พลันที่ผลการเลือกตั้งครั้งที่ 14 ของมาเลเซียเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2018 ปรากฏออกมาด้วยชัยชนะของแนวร่วมฝ่ายค้าน (Pakatan Harapan: PH) เหนือแนวร่วมรัฐบาล (Barisan Nasional: BN) ที่มีพรรคอัมโน (United Malays National Organisation: UMNO) เป็นแกนนำปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน
คำถามก็ดังขึ้นตามมา
ทำไมอดีตผู้นำอย่าง มหาธีร์ โมฮัมหมัด ในวัย 92 ปี ถึงสามารถกลับมามีชัยชนะ
ทำไมพรรคอัมโนที่ยึดกุมอำนาจรัฐมาอย่างยาวนานถึงไม่สามารถครองใจประชาชนได้อีกต่อไป
กระทั่งทำไมทั้งที่มีการคอร์รัปชันมากมายขนาดนั้น ทหารจึงไม่ออกมาทำการรัฐประหาร
ทำไมพวกเขาถึงเลือกที่จะเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง สละอำนาจไม่กี่วินาที กากบาทกำหนดชะตาชีวิตตัวเองแทนการฝากความหวังลมๆ แล้งๆ ต่อผู้ที่เอ่ยปากขอเวลาอีกไม่นาน แต่จนเกือบจะครบเทอมสี่ปีหากเรายังอยู่ในระบอบการปกครองด้วยประชาธิปไตยตามวิถีทางที่ควร การเลือกตั้งก็ยังดูเป็นเพียงแสงสว่างริบหรี่
เพื่อจะตอบคำถามทั้งสองประการนั้น ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดงานอภิปรายวิชาการชีพจรอุษาคเนย์ ขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ ‘เลือกตั้งมาเลเซียครั้งที่ 14 ทำไม ดร.มหาธีร์ จึงชนะการเลือกตั้ง กับ อนาคตที่ประชาชนเลือกเองได้’ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เช่นเดียวกัน มาร่วมตั้งคำถามและหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
เบื้องต้นชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตต่อคำถามที่ว่า ทำไม ดร.มหาธีร์จึงชนะการเลือกตั้ง เป็นเพราะการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อสื่อสารตัวเองกับประชาชนชาวมาเลเซีย จนมีการแชร์จำนวนมากในค่ำคืนก่อนการเลือกตั้ง ชาญวิทย์มองในแง่ของสื่อสมัยใหม่ว่ามีพลังมหาศาล กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้แนวร่วมฝ่ายค้านประสบชัยชนะ
นอกจากนี้ ในฐานะที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากมหาวิทยาลัยมาลายา (University of Malaya) ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ชาญวิทย์ได้มีโอกาสสังเกตการณ์และพูดคุยกับคนมาเลเซียเมื่อกระแสการต่อต้านรัฐบาลภายใต้การปกครองของ นาจิบ ราซัค ปะทุขึ้น
“ข้อมูลที่ผมได้รับคือไม่มีทางที่จะโค่นนาจิบได้ อันนี้เป็นข้อมูลที่ผมได้รับมาจากประชาชนมาเลเซียเองเลย”
ไม่เพียงแต่การได้พูดคุย ชาญวิทย์ยังมีโอกาสพบกับ Sunar ศิลปินวาดการ์ตูนล้อการเมืองชาวมาเลเซียที่มาจัดแสดงงานไม่ไกลจากหอพัก ข้อสังเกตการณ์ต่องานของ Sunar มีตั้งแต่การใช้การ์ตูนเพื่อบอกเล่าข้อมูลการคอร์รัปชันของรัฐบาลนาจิบให้ประชาชนรับรู้ ไปจนถึงการตั้งคำถามต่อกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ของมาเลเซียในการดับอาชีพทางการเมืองของ อันวาร์ อิบราฮิม ด้วยข้อกล่าวหารักร่วมเพศ
จากการพูดคุย ชาวมาเลเซียต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ความเป็นไปได้ที่ อันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัย ดร.มหาธีร์ เป็นผู้รักร่วมเพศตามข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด
