ภาพประกอบ: Shhhh
ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งมีการปรับปรุงและพัฒนาทัศนวิสัยให้ดีขึ้น ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ราคาแพง นำเข้าเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการรักษาความปลอดภัยก็เข้มงวดมากยิ่งขึ้น (ในประเทศไทยคงเห็นภาพแบบนี้ได้เฉพาะโรงพยาบาลเอกชน) แต่ความเป็นจริงได้บอกกับพวกเราว่า ทุกอย่างที่เรากำลังทำมันผิดพลาด เพราะสิ่งที่โรงพยาบาลขาดแคลนไม่ใช่เรื่องของความสวยงามหรือความสะดวกสบายเพียงอย่างเดียว
โรคติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นและบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต ผู้ป่วยที่พักอยู่ในแผนกผู้ป่วยหนักประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มที่อาการจะทรุดลง
จากการรวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่างๆ ของ New York Times ผลวิจัยหนึ่งพบประเด็นสำคัญว่า ห้องพักผู้ป่วยแบบห้องเดี่ยวสามารถลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อทางอากาศและจากการสัมผัสได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอีกชิ้นที่รายงานว่า การเปลี่ยนจากห้องพักรวมไปยังห้องพักส่วนตัวสามารถลดการติดเชื้อแบคทีเรียกว่าครึ่งหนึ่ง และลดระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และงานวิจัยอีกชิ้นเสนอว่า การพักห้องเดี่ยวในโรงพยาบาลอาจเป็นหนทางในการประหยัดค่ารักษาได้มากกว่า เพราะจะติดเชื้อน้อยลง เนื่องจากมีอุปกรณ์ภายในที่สามารถลดอัตราการติดเชื้อที่มีคุณภาพดีมากกว่า
การหกล้มในโรงพยาบาลก็เป็นปัญหาสำคัญที่อาจส่งผลให้บาดเจ็บรุนแรงและต้องอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลนานขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ความพยายามที่จะคลำหาทางในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคยของห้องพักในโรงพยาบาลบ่อยครั้งทำให้ผู้ป่วยหกล้มได้ง่าย ซึ่งสาเหตุอาจมาจากห้องพักภายในออกแบบมาได้ไม่ดี เช่น แสงสว่างในห้องไม่เพียงพอ หรือพื้นลื่นเกินไป
นอกจากนี้ความรวดเร็วในการดูแลผู้ป่วยก็อาจเป็นปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลที่มีลักษณะกระจายการรักษาจากศูนย์กลางมีโอกาสในการเข้าถึงและใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้ง่ายกว่า อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการพลัดหกล้มหรือเกิดอาการบาดเจ็บอย่างอื่นด้วย
ความเป็นส่วนตัวก็เป็นอีกสิ่งที่ท้าทาย อย่างกฎหมาย HIPAA (the Health Insurance Portability and Accountability Act) แม้หมอและพยาบาลจะถูกสอนไม่ให้แพร่งพรายข้อมูลของผู้ป่วยออกไป แต่โดยส่วนใหญ่เรากลับทำขณะผู้ป่วยนั่งอยู่ห่างจากเราเพียงผ้าม่านกันเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางรักษาหรือยาที่ใช้ การวิจัยได้ค้นพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนมากไม่ยินยอมเล่าประวัติการรักษาของตนเอง หรือปฏิเสธที่จะตรวจร่างกาย
ปัญหาของเสียงในโรงพยาบาลก็ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากเสียงในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ดังกว่ามาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ ทำให้ผู้ป่วยหลับได้ยาก การแก้ไขดังกล่าวทำได้ด้วยการใช้หูฟัง เปิดเพลงกล่อมเบาๆ พูดกันเบาๆ และเสียงแจ้งเตือนโรงพยาบาลควรเบาลงกว่านี้จะช่วยทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้สบายมากขึ้น
ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจอีกเรื่อง โดยทดลองว่าหากทางเดินในโรงพยาบาลมีต้นไม้ใบหญ้าเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้นหรือไม่ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ โรเจอร์ อูลริช (Roger Ulrich) ศาสตราจารย์สาขาสถาปัตยกรรม ที่ศูนย์วิจัยสิ่งก่อสร้างเพื่อการดูแลสุขภาพ (Center for Healthcare Building Research) ใน Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน ผลออกมาว่า ยิ่งผู้ป่วยเข้าใกล้ธรรมชาติมากเท่าไร ผู้ป่วยจะมีแนวโน้มหายเร็วขึ้น ตามหลักแล้ว ไม่ได้มีแต่ผู้ป่วยที่รู้สึกป่วยไข้ (ทั้งกายและใจ) เพียงกลุ่มเดียว แต่รวมถึงหมอและเจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากต่างพากันกักขังตัวเองอยู่แต่ในตึกปูนซีเมนต์
โดยงานล่าสุดของศาสตราจารย์อูลริช ได้ทำการศึกษาว่า กลุ่มผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนหลังจากผ่าตัดถุงน้ำดี โดยศึกษาระหว่างห้องที่มีมุมธรรมชาติให้ได้มอง กับห้องที่กำแพงเต็มไปด้วยอิฐทึบมองไม่เห็นอะไร ผลวิจัยปรากฏว่า ผู้ป่วยในห้องที่เห็นธรรมชาตินั้นฟื้นตัวได้เร็วกว่าอีกกลุ่ม
นอกจากนี้ยังมีอีกงานวิจัยที่เข้าไปศึกษากลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) โดยผู้ป่วยที่พักในห้องที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสามารถมองเห็นแสงอาทิตย์ขึ้นได้นั้นพักฟื้นอยู่แค่สี่วัน สั้นกว่าผู้ป่วยอีกกลุ่มที่พักอยู่ในห้องที่หันไปทางทิศตะวันตก
ไม่เพียงแต่วิวหน้าต่างที่มองเห็นธรรมชาติอย่างเดียวเท่านั้น แต่รูปภาพที่เกี่ยวกับธรรมชาติก็ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้เช่นกัน มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่าผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มที่จะใช้ยาน้อยกว่าอีกกลุ่ม เมื่อในห้องพวกเขามีภาพทิวทัศน์ ภูมิประเทศ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่ในห้องพักที่มีแต่ภาพศิลปะ abstract หรือไม่มีอะไรแขวนไว้เลย
รวมถึงผู้ป่วยที่ดูวิดีโอเกี่ยวกับธรรมชาติก็มีแนวโน้มที่จะอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่า อารมณ์ดีกว่า มีอัตราการเต้นหัวใจและความดันที่น้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดูด้วย
“โรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่อันตรายและไม่น่าพิศมัย” อูลริช กล่าว “อย่างไรก็ตามเราก็มีหลายแนวทางในการปรับปรุงเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้นและช่วยให้พวกเขาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น”
จากงานวิจัยทั้งหมดที่กล่าวมา ได้กระตุ้นและสนับสนุนให้โรงพยาบาลมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดความตึงเครียดของผู้ป่วย และลดการเสี่ยงโรคติดเชื้อ อีกทั้งแสดงให้เห็นความจริงอย่างชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่โรงพยาบาลต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย และบุคลากรในโรงพยาบาล
ที่มา: www.nytimes.com