จากการรับรู้ปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากการดื่มน้ำอัดลมมาพักใหญ่ เฮนรี ฮาร์กรีฟส์ ศิลปินชาวนิวซีแลนด์ที่ทำงานในบรูคลิน สหรัฐอเมริกา จึงพยายามหาวิธีที่จะสะท้อนผลเสียและความเสี่ยงออกไปสู่สาธารณะ ตามวิธีที่ตัวเองถนัด
เครื่องดื่มเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน เบาหวาน หัวโรคหัวใจ จากการศึกษาพบว่า เพียงดื่มน้ำอัดลมวันละ 1 กระป๋อง ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เขาเองเคยเห็นข้อมูลชุดนี้ถูกนำเสนอหลายครั้งแต่ก็ยังไม่สะท้อนไปถึงคนหมู่มาก
“ผมคิดว่าน่าจะมีวิธีที่ทรงพลังมากกว่านั้น ที่จะบอกว่าเครื่องดื่มเหล่านี้อุดมน้ำตาลมากกว่าที่คิด”
ทั้งโคคา โคล่า เมาเทนดิว เครื่องดื่มให้พลังงานยี่ห้อต่างๆ กระทั่งน้ำที่โฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ เช่น น้ำดื่มผสมวิตามิน น้ำมะพร้าว ฯลฯ ทุกอย่างถูกฮาร์กรีฟส์จับมาทดลองหมด
วิธีของฮาร์กรีฟส์คือ นำน้ำชนิดต่างๆ ไปต้มให้เดือด เมื่อน้ำระเหยไป จะเหลือเพียงส่วนผสมต่างๆ เช่น น้ำตาล สี สารปรุงแต่งอื่นๆ จากนั้นเขาก็เทส่วนที่เหลือเหล่านี้ลงในแม่พิมพ์รูปอมยิ้ม
“ผมคิดว่าอมยิ้มเป็นสิ่งที่เหมาะที่สุด เพราะน้ำอัดลมมันก็คืออมยิ้มของเด็กที่ถูกแต่งตัวใหม่ให้กลายเป็นอมยิ้มของผู้ใหญ่เท่านั้น”
ฮาร์กรีฟส์บอกว่า เขาไม่ได้พยายามทำให้งานชิ้นนี้ออกไปในเชิงวิทยาศาสตร์ น้ำรสหวานแต่ละขวดมาในขนาดที่แตกต่างกัน แต่แม่พิมพ์อมยิ้มในงานทดลองนี้มีแบบเดียวเท่านั้น
“ผลการทดลองครั้งแรกๆ ทำให้ผมประหลาดใจมาก หลายขวดมีน้ำตาลมากกว่าที่เราคิด มีจำนวนไม่น้อยที่นำของเหลวหลังการต้มเทลงไปแล้วล้นแม่พิมพ์ ยกตัวอย่างเมาเทนดิวมาเป็นอันดับ 1 มีน้ำตาลมากถึง 77 กรัม ในขวดขนาด 450 มิลลิลิตร และเรื่องชวนช็อกอีกอย่างคือ ถ้าเอาอมยิ้มเหล่านั้นออกมาจากแม่พิมพ์ และนำไปละลายกับน้ำ มันก็จะกลับไปเป็นน้ำเหมือนเดิม”
นอกจากเมาเทนดิว การทดลองเดียวกันพบว่า โค้กมีน้ำตาล 39 กรัม ในกระป๋องขนาด 450 มิลลิลิตร ส่วนน้ำดื่มผสมวิตามิน พบน้ำตาล 31 กรัม ในขวดขนาด 591 มิลลิลิตร
ฮาร์กรีฟส์บอกว่า เขาไม่ได้ชอบดื่มน้ำอัดลมมากนัก เขาเองเลิกดื่มไปเมื่อตอนวัยรุ่น
“โค้กถือว่าแปลกมาก น้ำอัดลมยี่ห้ออื่นๆ ส่วนที่เหลือหลังการต้มคือ น้ำตาลเกล็ดทั่วไป แต่โค้กกลายเป็นของเหลวเหนียวคล้ายลาวา ผมต้องทดสอบถึง 3 ครั้ง เพราะ 2 ครั้งแรกผมต้มมันด้วยความร้อนมากเกินไป จนกลายเป็นทะเลฟองอากาศ ผิวสัมผัสหยาบเกิน”
ส่วนที่ได้หลังการต้มทั้งหมด คือ น้ำตาลที่ไม่น่ากิน ผิวสัมผัสหยาบ สีไม่สวยสดใส แต่มันคือส่วนผสมจริงที่ซ่อนอยู่ในน้ำหวานชนิดต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วน้ำอัดลมก็คืออมยิ้มบรรจุขวดหรือกระป๋องนั่นเอง
ที่มา:
bbc.co.uk
inhabitat.com
metro.co.uk