การต่อสู้ครั้งสุดท้ายของเกมฝึกสมอง

Artboard 1

ผมเป็นคนขี้ลืมอย่างร้ายกาจ

ไม่ได้โม้ ทุกครั้งที่จะเดินทางไปไหน ที่บ้านมักเอือมระอาที่จะต้องคอยเตือนให้ระวังอย่าลืมของทิ้งไว้ให้คนที่นั่นดูต่างหน้า ถ้าจะให้รวบรวมวีรกรรมว่าที่ผ่านมาว่าเคยลืมของอะไรไว้ที่ไหน รวมเป็นมูลค่าเท่าไหร่บ้าง (มีทั้งที่ตามได้คืนกับไม่ได้คืน) น่าจะพอจะเขียนเป็นหนังสือให้ทางสำนักพิมพ์รวมเล่มขายแข่งกับคุณพ่อหล่อได้อยู่เหมือนกัน

จะว่าเป็นอาการของคนสูงอายุก็ไม่เชิง คืออายุผมก็สูงอยู่ แต่จำได้ว่าอาการขี้ลืมมันเริ่มตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 30 และมาถึงวันนี้ก็ยังขี้ลืมสม่ำเสมอ ไม่ได้มากขึ้นจนเห็นได้ชัดสักเท่าไหร่

ได้ยินว่ามีบางคนพาเมียไปทานข้าว ชำระเงินเสร็จ เข้าห้องน้ำ แล้วกลับบ้านเลย ทิ้งเมียไว้ที่ร้าน ของผมยังไม่เคยขนาดนั้น หรือถ้าเคยก็คงไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้ว

พอดีมีโอกาสได้คบหาและทำงานกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโรคความจำเสื่อม โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ เขามีจัดอบรมสม่ำเสมอเพื่อให้ความรู้แก่คนที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

แล้วยังทำแอพฯที่ช่วยตรวจคัดกรองหาคนที่เป็นโรค เราดาวน์โหลดมาใช้ในแท็บเล็ตได้ ทำให้เช็คได้ว่าเริ่มจะมีอาการหรือยัง ของผมก็ยังไม่เริ่ม แต่อาจจะใกล้แล้ว

คิดๆ ดู สิ่งที่ทำให้คนเป็นคน เป็นตัวตนของตัวเอง ก็คือความทรงจำที่สะสมมาตั้งแต่เด็ก น่าจะเป็นของที่มีค่ามากที่สุด ใครที่เคยทำกล้องถ่ายรูปหรือโทรศัพท์หายก็จะเข้าใจดีว่า ที่น่าเสียดายมากกว่ากล้องก็คือรูปที่อยู่ในนั้น เพราะโมเมนต์มันเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว หายไปแล้วคือหายเลย

คนที่ต้องอยู่กับคนรักที่ความจำค่อยๆ ละลายไป มันจึงเป็นการตายทั้งเป็น และเป็นความทรมานของคนรอบข้างที่ต้องดูแลตลอดช่วงเวลานั้น คอยตามหาตัวในยามที่หายตัวไปจากบ้าน และสุดท้ายก็ต้องทำใจเมื่อถึงวันที่เขาจำเราไม่ได้แล้ว เป็นวันที่ไม่เหลือตัวตนอยู่

เหมือนกับลูกๆ ของ อลิซ ในเรื่อง Still Alice และเหมือนกับสามีคู่ทุกข์คู่ยากของ ไอริส ในเรื่อง Iris

อลิซที่รับบทบาทโดย จูเลียน มอร์ เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาศาสตร์ที่ฉลาดปราดเปรื่องและมั่นใจในตัวเอง จนมาถึงวันหนึ่งที่เธอค้นพบว่า ‘ภาษา’ ค่อยๆ หายไปจากสมองของเธอ ในขณะที่เป็นไอริสที่รับบทโดย เคท วินสเล็ต และ จูดี เด็นช์ ก็เป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และกลายเป็นนักเขียนในเวลาต่อมา

ทั้งคู่ต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์ที่เกาะกินตัวเองให้ทรุดและเสื่อมลงทุกๆ วัน ในขณะที่คนรักกลับเป็นผู้ที่ทรมานกว่า ที่ต้องรับรู้และอยู่กับจิตวิญญาณที่เปลี่ยนไปรวดเร็วกว่าร่างกาย ต่างกันตรงที่ว่า อลิซเป็นตัวตนในจินตนาการ ส่วนไอริสเป็นชาวอังกฤษที่มีตัวตนอยู่จริง

จิม บรอดเบนท์ คงจะเหมาะกับบทของสามีผู้แสนดีมาก เพราะนอกจากจะเล่นเป็นสามีของไอริสแล้วต่อมายังรับบทเป็น เดนิส แธตเชอร์ สามีของ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ในเรื่อง The Iron Lady ที่ในบั้นปลายชีวิตก็เป็นโรคสมองเสื่อมเช่นกัน (มีอาการหลงเป็นประจำ แต่อาจไม่ถึงขั้นเป็นโรคอัลไซเมอร์)

