กลุ่มประชากรที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2523-2540 หรือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า Gen-Y กำลังจะเป็นคนกลุ่มหลักของตลาดแรงงานไทย สัดส่วนของคนกลุ่มนี้ในตลาดแรงงานจะมีมากถึงร้อยละ 43-46 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดของประเทศ พวกเขาจะเข้ามาทดแทนกำลังแรงงานรุ่นก่อนหน้าที่จะเกษียณอายุออกไปจากตลาดแรงงาน
คาแรกเตอร์แบบเหมารวมของคน Gen-Y คือ เปลี่ยนงานบ่อย/ ใช้เทคโนโลยีคล่อง/ ใช้ข้อมูลอินเตอร์เน็ตในการตัดสินใจ/ ไม่ยึดติดกับองค์กร/ ต้องการเป็นผู้ประกอบการ ฯลฯ
WAY คัดเลือกบทเพลงของศิลปิน 5 คน เป็นบทเพลงที่ว่าด้วยชีวิตของคนใช้แรงงานกลุ่มหนึ่ง นั่นก็คือ Gen-Y มาให้รับฟังเนื่องในวันแรงงานสากล นอกจากเรื่องสำคัญอย่างสิทธิของแรงงาน การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองของแรงงาน บทเพลงเหล่านี้ก็อาจทำให้เรามองเห็นมิติอื่นๆ ของแรงงานกลุ่มหนึ่ง
กรรมกรแก้มแดง / ต่าย อรทัย
‘กรรมกรแก้มแดง’ คือแรงงานในภาคบริการ การที่ผู้ประพันธ์เพลงใช้คำว่า ‘กรรมกร’ กับงานภาคบริการนั้นน่าสนใจ เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทนหน้าที่นี้ และกรรมกรได้เคลื่อนย้ายจากไซต์ก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม ไปอยู่ในห้างในปั้มน้ำมันเหมือนที่ ต่าย อรทัย ร้อง
สาวรากหญ้าเข้ามาขายแรงเมืองใหญ่
แต่งตัวเหมือนเป็นเจ้านาย
แต่อยู่ฝ่ายให้บริการ
เดินทางมาจากบ้านนอก
ทำงานหนักเงินเดือนหลักพัน
ตากแอร์ในที่ทำงาน กลับเมือบ้านนอนห้องพัดลม
มนุษย์เงินเดือน / สหายเขียว
‘มนุษย์เงินเดือน’ คือแรงงานในระบบที่ค่าจ้างกับรายจ่ายไม่สมดุล อุปสงค์ของชีวิตกับอุปทานของหยาดเหงื่อไม่กลมกลืน
ทำงานล่วงเวลา พอได้มาก็หายไป
เชือดเฉือนกันที่ราคา เป็นมายาของมนุษย์เงินเดือน
ลูกค้า อย่าบ่นเลยนะ บอกใช้ปัญญา กับเท่าทุน
ในเมื่อชีวิตมันเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่มีมันยังไม่พอ
ฟังท้ายเพลง
จากฐานข้อมูลบัญชีสินเชื่อในระบบของเครดิตบูโรที่ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2559 มีสินเชื่อทั้งสิ้น 92.50 ล้านบัญชี พบว่ากลุ่มคน Gen-Y เป็นกลุ่มที่มีการขอสินเชื่อรายใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล
ครึ่งแรกปี 2559 นี้มีลูกค้าใหม่ 1.6 แสนบัญชี ซึ่งพบว่าเป็นการกู้ของลูกค้า Gen-Y ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจาก 46 เปอร์เซ็นต์ และ 40 เปอร์เซ็นต์จากปี 2558 และปี 2557 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีบัญชีใหม่ 6.3 แสนบัญชี เป็นลูกค้า Gen-Y 43 เปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นจาก 41 เปอร์เซ็นต์ และ 38 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2558 และปี 2557
ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตมีลูกค้าใหม่ 1 ล้านบัญชี เป็น Gen-Y 53 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ผ่านมาและ 47 เปอร์เซ็นต์จากปี 2557 สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วง 6 เดือนแรก มีบัญชีใหม่ 1.26 ล้านบัญชี เป็นสัดส่วนลูกค้า Gen-Y 48 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีสัดส่วน 46 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้พบว่าปัจจุบันคน Gen-Y เป็นกลุ่มที่มีการขอสินเชื่อหน้าใหม่เพิ่มขึ้นในทุกประเภทสินเชื่อ โดยในสินเชื่อบ้านเป็นสัดส่วนของลูกค้า Gen-Y ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคน Gen-Y มีหนี้เสียในสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา
ที่มา: tcijthai.com
ลาออก 2557 / Samurai Loud
‘ลาออก’ คือแรงงานในระบบระยะสุดท้ายก่อนจะออกไป..
