ศิลปะ ลวดหนาม วรรณกรรมในยุคสร้างชาติ

ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังขึ้นภายในห้องจัดแสดงที่รายล้อมด้วยลวดหนามถูกทาทับด้วยสีทองอันบริสุทธิ์ราวกับเป็นการยั่วล้อถึงความสูงส่งบางอย่าง ความสูงส่งที่ไม่เพียงกีดกันมนุษย์บางจำพวกให้ทำได้เพียงจดจ้องจากภายนอก แต่ยังแหลมคมด้วยอันตรายหากรุกล้ำกล้ำกรายเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาต

ทว่านั่นเป็นความเข้าใจผิดชนิดรุนแรงเมื่อได้สนทนากับ คธา แสงแข ศิลปินผู้จำแลงตัวเองให้กลายเป็น เน็ด เคลลี (Ned Kelly) แล้วถ่ายวิดีโอตัวเองในท่าจับปืนแล้วยิงมายังกล้อง อันเป็นที่มาของเสียงปืนดังตลอดงานเสวนาในหัวข้อ ‘วรรณกรรมในนามรัฐยุคสร้างชาติ’ โดยไม่เพียงมีแค่ตัวคธาในฐานะเจ้าของผลงานเอง ยังมี ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียนผู้อยู่ในแวดวงศิลปะ และ ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้เขียน นายใน สมัยรัชกาลที่ 6 มาร่วมถกเสวนา ภายใต้การตั้งคำถามโดยนักเขียน ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

“จริงๆ แล้วความตั้งใจของผมในการนำรั้วลวดหนามมาตั้งไว้เพราะแต่เดิมรั้วมันทำหน้าที่คุกคาม แต่คราวนี้มันคุกคามใครไม่ได้ เราก็ดูมัน ทำความเข้าใจมัน ผมอยากให้มันเป็น art object ชนิดหนึ่ง ให้มันเป็นวัตถุที่ถูกเราจ้องมอง”

“เหมือนเราต้องระวังมัน?”

“ไม่ต้องระวังครับ เหมือนเป็นแค่ของสวยงามชิ้นหนึ่ง เพราะเดิมเราเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ตอนนี้ผมอยากให้เราเป็นผู้กระทำต่อ art object”

‘การกระทำ’ ทั้งในฐานะผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เป็นประเด็นที่อาจจะกล่าวได้ไหมว่าคือหัวใจสำคัญของการจัดแสดงงานศิลปะ ‘Our Sunshine ภาพลักษณ์แห่งความรุนแรงของขบถนอกกฎหมาย และอำนาจรัฐที่คุกคามประชาชน’ ที่นำมาสู่การจัดเสวนาในหัวข้อ ‘วรรณกรรมในนามรัฐยุคสร้างชาติ’ เมื่อเย็นย่ำท่ามกลางสายฝนโปรยปรายวันที่ 23 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

วรรณกรรม
คธา แสงแข

แน่นอนว่าผู้จะตอบคำถามย่อมเป็นผู้ร่วมเสวนาทั้งสามคน โดยในเบื้องต้นฉัตรรวียิงคำถามต่อ คธา แสงแข เพื่อให้บอกเล่าที่มาที่ไปของการจัดแสดงงาน โดยคธาได้ตอบว่า

“เน็ด เคลลี จริงๆ เขาเป็นเหมือนโรบินฮูดอยู่ในยุควิคตอเรีย ออสเตรเลีย ปลายศตวรรษที่ 19 ในแง่ของการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม เป็นตัวแทนในการนำเสนอด้านที่ตรงข้ามกับชนชั้นนำ ซึ่งเป็นภาพที่ชาวออสเตรเลียรู้จักกันดี แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งก็นับว่าเป็นโจรที่อยู่ในดวงใจของประชาชน”

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ที่ออสเตรเลีย

สำหรับคำถามนี้ ในฐานะที่เป็นผู้เรียบเรียงข้อมูลเพื่อเขียนลงในสูจิบัตรงาน ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ตอบคำถามฉัตรรวีว่า

“จริงๆ ก็คล้ายๆ กับเมืองไทยที่เรารู้จัก เช่น พวกเสือใบ เสือดำ ที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐที่มองไม่เห็นหัวประชาชน เพราะฉะนั้นตำนานพวกนี้มันก็มีเยอะ และมีกลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐอยู่เสมอ”