พนันได้เลยว่า หนังเกี่ยวกับคนแก่และโรคอัลไซเมอร์จากนี้ไปจะมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ที่เรากำลังก้าวเดินเข้าไปหาอย่างมั่นคง เพราะนี่คือความเป็นจริง

สมัยก่อนโดยเฉลี่ยคนอายุสั้น ก็เลยมักมีอันเป็นไป ทำให้ตายเสียก่อนป่วย แต่สังเกตว่าช่วงนี้คนใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น คงเริ่มรู้ตัวว่า ถ้าจะมีชีวิตไปนานๆ ช่วงบั้นปลายคงหนีไม่พ้นต้องสู้กับโรคร้ายนานาชนิด เพราะยุคนี้ป่วยแล้วก็ไม่ตายง่ายๆ และถ้าดูแลตัวเองไม่ดี ก็จะป่วยตอนแก่ และป่วยนาน

คนในยุคนี้เลยต้องดูแลสุขภาพร่างกาย ดูแลไขมัน ดูแลผิวหนัง ดูแลข้อเข่า ดูแลสุขภาพฟัน ดูแลสุขภาพเส้นผม ดูแลสุขภาพสมอง

เห็นหนุ่มสาวหลายๆ คนเริ่มดูแลสุขภาพตัวเอง ผมก็อนุโมทนาไปกับเขา ส่วนคนขี้ลืมอย่างผม กว่าจะคิดได้ก็ช้า ล่วงเลยวัยอันควรมาแล้วพอประมาณ

และด้วยความที่กลัวว่าคนรอบข้างของตัวเองจะเดือดร้อน (อาจจะคิดเข้าข้างตัวเองไปไหม) ต้องมาคอยดูแลตอนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ในยามแก่ ผมก็เลยเริ่ม ‘บริหารสุขภาพสมอง’ ด้วยการใช้ตัวช่วย

ตัวช่วยที่ว่าก็คือ ‘เกม’ ครับ

หลังจากที่เลือกดูเกมประเภทนี้หลายๆ แบบ เกมที่ผมเลือกใช้เป็นตัวช่วยในการบริหารสมองมีชื่อว่า Lumosity เขาโฆษณาว่าช่วยเสริมสร้างสุขภาพสมองในห้ากลุ่ม คือ ความจำ สมาธิ ความยืดหยุ่นของสมอง ความรวดเร็วในการตอบสนอง และการแก้ปัญหา ช่วยชะลอหรือป้องกันอัลไซเมอร์ด้วย

เหตุผลที่เลือกก็ง่ายๆ คือ ดูน่าเชื่อถือดี เพราะมีฐานลูกค้าทั่วโลกถึง 70 ล้านคน และที่สำคัญ บังเอิญผมไปโดนใจที่ถ้อยคำโฆษณาเขียนไว้ว่า เกมของบริษัทนี้ เป็นผลงานสร้างสรรค์การออกแบบโดยนักประสาทวิทยาร่วมกับนักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นการนำเอาผลงานวิจัยด้านพุทธิปัญญา (cognitive research) ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั่วไป

คะเนว่ามีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 100 คนร่วมกันทำวิจัยเพื่อสร้างเกมชนิดนี้ขึ้นมา ถ้าเขาบอกขนาดนี้ มันก็น่าสนใจอยู่

และถ้าช่วยป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในจำนวนฐานลูกค้าขนาดนั้นได้จริง ภารกิจของบริษัทนี้น่าจะต้องยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติมากทีเดียว ผมคิดแบบนั้น

พอได้ดาวน์โหลดแอพฯมาทดลองใช้เล่นในโทรศัพท์มือถือดูก็พบว่า เกมที่เขาจัดมาให้จะเป็นแบ่งเป็นห้ากลุ่มตามที่โฆษณาไว้ แต่ละกลุ่มมีการออกแบบเกมด้วยเป้าหมายเฉพาะในการเสริมสร้างสุขภาพสมองในด้านนั้นๆ เช่น ด้านความจำก็จะเป็นเกมประเภทที่ท้าทายให้จำภาพที่เห็นก่อนหน้านี้ให้ได้ ฯลฯ

เมื่อจบเกมเขาก็จะให้คะแนน เราจะต้องทำคะแนนแข่งกับตัวเอง (และคนอื่นๆ) พอเล่มเกมครบห้าหมู่ก็จะมีคะแนนรวมในแต่ละวันให้ชื่นชม และท้าทายให้ปรับปรุงตัวเองต่อไปเรื่อยๆ