ชาญวิทย์บอกเล่าประสบการณ์ก่อนการเลือกตั้งที่ทั้งมาเลเซีย หรือแม้แต่ผู้สนใจการเมืองระหว่างประเทศ ต่างเชื่อกันว่า ไม่มีทางที่นาจิบจะพ่ายแพ้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาตรงกันข้าม ผู้เชี่ยวชาญด้านมาเลเซีย ชัยวัฒน์อธิบายต่อว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้นับเป็นการหักปากกาเซียนแทบทุกสำนัก แม้กระทั่งตนเองที่เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มาตั้งแต่ปี 2015
กรณีอื้อฉาวคือ มีการโอนเงินของรัฐเข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบ แต่กลับไม่มีการไต่สวนใดๆ ทั้งในส่วนของ ดร.มหาธีร์ และลูกชายที่ออกมาเรียกร้องถูกปลดจากตำแหน่ง ภายในพรรคอัมโนเองก็ยังไม่สามารถทำอะไรนาจิบได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีใครเชื่อว่า นาจิบ ราซัค จะแพ้การเลือกตั้ง
เราต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐธรรมนูญมาเลเซียให้อำนาจนายกฯ บนพื้นฐานของการที่นายกฯ เป็นคนดีนะครับ อันนี้ผมต้องใช้คำนี้เลย
“นั่นหมายถึงนายกฯ สามารถที่จะจัดการกิจกรรมต่างๆ ในรัฐได้อย่างเต็มที่ โดยมีแค่สามอำนาจเท่านั้นที่สามารถจะเปลี่ยนนายกฯ ได้ หนึ่งก็คือการเลือกตั้ง สองก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะ สส. ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งรัฐบาลหมดแล้ว และถ้าใครไม่โอเคกับนาจิบ เขาก็เอาออกหมดเลย และสามคืออำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดี ซึ่งอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีเป็นอำนาจตามรัฐธรรมนูญ
“แต่ด้วยการที่มาเลเซียมีการเปลี่ยนสมเด็จพระราชาธิบดีทุกๆ ห้าปี เพราะฉะนั้นจึงทำให้ไม่มีสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์ใหม่เข้ามายุ่งหรือเข้ามาแทรกแซงมากนัก ดังนั้นทางเดียวที่จะเปลี่ยนได้ก็คือการเลือกตั้ง”
ขัยวัฒน์ยังบอกอีกว่า เราประเมินความกล้าเสี่ยงของประชาชนชาวมาเลเซียต่ำเกินไป เราต่างคิดกันว่าขนาดในปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่มีข่าวเรื่องกองทุน 1MDB (1Malaysia Development Berhad) ออกมาอย่างรุนแรงที่สุดยังไม่สามารถโค่นล้มนาจิบลงได้ ผลการเลือกตั้งเต็มที่ก็คงออกมาในลักษณะสูสี ไม่ใช่ด้วยชัยชนะชนิดที่เรียกว่ามากมายขนาดนี้
ภูมิบุตรของมาเลเซีย
ประเด็นข้อสังเกตต่อมาของชัยวัฒน์คือ ผลประโยชน์ของประชาชนชาวมาเลเซียที่เรียกรวมกันในฐานะ ‘ภูมิบุตร’ ยังยึดติดอยู่กับนโยบายของพรรคอัมโน
ภูมิบุตรของมาเลเซียประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งคนมลายู คนจีน คนซาราวัก หรือแม้แต่คนสยามเอง ซึ่งผลประโยชน์ตรงนี้ทำให้ชัยวัฒน์วิเคราะห์ว่า ชาวมาเลเซียไม่น่าจะเสี่ยงกับการล้มรัฐบาลที่ให้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง
“ความเสี่ยงตรงนี้คือการยังอยู่กับความมั่นคง ยังอยากอยู่กับสิ่งที่ตัวเองเคยได้อยู่ต่อไป อันนี้คือประการแรก สอง-ด้วยสรรพกำลังที่นาจิบมี ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการจัดการเลือกตั้งในวันพุธ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบรัฐบาลโดยตรง และการประกาศเลือกตั้งที่มันกระชั้นชิดมาก และสาม-การหาเสียงยังต้องแจ้งก่อนที่จะออกไปหาเสียงนอกพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติข่าวกรอง fake news ขึ้นมา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเพื่อป้องกันการโจมตีเรื่องกองทุน 1MBD โดยเฉพาะ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมเชื่อว่าแม้แต่ตัวนาจิบเองก็ไม่คิดว่าจะแพ้ เพราะว่าเขาไม่มีแผนสำรองใดๆ เลย”
ปัจจัยสื่อสังคมออนไลน์
