เมื่อเอ่ยถึงกัญชา คนทั่วไปมักจะมองว่ามันคือยาเสพติดให้โทษ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ผู้เสพกลายเป็นคนขี้เกียจไม่ทำอะไร และหากถูกจับก็มีโอกาสติดคุก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เล็งเห็นประโยชน์มหาศาลจากพืชชนิดนี้
ย้อนกลับไปในอดีต เราคงเคยได้ยินคำยกย่องว่ากัญชาไทยมีคุณภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่จู่ๆ เมื่อสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นคู่ค้ากับไทยประกาศว่ากัญชาคือสิ่งเสพติดผิดกฎหมาย นั่นเป็นจุดเริ่มที่ทำให้กัญชาถูกคุมขัง จนกระทั่งมีการแสดงทัศนะและนำเสนอข้อมูลและงานวิจัยจากต่างประเทศหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่าจริงๆ แล้ว การเสพกัญชาจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
เว็บไซต์ประชามติ (prachamati.org) เป็นตัวตั้งตัวตีจัดเสวนา ‘คุยแบบ No Drama เสรีภาพกัญชาควรอยู่ตรงไหน?’ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ ‘กัญชา/ความเข้าใจ/ทัศนคติ/ความเป็นจริง’ โดยมีตัวแทนจากแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการ นักกฎหมาย ไปจนถึงผู้มีประสบการณ์ตรง มาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนไหวเรื่องกัญชาในเมืองไทย
+ กัญชาถูกกฎหมาย…ถึงเวลาหรือยัง?
รายงานโดย สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) พบว่า กัญชาคือสารเสพติดที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก
สำหรับประเทศไทย กอบกูล จันทะวโร อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ให้ข้อมูลว่า ผู้เสพยาบ้ามาเป็นอันดับหนึ่ง
“จากข้อมูลที่ผ่านมา ยาบ้าจะมีคนที่ถูกจับกุมในหลักแสน อันดับที่สองคือยาไอซ์ อันดับสามคือกัญชา” ในกรณีผู้ถูกจับกุมด้วยคดีกัญชา กอบกูลบอกว่า กลายเป็นว่าไม่ใช่พ่อค้ารายใหญ่ เพียงแค่ครอบครองสำหรับเสพคนเดียวก็ต้องรับโทษ เพราะตามกฎหมายถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ การมีไว้ในครอบครองจึงเป็นความผิดทางอาญา
จากนั้น กอบกูลแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองทางกฎหมายในต่างประเทศว่า
“ที่บางประเทศมองว่า การมีกัญชาไม่ถือเป็นความผิดหรือมีโทษทางอาญา เพราะยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า การใช้กัญชาไม่ได้เป็นอาชญากรรม คนใช้ไม่เคยเป็นอาชญากร ไม่ควรต้องมีโทษถึงขั้นติดคุก”
ในเมื่อทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกัญชา แต่ถ้าจะให้เปิดเสรีกัญชาไปเลย ผู้ที่มีความห่วงใยก็จะมองว่า จะไม่สามารถควบคุมได้หากเกิดปัญหาขึ้นมา หรือหากเด็กนักเรียนนักศึกษาเลือกที่จะเสพกัญชาหรือพกมาเสพร่วมกับเพื่อนๆ ทั้งที่ยังอยู่ในวัยที่ไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ จึงจำเป็นต้องมาร่วมกันหาแนวทางควบคุมที่เหมาะสม
กอบกูลให้ข้อมูลว่า ประเทศอย่างอุรุกวัยอนุญาตให้ปลูกและใช้เพื่อเสพสำหรับตัวเองได้ และจะสามารถปลูกได้ ก็ต้องยื่นเรื่องจนได้รับใบอนุญาตก่อน
“เพราะเขาดูเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนไปเสพยาบางอย่างที่มีอันตรายกับร่างกายแล้วไม่ดูแล ของแบบนี้เราต้องมองสองด้าน คือบางอย่างเราไม่สามารถคุมได้แน่นอน ก็ต้องกลับมามองอีกมุมว่าให้ใช้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบ”
ขณะนี้ หน่วยงานที่กอบกูลเห็นว่าน่าจะเข้ามารับผิดชอบได้ดีที่สุด คือกระทรวงสาธารณสุข อาจจะเป็นไปในเชิงให้คำปรึกษาแนะนำ ไปจนถึงออกใบอนุญาตให้ใช้สำหรับการรักษา
กอบกูลยกตัวอย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีกัญชาจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งผู้ประกอบการก็ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐก่อนเช่นเดียวกัน ส่วนผู้ที่สามารถเสพได้อย่างถูกกฎหมาย ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
นี่คือแนวโน้มที่ทั่วโลกทยอยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อรับมือกัญชา การดำเนินมาตรการควบคุมโดยไม่ถือว่าเป็นความผิดทางกฎหมายน่าจะเป็นแนวทางที่เป็นไปได้สำหรับประเทศไทยเช่นกัน
+ กัญชา = สารเสพติด?
