เตรียมปิดฉากผีไม้เรียว-ครูใจร้าย ท้าทายความเชื่อและค่านิยม ‘ไม้เรียวสร้างคนดี’

ต้อนรับฮาโลวีนด้วยการล้อมสายสิญจน์ สาดน้ำมนต์ ปาข้าวสารเสก ใส่ ‘ผีไม้เรียว’ ผีเฮี้ยนอีกตัวของสังคมไทย เมื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’ ที่เสนอโดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 แล้วในวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของ สว. ต่อไป

อาจดูขึงขังขัดกับมู้ดคึกคักวันฮาโลวีน แต่จำเป็นต้องพูดสักหน่อยว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ (Convention on the Rights of the Child: CRC) ตั้งแต่ปี 2535 มุ่งคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กทุกด้าน และมีลายลักษณ์อักษรที่ถูกบันทึกไว้ด้วยน้ำหมึกเข้มๆ อย่างชัดเจนว่า ‘รัฐภาคีจะรับรองและสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะที่ระเบียบวินัยภายในโรงเรียนต้องไม่ขัดต่อสิทธิของเด็กและปราศจากความรุนแรง’

นอกเหนือจากการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาระดับสากล ประเทศไทยยังมีกฎหมายคุ้มครองเด็กที่ระบุว่า เด็กในความปกครองต้องถูกดูแลไม่ให้ตกอยู่ในภาวะที่จะเกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ แต่ยังคงไว้ซึ่งบริบทเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยมการอบรมสั่งสอนแบบไทยๆ ไว้ในกฎหมายด้วย

แต่อย่างไรต้องขออภัยท่านผู้ใหญ่ที่รักวัวแล้วผูก รักลูกแล้วตี ที่จำเป็นต้องกล่าวต่ออีกหน่อยว่า มีข้อพิสูจน์มากมายในปัจจุบันที่ระบุว่า การเฆี่ยนตีหรือการทำโทษเด็กด้วยวิธีใดก็ตามที่เป็นการด้อยค่า ล้วนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก และไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิดหรือพฤติกรรมที่จำเป็นต้องปรับปรุง

วันนี้หมอผีหลักร้อยคนในสภาช่วยขับไล่ผีไม้เรียวที่สำแดงฤทธิ์เดชมายาวนาน กำจัดผีบริวารของผีอำนาจนิยมไปอีกหนึ่งตัว และยังคงมีผีบริวารอีกหลายตัวที่แลบลิ้นปลิ้นตารอการท้าทาย

สาระสำคัญ ‘กฎหมายไม่ตีเด็ก’

เดิมที ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ ร่วมกันเสนอให้ยกเลิกความใน (2) ของมาตรา 1567 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

ที่ระบุสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองว่า ‘ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน’ โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

‘ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำทารุณกรรม หรือกระทำด้วยความรุนแรง หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตีหรือกระทำโดยมิชอบ’

ต่อมาในการประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้มีการถกเถียงกันว่าจะระบุวลีที่ว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ลงไปด้วยหรือไม่ ซึ่ง กมธ. เสียงข้างมากเห็นว่าควรระบุวลีดังกล่าวด้วย แต่ฟากฝั่ง กมธ. เสียงข้างน้อยเห็นว่าไม่ต้องมีการระบุวลีนี้ลงไป โดยท้ายที่สุดที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างน้อยให้ตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป

ด้าน ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ หรือ ‘ทนายแจม’ ได้ให้ความเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องระบุวลี ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ลงในกฎหมาย เพื่อยืนยันความปลอดภัยจากการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ พร้อมกับเน้นย้ำว่าปัญหาสำคัญหลายอย่างในสังคมเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กตั้งแต่ 0-6 ขวบ ที่อาจได้รับการบ่มเพาะมาอย่างไม่สมบูรณ์ ซึ่งการถูกตี ถูกทำร้าย เป็นหนึ่งในการบ่มเพาะที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากเกินกว่าที่เราคิด

“ถ้าเราต้องการบอกกับสังคมว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่ในหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมยังคงใช้การตีเพื่อการสั่งสอน ตีเพราะรัก เราจะไม่มีทางสอนบุตรหลานของเราในอนาคตได้เลยว่าการทำร้ายกันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นการเขียนระบุถึงการคุ้มครองปกป้องเด็กลงไปในกฎหมาย เป็นสิ่งที่เราอยากจะเริ่มต้นปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่จะเป็นบุคลากรของประเทศในอนาคต เพื่อปลอดภัยจากการทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ” ศศินันท์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตัดวลี ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเฆี่ยนตีเด็กได้ ณัฐวุฒิระบุว่าการเฆี่ยนตีหรือใช้ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจยังคงมีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือประมวลกฎหมายกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง

