เมื่อต้องแบกรับความคาดหวังกับคำถามที่ทิ่มแทงใจ ‘วันครอบครัว’ จึงไม่ใช่วันแห่งความสุขสำหรับทุกคน

วันหยุดที่แสนเรียบง่าย แต่ใครบางคนอาจต้องสาละวนอยู่กับการซักผ้าผ่อนกองพะเนิน เพราะไม่ได้จัดการมาเกือบๆ 2 สัปดาห์ เดาได้ไม่ยากว่าเจ้าของพวกมันอาจไม่มีเวลา หรือไม่ก็คงเหนื่อยล้าจนไร้เรี่ยวแรงเอามากๆ และก็อาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นทั้งสองสิ่งพร้อมกัน บ่ายวันอาทิตย์จึงเป็นวันที่ต้องซักและตากผ้าวนไป ก่อนแสงจ้าที่สาดส่อง UV ทั้งวันจะหมดลง และเพื่อให้ทันเวลาที่นัดแนะทานอาหารกับเพื่อนสนิท

“จะกินอะไร” เขาถามขึ้นหลังจากที่เราเอาตัวเองเข้ามานั่งในรถยนต์ที่คนขับตรงดิ่งมารับถึงบ้าน 

“อะไรก็ได้” เราตอบ 

“อะไรก็ได้หมดค่ะ ไม่มีให้กินแล้วค่ะ” เพื่อนตอบกลับทันควันด้วยน้ำเสียงประชดประชัน

“งั้นปิ้งย่าง” 

สิ้นเสียงที่เราตอบ ‘ฮู’ หัวเราะเบาๆ อาจเพราะรู้อยู่แล้วว่ามันก็จะจบลงแบบนี้ แบบที่ไม่ปิ้งย่างก็หมูกระทะทุกครั้งที่เราเจอหน้ากัน ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มความเร็วรถโดยมีจุดหมายคือร้านปิ้งย่างเจ้าประจำที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากบ้านของเราทั้งคู่

เราเดินทางมาถึงร้านปิ้งย่าง จัดแจงสั่งอาหารและเครื่องดื่มกันเสร็จสรรพ เมื่ออาหารมาเสิร์ฟ พนักงานวางเตา หมูสามชั้นหมักซอสฉ่ำๆ ก็ถูกวางลงไปบนตะแกรงปิ้งย่างทันที 

“กูไม่อยากไปสุพรรณฯ” ฮูพูดขึ้นขณะที่เรากำลังย่างหมูสามชั้น ซึ่งเพื่อนสนิทคนนี้มักมีท่าทีอย่างนี้เสมอเมื่อใกล้ถึงช่วงเทศกาลสำคัญๆ ไม่ว่าจะปีใหม่หรือสงกรานต์ วันหยุดยาวที่ใครต่างก็เรียกว่าเป็นวันรวมญาติ

บาดแผลในวันครอบครัว

ในประเทศไทย ‘วันครอบครัว’ คือวันที่ 14 เมษายนของทุกปี ผู้คนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ เพื่อพบปะญาติมิตร และใช้เวลาสังสรรค์ร่วมกัน วันครอบครัวกำหนดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2532 ในสมัย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในครอบครัว 

แม้ปัจจุบันโครงสร้างครอบครัวไทยจะเปลี่ยนแปลงเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงรักษาธรรมเนียมประเพณีที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวอยู่เสมอ

แต่คงไม่ใช่สำหรับทุกคน…

ใครบางคนเคยพูดไว้ว่าวันครอบครัวอาจไม่ใช่วันแห่งความสุขของทุกคนเสมอไป เห็นทีจะไม่ใช่เรื่องโกหก เพราะอย่างน้อยคนที่นั่งตรงข้ามกันคือหนึ่งคนที่ได้แผลใจจากการกลับไปพบปะญาติพี่น้องในช่วงวันหยุดเทศกาลมาโดยตลอด 

ฮูเล่าว่าด้วยความที่ตัวเองไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของพ่อที่เลี้ยงดูเขามาจนโต การกลับไปเผชิญหน้ากับปู่ย่าตายายที่บ้านเกิดของพ่อจึงเป็นเรื่องยากมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งยังถูกเลือกปฏิบัติจากย่าจนเห็นได้ชัดระหว่างตัวเองกับน้องชายต่างพ่อ ซึ่งเป็นหลานแท้ๆ ของย่า “ไม่ได้อิจฉาน้อง ก็แค่ไม่รู้จะกลับไปทำไม เพราะโดนมาตั้งแต่เด็ก”