“และมักมีตัวตนอยู่ในสื่อแสดงถึงสถานะวีรบุรุษจอมโจรที่ถูกหยิบยกออกมา ไม่ว่าจะผ่านเรื่องเล่า หรือภาพยนตร์ต่างๆ ก็ตาม เกี่ยวกับการมีตัวตนของเขา

“แน่นอนว่าการมีตัวตนคือสิ่งหนึ่ง แต่การเล่าเรื่องของเขามันก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเล่าประวัติศาสตร์ชีวิตของมันเองแล้ว มันก็เรื่องของความเป็นวรรณกรรมที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้มันเติบโต ถ้าเราดูในนิยายไทย จอมโจรไทยจะเล่นเครื่องรางของขลัง แต่โจรตะวันตกจะเน้นเรื่องของนวัตกรรม เช่น การสร้างชุดเกราะขึ้นมาเพื่อป้องกันตัว แต่สุดท้ายมันก็คือชุดเกราะบ้านๆ อย่าง เน็ด เคลลี สุดท้ายก็โดนแขวนคอ อันนี้ก็เป็นเรื่องของ เน็ด เคลลี ในวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นลักษณะความเชื่อในวรรณกรรมต่างๆ

วรรณกรรม
ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

อำนาจนอกระบบ VS อำนาจรัฐ

เมื่อวกมาสู่วรรณกรรม ฉัตรรวีจึงยิงคำถามต่อไปยัง ชานันท์ ยอดหงส์ ในฐานะนักเขียนว่า ในวรรณกรรมไทยในยุคหลังๆ มานี้มีตัวละครจำพวกจอมโจรฮีโร่หรือจอมขมังเวทที่ต่อสู้กับรัฐมากน้อยแค่ไหน

“จริงๆ เมื่อเราพูดถึงตำรวจ มันจะเกี่ยวกับกระบวนการสืบหาที่มันมาพบกับวิทยาศาสตร์ แต่พอเป็นวรรณกรรมไทยมันกลับเป็นจอมขมังเวท ซึ่งในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มันคงจะมีการพาสเจอไรซ์ภาพความรุนแรงผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มนตร์ดำ ทำให้เราเห็นภาพคนใช้เวทมนตร์คาถาสู้กันเพื่อลดความรุนแรง”

ในมุมของชานันท์ ความเป็นฮีโร่คือภาพของคนที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐ และถูกกดขี่โดยอำนาจรัฐ แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้ในรูปแบบของกองโจร ซึ่งมาเริ่มชัดเจนขึ้นเมื่อรัฐสยามปรับเขตแดนและมีการล่าอาณานิคมภายใน เช่น การเก็บภาษีสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดการต่อสู้แบบกองโจรที่เข้าไปปล้นภาษี เพราะหมดความอดทนต่ออำนาจรัฐสยามที่เข้ามาขูดรีด โดยตำนานที่ดูจะเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐเห็นจะมีแค่เรื่องบางระจันเท่านั้น

ขณะที่มุมมองทางด้านวรรณกรรม เมื่อมีการจัดระเบียบรัฐ เช่น ยุคอาณานิคมภายใน สยามเริ่มจับมือกับอาณานิคมอังกฤษด้วยการที่ทำสนธิสัญญาเชียงใหม่ มีความพยายามจัดการเรื่องธุรกิจป่าไม้ เก็บภาษี ส่งข้าหลวงไปปกครองในหัวเมืองต่างๆ ของล้านนา มีการตั้งโรงเรียนเพื่อให้คนที่อื่นใช้ภาษากรุงเทพฯ ไม่ใช่ภาษาล้านนา ซึ่งเป็นความพยายามที่ทำให้เกิดวรรณกรรมแบบใหม่ขึ้นมา ทำให้เจ้าเมืองเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ มีความแน่นแฟ้นมากขึ้น

