สายตาหลายคู่ลอบมองหญิงวัยกลางคนคนนั้นที่นั่งบนเก้าอี้ในรถไฟฟ้าใต้ดิน หล่อนมากับลูกน้อยวัยขวบเศษ เจ้าหนูพยายามเลิกเสื้อของหล่อนเพื่อดื่มนม เราไม่รู้หรอกว่ารสชาตินมแม่นั้นเป็นอย่างไร เราลืมมันไปแล้ว
“อย่าสิลูก เดี๋ยวคุณลุงดุนะ” หล่อนบอกลูก ขณะส่งยิ้มอายๆ ให้ชายวัยกลางคนที่นั่งข้างๆ
หล่อนก้มมองลูกบนตักอีกครั้ง ก่อนจะเลิกเสื้อขึ้น เปลือยเต้าข้างหนึ่ง เจ้าหนูงับหัวนมหล่อน รถไฟฟ้าจอดที่สถานีแห่งหนึ่ง ผู้คนที่เข้ามาผงะเล็กน้อยกับภาพหล่อนให้นมลูก
ใครบางคนอยากยกกล้องขึ้นมาถ่ายภาพที่เห็นเก็บไว้ ค่าที่มันเป็นภาพที่แสดงถึงบางสิ่งบางอย่างระหว่างแม่ ลูก และในนามของสังคมสมัยใหม่ – รถไฟฟ้าใต้ดิน
1.
มีอะไรในนมแม่
ภูมิคุ้มกันและสารสำคัญในน้ำนมแม่ส่งผลต่อการปกป้องชีวิตทารกในระยะที่ทารกยังช่วยตัวเองไม่ได้ ทารกที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในระยะ 13 เดือนแรกหรือนานกว่านั้นจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคท้องเสียในระยะขวบปีแรกน้อยกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมผสมอย่างเดียวหรือได้รับนมผสมร่วมกับนมแม่
การศึกษาในอียิปต์พบว่า ทารกที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดจะมีโอกาสท้องเสียน้อยกว่าร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับนมแม่ช้ากว่า และการศึกษาในบราซิล เด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวจะลดโอกาสท้องเสียถึง 14.2 เท่า
ในประเทศไทย การศึกษาของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ก็พบเช่นเดียวกัน ข้อมูลนี้ยืนยันความสำคัญของการให้นมแม่แก่ทารกซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคภูมิแพ้และหอบหืด จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ การกินนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 เดือน จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ (atopic dermatitis) และโรคหืดได้ร้อยละ 42 และ 48 ตามลำดับ
การกินนมแม่ยังช่วยลดโอกาสการแพ้โปรตีนนมวัวและการแพ้อาหารได้ รวมทั้งช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น ลดโอกาสเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
ผลต่อการเจริญเติบโตของสมองและพัฒนาการ จากการศึกษาทั้งในและต่างประเทศพบว่า
ทารกที่กินนมแม่มีพัฒนาการทางสมองดีกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทั้งในช่วงก่อนวัยเรียนและวัย
ผู้ใหญ่ จากการศึกษาแบบ meta-analysis จำนวน 8 การศึกษา แสดงให้เห็นว่า เด็กที่ได้รับนมแม่ใน
วัยทารกมีคะแนนเชาว์ปัญญาสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้รับนมแม่ถึง 5 จุด ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า ความสำเร็จ
ของการศึกษาในโรงเรียนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาของการได้รับนมแม่ในวัยทารก
ขณะเดียวกัน การลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคเรื้อรัง จากผลการศึกษาระยะยาวพบว่า ทารกที่กินนมแม่เมื่อเติบโตขึ้นความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และเบาหวาน จะน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ ทั้งในช่วงก่อนวัยเรียนและวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคอ้วนและเบาหวาน ซึ่งการกินนมแม่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ถึงร้อยละ 22 และ 37
น้ำนมของแม่ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อทารกเท่านั้น หากยังมีผลดีต่อมารดาอีกด้วย โดยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ ในมารดา เช่น ลดโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ร้อยละ 4-28 ลดโอกาสเป็นมะเร็งรังไข่ร้อยละ 9-32 ลดโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ 4-12 การหยุดให้นมแม่เร็วเกินไปหรือไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า และในระยะให้นมแม่อย่างเดียวจะมีผลทำให้การตกไข่เกิดขึ้นช้าลงและมดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
2.
