำในฐานะคนภายนอก พวกเขากลับพยายามครอบครองมัน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน โดยไม่สนใจทำความเข้าใจกับความเป็นคนดำอย่างแท้จริง” ทอมป์สันกล่าวกับ CNN
ใครบ้างที่เข้าข่าย blackfishing ในสายตาของทอมป์สัน ผู้บัญญัติศัพท์คำนี้
คิม คาร์เดเชียน (Kim Kardashian) นางแบบชื่อดังที่มักถ่ายภาพเพื่อโฆษณา KKW Beauty เครื่องสำอางของตนเอง ในรูปลักษณ์ที่ผิวเข้มกว่าปกติ คาร์เดเชียนถูกมองว่าเป็นคนแรกๆ ที่นำอัตลักษณ์สาวผิวดำมาใช้เพื่อเพิ่มยอดขายเครื่องสำอางของตนเอง
เอมมา ฮอลเบิร์ก (Emma Hallberg) อินฟลูเอนเซอร์สาว ถูกกระหน่ำด้วยข้อหา ‘ปลอมเป็นคนดำ’ เพื่อเรียกยอดผู้ติดตามในอินสตาแกรม ฮอลเบิร์กในภาพลักษณ์ของสาวผิวแทนเข้ม ผมหยิกหยอง ริมฝีปากอวบอิ่ม โฉบเฉี่ยวด้วยการแต่งหน้าและแต่งตัวอย่างมีสไตล์ทำให้มีผู้คนชื่นชอบและติดตามเธอนับแสนคน และเธอมีรายได้จากสปอนเซอร์เป็นจำนวนมาก
จนวันหนึ่งมีผู้โพสต์ภาพหญิงสาวผิวขาว ผมยาวเหยียดตรง ระบุว่าเป็นภาพเธอในอดีตก่อนที่จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ฮอลเบิร์กถูกโจมตีอย่างหนัก จนเธอต้องประกาศยอมรับว่าตนเองเชื้อชาติสวิสและเป็นคนขาวเต็มตัว แต่เธอปฏิเสธข้อกล่าวหา ‘ปลอมเป็นคนดำ’ โดยอ้างว่าภาพที่เห็นเธอผิวสีแทนเข้มเหล่านั้นถูกถ่ายหลังจากเธอไปเที่ยวทะเลในหน้าร้อนทั้งสิ้น และยืนยันว่าการที่มีสปอนเซอร์เข้ามาหาเธอไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสีผิวแต่เป็นเพราะสไตล์การแต่งตัวแต่งหน้าของเธอ
ในแวดวงนักร้อง ลิซ่าไม่ใช่คนแรกที่ถูกโจมตีด้วยข้อหานี้ ปี 2021 เจซี เนลสัน (Jesy Nelson) อดีตสมาชิกวง Little Mix เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติอังกฤษ โดนข้อกล่าวหานี้มาแล้วเมื่อเปิดตัวมิวสิกวิดีโอ Boyz ซิงเกิลแรกของการเป็นศิลปินเดี่ยว ที่เนลสันปรากฏตัวด้วยผิวสีแทนเข้มกว่าปกติ และสวมวิกผมทรงคอร์นโรว์ที่ถักเปียเต็มศีรษะ และยังมีนักร้องสาวชาวอิตาเลียนชื่ออารีอานา กรานเด (Ariana Grande) รวมถึงศิลปินชายอย่างบรูโน มาร์ส (Bruno Mars) ลูกครึ่งฟิลิปปินส์ และเปอร์โตริกัน/ยิว
ความหมายทางสังคมของ blackfishing
Blackfishing หรือ blackfish เป็นการเล่นกับคำว่า black ที่หมายถึงคนผิวดำ กับ catfish ศัพท์สมัยใหม่อีกคำหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้และถูกใช้ในความหมายที่สื่อถึงใครก็ตามที่สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาบนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อหลอกหรือลวงให้ผู้คนติดตาม โดยไม่ได้ตีกรอบว่าการหลอกลวงหรือการปลอมตัวนั้นจะปรากฏในลักษณะใด blackfish คือ การ catfish ที่เฉพาะเจาะจงไปที่การใช้วัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ของคนดำมาเป็นเครื่องมือ
หากจะถอดความ blackfishing ให้ครบถ้วนที่สุดน่าจะได้ว่า การหยิบฉวยอัตลักษณ์คนดำมาใช้เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมบันเทิงของศิลปินหรือคนดังผิวขาว