“วรรณกรรมยุคนั้นก็ถูกหยิบขึ้นมา เช่น สาวเครือฟ้า เป็นการจำลองอุปรากรของฝรั่งเศสมา ซึ่งมีการเปลี่ยนฉากเปลี่ยนตัวละคร ซึ่งวรรณกรรมประเภทนี้เกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของสยามต่อล้านนา มันก็ยังส่งอิทธิพลมาถึงในยุคปัจจุบันด้วย เช่น ยุค 2480 เป็นต้นมาถึง 2500 เจ้าเริ่มเขียนนิยาย ทั้งพระองค์เจ้าอนุสรณ์มงคลการ ก็เขียนเรื่อง แหวนทองเหลือง ซึ่งก็จะพูดถึงความงามของผู้หญิงและพื้นที่อันน่าครอบครองของล้านนา และมีข้าราชการชายเข้าไปครอบครอง และสุดท้ายตัวนางเอกที่เป็นผู้หญิงพื้นเมืองก็ตายไป จะสังเกตว่าในละครช่องสามช่องเจ็ดก็จะเป็นเรื่องของผีผู้หญิงล้านนาโดนหักอกแล้วมาล้างแค้น หรือเอาผู้หญิงล้านนามาเป็นเมียของชนชั้นสูงแล้วโดนกลั่นแกล้ง เรื่องราวเหล่านี้ก็มีสาวเครือฟ้าเป็นต้นแบบ

วรรณกรรม
ชานันท์ ยอดหงษ์

“อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของ เงาะป่า เชื่อกันว่าแต่งโดยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องของชาวซาไก ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเราก็ไป dehumanize พวกเขาด้วยคำว่า ‘เงาะ’ ซึ่งเห็นคนกลุ่มนี้เป็นของแปลก จับถ่ายรูป และรู้สึกว่าอยากได้มาเลี้ยงสักตัว จึงให้เจ้าเมืองที่นั่นจับตัวมาอยู่ในวัง นำไปสู่นิยายเรื่อง เงาะป่า แปลว่าทรัพยากรรอบๆ สยาม เมื่อถูกจัดระเบียบแล้วมันก็จะกลายเป็นของสยาม มีสำนึกของสยาม เช่น การนำเอาสำนึกของชนชั้นกลางหรือสูงที่เน้นเรื่องชายเป็นใหญ่เป็นไปใส่ในชาติพันธุ์ต่างๆ มันก็กลายเป็นวรรณกรรมที่ถูกจัดระเบียบให้กลายเป็นกรุงเทพฯ”

นอกจากนี้ชานันท์ยังยกตัวอย่างในลักษณะของสถาบันทางด้านวรรณคดีอย่าง หอพระสมุดวชิรญาณ ซึ่งในอีกแง่หนึ่งมีสถานะเหมือนสโมสรชนชั้นสูงสำหรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ของรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะ รวมถึงมีการสร้างห้องสมุดภายใต้กรอบความเชื่อว่า วัฒนธรรมการอ่านและการทำห้องสมุดเป็นความศิวิไลซ์อย่างหนึ่งตามแนวคิดตะวันตก และมีหนังสือที่เป็นองค์ความรู้ต่างๆ บรรจุอยู่ รวมทั้งมีการชำระหนังสือ เช่น หนังสือที่มีสำนึกแบบชาวบ้าน หรือมีเนื้อหามากผัวมากเมียกลายเป็นสิ่งไม่ดี การพูดถึงเรื่องเพศในงานวรรณกรรมก็ถูกตัดออกไป แสดงให้เห็นการแบ่งแยกความเป็นชนชั้นนำกับราษฎร

ฉัตรรวีถามต่อในประเด็นการชำระวรรณกรรมโดยคนในศูนย์กลาง ซึ่งพูดถึงคนเหนือบ้าง คนใต้บ้าง จริงๆ ซึ่งชานันท์ให้คำตอบว่า ทำให้เห็นความหลากหลายในขอบเขตรัฐสยาม แต่ว่าเป็นความหลากหลายในแบบของความเป็นอื่น ทั้งในรูปของผี มนุษย์เงาะ กล่าวคือพวกเขาไม่ได้ถูกยอมรับในฐานะมนุษย์ด้วยกัน แต่ถูกนำเสนอในฐานะของความเป็นตัวประหลาดเป็น human zoo

เมื่อเปรียบเทียบกับ หะยีสุหลง อดีตผู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวมุสลิมภาคใต้ เน็ด เคลลี เป็นเหมือนตัวแทนภาพของคนออสเตรเลียทั้งประเทศ แต่ในประเทศไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น ชานันท์ตอบว่า กรณีหะยีสุหลง ซึ่งในอีกแง่แล้วคือฮีโร่ของคนปัตตานี ได้นำความรู้ที่เขาไปศึกษามาเผยแพร่ในสามจังหวัดชายแดนในช่วงเวลาที่ความเป็นศาสนายังไม่เข้มแข็ง