จริงๆ แล้ว แม้แต่เฮโรอีน ซึ่งตามกฎหมายถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 หากนำมาใช้เพื่อการบำบัดรักษาก็ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ นพ.อังกูร ภัทรากร รองผู้อำนวยการสถาบันบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สถาบันธัญญารักษ์เดิม) ให้ข้อมูลว่า
“เราทราบกันดีว่าเวลามีความเจ็บปวดรุนแรง เราจะอาศัยยาพื้นบ้าน เรียกว่ากลุ่มของยา ‘เข้าฝิ่น’ ซึ่งใช้รักษาโรคตั้งแต่สมัยปู่ยาตายาย เราเอามาผลิตเป็นยาแก้ปวดต่างๆ จนกระทั่งถูกผลิตเพื่อใช้ในยาสลบในห้องวิสัญญีแพทย์”
สุราและบุหรี่เอง ก็ไม่ต่างอะไรจากสารเสพติด แต่สามารถสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้นเพราะเป็นสินค้าที่เก็บภาษีได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเก็บสถิติผู้ใช้ที่ค่อนข้างแม่นยำ กระทั่งสามารถระบุปริมาณผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
“แต่กับกัญชา เนื่องจากอยู่ในประเภทยาเสพติดจึงไม่สามารถระบุตัวเลขว่ามีผู้ใช้เท่าไหร่ ปริมาณของผู้ใช้จริงเรายังไม่รู้ ฉะนั้นความเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากกัญชาจึงเป็นตัวเลขที่อาจจะไม่มีความชัดเจน”
อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันฯ ซึ่งเป็นสถานบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดสิ่งเสพติด ให้ข้อมูลว่า ให้การรักษาคนไข้เกือบหมื่นคน สัดส่วนคนไข้ที่มีปัญหาเรื่องยาบ้าอยู่ที่ร้อยละ 80 ขณะที่มีผู้บำบัดอาการเสพติดกัญชาไม่เกินร้อยละ 10
ในการดูแลคนไข้ที่เข้ารับการบำบัดอาการติดกัญชา อังกูรมองว่า ไม่สามารถใช้คำว่า ‘เสพติด’ ในกรณีของกัญชา เนื่องจาก “กัญชาเป็นหนึ่งในยาเสพติดประเภทที่ 5 แต่ด้วยลักษณะของมันไม่ได้มีการติด เพียงแต่สภาวะทางจิตใจอาจจะทำให้มีความรู้สึกอยากเสพซ้ำ”
ประเด็นสำคัญในการบำบัดรักษา นพ.อังกูรเน้นย้ำถึงกลุ่มผู้บริโภคเหล้าและบุหรี่เป็นพิเศษ
“ประเทศไทยมีปัญหาคนดื่มเหล้าและสูบบุหรี่เยอะมาก โรคแทรกซ้อนเยอะมาก ที่สถาบันฯมีคนไข้ติดต่อเข้ามาเพราะอยากเลิกบุหรี่ตลอด” นพ.อังกูร เพิ่มเติมว่า ในหลายประเทศให้การสนับสนุนและให้โอกาส แต่ในเมืองไทย ใครอยากเลิกยาเลิกบุหรี่ต้องจ่ายเงินเอง
“ในส่วนของผู้ที่ทำงานสาธารณสุขก็อยากช่วยดูแล คนสูบบุหรี่ที่มีปัญหาก็อยากรักษา แต่เมื่อต้องจ่ายเงินเอง ยารักษาคนไข้บุหรี่ 1 เม็ด ราคาเท่าบุหรี่ 1 ซอง” คนไข้ส่วนใหญ่จึงชั่งน้ำหนักลำบากว่าจะลองรักษาดูหรือจะสูบต่อไป
+ อิสระมีได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบ
