ภาพลักษณ์ที่ดีตลอดมาของน้ำส้มคือ เครื่องดื่มจากธรรมชาติ ดับกระหาย ให้ความสดชื่น อุดมไปด้วยวิตามินและคุณค่าต่างๆ และเป็นน้ำผลไม้ที่ขาดไม่ได้ในอาหารมื้อเช้า
แต่ข้อมูลจาก The Wall Street Journal และ Florida Department of Citrus เผยว่า น้ำนางเอกแก้วนี้กำลังเผชิญปัญหายอดขายต่ำสุดในรอบ 15 ปี เพราะมีเครื่องดื่มหน้าใหม่ๆ อย่างน้ำผลไม้ต่างประเทศ และ เครื่องดื่มให้พลังงาน (energy drinks) เข้ามาแย่งตลาด ขณะเดียวกัน ฉลาก “ธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์” ก็กำลังถูกตั้งคำถามและสังคมเริ่มตรวจสอบอย่างจริงจัง
ในประวัติศาสตร์อเมริกัน ครั้งหนึ่งน้ำส้มเคยเป็นสัญลักษณ์ของยาอายุวัฒนะที่อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายน้ำส้มได้โหนผลประโยชน์จากตรงนี้ ยิ่งไปกว่านั้นนิทานสุขภาพของน้ำส้มที่ผ่านๆ มาก็ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากนักโภชนาการ ผู้ผลิต นักการตลาด และรัฐบาล ที่รวมพลังกันให้เครดิตเจ้าน้ำสีส้มนี้ว่าสามารถรักษาได้ทุกโรค ตั้งแต่ลักปิดลักเปิด(เลือดออกตามไรฟัน) ไปจนถึงโรคซึมเศร้า กระทั่งสภาวะเลือดเป็นกรด น้ำส้มมหัศจรรย์ก็ยังช่วยให้ทุเลาได้
แต่หลังจากนั้นไม่นานน้ำส้มก็ค่อยๆ หายไปจากมื้อเช้าชาวอเมริกันบ่อยนัก ด้วยราคาที่แพงและรสชาติที่ไม่อร่อยสมชื่อ
น้ำมหัศจรรย์
ช่วงทศวรรษ 1920 เวลานั้น ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กินส้มมากกว่าดื่มน้ำส้ม กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มหลักของมื้อเช้า แต่การบริโภคส้มในรูปแบบต่างๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะเครื่องดื่มลดน้ำหนักเพื่อสุขภาพ เพราะ แรงโหมของนักโฆษณาและความพยามยามของนักชีวเคมีชื่อ เอลเมอร์ แมคคอลลัม
ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง Fear of Food: A History of Why We Worry about What We Eat โดย ฮาร์วีย์ เลเวนสไตน์ เผยว่า ตอนนั้น แมคคอลลัมกลายเป็นนักโภชนาการแห่งชาติ (อย่างไม่เป็นทางการ) เมื่อเขาพยายามโปรโมทคุณสมบัติด้านการยืดอายุขัยและฟื้นฟูประสิทธิภาพร่างกายของวิตามิน รวมทั้งการออกมาชี้ให้เห็นอันตรายถึงชีวิตอันเนื่องมาจากร่างกายขาดวิตามิน
สิ่งเหล่านี้เป็นการเปิดโอกาสทองทางการตลาดให้แก่บรรดาผู้ผลิต โดยเฉพาะแบรนด์ Sunkist ได้สร้างแคมเปญโฆษณา “ดื่มน้ำส้มทุกวัน” เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามิน เกลือแร่หายากและกรดต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยแมคคอลลัมอ้างว่ากรดจะให้วิตามินต่างๆ
แมคคอลลัมได้จุดกระแสความตื่นกลัว ด้วยข้อมูลอันคลุมเครือของสภาวะเลือดเป็นกรด หรือ สภาวะที่กรดเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป ที่อาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าและร่างกายอ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากร่างกายขาดวิตามิน
คำแนะนำของแมคคอลลัมในตอนนั้นคือ ให้ทานผลไม้ตระกูลส้มและผักกาดหอมจำนวนมาก
ปี 1929 คู่มือป้องกันสภาวะเลือดเป็นกรด รวมถึงแคมเปญโฆษณาของแบรนด์ Sunkist ก่อให้เกิดการความเข้าใจที่บิดเบือนเรื่องสภาวะเลือดเป็นกรด ผ่านข้อความโฆษณาว่า “เอสแตล (ชื่อผู้หญิงในโฆษณาที่ไม่ได้ดื่มน้ำส้ม) ดูขาดชีวิตชีวา เธอไม่ทำตัวให้น่าสนุก ดังนั้น จึงไม่เป็นที่ดึงดูดใจสำหรับเพศตรงข้าม ….”