ไปเพาะเห็ดเมามาขายพวกฝรั่ง
ตอนค่ำก็ออกมา โชว์เล่นลูกไฟ
ดำน้ำและตกปลา ให้เช่ามอเตอร์ไซค์
เป็นชาวเกาะกันดีกว่าอยู่เมืองแสนจัญไร
เช้าสายบ่ายเย็นพวกเราเมาตลอด
มีเมียเมืองนอกทีเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล
ช่วงนี้เยอรมันช่วงนั้นก็เจแปน
ไม่เอาหรอกไทยแลนด์ ก็เบื่อสไตล์เหมือนเจ้านายให้โอวาท
ฟังท้ายเพลง
ข้อมูลเมื่อปี 2558 จากสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) ระบุว่ามีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ Tech Startup ในประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 400-500 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ (หรือกลุ่ม Gen-Y) โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จะนิยมทำธุรกิจเอง สำหรับประเทศไทย Tech Startup เป็นคำที่ถูกเรียกในช่วง 2-3 ปีมานี้ ขณะที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ มีการทำธุรกิจแบบ Tech Startup มาหลายปีแล้ว ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นตลาดหลักของการทำTech Startup ของเอเชีย
ที่มา: tcijthai.com
CAPITALISM / Liberate P
‘CAPITALISM’ คือเสียงตะโกนของแรงงานทั้งในและนอกระบบที่อยู่ภายใต้โครงสร้างสังคมที่อยุติธรรม
ฉันมีเสียงเเต่ฉันไม่มีสิทธิ์ ฉันมีความคิดเเต่กลับโดนตีกรอบ
หาว่าฉันรู้เเค่จับเสียม เเค่จับจอบ จับกระสอบ
ฉันไม่เคยจับข้อสอบ บอกฉันเห็นเงินเป็นคำตอบ
บอกฉันเห็นชอบมากกว่าชาติ ฉันเป็นทาสนักการเมือง
ฉันเป็นเบี้ยในกระดาน ฉันเป็นเหี้ยไรก็ได้ที่พวกเขาไม่ต้องการ
เป็นทุกสิ่งเป็นทุกอย่างนอกจากคน
Special Guests
ตะลุยแบกแดด / กฤษณ์ ศุกระมงคล
ภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำในช่วงปลายทศวรรษที่ 2510 การเพิ่มราคาน้ำมันของกลุ่มโอเปค การถอนตัวของสหรัฐออกจากอินโดจีน เมื่อ พ.ศ. 2518 และความวุ่นวายทางการเมืองของไทยเองใน พ.ศ. 2516-2519 ทำให้เศรษฐกิจที่เน้นการส่งออกด้านเกษตรกรรมเริ่มหยุดชะงัก และไทยต้องปรับเปลี่ยนตัวเองมาอิงกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้นในทศวรรษ 2520 นอกจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมแล้ว ไทยยังเริ่มหามาตรการใหม่ๆ ในการขับดันเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย เช่น สนับสนุนให้คนไทยไปทำงานในต่างประเทศโดยเฉพาะตะวันออกกลาง
ที่มา: siamintelligence.com