ภาพประกอบ: Shhhh
‘Living Apart Together’ ในชื่อย่อ LAT คือความสัมพันธ์อย่าง ‘ตกลงคบหากันเป็นเพื่อนคู่ชีวิตนะ เพียงแต่แยกกันอยู่คนละบ้าน’ คือ ‘เทรนด์’ ความสัมพันธ์แบบใหม่ที่คนสูงวัยในกลุ่มประเทศยุโรปเลือกเป็น
อันที่จริงแล้ว LAT เป็นโปรเจ็คท์หนึ่งของงานศึกษาในมหาวิทยาลัยมิสซูรี (University of Missouri) ที่ใช้ชื่อโปรเจ็คท์ว่า ‘love after 60 lab’ สำรวจความสัมพันธ์ของคู่รักที่อยู่ด้วยกันแบบแยกกันอยู่ ของคนที่มีอายุราว 60 ปีขึ้นไป ทำการศึกษาเรื่องสุขภาพทั้งกายและใจ โดยคู่รักที่จะเข้าร่วมได้ ใครคนใดคนหนึ่งต้องเคย กำลังป่วย หรืออาจเพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคทางสุขภาพ
จุดเริ่มต้นของงานวิจัยมาจากตัวเลขของการหย่าร้างของคนวัย 50 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา และงานวิจัยนี้ยังชี้ว่า แม้ LAT จะเป็นความสัมพันธ์ที่คนยุโรปรู้จักกันดี แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในกลุ่มคนอเมริกัน
ผลการศึกษาพบว่า สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์แบบ LAT แตกต่างจากการความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยา ก็คือกรอบคิด หรือข้อตกลงบางประการที่สังคมคาดหวังให้คู่ผัวเมียต้องเป็น
LAT ถูกพิจารณาให้เป็นตัวเลือก (choice) และมักมีลักษณะของ ‘การดูแลกันในวัยชรา (family caregiving) หรือเป็นเพื่อนคู่คิดไว้ช่วยกันตัดสินใจในเรื่องต่างๆ เหมือนเป็นเพื่อนที่ต่างมีชีวิตเป็นของตัวเอง แยกบ้านกันอยู่ แต่ยังคอยพึ่งพิงกันและกัน
แจ็คเกอลีน เบนสัน และ มาริลีน โคลแมน นักวิจัยของคณะพัฒนาสังคมและมนุษย์ (Human Development and Family Science) เล่าว่าพวกเขาได้สัมภาษณ์คู่รักอายุ 60 ปีที่คบกันแต่แยกกันอยู่ พบว่าพวกเขาต่างปรารถนาในพื้นที่และความเป็นส่วนตัว สุขและสงบในบ้านของตัวเอง ยังคงประคับประคองความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวของตัวเอง และใช้เงินส่วนตัวในชีวิตประจำวัน
นอกเหนือจากนั้น คู่รัก LAT มักปฏิเสธการให้คำศัพท์อย่างที่คู่รักทั่วไปมักใช้กัน เช่น ‘boyfriend’ และ ‘girlfriend’ เพราะเห็นว่าคำนิยามนี้ อาจเป็นคำที่ดูประดักประเดิดเกินไปหากใช้กับคู่รักในวัยพวกเขา
ที่มา: nextavenue.org