สำหรับทอมป์สันแล้ว blackfishing คือ ‘การเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ’ (systemic discrimination) เมื่อคนขาวจงใจเลือกหยิบสิ่งที่พวกเขามองว่าด้อยค่าของคนดำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่นเดียวกับ เลสลี โบว์ (Leslie Bow) นักวิชาการด้านอาเซียน-อเมริกันศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ที่มองว่า blackfishing เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมที่มองวัฒนธรรมคนดำว่าเป็นสไตล์ที่สามารถนำมาเป็นสินค้าได้
สำหรับโบว์แล้ว blackfishing เป็นการลดคุณค่าคนที่มีประวัติศาสตร์เฉพาะตนให้เหลือเพียงคุณลักษณะหรือวัตถุที่เราใช้ประโยชน์ได้ “มันคือการฉกฉวยใช้ประโยชน์จากความเป็นอื่น”
ฉกฉวยหรือชื่นชมทางวัฒนธรรม
มีผู้พยายามแย้งว่าปรากฏการณ์การปลอมตัวเป็นคนดำที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมบันเทิง ควรถูกมองว่าเป็นการชื่นชมทางวัฒนธรรม (cultural appreciation) ที่คนขาวมีให้กับคนดำมากกว่าที่จะเป็นการฉกฉวยทางวัฒนธรรม (cultural appropriation) หรือ blackfishing เพราะเป็นการยอมรับนำวัฒนธรรมของคนดำมาประยุกต์บนเรือนร่างของคนขาว เป็นคำอธิบายที่ฟังดูดีแต่ไม่ใช่เหตุผลที่คนอย่างทอมป์สันและโบว์จะยอมรับได้
ทอมป์สันมองว่าอัตลักษณ์ของคนดำกำลังถูกหยิบมาใช้โดยคนที่ไม่มีความเข้าใจในรากเหง้าวัฒนธรรมคนดำอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับโบว์ ที่มองว่าศิลปินหรือเหล่าคนขาวที่สมาทานวัฒนธรรมคนดำเหล่านั้น กระทำไปโดยปราศจากความซาบซึ้งในความงามของวัฒนธรรมคนดำ
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ข้อกล่าวอ้างเรื่องการชื่นชมทางวัฒนธรรม ไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับการเคารพทางวัฒนธรรมคือ การปลอมตัวเป็นคนดำของเหล่าคนขาวนั้นเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงผิวดำยังคงต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การดูถูกเหยียดหยาม และกีดกันจากวัฒนธรรมความงามตามมาตรฐานของตะวันตก พวกเธอถูกทำให้รู้สึกว่าสีผิว เส้นผม และริมฝีปากที่ติดตัวพวกเธอมาตั้งแต่เกิดเป็นเรื่องน่าอับอาย ตรงกันข้ามกับผู้หญิงผิวขาวที่เลือกหยิบคุณลักษณะเหล่านั้นมาแต่งแต้มบนเรือนร่างของตน เพื่อก่อให้เกิดรายได้
“คนขาวสามารถเลือกได้ว่าจะเดินเข้าหรือเดินออกจากความเป็นคนดำเมื่อไรก็ได้ แต่คนดำไม่มีเสรีภาพเช่นนั้น” โบว์กล่าว
ผมและทรงผมของคนดำ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจน
ธรรมชาติทางชาติพันธุ์ของคนดำเชื้อสายแอฟริกัน มักจะมีเส้นผมหยิกละเอียด ยากต่อการจัดทรง ผู้หญิงผิวดำจึงนิยมต่อผมและถักเปียติดหนังศีรษะ ที่เรียกว่าผมทรงคอร์นโรว์ (cornrows) เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและสวยงาม และทำให้พวกเธอไม่ต้องวุ่นวายกับการดูแลทรงผมทุกวัน โดยเฉพาะบรรดาแม่ๆ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จำนวนมากจะทำผมทรงคอร์นโรลให้กับลูกสาว แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติในโรงเรียนเมื่อโรงเรียนหลายแห่งไม่อนุญาตให้เด็กๆ ต่อผมไปโรงเรียน และเมื่อเด็กๆ ไปโรงเรียนพร้อมด้วยผมหยิกหยองบนหัวพวกเขาก็ถูกเพื่อนล้อ
