Black Mammoth: การต่อสู้ครั้งสำคัญของเผ่าซู

 

Rejoice in masses. The tribe collapses. The mother weeps in her dying breath.

Rise from the ashes, oh foul Black Mammoth. Dead in spirit, now dead in flesh. – Black Mammoth

“เราทำอัลบั้มนี้ขึ้นมาเพื่อแฟนเพลงในนอร์ธดาโกตา และเรารู้สึกเลยว่า ต้องเขียนเพลงที่พูดเรื่องนี้” วิลล์ พัทนีย์ (Will Putney) มือกีตาร์ของวงเดธคอร์ Fit for An Autopsy พูดถึงเพลง ‘Black Mammoth’ ในอัลบั้ม The Great Collapse มิวสิควิดีโอบรรยายฟุตเทจการประท้วงต่อต้านการสร้าง Dakota Access Pipeline ท่อส่งน้ำมันซึ่งตัดผ่านผืนดินศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียนเผ่าซู (Siuox)

“รายได้จากการขายซีดีและเสื้อยืดในซิงเกิลนี้ พวกเราขอมอบกำไรทั้งหมดให้เผ่าซูที่แสตนดิงร็อค – Dakota Access Pipeline Fund ไม่มีใครในประเทศนี้มีสิทธิ์ปฏิเสธหรือแย่งชิงบ้านของพวกเขาไป”

นอกจากนักกิจกรรมและนักอนุรักษ์ Fit for an Autopsy คือหนึ่งในวงดนตรีเฮฟวีเมทัลที่ออกมาสนับสนุนสิทธิ์ของเผ่าซู รวมถึงวง Valient Thorr และ แรนดี ไบลธ์ (Randy Blyth) จาก Lamb of God – เพราะการต่อสู้ของผู้มีสิทธิ์เหนือดินแดนที่แท้จริงยังไม่จบสิ้น ผู้รุกรานยังคงไล่ล่าพื้นที่ของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ

credit: revolvermag.com

Dakota Access Pipeline อยู่ที่ไหน

ตามแผนดั้งเดิมของเส้นทางวางท่อที่ใกล้กับบิสมาร์ค (Bismark) เมืองหลวงของนอร์ธดาโกตา แต่ถูกปฏิเสธเพราะกลัวการรั่วไหลลงไปในแหล่งน้ำหลักของเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการใหม่ Dakota Access Pipeline (DAPL) ท่อนี้จะยาวประมาณ 1,900 กิโลเมตร ต่อตรงพาดผ่านส่วนหนึ่งของนอร์ธดาโกตา เซาธ์ดาโกตา ไอโอวา และอิลลินอยส์

สร้างขึ้นทำไม

เพื่อใช้ขนส่งน้ำมัน 470,000 – 570,000 บาร์เรลต่อวัน จากนอร์ธดาโกตาไปยังคลังที่พาโตกา อิลลินอยส์ ท่อนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 และ 30 นิ้ว ซึ่งจะถูกฝังไว้ใต้ดิน ท่อนี้สูบน้ำมันและแก๊สจำนวนมากโดยตรงจากแหล่งแบคเคน (Bakken) เพราะการขนส่งทางรถหรือรถไฟในระยะทางไกลๆ ไม่มีประสิทธิภาพ ควบคุมการระเหยและรั่วไหลยาก

ทำไมคนถึงไม่ต้องการให้ท่อมาอยู่ใกล้ๆ

มีเหตุผลมากมาย ตั้งแต่ผลกระทบจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะแนวหน้าของกลุ่มผู้ประท้วงคือ เผ่าซู จากสแตนดิงร็อค เนื่องจากแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนตั้งอยู่ปลายน้ำของเส้นทางการวางท่อขนส่งน้ำมัน พวกเขากลัวว่า หากเกิดการรั่วไหล แหล่งน้ำจะถูกทำลาย