ต่อเนื่องจากข้อสังเกตของชาญวิทย์ อุบลรัตน์วิเคราะห์การใช้สื่อของรัฐบาลและฝ่ายค้านในการเลือกตั้งไว้สองประเด็นหลักๆ ระหว่างการควบคุมสื่อของรัฐ กับการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการเลือกตั้งคราวก่อนที่รัฐบาลแทบไม่ให้ความสำคัญกับสื่อสังคมออนไลน์
ทว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ 14 นี้กลับทุ่มเทงบประมาณลงไปจำนวนมาก กระนั้นผลการเลือกตั้งก็ยังพ่ายแพ้
การควบคุมสื่อของรัฐ
- พ.ร.บ.ข่าวลวง (Fake News Acts)
- พ.ร.บ.ความมั่นคง (ISA/Sedition Act)
- รัฐควบคุมสื่อเอกชนผ่าน พ.ร.บ.หนังสือพิมพ์ (Press Acts)
- รัฐเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่
- รัฐบาลควบคุมการหาเสียงของฝ่ายค้านในสื่อกระแสหลัก
การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
- รัฐบาลว่าจ้างบริษัทสื่อรณรงค์การเลือกตั้ง ส่งข้อความถึงประชาชน
- แนวร่วมฝ่ายค้านใช้การสื่อสารผ่านผู้นำความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย (มีทุนน้อยกว่ารัฐบาล) และในการปราศรัยหาเสียง
- ประชาชนใช้โซเชียลมีเดียในการระดมออกไปใช้สิทธิ์
สิ่งที่อุบลรัตน์ตั้งข้อสังเกตต่อจากชาญวิทย์คือ สื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยเดียวที่ทำให้แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านชนะการเลือกตั้งจริงหรือเปล่า? หรือเพราะประชาชนมาเลเซียอดทนอดกลั้นกับการบริหารงานของรัฐบาลมายาวนานแล้วกันแน่
อุบลรัตน์มองว่า เอาเข้าจริงแล้วการใช้สื่อสังคมออนไลน์จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการรณรงค์หาเสียงแบบเดิมๆ คือต้องมีเวทีปราศรัย ต้องมีเครือข่ายที่มียุทธศาสตร์ที่ดี
อีกหนึ่งปัจจัยที่อุบลรัตน์นำมากล่าวถึงคือ การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวมาเลเซีย ในปี 2013 อยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015
แล้วการเพิ่มนี้มันไปตกอยู่ที่ชนบท พอเราบอกไปตกอยู่ที่ชนบท ก็หมายถึงภูมิบุตรส่วนหนึ่ง เกษตรกรที่เป็นชาวมลายูส่วนหนึ่งตรงนั้น
พอมาสองปีที่แล้วจำนวนประชากรในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วในจำนวนนั้นใช้มือถือในการสื่อสารประจำวันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยการใช้โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารให้มันกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ผลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากความเข้มงวดในสื่อกระแสหลัก ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงมาจากนโยบายของพรรคอัมโนตั้งแต่สมัยของ ดร.มหาธีร์เองด้วยซ้ำ
และอาจด้วยเหตุผลนี้ คู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อในการโค่นล้มอำนาจของนาจิบที่เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ตัวแทนของพรรคชาตินิยมที่เป็นพรรคสร้างชาติมาเลเซียขึ้นมา จึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากตัวผู้ที่มีส่วนช่วยในการวางรากฐานนั้นอย่าง ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด
โดยอุบลรัตน์แสดงให้เห็นผ่านการใช้นโยบายของทั้งสองฝ่ายดังนี้
นโยบายการแข่งขันระหว่างรัฐบาลและแนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน
ฝ่ายรัฐบาล
- เสนอนโนยายเฉพาะหน้า เช่น ลดภาษี ลดค่าผ่านทาง
- เน้นการรณรงค์หาเสียงแบบเก่า เช่น การติดโปสเตอร์ การเดินแห่ การเปิดตลาดนัด