“แต่นอกจากนั้นเขายังมีความรู้ด้วย ดังนั้นเมื่อชาวบ้านมีข้อพิพาทกับภาครัฐ ชาวบ้านก็จะเข้ามาพึ่งพานายหะยีสุหลง ซึ่งทำให้เขาเป็นคนที่มีอิทธิพล ต่อมาเมื่อมีการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลโดย เผ่า ศรียานนท์ ก็เป็นเหตุที่ทำให้เขาถูกอุ้มฆ่า อย่างไรก็ตาม เขาก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของฮีโร่ที่ไม่ได้ไปปล้นฆ่า แต่ใช้ความรู้ความสามารถในการช่วยเหลือคน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องถูกอำนาจรัฐเข้ามาจัดการอยู่ดี”

วรรณกรรม

ไม่มีโจรที่สมบูรณ์แบบนอกสายตารัฐ

จากสาเหตุนั้น จึงเป็นที่มาของเสียงปืนที่ได้ยินอยู่แทบตลอดในงานจัดแสดง รวมถึงลวดหนามที่รายล้อมพวกเราอยู่ ฉัตรรวีจึงถามไปยังตัวศิลปินอีกครั้งเพื่อให้บอกเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่รัฐเข้ามาจัดการกับคนที่กระด้างกระเดื่อง

คธาตอบบนพื้นฐานความเชื่อว่า เราได้เห็นจากประวัติศาสตร์หลายๆ ส่วนแล้วว่า คำว่าโจรมีมิติ เพราะมันไม่มี ‘absolute โจร’ หรือกระทั่งว่าใครที่เรียกเขาว่าโจร

“ผมอยากให้มองว่า มันมีความซับซ้อนและมิติหลายมิติ ซึ่งรัฐจะมองง่ายๆ แค่ว่าฆ่าหรือปล่อยไว้ แต่จริงๆ แล้วมันมีความหลากหลาย

ในส่วนของรัฐ เอาเข้าจริงๆ แล้ว อะไรที่แตกต่างเขาก็พยายามจัดการ คือเขาพยายามหาคนผิดตลอดเวลา ซึ่งมันอาจจะเป็นธรรมชาติของเขา แต่ถามว่ามันเป็นธรรมชาติของเขาจริงๆ หรือเปล่า เมื่อจริงๆ แล้วภาพใหญ่ของรัฐมันก็คือมาจากตัวเรา

ผมคิดว่าทุกคนดูข่าวกลุ่มก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ทำไมเขาถึงฆ่าคนบริสุทธิ์ แต่อีกมุมหนึ่งคือระเบิดที่ลงบ้านเขา มันก็คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพวกคุณ เงินภาษีพวกคุณ และพวกคุณก็ไม่พูดอะไรเลย ทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป”

ขณะที่ภาณุเสริมในเรื่องโจรไว้ว่า ถ้าเรายกวัฒนธรรมร่วมสมัยหรือดูพวกหนังคาวบอยต่างๆ ภาพของโจรยุคก่อนหน้านี้จะเป็นอินเดียนเสมอในหนังคาวบอยตะวันตก ทั้งที่จริงเขาคือชนพื้นเมืองของทวีปอเมริกาก่อนคนผิวขาวจะเข้าไปบุกยึดเป็นอาณานิคม ที่ตลกคือ ผู้ที่เข้าไปยึดก็อ้างสิทธิ์ในการสร้างความเจริญ เข้าไปปกครองคนเหล่านั้นแทน

“ซึ่งมันก็เชื่อมโยงกับงานลวดหนามนี่แหละ เพราะลวดหนามเป็นวัตถุอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือที่คนผิวขาวหรือเจ้าอาณานิคมใช้ในการแบ่งพื้นที่ อ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของ ชนพื้นเมืองของอเมริกาก็จะเลี่ยงพื้นที่ลวดหนามเหล่านี้ ฉะนั้นลวดหนามก็เป็นอุปกรณ์ในการสร้างชาติของอเมริกาเช่นกันกับที่เราใช้วรรณกรรมสร้างชาติ เป็นอุปกรณ์ในการแบ่งแยกดินแดนไม่ให้คนพื้นเมืองมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ส่วนลวดหนามแบบนี้เรียกว่าลวดหนามหีบเพลง ซึ่งติดตั้งง่ายมาก เวลาที่รัฐต้องการกั้นเขตล้อมพื้นที่ ลวดหนามนี้มันใช้เวลาสั้นๆ ซึ่งถูกใช้ในการสลายการชุมนุมกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง”