ผมยอมรับว่ารูปลักษณ์การออกแบบที่สวยงามประณีต การเคลื่อนไหวของแอนิเมชั่นที่ลื่นไหล มีส่วนสร้างเสน่ห์ให้เกมนี้ไม่น้อย ความ ‘ติดเกม’ คือสิ่งที่คาดว่าจะช่วยให้เราฝึกเป็นประจำ และปรับปรุงสุขภาพสมองให้ดีขึ้นในที่สุด

หลังจากใช้สักพักหนึ่ง ผมก็เลยตัดสินใจควักเงินซื้อสิทธิ์สมาชิก และหลังจากนั้นก็ลองพยายามตั้งเตือนให้เล่นเกมนี้วันละนิดละหน่อย คิดในใจว่าถ้าเล่นไปนานๆ น่าจะช่วยให้สุขภาพสมองดี และไม่ต้องป่วยแบบอลิซหรือไอริส

ความพยายามของผมไม่ค่อยสำเร็จครับ ส่วนหนึ่งก็เพราะทุกครั้งที่หยิบเกมนี้ขึ้นมา เป็นต้องถูกลูกสาวแย่งไปเล่นเสมอ เดี๋ยวเล่นเกมขับรถ เดี๋ยวก็ให้ป้อนอาหารปลา ให้พาสัตว์เลี้ยงกลับบ้าน ฯลฯ สนุกทุกเกม

กลายเป็นว่าเด็กที่บ้านผมติดเกมนี้ยิ่งกว่าผมอีกครับ

จะมีติดใจอยู่นิดหน่อยตรงที่ว่า เราไม่เคยแน่ใจได้เลยว่า ผลในบั้นปลายของการเล่นเกมนี้ติดต่อกันไปนานๆ นอกจากต้องเสียเงินให้เขาทุกปีแล้ว (เพื่อปลดล็อคและให้มีเกมใหม่ๆ มาให้เล่นเรื่อยๆ) มันจะได้ผลจริงอย่างที่โฆษณาไว้หรือ?

เราแน่ใจไหมว่า จะไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์?

ความกังวลเล็กๆ ของผมเริ่มส่อเค้าเป็นจริงเป็นจัง เมื่อศูนย์วิจัยแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดออกแถลงการณ์จาก ‘ประชาคมนักวิทยาศาสตร์’ ที่มุ่งเป้าโจมตีธุรกิจอุตสาหกรรมเพิ่มพูนสุขภาพสมองว่าโฆษณาเกินจริง แนบชื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้ลงนามเป็นบัญชีหางว่าวมาด้วย

Lumosity ของผมก็อยู่ในข่ายที่ถูกโจมตี จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการต่อสู้กับอัลไซเมอร์ มาต่อสู้กับสแตนฟอร์ดแทนชั่วคราว

แล้วในเวลาไม่นาน คู่ต่อสู้ตัวจริงก็ปรากฏตัวขึ้น

เมื่อต้นปีนี้มีข่าวออกมาว่า บริษัท Lumos Labs ที่เป็นเจ้าของเกม Lumosity ต้องยอมจ่ายค่าปรับให้แก่คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหพันธรัฐ (Federal Trade Commission: FTC) เป็นเงินจำนวน 2 ล้านดอลลาร์ (ลดลงจาก 50 ล้านดอลลาร์ หลังประนีประนอมยอมความ)

FTC ก็คือหน่วยงานอิสระของรัฐบาลสหรัฐ ทำหน้าที่ควบคุมดูแลธุรกิจการค้าให้ดำเนินงานอย่างถูกต้องและยุติธรรม และปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคมาตั้งแต่ปี 1914

ข้อหาที่เจ้าของ Lumosity และหลายค่ายโดนคือ การกล่าวโฆษณาเกินจริง ฉกฉวยโอกาสจากการที่ผู้บริโภคกลัวภาวะสมองเสื่อมถอยยามสูงวัย กล่าวอ้างว่าเกมของบริษัท ช่วยชะลอการเกิดของอาการความจำเสื่อม โรคสมองเสื่อม และแม้กระทั่งโรคอัลไซเมอร์ ที่ยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ในขณะนี้

เป็นคำกล่าวอ้างที่ขาดข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มายืนยัน

ที่ผ่านมามีการศึกษาวิจัยจำนวนมากโดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท นำเกมบริหารสมองหลายๆ ค่ายอย่าง Lumosity, Mindfit, Cognifit, Posit Science ไปทดสอบแล้ววัดผลอย่างละเอียด

หลายๆ งานวิจัยดำเนินโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมีผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นหมื่นคน

บรรดาค่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพสมองพวกนี้ ‘เล่น’ กับการนำเอาการฝึกฝนสมองมาทำให้เป็นเกมเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และหลักการของเกมก็คือ ยิ่งเล่นได้ดีขึ้น เกมก็จะยิ่งยากขึ้น เป็นหลักการเดียวกันกับหลักการของการฝึกสมองที่นักประสาทวิทยาใช้