ปี 2010 การรั่วไหลของท่อส่งในคาลามาซู (Kalamazoo) น้ำมันดิบประมาณ 26,000 บาร์เรลไหลสู่ธรรมชาติ รัฐต้องใช้งบประมาณทำความสะอาดหลายร้อยล้านดอลลาร์ และหากนับเฉพาะ 20 ปีหลัง เกิดการรั่วไหลของน้ำมันไปแล้วกว่า 1 ล้านบาร์เรล ทำให้นักสิ่งแวดล้อม รวมถึงนักแสดง ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ สนับสนุนการประท้วง

ไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม

ในเชลบีเคาน์ตี (Shelby County) อลาบามา เคยเกิดการระเบิดของท่อส่ง เปลวไฟลุกลามกลายเป็นวงกว้าง การระเบิดครั้งนี้อยู่ห่างจากจุดที่มีการรั่วไหลก่อนหน้านั้นไม่มาก

ความขัดแย้งด้านกฎหมาย DAPL พาดผ่านพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำคัญของเผ่าซู ทั้งสถานที่ฝังศพและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบางส่วนถูกทำลายไปแล้วจากการก่อสร้าง โลกโซเชียลติดแฮชแท็ก #NoDAPL การปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโครงการ DAPL ทวีความรุนแรงมากขึ้น