จากประสบการณ์ส่วนตัว ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยมีโอกาสร่วมผลักดันและแก้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ด้วยการเสนอให้ถอดพืชกระท่อมออกจากรายชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ซึ่งอยู่ในหมวดเดียวกับกัญชา
เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รับรองว่า เป็นพืชที่สามารถรักษาโรคได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า ปลูกง่ายและได้คุณภาพ แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ดูจะหายไปในสายลม
ในฐานะเภสัชกรผู้คลุกคลีกับการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน นิยดามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เธอให้ข้อมูลว่ายาที่เราใช้ๆ กันและมีวางจำหน่ายตามร้านขายยา ถ้าใช้เกินขนาด หลายตัวก็อันตรายไม่แพ้สารเสพติด
“ยาที่เราใช้กันอยู่ก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ยาบางตัวมีสารเสพติดผสมอยู่ ยาบางตัวทำให้เกิดภาพหลอน ยาพวกนี้ก็มีส่วนผสมของสารเสพติดเช่นกันแต่ถูกกฎหมายและใช้กันอยู่ทุกวันนี้” นิยดากล่าว
“เท่าที่ทราบตอนนี้แพทย์บางท่านเริ่มสนใจที่จะเข้ามาศึกษาการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย แต่ติดขัดหลายอย่าง โดยจะต้องทำเรื่องขออนุญาตค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้งานพัฒนาด้านนี้ไปไม่ถึงไหน”
นั่นคือคำอธิบายถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ไทยไม่สามารถทำการทดลองหาข้อสรุปผลดีและผลเสียของกัญชาได้อย่างชัดเจน
“ในฐานะที่อยู่ในวงการแพทย์ เราย่อมเป็นห่วงว่าถ้าจะเปิดเสรีจริงๆ การใช้แบบอิสระเสรีจะต้องมีการควบคุมขนาดไหน อันตรายที่พบในเบื้องต้นสำหรับกัญชาคือ มันมีผลกระทบต่อการขับรถและอาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ถ้าผู้ที่สูบใช้ไปนานๆ หรือใช้ในปริมาณมากๆ”
ในฐานะนักวิชาการ นิยดาย้ำว่า ก่อนจะเชื่อถือผลการศึกษาจากงานวิจัยใดๆ ควรตรวจสอบให้ละเอียดว่างานชิ้นนั้นๆ มีใครเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณในการศึกษา ซึ่งต้องมีการระบุไว้เสมอ ก่อนจะฝากว่า
“กรณีกัญชาถ้าเห็นว่ามีประโยชน์จริง การทบทวนเอกสารต่างๆ ของนักวิชาการนั้นไม่ใช่เรื่องยากและควรจะทำ ที่สำคัญ คงต้องช่วยกันพิจารณาว่ากฎหมายต่างประเทศนั้นมีเท่าไหร่ แล้วงานวิจัยทางการแพทย์ที่สนับสนุนและอันตรายที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร แล้วจึงนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับบริบทประเทศไทย”
+ เรียกร้องสิทธิ์ดูแลตนเอง
จากมุมมองของนักวิชาการอิสระ ประสาท มีแต้ม เพิ่มเติมข้อมูลยืนยันผลการรักษาที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