คธากล่าวว่า

เราอาจเคยได้ยินคำแซวเล่นๆ ว่า ‘กองทัพไทยไม่ได้รบกับใคร แต่รบกับประชาชน’ จริงๆ ในเชิงอุดมการณ์แบบรัฐชาติก็ทำให้ได้มาซึ่งเขตแดนด้วย ลวดหนามจึงเป็นรูปธรรมของการมีเขตแดน คือมันถูกใช้กับสงครามภายในมากกว่าสงครามภายนอก

กลับมาสู่ประเด็นในส่วนของวรรณกรรม ฉัตรรวีต่อคำถามไปยังชานันท์ว่า เราพบลักษณะของการกันคนออกไปในงานวรรณกรรมบ้างหรือไม่

“คือตอนแรกเราเห็นลวดหนามเรารู้สึกว่ามันไม่ใช่กำแพงธรรมดา แต่มันมีการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายอยู่ในตัว คือ วรรณกรรมยุคสร้างชาติ โดยเริ่มจากคำว่าสร้างชาติเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยกเลิกสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและเปลี่ยนชื่อจากสยามเป็นไทย ช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงเวลาในการสร้างชาติ มันจึงจำเป็นต้องมีวรรณกรรมและการชำระวรรณกรรมเพื่อให้ประเทศมีความทันสมัยมากขึ้น

“ย้อนกลับไปหลังกลุ่มกบฏบวรเดช เมื่อกลุ่มคณะเจ้าต้องการทำสงครามกับกลุ่มคณะราษฎรอีกครั้งหนึ่งเพื่อกุมอำนาจ หลังกลุ่มนี้พ่ายแพ้ ก็มีหนังสือเทิดทูนรัฐธรรมนูญ 2476 มีวรรณกรรม มีบทละครต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องสละชีพเพื่อชาติ เป็นการปลุกใจให้เรารักชาติ หวงแหนรัฐธรรมนูญ ตัวละครเองก็น่าสนใจ เพราะมีเสือป่า เสือป่าจะเป็นตัวละครที่ปกป้องชาติเพื่อประชาชน ก็จะมีการเปลี่ยนผ่านอุดมการณ์ทางการเมืองว่าด้วยชาติเหมือนกัน เพราะเดิมเสือป่าจะต่อสู้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์”

เมื่ออยู่ในวรรณกรรมยุคสร้างชาติหลัง 2475 ชานันท์อธิบายต่อว่า ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเขียนเพื่อให้อ่านออกเสียงง่ายขึ้นสำหรับคนไม่รู้หนังสือ แต่เกิดข้อขัดแย้งในกลุ่มชนชั้นสูงที่ต้องมาเรียนรู้วิธีการเขียนหนังสือใหม่ จึงเหมือนเป็นการช่วงชิงการเข้าถึงการอ่านออกเขียนได้ด้วย นำไปสู่การก่อตั้งวรรณคดีสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้นมาในปี 2485 ซึ่งวรรณคดีสมาคมต้องการเผยแพร่วิธีการอ่านออกเขียนได้แบบใหม่ มีการวิจารณ์วรรณกรรม ทำให้คนเริ่มสนใจงานเขียนมากขึ้น

ภาณุเสริมต่อว่า “ถ้าเราอ่านหนังสือของ เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (ชุมชนจินตกรรม) มันไม่ได้มีมาแต่เดิม มันเป็นผลผลิตของรัฐชาติเสมอ ผ่านการสร้างจินตนาการให้กับคน อยู่ในชุมชนเดียวกัน ให้เขารู้สึกว่าเราต้องอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งแต่เดิมเราเป็นชุมชนที่อยู่อย่างเป็นเอกเทศ เมื่อต้องการรวมศูนย์ อำนาจ ความรุนแรงจึงเป็นเครื่องมือที่เห็นผลที่ดีสุด ฉะนั้นความหลากหลายจึงควบคุมยาก และไม่ถูกใช้ เช่น การบังคับให้คนล้านนาไม่พูดภาษาถิ่น ซึ่งคนเหล่านี้ก็จะถูกละความเป็นตัวตนลง ลดความเป็นเอกภาพและปัจเจกลง”