อ่านการตลาดนมผง ‘สูตรเพิ่มความฉลาด’
ธุรกิจนมผงเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงปี ค.ศ. 1979 มีนมผงวางขายในตลาดถึง 50 ยี่ห้อ กระจายอยู่ใน 100 ประเทศทั่วโลก งานศึกษาของ Louis ในปี ค.ศ. 1985 พบว่า แม่ที่มีความเชื่อในทางบวกต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่าแม่ที่มีความเชื่อในทางลบ
คำถามก็คือ อะไรที่ทำให้คุณแม่มีความเชื่อติดลบในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
อิทธิพลการโฆษณาของผลิตภัณฑ์นมน่าจะมีส่วนในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย การให้ข้อมูลสรรพคุณของนมผงนั้นเราสามารถพบเห็นได้ตามข้างกล่อง โบรชัวร์ แต่อย่าลืมว่าสารอาหารเหล่านั้นถูกผลิตขึ้นมาจากการเลียนแบบสรรพคุณในน้ำนมแม่ และนมผงก็คือ
“นมจากสัตว์ที่ผ่านการปรุงแต่งทางเคมี และไขมันในนมผงก็คือไขมันที่มาจากน้ำมันพืช เพราะไขมันจากวัวนั้นใช้ไมได้ ถ้าเราไปดูที่ข้างกล่อง เราจะเห็นว่ามันมีทั้งน้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน ก็เหมือนกับเราให้เด็กทานอาหารทอด ส่งผลให้เด็กได้รับน้ำมันพวกนี้เข้าสู่ร่างกาย” พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย บอก
นมผงไม่ได้ขาดแคลนประโยชน์ แต่เรากำลังพูดถึงประเด็นสารอาหารที่นมผงไม่สามารถเทียบเท่านมแม่ได้ เราไม่ได้พูดว่านมผงนั้นไม่เหมาะสำหรับการเลี้ยงทาราก แต่นมผงควรเป็นทางเลือกหรือตัวเสริมในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
สารอาหารในนมผงนั้นมีความร้ายกาจได้ไม่เท่าครึ่งหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ โดยเฉพาะการแจกตัวอย่างนมฟรีแก่หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลซึ่งมีอิทธิพลต่อการเลือกชนิดของนมในการเลี้ยงดูลูกในเวลาต่อมา
เราสามารถพูดได้หรือไม่ว่า การใช้ช่องทางผ่านระบบสาธารณสุขของผลิตภัณฑ์นมผงเป็นการกระทำที่ขาดจรรยาบรรณ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา การแจกตัวอย่างนมฟรีถึงเตียงแม่ที่กำลังพักฟื้นจากการคลอด การจ้างพยาบาลให้รับจ็อบเป็นพนักงานขายในนาม ‘Milk Nurse’ หรือ ‘Mother Craft Nurse’ ทำหน้าที่พูดคุยแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก ตามมาด้วยแจกตัวอย่างนมฟรี ตามมาด้วยการปิดการขาย โดยโรงพยาบาลและนางฟ้าชุดขาวเหล่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามโควต้าที่บริษัทกำหนด
นี่จึงเป็นที่มาของการผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติการตลาดอาหารทารกและเด็ก’ เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องปรามกลยุทธ์การตลาดที่ขาดจริยธรรม บั่นทอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุ้มครองแม่จากการได้รับอิทธิพลการโฆษณาที่ทำให้แม่เข้าใจผิดว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมผงไม่แตกต่างจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเป็นการปกป้องสิทธิที่เด็กควรได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ (Convention on the Rights of the Child: CRC)
หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้เกิด “ความสมดุลของการให้ข้อมูลระหว่างนมแม่และนมผง โดยให้แม่เป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง เราไม่ได้บังคับให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เท่านั้น แต่แม่ต้องได้รับข้อมูลที่เท่าเทียมก่อน แล้วให้แม่เป็นคนตัดสินใจ สิ่งสำคัญคือบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรเป็นเครื่องมือให้บริษัทนม” พรธิดา พัดทอง แห่งยูนิเซฟประเทศไทย ให้ข้อมูล
เธอบอกอีกว่า ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ บริษัทนมยังสามารถให้ข้อมูลโดยอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ ขณะที่แพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้แนะนำข้อมูลนั้นแก่แม่ เพียงแต่บริษัทนมจะไม่สามารถเข้าถึงเตียงแม่ลูกอ่อนในโรงพยาบาลได้อย่างทุกวันนี้ ไม่ว่ารูปแบบใด รวมถึงการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ผ่านสื่อทุกชนิด
“เราอยากให้บริษัทนมมีจรรยาบรรณในการให้ข้อมูล ตามที่กล่าวไป แพทย์จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่แม่ เช่น ถ้าแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แพทย์ก็จะแนะนำว่า ควรทำอย่างไร ชี้ให้เห็นประโยชน์และโทษในทุกทางเลือกที่คุณแม่คนหนึ่งจะตัดสินใจ นี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นจากการผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้”
3.