แน่นอนว่าถ้าเล่นเกมเดียวกันซ้ำๆ ไม่ว่าใครก็ต้องเก่งขึ้น แต่อาจจะไม่ได้หมายความว่า แล้วความจำ การตัดสินใจ ฯลฯ ที่อยู่นอกจอของเกมจะดีขึ้นด้วย

สมมุติฐานของเกมจึงยังมีจุดอ่อนตรงที่ว่า เวลาที่เสียไปกับการเล่นเกมพวกนี้จะช่วยเพิ่มทักษะอย่างที่ต้องการในชีวิตประจำวันหรือเปล่า ตรงนี้คือช่องโหว่แรก

ช่องโหว่ถัดมายิ่งใหญ่หลวง คือไอ้ที่ฝึกฝนทั้งหมดนี้จะช่วยระงับหรือชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้จริง…หรือเปล่า

จากการศึกษาประสบการณ์การใช้ Lumosity และค่ายอื่นๆ ก็พบคล้ายกันว่า ผลที่ได้ยังปะปนกัน ได้ผลบ้าง ไม่ได้บ้าง ที่ได้ผลก็ยังค่อนข้างเล็กน้อย ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนถึงขั้นที่กล่าวอ้างในโฆษณา

และงานวิจัยที่บริษัทอ้างถึง ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ทำหรือสนับสนุนทุนโดยบริษัทเอง

จากที่ได้ศึกษาประมวลงานวิจัยต่างๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานเพื่อจับผิด Lumosity ผมก็เลยได้เรียนรู้อะไรอีกมาก เช่น รู้ว่าสมองของคนเรายังเปลี่ยนแปลงได้แม้อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ถ้าเราฝึกเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ (สมัยก่อนนี้เชื่อกันว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัยแล้ว สมองจะไม่มีการเติบโต) และรู้ว่ายิ่งใช้สมองมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสน้อยลงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม (อยู่บ้าง)

เพียงแต่ว่า ต้องสะกิดเตือนตัวเองไม่ให้ ‘ยึดติด’ ในคำโฆษณาที่แฝงไว้ด้วยคีย์เวิร์ดอย่างคำว่า งานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และชื่อสถาบันต่างๆ มาสร้างความน่าเชื่อถือ

ทำให้ขาดความเป็นกลางไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

สุดท้าย…บริษัทก็เลยจำเป็นต้องยอมจำนน ลดทอนการกล่าวอ้างโฆษณาที่พูดถึงโรคทางประสาทและสมองจำนวนมากที่เคยกล่าวถึงในสรรพคุณก่อนหน้านี้ แต่ใช้คำที่สมเหตุสมผลมากขึ้น และลูกค้าก็ดูเหมือนไม่ได้หนีหน้าไปไหน

สุดท้าย…ผมไม่ได้เลิกเล่นเกมนี้ หรือแจ้งบอกเลิกสมาชิก

ใช่ครับ…

เพราะเริ่มเข้าใจว่า ยิ่งคนอยากดูแลตัวเอง กระแสโฆษณาก็ยิ่งแรง เพราะธุรกิจต้องแข่งกันพยายามหาวิธีเอาเงินในกระเป๋าไปจากเราให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพนี่ ส่วนใหญ่อาศัยความกลัวของผู้บริโภคมาใช้ประโยชน์ เอาความน่าเชื่อถือของหมอมาใช้หากิน

แต่ในประสบการณ์ของผม หมอที่เน้นการสร้างรายได้มากกว่ารักษาคนไข้มีเยอะมากๆ โดยส่วนตัวอยากให้กรณีแบบที่เกิดที่อเมริกา ที่บ้านเราควรมีการตรวจสอบบ้าง

ส่วนผมก็ยังเล่นเกมฝึกสมองต่อไป…ไม่ได้คาดหวังมาก แค่เอาไว้เล่นแข่งกับเด็กๆ ถือเป็นความบันเทิงหนึ่งในไม่กี่อย่างที่พอจะมีสาระอยู่บ้างครับ

ก็มันสนุก

 

Author

นเรศ ดำรงชัย
นักคาดการณ์อนาคตเทคโนโลยี ผ่านงานในสายวิทยาศาสตร์หลายแขนง ทั้งศึกษาวิจัยและบริหาร ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ นเรศ ดำรงชัย รักที่จะหยิบเรื่องราวของงานวิจัยล่าสุดมาแบ่งปันในคอลัมน์ Dualism เสน่ห์ที่เป็นจุดเด่นคือการแบ่งปันมุมมองที่เปี่ยมอารมณ์ในทุกตัวอักษร

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า