“การเฆี่ยนตีด้วยความรุนแรงถึงขนาดก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจ ก็ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก หรือประมวลกฎหมายอาญา เพราะฉะนั้นตรงนี้ไม่ได้แตกต่างกันในสาระสำคัญ แม้ กมธ. เสียงข้างน้อยจะตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป แต่การไม่ตีจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือส่งเสริมการพัฒนาเด็กในระยะยาวมากกว่า”

รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ไม้เรียวสร้างคนดี จริงหรือ?

ทศวรรษนี้กลายเป็นทศวรรษแห่งความท้าทายความเชื่อและค่านิยมเก่า คำสอนเดิมๆ สะท้อนแนวคิดการเลี้ยงดูที่ดูเหมือนว่าจะต้องสังคายนากันใหม่ให้ลงร่องลงรอยกับการตระหนักเรื่องสิทธิในปัจจุบัน 

“ได้ดีเพราะไม้เรียว”

“ไม้เรียวสร้างระเบียบวินัย”

“เด็กสมัยนี้เปราะบางมาก”

อีกหลายสารพัดถ้อยคำที่ออกมาแสดงความเห็นกันเมื่อมีการพูดถึงเหตุผลที่ไม่ควรลงโทษด้วยการตี หรือการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก ทั้งยังย้ำว่านี่คือการทำโทษให้เข็ดหลาบ น่าแปลกใจที่ผู้ใหญ่หลายคนกลับพยายามสืบทอดระบบอำนาจนิยมเช่นนี้อยู่

หนึ่งในเหตุผลที่คณะผู้เสนอร่างกฎหมายไม่ตีเด็กระบุไว้ในบทวิเคราะห์ คือ ความรุนแรงกระทบต่อพัฒนาการของเด็กอย่างมาก ทำให้เด็กเกิดความกลัว หวาดวิตก ไม่มั่นคงทางอารมณ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเด็กบางคน นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม และเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตเวชในอนาคต ยิ่งไปกว่านั่นเด็กอาจเรียนรู้ว่าความรุนแรงเป็นวิธีการที่จะใช้แก้ปัญหา

“เด็กเติบโตได้โดยไม่ต้องตี” คือความเห็นจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือ ‘หมอโอ๋’ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน 

หมอโอ๋ชวนขบคิดว่า หากเราเชื่อว่าตัวเราสามารถทำสิ่งที่ควรทำได้โดยไม่ต้องถูกลงไม้ลงมือ เหตุใดเราจึงไม่ปฏิบัติแบบเดียวกันกับเด็กๆ คุณหมอเจ้าของเพจระบุไว้อีกด้วยว่า ไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่าการตีเด็กจะช่วยพัฒนาเด็กได้จริง

เมื่อเด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือต้อง ‘หาสาเหตุ’ และเปลี่ยนมุมมองว่าแท้จริงแล้วเด็กกำลังต้องการ ‘ความช่วยเหลือ’ หรือต้องการ ‘ทักษะ’ อะไรที่จะทำให้เขาทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น และยืนยันว่ามีวิธีอีกมากมายในการสร้างวินัยโดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย

สุภาษิตที่ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองถูกตั้งคำถาม ถูกสำรวจ ถูกวางลง และชำแหละเพื่อเห็นว่าที่ผ่านมาเราดำรงอยู่กันด้วยความกลัว สั่งสอนให้กลัวเพื่อควบคุมให้ง่าย ก้อนความกลัวค่อยๆ ถูกปั้นให้กลมมาตั้งแต่หน่วยย่อยอย่างครอบครัว แล้วถูกทำให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในทุกด่านของการเติบโต 

ท้ายที่สุดกลายเป็นว่าเราต่างแบกก้อนความกลัวไปตลอดการดำรงชีวิต คงไม่เวอร์เกินไปหากจะกล่าวว่า การทำความเข้าใจเรื่องผีไม้เรียวเพียงเรื่องเดียว ทำให้เห็นภาพการปักหลักอย่างมั่นคงของอำนาจนิยมในสังคมไทย

อ้างอิง

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า