อีกเรื่องที่ทำให้มนุษย์วัย 20 ต้นต้องคิดหนัก คือการกลับบ้านในวันรวมญาติแล้วเจอคำถามที่ชวนอึดอัดใจ เต็มไปด้วยความคาดหวัง แฝงแรงกดดันมหาศาล เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ฮูก็บอกเลยทันทีว่า 

“ก่อนหน้านี้จะโดนถามตลอดว่าเรียนจบหรือยัง รีบเรียนให้จบจะได้หางานทำ เอาเงินมาส่งน้องต่อ ส่วนตอนนี้พอรู้ว่าเรียนจบแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นถามว่าเมื่อไหร่จะส่งน้อง ทั้งๆ ที่กูเพิ่งจะทำงานได้ไม่ถึงปีเลย” เพื่อนสนิทเล่าด้วยอารมณ์อัดอั้น

วงปิ้งย่างในวันนั้นกลายเป็นพื้นที่ให้ฮูได้ระบายความรู้สึกภายในใจที่ตัวเขาเองไม่สามารถพูดสิ่งเหล่านี้ให้ครอบครัวเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาถึงหลีกเลี่ยงการไปพบเจอกับญาติที่จังหวัดสุพรรณบุรี การถูกเลือกปฎิบัติอย่างโจ่งแจ้ง การถูกตั้งคำถามชวนอึดอัดมันทิ่มแทงและกดดันเขามาเสมอ 

ยิ่งไปกว่านั้นเขาไม่กล้าแม้แต่จะถามคนเป็นแม่และพ่อเลี้ยงที่เขารักมากด้วยซ้ำ ว่ารับรู้หรือไม่ถึงสิ่งที่เขาต้องเจอทุกครั้งที่รวมญาติ ไม่ว่าจะปีใหม่หรือสงกรานต์ที่ทำให้เขาช้ำใจมาโดยตลอด 

“จริงๆ ก็อยากจะตอบโต้บ้างแหละ แต่ยั้งปากทัน เพราะไม่อยากให้เสียบรรยากาศ” ฮูตอบคำถามของเราที่แกมหยอกไปว่า ไม่เคยคิดอยากจะวีนกลับให้วงแตกบ้างหรือ

เราจบบทสทนาเรื่องวันครอบครัวของฮูไว้เพียงเท่านี้ เพราะเจ้าตัวบอกว่า “กินก่อน สามชั้นมันจะนอยด์กว่ากูแล้ว ไม่กินมันสักที”

หลีกลี้ความคาดหวังในวันครอบครัว

หลังจากพูดคุยกับฮูเรื่องวันครอบครัว ทำให้ฉุกคิดถึงเพื่อนที่เคยแชร์หอพักสมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันคนหนึ่ง ผู้ตัดสินใจปลีกวิเวกไปอยู่เชียงใหม่หลังเรียนจบทันที 

คนที่รู้จักมักคุ้นกันคงไม่แปลกใจเท่าไรนักกับการตัดสินใจลักษณะนี้ เพราะเพื่อนๆ คงคาดเดาได้จากที่มันเองชอบพูดตลอดว่า “เรียนจบกูก็จะไม่กลับบ้าน จะไปใช้ชีวิต” 

ไม่มีใครตั้งคำถาม เพราะพอจะรู้เบื้องหลังที่ไม่น่าอภิรมย์ของเพื่อนคนนี้อยู่บ้าง ส่วนคนที่ไม่เคยรับรู้ก็สัมผัสได้บ้างจากการที่ตัวมันเองไม่กลับบ้านมาตลอด 3 ปี

เย็นวันถัดมาจึงตัดสินใจต่อสายถึง ‘กมล’ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบและพูดคุยกันเรื่อยเปื่อยตามประสาคนที่ไม่ได้พบปะเจอหน้ากันเป็นปีๆ 

กว่า 2 ชั่วโมงไม่มีช่วงเดดแอร์ กระทั่งถูกถามว่าสงกรานต์มีแพลนจะกลับบ้านไหม มีช่วงสั้นๆ ที่เพื่อนสาวช่างเจื้อยแจ้วเงียบไปและตอบกลับมาว่า 

“ญาติกูเขาไม่ได้คาดหวังให้กลับหรอก” กมลเอ่ยด้วยเสียงปนหัวเราะ แล้วเล่าต่อว่าความสัมพันธ์กับทางบ้านดีขึ้นมากแล้ว มีแวะเวียนกลับไปเยี่ยมพ่อแม่ที่กรุงเทพฯ บ้าง แต่ก็ไม่เคยได้นอนค้างเลย

“สงกรานต์นี้พ่อกับแม่ก็ชวนกลับไปเยี่ยมญาติที่อุบลฯ” กมลพูดต่อถึงเรื่องที่ใครต่างก็เดาได้ว่า วัยรุ่นอายุเท่านี้ต้องเจอกับคำถามอะไรบ้างหากพ่อแม่จะพากลับไปเจอกับญาติๆ 