วรรณกรรม

สำนึกของตัวตน

ฉัตรรวีตั้งข้อสังเกตว่าทั้งที่จริงบนโลกนี้ ถ้าดูจากจำนวนเป็นหลัก ชนกลุ่มน้อยหรือชนพื้นเมืองมีมากกว่าชนชั้นสูง ทำไมไม่เคยมีการต่อสู้ที่ประชาชนคนธรรมดาประสบชัยชนะ ซึ่งคธาตอบว่า อยากให้มองในระนาบเดียวกันก่อน ซึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญคือสำนึกความเป็นปัจเจก สำนึกของการมีตัวตน

“ถามว่าทำไมคนชนชั้นนำถึงชนะเสมอ เพราะว่าเขามีสำนึกของการมีตัวตน แต่ว่าคนทั่วไปไม่มีสำนึกนั้น คุณเป็นแค่ subject คุณไม่ได้เป็น someone ด้วยซ้ำ คุณแค่เป็นแรงงาน แค่ทำงานทั่วไปตามชนชั้นที่คุณอยู่ เมื่อไรก็ตามที่คุณเริ่มมีสำนึกของตัวตน ผมคิดว่าในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มันมีลักษณะที่แผ่ลงล่างมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับคนทั่วไปเริ่มมีสำนึกตัวตนของตัวเอง มันไปพร้อมๆ กัน แต่ตราบเท่าที่คุณยังฟังคำสั่งจากเบื้องบนแล้วก้มหน้าก้มตาทำตามไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าอย่าพูดเรื่องแพ้หรือชนะ เพราะคุณไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ไหน”

ไม่เพียงแต่ประเด็นเรื่องการสำนึกตัวตน ในส่วนขององค์ความรู้ที่รัฐสยามพยายามทำให้คนเข้าถึงมากขึ้นผ่านสมาคมวรรณคดีเกิดขึ้นอย่างเป็นผลสำเร็จเพียงไร ชานันท์ให้คำตอบว่า ไม่สำเร็จ

“แต่พูดถึงทำไมประชาชนถึงเป็น passive ให้กับรัฐ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรานิยามความเป็นประชาชนอย่างไรด้วย เช่น ผ่านการเลือกตั้ง แต่ประวัติศาสตร์ของประเทศเราไม่ได้มีการเลือกตั้งบ่อยนัก ทั้งยังมีความเป็นรัฐทหาร ที่ในยุคนั้นถือเป็นกลุ่มคนหัวสมัยใหม่และมีความฉลาด นำไปสู่กบฏ 132 หลังจากนั้นการเรียนในสถาบันทหารจึงถูกลดความฉลาดลงมา ทำให้เห็นว่าทหารที่เติบโตมาในอาณาจักรไทยอาจจะไม่ได้รับใช้ประชาชนเสียทีเดียว ซึ่งถ้ามองจากงานศิลปะครั้งนี้ก็จะรู้สึก passive กว่า เพราะถูกวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ทำให้เป็นชายขอบ และรัฐกับประชาชนไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันที่ไม่ได้รองรับความหลากหลาย”

ฉัตรรวีถามต่อว่า การที่รัฐหรือผู้ถืออุดมการณ์เดียวกับรัฐมอบรางวัลให้กับคนใดคนหนึ่ง คือความหวังดีหรือเปล่า

“อันนี้เราจะพูดถึงเรื่องศิลปินแห่งชาติหรือครับ?” ภาณุย้อนถามพลางหัวเราะ ก่อนจะกล่าวต่อว่า “คือศิลปินแห่งชาติมันจะต้องมีความเชื่อมโยงกับความเป็นชาติมากกว่าความสามารถ ไม่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ ไม่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับภาครัฐ แต่ก็มีบางคนที่วิพากษ์วิจารณ์ภาครัฐ อย่างเช่น เสนีย์ เสาวพงศ์ มันคือการให้รางวัลในการเชิดชูและชุบเลี้ยงด้วย คือเขาจะได้เงินประจำตำแหน่งต่อเดือน เพื่อให้ศิลปินเหล่านี้ทำงานต่อไปได้โดยไม่อดตาย ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ได้เบี้ยเลี้ยงจากภาครัฐจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เต็มปากเต็มคำหรือเปล่า?”