- เพิ่มทุนและความเข้มข้นในการรณรงค์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย สร้างแคมเปญ เช่น #NegaraKru ดึงผู้นำความคิดเห็น ศิลปินท้องถิ่นช่วยรณรงค์แบบ interactive
“มันเป็นเพราะโซเชียลมีเดียเท่านั้นหรือเปล่า หรืออาจจะเป็นเจตุจำนงของประชาชนที่สะสม แล้วก็อยากแสดงเจตุจำนงออกมาให้มันชัดเจนเข้าไปอีกครั้งว่าหนึ่งวินาที พอเรารวมกันเยอะๆ แล้วผลจะออกมาอย่างไร อีกคำถามหนึ่งที่มักจะถามกันเสนอในเรื่องของงานวิจัยเรื่องการเลือกตั้งกับสื่อก็คือว่า ในโลกปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียมีพลังมากอย่างนี้ถือเป็นปัจจัยชี้ขาดหรือเปล่า”
คำถามลักษณะนี้นำมาซึ่งคำตอบที่อุบลรัตน์มองว่า มันช่วยซึ่งกันและกันกับการรณรงค์การเลือกตั้งแบบเดิม คือต้องมีตัวนักการเมือง มีเวทีปราศรัย บวกกับต้องมีเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่มียุทธศาสตร์ที่ดีมันถึงจะมีประสิทธิภาพเกิดขึ้น โดยเฉพาะอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวมาเลเซียจากปี 2013 อยู่ที่ 58 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 เป็นอีกปัจจัยที่อุบลรัตน์นำมากล่าวถึง
“การเพิ่มนี้มันไปตกอยู่ที่ชนบท พอเราบอกว่าไปตกอยู่ที่ชนบท ก็หมายถึงภูมิบุตราส่วนหนึ่ง เกษตรกรที่เป็นชาวมลายูส่วนหนึ่ง พอมาสองปีที่แล้วจำนวนประชากรในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นไปถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วในจำนวนนั้นใช้มือถือในการสื่อสารประจำวันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยการใช้โซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยกระจายข้อมูลข่าวสารให้มันกว้างมากขึ้น”
ทั้งนี้ผลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากเข้มงวดในสื่อกระแสหลัก ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลพวงมาจากนโยบายของพรรคอัมโนตั้งแต่สมัย ดร.มหาธีร์เองด้วยซ้ำ
“ล่าสุดที่เพิ่งออกมาสิ้นเดือนเมษา คือการออก พ.ร.บ.Anti Fake News หรือ พ.ร.บ.ข่าวลวง นักวิเคราะห์พูดชัดเจนอยู่แล้วว่าเพื่อป้องกันการวิจารณ์เรื่องกองทุน 1MBD ในสื่อกระแสหลัก และเพิ่มความเข้มงวดไว้ในสื่อโซเชียลมีเดีย ถ้าใครวิจารณ์โดนทั้งจำทั้งปรับ แล้วโทษก็สูงด้วย ปรับตั้ง 500,000 โทษจำก็หกปี
“ทีนี้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเดิมก็เอาคนเข้าคุกมาแยะ ตั้งแต่สมัยอัมโนใหม่ๆ จะเป็นสื่อประชาสังคม นักการเมืองถูกส่งเข้าไปเรื่อยๆ แล้วความได้เปรียบของรัฐก็คือคุมสื่อไม่ให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างเสรี ตัวเองเป็นเจ้าของกิจการโทรทัศน์ ใช้งานโทรทัศน์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ รัฐบาลก็ควบคุมการหาเสียงของฝ่ายค้านในสื่อกระแสหลัก เหมือนที่เราเคยพูดกันของบ้านเราว่าสองพรรคใหญ่ ให้เวลาเท่ากันไหม
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมแนวร่วมฝ่ายค้านแทบไม่ปรากฏในสื่อกระแสหลัก มันยิ่งทำให้เราเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียกลายมาเป็นทางเลือก มีความสำคัญ พอมีความสำคัญ รัฐบาลก็ใช้อันแรก คือส่งข่าว Fake News เข้าไปด้วยเพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวผิดๆ พลาดๆ หลอกเขา แทนที่จะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้”