ปี 2021 งานวิจัยของโครงการสร้างโลกที่เคารพและเปิดกว้างต่อผมตามธรรมชาติเพื่อเด็กผู้หญิงของโดฟ (Dove CROWN – Create a Respectful and Open World for Natural Hair) เปิดเผยผลการสำรวจว่ามีแม่ผิวดำถึง 47% รายงานว่าเคยมีประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยทรงผมของลูกสาว โดยเด็กหญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านผมและทรงผมที่อายุน้อยที่สุดคือ 5 ปี
นอกจากนี้ Dove CROWN Research ยังพบว่าด้วย 2 ใน 3 ของผู้หญิงผิวดำจะเปลี่ยนทรงผมเมื่อไปสัมภาษณ์งาน เพื่อเพิ่มโอกาสการได้งานให้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่พวกเธอเลือกที่จะยืดผมให้เหยียดตรงตามมาตรฐานความงามของสังคมที่คนส่วนใหญ่เป็นคนขาว โดยมีสาวผิวดำกว่า 25 % เชื่อว่าเหตุผลที่พวกเธอถูกปฏิเสธตอนสัมภาษณ์งานเพราะผมที่เป็นธรรมชาติของพวกเธอ
ผมคอร์นโรว์กลับเป็นสิ่งที่ถูกคนขาวฉกฉวยมาใช้บ่อยครั้ง เมื่อทรงผมที่เหมาะกับกายภาพของชาติพันธุ์ตนเองกลับกลายเป็นเรื่องต้องห้าม ขณะที่ทรงผมทรงเดียวกัน กลับถูกคนอีกชาติพันธุ์หนึ่งที่อาศัยในสังคมเดียวกัน หยิบฉวยไปใช้เพื่อประโยชน์ และได้รับคำยกย่องว่าเป็นความงาม นั่นย่อมหมายถึงความเจ็บปวดของคนผิวดำ
“มันเป็นการตบหน้าสังคมคนดำอย่างพวกเราอย่างแรง เพราะพวกเขาชื่นชมในสิ่งที่เราเป็นและพวกเขาเคยหัวเราะเยาะ” อาร์ริลลี นอร์ตัน (Arrielle Norton) สาวผิวดำที่กำลังศึกษาด้านสังคมวิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอเมริกากล่าว
เมื่อใดก็ตามที่คนขาวหยิบยกเอาอัตลักษณ์หรือคุณลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของคนดำมาใช้เพื่อประโยชน์ของตนจึงเป็นสิ่งที่คนดำรับไม่ได้
ภาพสะท้อนของ blackfishing ที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างจากการที่สังคมปรารถนา ความเป็นคนดำ (blackness) แต่รังเกียจคนดำ และแน่นอนนั่นย่อมไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าการชื่นชมทางวัฒนธรรม
เป็นที่น่าสังเกตว่าประเด็นหรือข้อกล่าวหา blackfishing รวมถึงการฉกฉวยทางวัฒนธรรม จะจุดติดและได้รับการขานรับ เมื่อการปลอมเป็นคนดำเกิดขึ้นในสังคมที่มีประวัติการเหยียดผิวหรือการเลือกปฏิบัติต่อวัฒนธรรมคนดำ
กรณีสีผิวลิซ่าใน mv Rockstar คนดูส่วนใหญ่เข้าใจประเด็นที่ลิซ่าต้องการสื่อสารถึงความเป็นตัวของตัวเองในฐานะคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) แน่นอนว่ามีร่องรอยความเจ็บปวดจากช่วงที่ทำงานในอุตสาหกรรม K-pop ซึ่งอยู่ภายใต้พิมพ์นิยมความขาวแบบเกาหลี
นั่นน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้กระแสโจมตีลิซ่าว่า blackfishing จึงเกิดขึ้นและดับไปในเวลาอันรวดเร็ว
อ้างอิง
- Instagram influencer accused of going black for followers
- Respect the Roots of Black Hair
- We’re Ending Hair Discrimination
- What ‘Blackfishing’ means and why people do it
- What is blackfishing and why has Jesy Nelson been accused of it?
- BLACKPINK Lisa’s Concept Photos Spark A Debate About Blackfishing