กลับมาสู่ศิลปิน หัวใจของงานบนความหมายของคำว่าศิลปะเพื่อชีวิต โดยฉัตรรวีถามไปยังภาณุว่า เราจำเป็นต้องทำศิลปะเพื่อชีวิตหรือเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง?

“ผมคิดว่าศิลปะมันดำเนินมาตั้งแต่การรับใช้พระเจ้า จนมารับใช้ตัวเราเอง หรือสังคมก็ได้ ผมคิดว่าเราอยู่ในยุคที่เปิดทีเดียว มันมีเสน่ห์ในเชิงของภาษา เช่นในการพูดด้วยภาษาของศิลปะ มองในแง่ positive เราสามารถพูดเรื่องหนักๆ ได้อย่างน่าฟังผ่านสุนทรียะของศิลปะ อีกด้านหนึ่งมันตั้งคำถาม โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัย มันเป็นคำถามปลายเปิดที่ให้เสรีภาพ และมันคือสำนึกของความเป็นตัวตนของปัจเจกที่สำคัญ เมื่อมีเสรีภาพ คุณมีสิทธิที่จะตัดสินใจ

แต่ผมก็อยากเห็นว่าคุณได้ไตร่ตรองตัวเลือกนั้นแล้วจริงๆ แน่นอนศิลปินมีเจตจำนง มีวิธีการใช้สัญญะ แล้วมันก็มีความเสี่ยง การจัดงานนี้ การขึงลวดหนามเหล่านี้มันก็มีความเสี่ยง แต่ผมก็เสี่ยงมาได้จนสุดท้าย อีกหนึ่งชั่วโมงงานจะปิดก็ยังไม่เห็นใครเป็นอะไร ถูกหิ้วปีกหรือเลือดตกยางออก

ภาณุยังกล่าวต่อว่า หากพูดถึงกายภาพของความรุนแรง มันจะคล้ายๆ กับงานของ คริส เบอร์เดน แต่มีความเชื่อมโยงกับนามธรรม งานหนึ่งที่โด่งดังมากคือ ‘Shoot’ เบอร์เดนยืนอยู่ในหอศิลป์และให้เพื่อนยิงเขาในหอศิลป์ ยิงแขนโดยมีคนยืนดู เขาบอกว่าเขาทำงานชิ้นนี้มาเพื่อจะให้คนสัมผัสกับความรุนแรงแบบจะๆ เพราะคนอเมริกันคุ้นชินกับความรุนแรงมากเกินไปจากวัฒนธรรมร่วมสมัย จนทำให้การส่งลูกหลานไปร่วมสงครามเวียดนามเป็นเรื่องปกติ จนไม่รู้สึกว่ามันเป็นความรุนแรง เขาจึงทำงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม

“มันเป็นความรุนแรงที่เปล่าประโยชน์ และเราคุ้นชินกับมันเกินไปแล้ว นอกจากนี้เขายังเคยใช้ลวดหนามพันตัวด้วย”

วรรณกรรม

ชินชาในความรุนแรง

เสียงปืนที่ยังดังอยู่ต่อเนื่องในงานเหมือนจะตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยผ่านรูปแบบของภาพยนตร์ หนังสือ เพลงต่างๆ โดยไม่เพียงแต่เกิดที่อเมริกา ซึ่งฉัตรรวียังมองกลับมาประเทศไทยเพื่อตั้งคำถามว่าคนไทยชาชินหรือคุ้นชินกับความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน?

โดยภาณุให้คำตอบว่า ส่วนตัวคงตอบแทนคนไทยไม่ได้ แต่คิดว่าคนไทยรับได้ระดับหนึ่งทีเดียว เช่น การขับรถ เราไม่ได้แคร์ว่าเราจะชนใครสักเท่าไร และเราเองก็รัฐประหารหลายครั้ง แต่มิติของคนไทยเราก็ไม่ได้ร่วมรบกับสงครามโลกหรือสงครามครั้งใหญ่จริงๆ

“ตรงนั้นทำให้เราประนีประนอมกับหลายๆ สิ่ง จนทำให้เราไม่ค่อยจริงจัง เพราะเราก็ยังรอดมาได้ตลอด แต่โดยส่วนตัวผมว่าเราขาดความจริงจัง”