credit: Fibonacci Blue

เส้นเวลาของ Dakota Access Pipeline

  • ธันวาคม 2014: กลุ่ม Energy Transfer Partners จากดัลลัส ยื่นขอการก่อสร้างโครงการ DAPL ยาว 1,200 ไมล์ (ราว 1,930 กิโลเมตร) มูลค่า 3,800 ล้านดอลลาร์ เพื่อส่งน้ำมันประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากนอร์ธดาโกตาไปยังดาโกตาและไอโอวา เข้าสู่ท่อส่งเดิมที่มีอยู่แล้วในอิลลินอยส์ พาดผ่านส่วนหนึ่งของเขตสงวนแสตนดิงร็อคของเผ่าซู และลอดใต้ทะเลสาบโออาเฮ (Oahe) แหล่งเก็บน้ำจากแม่น้ำมิสซูรีในนอร์ธดาโกตา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มของเผ่าซู รวมถึงแม่น้ำมิสซิสซิปปี
  • มีนาคม 2016: ทางการไอโอวา ซึ่งเป็นรัฐสุดท้ายที่เกี่ยวข้อง อนุมัติการก่อสร้างท่อ
  • เมษายน 2016: ลาดอนนา เบรฟ บูล อัลลาร์ด (LaDonna Brave Bull Allard) ผู้อาวุโสเผ่าซู นำผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์บนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนจากเขตแคนนอลบอล (Cannonball) และกลุ่มแม่น้ำมิสซูรีจากตอนใต้ของนอร์ธดาโกตาเข้าร่วมหลายพันคน เกิดกลุ่มชุมนุมเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้าง DAPL ในหลายเมืองทั่วประเทศ
  • กรกฎาคม 2016: หน่วยวิศวกรกองทัพ (United States Army Corps of Engineers: USACE) คณะนายทหารและวิศวกรพลเรือน อนุมัติการวางท่อผ่านแหล่งน้ำ ทำให้เผ่าซูจากแสตนดิงร็อคยื่นฟ้อง ซึ่งต่อมามีเผ่าไชแอนน์ (Cheyenne) จากแม่น้ำซูเป็นโจทก์ร่วม
  • สิงหาคม 2016: ทางการนอร์ธดาโกตาจับกุมผู้ประท้วงเป็นครั้งแรก ซึ่งต่อมารวมเป็น 600 คน หนึ่งในนั้นคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีจากพรรคกรีน (Green Party) จิลล์ สไตน์
  • กันยายน 2016: ผู้พิพากษา เจมส์ โบสเบิร์ก (James Boasberg) ปฏิเสธคำร้องของเผ่าซูที่ขอให้ชะลอการก่อสร้าง วันเดียวกัน กองทัพสหรัฐ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย ประกาศว่า จะไม่รับพิจารณาให้ชะลอการก่อสร้างและการวางท่อใต้ทะเลสาบโออาเฮ
  • พฤศจิกายน 2016: ทางการยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงซึ่งพยายามขว้างก้อนหินและท่อนไม้ใส่เจ้าหน้าที่ จากการปะทะที่รุนแรงขึ้น ผู้ประท้วงอย่างน้อย 17 คนถูกนำส่งโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่หนึ่งนายบาดเจ็บเพราะโดนก้อนหินปาใส่ศีรษะ
  • ธันวาคม 2016: ผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายงานโยธาประจำกองทัพสหรัฐ (Assistant Secretary of the Army for Civil Works) โจ-เอลเลน ดาร์ซี สั่งระงับการก่อสร้างท่อใต้ทะเลสาบโออาเฮ ด้วยเหตุผลว่า ควรพิจารณาเส้นทางอื่นที่ท่อสามารถอ้อมไปได้ ซึ่งทาง Energy Transfer Partners โจมตีกลับว่า นี่เป็นเรื่องทางการเมือง และกล่าวหาว่า รัฐบาลโอบามาจะถ่วงเวลาเรื่องนี้ไว้จนหมดวาระ
  • เดือนเดียวกัน ไม่ไกลจากแคนนอนบอล ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุม เกิดการรั่วไหลของท่อส่งน้ำมันเบลล์ฟอร์ช (Belle Fourche Pipeline) ในบิลลิงเคาน์ตี (Billings County) คาดว่าน้ำมันดิบ 4,200 บาร์เรลไหลออกสู่ธรรมชาติ ส่วนใหญ่ไหลสู่ลำธารแอชคูลี (Ash Coulee Creek) ท่อนี้สร้างในทศวรรษ 1980 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 นิ้ว ขนส่งน้ำมัน 1,000 บาร์เรลต่อวัน
  • 18 มกราคม 2017: USACE ทำการศึกษาถึงข้อขัดแย้งเรื่องผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมของทะเลสาบโออาเฮ ซึ่งใช้เวลาประมาณสองปี โดยผู้พิพากษาปฏิเสธคำร้องของ Energy Transfer Partners ที่ขอให้หยุดการศึกษาของ USACE
  • 24 มกราคม 2017: ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เซ็นอนุมัติการก่อสร้างท่อส่ง Dakota Access และ Keystone XL ซึ่งถูกตีตกไปในรัฐบาลโอบาม่
  • 8 กุมภาพันธ์ 2017: การศึกษาผลกระทบยุติลง สิทธิ์ในการใช้พื้นที่ก่อสร้างตกเป็นของบริษัท ซึ่งเริ่มทำการขุดเส้นทางใต้ทะเลสาบโออาเฮทันที ขณะที่อินเดียนสองเผ่า ซูและไชแอนน์ เตรียมยื่นเรื่องเข้าสู่ศาลอีกครั้ง
  • 13 กุมภาพันธ์ 2017: ผู้พิพากษาจากวอชิงตันปฏิเสธคำร้องขอให้ยุติการขุดทันทีของทั้งสองเผ่า และนัดฟังผลอีกครั้งวันที่ 27 กุมภาพันธ์
  • 22 กุมภาพันธ์ 2017: ทางการให้เวลาผู้ประท้วงถึงบ่าย 2 โมงสำหรับการเคลื่อนย้ายการชุมนุมออกไปจากพื้นที่ของรัฐ

ล่าสุด ผู้พิพากษาโบสเบิร์กยังปฏิเสธการอุทธรณ์ของสองเผ่า ด้วยเหตุผลว่า ฐานคิดนี้มาจากเรื่องความเชื่อ และคิดว่าเหตุผลในการอุทธรณ์ของซูและไชแอนน์ยังไม่แข็งแรงพอ

Tragedy reigns forever – Black Mammoth


อ้างอิงข้อมูลจาก: usnews.com
cnn.com
popsci.com
metalinjection.net

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า