“พ่อแม่ก็ถามว่าทำงานอะไร เจอญาติ ญาติก็ถามเหมือนกัน สมมติเขาโทรมาถามก็ยังพอพูดปัดๆ ไปได้ แต่ถ้าต้องไปเผชิญหน้ากันจะโดนจี้หนักมาก พอคนหนึ่งถาม อีกคนก็เข้ามาถามต่อ ความรู้สึกมันเหมือนโดนรุมอะ มึงเข้าใจใช่ปะ”

“เข้าใจดีเลยล่ะ” เราสำทับกลับไป ปลายสายจึงพูดต่อ 

“การที่เรียนจบมาแล้วไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งมันก็เครียดพออยู่แล้ว พอยิ่งโดนถามย้ำๆ ซ้ำๆ มันเหมือนยิ่งทำให้คิดกับตัวเองว่า หรือกูมันห่วยแตกวะ” ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยแพสชันคนนี้รู้ตัวเองดีว่ามีเงื่อนไขในชีวิตที่ต้องจัดการ ถึงได้ตัดสินใจทำงานรับจ็อบทุกอย่างที่ทำได้ สลับกับการออกค่ายและหาโอกาสร่วมงานกับ NGO ที่ผลักดันเรื่องเด็กและเยาวชนที่เชียงใหม่อยู่เสมอ เพราะเป็นสิ่งที่กมลมุ่งมั่นอยากจะทำมาตั้งแต่ใกล้เรียนจบ

“ทุกวันนี้ไม่มีงานประจำทำ รับจ็อบไปเรื่อย บางทีก็ทำงานไม่ได้เงิน แต่มันหล่อเลี้ยงใจตัวเอง กูอาจจะวิ่งตามเพื่อนไม่ทัน หรือมองไม่ออกว่าความมั่นคงในชีวิตคืออะไร วันข้างหน้าไม่รู้จะคิดยังไง แต่ ณ เวลานี้กูโอเคกับตัวเอง แต่สำหรับญาติๆ พอเขาพูดถึงเรื่องนี้มันดูเป็นเรื่องใหญ่มาก มันเหมือนกูต้องจบชีวิตแล้ว ต้องตายแล้วแน่ๆ” 

แม้กมลจะหัวเราะออกมาสุดเสียง แต่คนฟังปลายสายรับรู้ได้ว่ามันเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับเธอ เพราะคำพูดถัดมาบอกว่ามุมมองของบรรดาญาติๆ ทำให้กมลรับรู้ได้ว่าตัวเองดูแย่มาก หนำซ้ำยังต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น 

“กูสรุปกับตัวเองได้แล้วว่าจะเลือกเดินทางนี้ แต่พอกูโดนถามซ้ำ โดนคาดหวัง มันก็วนกลับมาคิดใหม่อยู่ดี” 

เพื่อนคนนี้บอกกับเราชัดเจนว่า เหนื่อยที่จะตั้งคำถามกับตัวเองทุกครั้งหลังจากไปเจอญาติๆ ในวันที่คนอื่นเรียกกันว่าวันครอบครัว

กมลสรุปให้ว่า “ถ้าไม่ไปเจอพวกเขา เราก็ไม่ต้องเจอคำถาม” 

โดยไม่ลืมเน้นย้ำว่าเป็นวิธีปกป้องตัวเองที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้จากการที่คนอื่นทำให้เราคิดมากและคิดไม่ดีกับตัวเอง จากนั้นเพื่อนคนนี้พูดด้วยน้ำเสียงปกติ แต่เปี่ยมไปด้วยความคิดที่หนักแน่น เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของตัวเองว่า ท้ายที่สุดแล้วกมลมั่นใจว่ามันไม่ใช่การหนีปัญหา แต่มันคือการให้ความชัดเจนกับตัวเองว่าจะไม่ยอมไปรับความ toxic นั้นกลับมา

การที่คนในสังคมให้ความสำคัญกับการพบปะและมอบความสุขให้กันในวันครอบครัวคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนัก 

และคงไม่ใช่เรื่องแปลกเช่นเดียวกันหากมีใครสักคนที่ไม่เคยมีความสุขกับวันครอบครัว แล้วเลือกที่จะปกป้องหัวใจตัวเองโดยการที่ไม่ต้องพาตัวเองไปแบกความคาดหวังของคนอื่นกลับมากดดันตัวเอง และพวกเขาก็หวังเพียงให้การตัดสินใจแบบนี้จะถูกมองเป็นเรื่องธรรมดาเสียที

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า