รักแม่ให้ได้มากกว่า 90 วัน
นอกจากประเด็นการตลาดนมผงแล้ว อุปสรรคที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมได้อย่างเต็มที่ นั่นคือสภาพสังคมสมัยใหม่ การให้นมลูกในรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินอาจเป็นภาพที่ดูขัดเขิน ใครบางคนอาจบอกว่าไม่เห็นแปลก ใช่! การให้นมแม่ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยเฉพาะนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาเพื่อเอื้อให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ชุดให้นม แต่ถามว่าลำบากไหมหากผู้หญิงในศตวรรษที่ 21 จะให้นมลูก คำตอบที่ได้คือมีการงานบางอย่างที่เอื้อให้ผู้หญิงสมัยใหม่สามารถให้นมลูกได้ เช่น ผู้หญิงที่ทำงานอยู่ที่บ้าน ซึ่งเธออาจไม่ต้องเดินทางเข้าสำนักงานเหมือนคนทั่วไป แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นต้องออกมาช่วยคุณพ่อบ้านทำงานด้วย ไม่อย่างนั้นจะไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ
เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ชวนให้มองไปยังประเด็นกฎหมายการลาหยุดงานของคนไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 41 บัญญัติว่า ‘ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อการคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน’
“เราสามารถลาหยุดงานได้ 3 เดือน แต่จริงๆ ก็ไม่ถึงหรอกค่ะ เพราะบางทีต้องลาก่อนคลอดด้วย บางคนก็อาจจะกลับไปทำงานเร็วด้วยซ้ำไป เพราะเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง คำถามก็คือทำอย่างไรจึงจะมีสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในชุมชน ดิฉันคิดว่าสังคมนมแม่เกิดขึ้นได้แน่ ตอนนี้ในประเทศเวียดนามเขาให้ผู้หญิงลาคลอดได้ 6 เดือนแล้วนะคะ” พญ.ยุพยง บอก
ในระดับสากลนั้นปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้หญิงทำงานถือว่ามีมานานเกือบร้อยปีแล้ว ในปี ค.ศ. 2000 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ได้กำหนดให้มีอนุสัญญาฉบับที่ 183 ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ลาคลอดนานถึ ง 14 สัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 6 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร นอกจากนี้ได้มีคำแนะนำว่าควรที่จะขยายระยะเวลาในการลาคลอดให้ได้ถึง 18 สัปดาห์
เป็นที่น่าสังเกตว่า อนุสัญญาฉบับนี้คุ้มครองถึงหญิงที่กำลังให้นมบุตรด้วย แต่มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่ยินยอมเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยนั้นไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญา
กล่าวในภาพรวมนั้นกลุ่มประเทศเอเชียเป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิการลาคลอด 14 สัปดาห์ตามที่อนุสัญญาฯ กำหนด ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิ์การลาคลอดที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่น โดยมีเพียง 4 ประเทศจาก 31 ประเทศเท่านั้นที่ให้สิทธิ์การลาคลอดตั้งแต่ 14 สัปดาห์ขึ้นไป ขณะที่ประเทศอาเซอร์ไบจันเป็นประเทศที่ให้สิทธิ์ลาคลอดมากที่สุดถึง 18 สัปดาห์ ประเทศไซปรัสให้สิทธิ์การลาคลอด 16 สัปดาห์ และประเทศญี่ปุ่นกับมองโกเลียให้สิทธิ์การลาคลอด 14 สัปดาห์ โดยที่ประเทศส่วนใหญ่ 13 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 41.9 ให้สิทธิ์การลาคลอดระหว่าง 12-14 สัปดาห์ และมีถึง 14 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 45.16 ที่ให้สิทธิ์การลาคลอดน้อยกว่า 12 สัปดาห์
ในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่ให้สิทธิ์การลาคลอดมากที่สุด เห็นได้จากการให้หญิงทำงานมีสิทธิ์ลาคลอดเป็นระยะเวลานาน แล้วยังสามารถได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาการลาคลอดด้วย เช่น ประเทศเชโกสโลวเกียและโครเอเชียให้สิทธิ์ลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างนานถึง 7 เดือน ประเทศฮังการีให้สิทธิ์การลาคลอด 6 เดือน ประเทศรัสเซียและประเทศอิตาลีให้สิทธิ์การลาคลอด 5 เดือน ประเทศเดนมาร์กและนอร์เวย์ให้สิทธิ์ในการลาคลอดถึง 4.5 เดือน ซึ่งโดยส่วนใหญ่สำนักงานประกันสังคมหรือผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้รับภาระในการจ่ายค่าจ้างระหว่างการลาคลอด
หันกลับมามองประเทศไทย ผู้หญิงทำงานหรือในอีกบทบาทหนึ่งพวกเธอเหล่านั้นก็คือ ‘คุณแม่’ มีเวลาเพียง 90 วันเท่านั้นที่พวกเธอได้รับโอกาสในการทำหน้าที่ ‘แม่’ น่าแปลกใจที่สังคมไทยเป็นสังคมที่เชิดชูคุณค่าของ ‘แม่’ แต่อะไรหลายๆ อย่างมันก็ชวนให้นึกถึงสำนวนที่มีความหมายไปในทำนอง ‘ปากกับใจไม่ตรงกัน’
เราประกาศให้โลกรู้ว่าเรารักแม่ ขอเวลาให้แม่มากกว่า 90 วัน ไม่ได้เชียวหรือ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Current concepts of breastfeeding โดย พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร
สิทธิของแม่ทำงานกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดย ปารีณา ศรีวนิชย์