เขายกกรณีเด็กหญิงชาร์ล็อต ฟิจิ (Charlotte Figi) ในรัฐโคโลราโด สหรัฐ ซึ่งเป็นโรคลมชัก (Dravet Syndrome – ลมชักหลังฉีดวัคซีน) มาตั้งแต่อายุ 3 เดือน โดยชัก 300 ครั้งต่อสัปดาห์จนสูญเสียความสามารถในการเดิน พูดและรับประทาน แพทย์เสนอให้ใช้วิธีทางการแพทย์ช่วยให้อยู่ในสภาพโคม่าเพื่อให้ร่างกายที่บอบช้ำได้พักผ่อน
แต่เมื่อพ่อของหนูน้อยได้ข้อมูลจากโลกออนไลน์ ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยกัญชาสามารถช่วยเด็กชายคนหนึ่งจากอาการใกล้เคียงกัน ครอบครัวฟิจิจึงปฏิเสธคำแนะนำจากแพทย์ แล้วเลือกรักษาด้วยกัญชาแทน ในวัย 5 ขวบ ชาร์ล็อตได้รับการรักษาด้วยกัญชาเป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถแก้อาการชักของเธอได้นาน 7 วัน
ปัจจุบัน ชาร์ล็อตชักเพียง 2-3 ครั้งต่อเดือน เธอเกือบจะสามารถนอนตามลำพังได้ เธอเดิน และตักอาหารกินเองได้มากขึ้นทุกวัน แม่ของเธออยากแบ่งปันเรื่องนี้ให้พ่อแม่คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่านี่เป็นอีกทางเลือกในการรักษาอาการป่วยที่ธรรมชาติให้มา เรียกได้ว่า กรณีของชาร์ล็อตกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการเรียกร้องกฎหมายให้การรักษาด้วยกัญชาทั่วสหรัฐถูกกฎหมาย
สำหรับกัญชงที่เป็นพืชสายพันธุ์เดียวกับกัญชา ก็ถูกสั่งห้ามปลูกไปด้วยเพราะถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน ทั้งที่ในอดีตช่วงสงครามโลกเคยเป็นเส้นใยธรรมชาติตัวสำคัญในการผลิตเสื้อผ้า เชือก หรือแม้แต่เป็นวัตถุดิบในการทำกระดาษที่มีคุณภาพสูง
“เรามีกฎหมายไม่ให้มีกัญชาในปี 2477 ใกล้เคียงกับที่อเมริกา พอมีสงครามเขาก็ให้ปลูกได้ แต่พอสงครามหยุดก็สั่งห้ามปลูก เมื่อก่อน เสื้อผ้า กระดาษ ทำจากกัญชงได้ดีมาก”
ประสาทเสริมว่า ราชวงศ์ของญี่ปุ่นเคยนิยมใช้เสื้อผ้าจากกัญชง เพราะไม่ขึ้นรา สวมใส่แล้วอุ่นสบาย นำมาทำกระดาษก็มีคุณภาพสูงและทนทาน แม้แต่คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐยังจารึกลงบนกระดาษกัญชง เช่นเดียวกับกฎของกาลิเลโอที่บันทึกลงกระดาษกัญชง ในช่วงศตวรรษที่ 17
ในสหรัฐ มีความพยายามที่จะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อลดโทษจากความผิดรุนแรงมาเป็นลหุโทษ แต่ประสาทให้ข้อมูลว่า ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ยอมรับว่า เป็นปัญหาช่องว่างทางวิชาการ ทำให้ต้องคงโทษสูงสุดเอาไว้ จนกว่าจะมีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน ซึ่งสุดท้าย กลไกทางวิชาการกลับกลายเป็นอุปสรรคเสียเอง
จากการรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและงานศึกษาทั่วโลก ทำให้ประสาทเชื่อมั่นว่า สิทธิในการดูแลตนเองของประชาชนกำลังจะกลับคืนมา
“ถ้าให้ปลูกกัญชากันทั่วไป เราก็จะมียารักษาตัวเอง รวมทั้งได้สิทธิเสรีภาพที่จะดูแลตัวเองกลับคืนมา”