นอกจากนี้ภาณุยังบอกกล่าวต่อว่า คนไทยไม่ค่อยรู้สึก ไม่มีประสบการณ์โดยตรง เราชาชินกับความรุนแรงที่ไม่ใช่ของเรา ตราบที่เราไม่ได้เผชิญหน้ามันตรงๆ ขณะเดียวกันคนที่คุ้นชินความรุนแรงในเฟซบุ๊คเวลาที่อีกฝ่ายโดนระเบิด เราสามารถสะใจกับความตายเหล่านั้นได้โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตราบใดที่เขาอยู่ห่างจากเรา แต่วันใดที่เราหรือคนรอบข้างเราโดน เราจะรู้เองว่าเราไม่มีทางคุ้นชิน

กระชับพื้นที่ศิลปะ

ด้วยประเด็นที่คาบเกี่ยวต่อความเป็นอื่น ฉัตรรวีมองว่านับจากการล้อมปราบในเดือนพฤษภาคม 2553 ตนเองก็แทบไม่ได้รู้สึกว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือใกล้ตัว กระทั่งได้ไปดูละครเวที จึงนำมาสู่คำถามในแง่ที่ว่า ทั้งศิลปะและวรรณกรรมมีส่วนฉายภาพความรุนแรงที่เคยถูกมองว่า ‘ไม่ใช่เรื่องของเรา’ ให้คมชัดขึ้นไหม?

คธาให้คำตอบว่า “ผมคิดว่าสิ่งแรกเลยคือ ทำให้เราคิดมากขึ้น ไตร่ตรองมากขึ้น ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคืออะไรกันแน่ มันทำให้เรามีความคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น มันทำให้เรามีตัวตน ผมว่าตรงนั้นจะเป็นแรงผลักดันต่อไป”

ด้านวรรณกรรม ชานันท์กล่าวว่า “ถ้าวรรณกรรมที่เป็นนวนิยาย มันก็เป็นเหมือนตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่าเราควรตีความแบบไหน มันฉายให้เห็นภาพหลายๆ เรื่องกระจัดกระจายกันออกไป เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปะแล้ว ถ้าเป็นพวกบทความหรือวรรณคดีจะสื่อสารโดยตรงกับผู้อ่าน แต่ถ้าเป็นนิยายหรืองานศิลปะมันไม่เพียงสื่อสารกับเรา แต่กระตุ้นให้เราสื่อสารกับตัวเอง บางครั้งพวกงานศิลปะหรืองานละคร การแสดง บางครั้งมันถูกแทรกแซงปราบปรามน้อยกว่างานวรรณกรรมที่เป็น text เป็นลายลักษณ์อักษร”

สุดท้ายภาณุยกตัวอย่างกรณีประเทศที่มีความอนุรักษนิยมสูงมากๆ รวมถึงเผด็จการเบ็ดเสร็จทั้งในอิหร่านและจีน ที่มีการคัดกรองสูงมาก

“แต่ว่าศิลปินหรือผู้กำกับหลายคนจะมีวิธีการเล่าเรื่องที่ซ่อนสารในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐโดยที่รัฐไม่รู้ว่ากำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ด้วยซ้ำ คิดว่าถูกชมอยู่ หรือ จางอี้โหม่ว (ผู้กำกับภาพยนตร์) คือการวิพากษ์วิจารณ์รัฐโดยที่รัฐเข้าใจตัวเองกำลังถูกชื่นชมอยู่ ก็คือยิ่งสังคมมีความคับแคบ กดดันศิลปินในการแสดงออกหรือนำเสนอมากขึ้นเท่าไร ศิลปินก็จะยิ่งมีความคมคายมากขึ้นเท่านั้น”

งานเสวนาจบลงด้วยเสียงฝนหลังสิ้นเสียงปืน รวมถึงคำถามที่ได้แต่ถูกทิ้งไว้ท่ามกลางลวดหนามเหล่านั้น อาจเป็นเพราะว่าเอาเข้าจริงผู้จะตอบคำถามเหล่านั้นตลอดทั้งงานเสวนาได้ดีที่สุด คือผู้คนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐข้างนอกนั่น

ประชาชนที่ถูกลืมเลือนไปเมื่อสายฝนชะล้างให้เหลือเพียงความว่างเปล่า และลวดหนามที่รายล้อมเราอยู่ แม้มองไม่เห็นก็ตามที

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า