ประเด็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง คือเริ่องการใช้สื่อระหว่างสองผู้นำ โดยอุลรัตน์กล่าวว่า ขณะที่นาจิบ ซึ่งมีอายุน้อยกว่า ดร.มหาธีร์ยังคงใช้สื่อกระแสหลักในการสื่อสารทางการเมือง แต่ตัวมหาธีร์เอง แม้มีอายุเยอะกว่า กลับใช้สื่ออย่างโซเชียมีเดียได้อย่างคล่องแคล่วและเข้าถึงกลุ่มฐานเสียงรุ่นใหม่
“ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตัว ดร.มหาธีร์ เป็นคนริเริ่มยุคข้อมูลข่าวสารในอุษาคเนย์ก่อนใครๆ เพื่อน ทีนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนตรงนี้แหละค่ะที่เป็นหัวใจของการแสวงหาข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจากการที่ไปค้นๆ มาจะพบว่า ชาวมาเลย์ส่วนใหญ่เขาจะใช้ Whatsapp กับ Facebook ใช้ทำอะไรบ้าง? ก็คือใช้หาข้อมูลข่าวสาร พอได้มาแล้วก็เอามาแชร์ แล้วพวกเราก็ทำแบบนั้นไหม เรามักจะหาข้อมูลแล้วเอามาแชร์ แล้วก็สนทนา ก็คือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มาคอมเมนต์กัน ซึ่งขณะที่มีวงแบบนี้การตรวจสอบข่าวว่ามันมีความเป็นไปได้ เพราะมันไม่ได้มีการรับแบบยิงมาฝ่ายเดียว”
อาจเพราะด้วยมหาธีร์นั้นรู้จักอารมณ์ของชาวมาเลย์เป็นอย่างดี อุบลรัตน์จึงวิเคราะห์ว่าเหตุที่การใช้สื่อของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านประสบความสำเร็จคือการตอบคำถามสำคัญที่ว่าจะพาผู้คนออกไปเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วกากบาทเลือกฝ่ายตนได้อย่างไร
โดยอุบลรัตน์แสดงให้เห็นผ่านการใช้นโยบายของทั้งสองฝ่ายดังนี้
แนวร่วมพรรคฝ่ายค้าน
- เสนอนโยบายปฏิรูปหลายด้าน การรื้อฟื้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมด้านการบริการยุคข้อมูลข่าวสาร และความเท่าเทียมกันระหว่างหญิง/ชาย
- เน้นการปราศรัยหาเสียงในเขตที่เป็นฐานเสียงสำคัญ
- ยุทธศาสตร์ใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ประหยัด
โซเชียลมีเดียหากมีไว้เปล่าๆ ปลี้ๆ มันก็ไม่มีประโยชน์ ออฟไลน์มันก็สำคัญนะคะ เพราะคำถามใหญ่ที่สุดคือใช้สื่อแล้วมันพาคนออกไปได้นะคะ ถ้าคุณคุยอยู่อย่างนั้น แต่พอถึงวันเลือกตั้งไม่ไป นอนหลับทับสิทธิ์ มันก็ไม่ประสบความสำเร็จใช่ไหมคะ อันนี้คือตัวสำคัญ แล้วถ้าไป ไปโหวตใครก็เป็นไปตามวินิจฉัยของแต่ละบุคคล ฉะนั้นโลกออนไลน์กับออฟไลน์ต้องไปด้วยกัน ทิ้งกันไม่ได้เลย
อาจเพราะด้วยมหาธีร์นั้นรู้จักอารมณ์ของชาวมาเลย์เป็นอย่างดี อุบลรัตน์จึงวิเคราะห์ว่า เหตุที่การใช้สื่อของแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านประสบความสำเร็จคือการตอบคำถามสำคัญที่ว่าจะพาผู้คนออกไปเข้าคูหาเลือกตั้งแล้วกากบาทเลือกฝ่ายตนได้อย่างไร
“อันที่จริงการตั้งชื่อพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน (Pakatan Harapan: PH) Harapan ที่แปลว่าความหวัง จริงๆ ดร.มหาธีร์ก็จะมองว่าฉันก็เป็นความหวังนะ ทุกคนมาร่วมสร้างความหวังอีกครั้งหนึ่งอะไรประมาณนั้น ทีนี้พอทุกคนออฟไลน์ออกไปเลือกตั้ง พาตัวไปแล้ว พอกลับมา หรือว่าเดินออกจากคูหาปุ๊บ นิ้วที่ต้องไปจิ้มๆ กันมา ทุกคนก็โชว์ โพสต์ขึ้นในทำนองว่า ‘ฉันไปใช้สิทธิมาแล้วนะ’ แล้วพอผลการเลือกตั้งเสร็จ ประกาศผล ทุกคนก็เฉลิมฉลองว่าได้เลือกอนาคตของตนเองแล้ว บรรยากาศแบบนี้ในไทยเราก็ไม่ค่อยเจอนะ เรียกว่าพอเลือกตั้งเสร็จไปฉลอง หรือเพราะเราไม่ค่อยชอบประชาธิปไตย หรือต้องเป็นแบบไทยๆ มันยังไม่มีธรรมเนียมอะไรที่มันเอิกเกริกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือมันเอิกเกริกเวลาปิดคูหา หรือยกหีบบัตรอะไรเทือกนั้น แต่ว่าจะไปเฉลิมฉลองมันไม่มี”