การรักษาด้วยวิธีง่ายๆ คือ รับประทานส้ม ไม่ว่าจะผลสดหรือน้ำ ให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ Sunkist ก็สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคที่กลัวสภาวะเลือดเป็นกรด ว่า อาการเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้ารับประทานส้มในปริมาณมาก
ปี 1934 นักวิทยาศาสตร์เริ่มเรียกสภาวะเลือดเป็นกรดว่าเป็นเพียงแฟชั่น และ อาการป่วยที่ไม่ได้มีอิทธิพลจากการดื่มหรือไม่ดื่มน้ำส้ม การตลาดน้ำส้มจึงเลิกเล่นกับความเจ็บป่วย และหันไปหาตัวเลือกใหม่อย่าง วิตามินซี
วิตามินซีพร้อมดื่ม?
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง รัฐบาลอเมริกันกหันความสนใจมาที่วิตามินซี การเดินทางของน้ำส้มไปสู่สถานะที่เหนือกว่าเครื่องดื่มมื้อเช้า จึงเริ่มต้นขึ้น
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินไปอยู่นั้น กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้กระตุ้นให้ ชาวฟลอริด้าช่วยงานสงครามทางอ้อมโดยการเร่งเพิ่มผลผลิตหลักอย่างส้ม แต่ไม่นานรัฐบาลก็เผชิญปัญหา คือ ทหารอเมริกันปฏิเสธที่จะกินลูกอมรสมะนาวผสมวิตามินซีที่ได้มาจากส้มฟลอริด้า ซึ่งรวมถึงอาหารวิตามินซีเมนูอื่นๆ ด้วย เพราะรสชาติไม่ดี รัฐบาลจึงต้องคิดวิธีปรับปรุงรสชาติเป็นการเร่งด่วน
ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลกลาง และ กรมการผลิตส้มของฟลอริด้า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้เดินทางไปพัฒนาสูตรน้ำส้มกระป๋อง ในปี 1948 หรือ 3 ปีหลังจากสงครามโลกสิ้นสุดลง
นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ใช้เวลาวิจัยและคิดค้นเกือบ 10 ปี จนได้ผลิตภัณฑ์ “เกล็ดน้ำส้มกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็งจากน้ำส้มเข้มข้น หรือ Fresh-Frozen ในกระป๋อง” และถูกยกย่องให้การค้นคว้าและนวัตกรรมอันยอดเยี่ยมของสหรัฐ เสริมทัพด้วยแคมเปญกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคส้มเพื่อรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคซึมเศร้าไปจนถึงโรคหวัดขั้นรุนแรง
การมาถึงของน้ำส้มเข้มข้นแบบ Fresh-Frozen ช่วยขยายตลาดของส้มให้กว้างขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 1949 เนื่องจาก ผู้บริโภคสามารถจ่ายน้ำส้มราคานี้ได้ รสชาติก็อร่อย และเป็นเครื่องดื่มที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ก่อให้เกิดการกระแสการบริโภคอย่างถล่มทลาย
กอปรกับช่วงเวลาหลังสงครามโลก ความฝันของชาวอเมริกัน คือ การเป็นประเทศที่สุขสงบ อยู่ได้ด้วยพรสวรรค์ของประเทศในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงานมนุษย์ อเมริกันชนได้กินของคุณภาพดีในราคาที่ถูกลงและใช้เวลาน้อยลง และ Fresh – Frozen ก็คือคำตอบ
เกล็ดน้ำส้มกึ่งสำเร็จรูปแช่แข็งจากน้ำส้มเข้มข้น หรือ Fresh – frozen ถูกยกให้เป็นเครื่องอดื่มเพื่อสุขภาพบรรจุกระป๋อง ทั้งขั้นตอนก็แสนสะดวก แค่เอาออกมาละลายข้างนอก เติมน้ำเข้าไป แล้วเขย่าให้เข้ากัน เท่านี้ก็พร้อมดื่มแล้วในเวลาไม่กี่นาที จึงเกิดยี่ห้อใหม่ๆ อย่าง Minute Maid
ในหนังสือ In Paradox of Plenty: A Social History of Eating in Modern America ของฮาร์วีย์ เลเวนสไตน์ เขียนไว้ว่า อาหารแสนสะดวกเช่นนี้กลายเป็นของเมนูจำเป็นสำหรับแม่บ้านหลังสงครามโลก สำหรับการทำให้สมาชิกในบ้านสุขภาพดีและมีความสุข
ปี 1952 บริษัท American Can โฆษณาว่าเกล็ดน้ำส้มเข้มข้นอัดกระป๋องแบบนี้ จะช่วยลดภาระงานหนักให้คุณแม่บ้านอเมริกันทั้งประเทศรวมๆ แล้ว 14,000 ปีเลยทีเดียว
ความลับในแก้วน้ำส้ม
อลิซซา แฮมิลตัน เจ้าของหนังสือชื่อ Squeezed: What You Don’t Know About Orange Juice ให้ความเห็นว่า ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วของอาหารทานสะดวกเหล่านี้มีคำถามสำคัญที่ผุดขึ้นมาว่า แล้วอาหารธรรมดาล่ะหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องผ่านกระบวนการหรือราคาสูงจนจ่ายไม่ได้ ? ที่ผ่านมาประชาชนอาจรับข้อมูลเพียงด้านเดียว โดยปราศจากการคิดวิเคราะห์หรือตั้งคำถาม
ช่วงทศวรรษ 1950 นักเคมีพัฒนาสารปรุงแต่งกว่า 400 ชนิด เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและถนอมอาหาร (เรื่องรสชาติเอาไว้ทีหลัง) ไม่ว่าจะเป็น อาหารกระป๋อง อาหารผง ผลซอสปรุงรส และ อาหารจากต่างประเทศ
ในปี 1960 องค์การอาหารและยาของสหรัฐหรือ FDA แสดงความกังวลเรื่อง การบิดเบือนคำว่า Fresh จากฉลากของน้ำส้มที่ขายกันในตลาด ซึ่งไม่เพียงแค่ห่างไกลจากคำว่าสดหรือ Fresh อยู่มาก แต่ปริมาณน้ำตาลและน้ำที่ผสมลงไปจำนวนมาก ทำให้เกิดการตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ
เกล็ดน้ำผลไม้เข้มข้นชนิดกึ่งสำเร็จรูป ยังคงเป็นหนึ่งในมื้อเช้าสำคัญ จนเข้าสู่กลางทศวรรษ 1980 เมื่อเทคโนโลยี สามารถตอบสนองความกระหายน้ำผลไม้สดได้มากยิ่งขึ้นโดยการคิดค้น น้ำผลไม้พร้อมเสิร์ฟ( Ready to Serve) ขึ้นมา
ด้วยฝีมือของนักการตลาด ภาพลักษณ์ของน้ำส้ม Ready to Serve ถูกทำให้ใกล้เคียงกับน้ำส้มคั้นสด อย่างเช่นแบรนด์ทรอปิคานา (Tropicana) ในปี 1990 ที่โฆษณาว่า “squeeze me a glass” หรือ คั้นสดลงแก้ว และ “not from concentrate” หรือผลิตจากน้ำส้มเข้มข้น จากแคมเปญอันชาญฉลาดดังกล่าวส่งผลให้ช่วงเวลานั้นน้ำส้มทำยอดขายได้ถล่มทลายชนิดไร้คู่แข่ง เพราะเป็นมากกว่าวิตามินบรรจุกระป๋อง และ Tropicana ยังมาพร้อมความสดชื่นและความเป็นน้ำส้มแท้แบบบรรจุกล่อง
ข้อมูลในหนังสือของแฮมิลตัน ยังเผยอีกว่า น้ำส้มที่ขายในท้องตลาดล้วนผ่านกระบวนการเยอะมากจนไม่สามารถดื่มได้ถ้าไม่เติมสารปรุงรสลงไป นี่เป็นเทคโนโลยีล่าสุดของอุตสาหกรรมผลิตน้ำส้มที่พยายามเลียนแบบให้เหมือนน้ำส้มคั้นสดมากที่สุด
ขั้นตอนเริ่มจาก น้ำมันและสารสกัดจากผลส้มถูกส่งขายไปให้ผู้ผลิตรสชาติต่างๆ ที่มีหน้าที่นำส่วนผสมหลายชนิดมาสร้างเป็นสารปรุงรส โดยทำตามรสชาติและทุกความต้องการของลูกค้า ทำให้น้ำผลไม้ที่บางครั้งถูกเก็บไว้นานเกินกว่า 1ปี ก็สมารถนำไปขายได้ เพียงเติมสารปรุงรสเหล่านี้เข้าไปเพื่อให้คงกลิ่นหอมและรสชาติของส้มเอาไว้
และเมื่อเร็วๆ นี้ ที่มีกรณีฟ้องร้องเป็บซี่โค (PepsiCo) บริษัทแม่ของแบรนด์ทรอปิคาน่า เรื่องฉลากที่ระบุว่า “all natural” และเพราะการเปิดเผยกรรมวิธีการผลิตบางส่วนของแฮมิลตัน
“และไม่เพียงแค่น้ำส้มเท่านั้นที่มีการเติมน้ำตาลลงไปในปริมาณมาก ต้นเหตุของโรคอ้วนและเบาหวาน” แฮมิลตันยอมรับว่า น้ำส้มชนิดดังกล่าวไม่ได้อยู่ในรายการอันดับต้นๆ ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐหรือ FDA ต่างจากรัฐบาลอังกฤษ ที่ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีจากน้ำผลไม้และเตือนผู้บริโภคว่าน้ำผลไม้เหล่านี้มีน้ำตาลในปริมาณเท่ากับโคคาโคล่า และ ควรบริโภคแต่น้อย
……………………………………………………………….
ที่มา : theatlantic.com