ทันทีที่อินเดียผ่อนปรนกฎหมายยาเสพติดที่เคยเข้มงวด บริษัทยารายใหญ่สัญชาติอเมริกัน เช่น Johnson & Johnson, Abbott Laboratories และเครือข่ายของ Purdue Pharma ก็พากันมุ่งหน้าเข้าสู่อินเดีย
ดูเรชา (Dureja) คือแพทย์ผู้ก่อตั้งศูนย์จัดการความเจ็บปวดแห่งเดลี (Delhi Pain Management Centre) และเป็นหนึ่งในกลุ่มแพทย์ผู้บุกเบิกด้านการจัดการความเจ็บปวดในอินเดีย
ที่คลินิกของดูเรชา หญิงคนหนึ่งมาพบหมอเพราะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Fibromyalgia หรือความผิดปกติทางระบบประสาทเรื้อรังที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดไปทั่วร่างกาย การใช้ยาสูตรผสมระหว่างพาราเซตามอล (paracetamol) กับทรามาดอล (tramadol) ซึ่งเป็นยาระงับปวดกลุ่มโอปิออยด์ (opioid analgesic) ไม่สามารถระงับความเจ็บปวดได้ เธอต้องการยาที่แรงกว่านั้น
ก่อนหน้านี้ ชาวอินเดียมองว่าการระงับความเจ็บปวดเป็นแนวทางแบบตะวันตก หลังจากที่หญิงคนนั้นออกจากคลินิกไปพร้อมกับใบสั่งยาใหม่ หมอดูเรชากล่าวว่า “ในอินเดีย ไม่มีใครมีเวลามาบ่นเรื่องความเจ็บปวด แต่ตอนนี้ ผมมีคนไข้ใหม่ราว 5-7 คนต่อวัน”
ศูนย์จัดการความเจ็บปวดเดลีเป็นคลินิกเอกชน ที่มีสาขาประมาณ 20 แห่งกระจายอยู่ในมุมไบ กัลกัตตา บังกาลอร์ และในเมืองใหญ่อื่นๆ ของอินเดียซึ่งมีประชากรประมาณ 1,300 ล้านคน
หลายทศวรรษที่ผ่านมา อินเดียเข้มงวดกับกฎหมายยาเสพติดมาก เนื่องจากต้องต่อสู้กับการระบาดของฝิ่นมานานนับศตวรรษ แต่ถึงวันนี้ อินเดียพร้อมที่จะบรรเทาอาการปวดให้แก่ประชาชน
และบรรดาบริษัทยาสัญชาติอเมริกัน ผู้สร้างปัญหา opioid crisis ในสหรัฐอเมริกาและพวกเสือหิวตลาดใหม่ ก็พร้อมบุกตลาดและกระตุ้นความต้องการใช้ยานี้
คนไข้มะเร็งชาวอินเดียที่เคยชักดิ้นชักงอด้วยความปวดร้าวทรมาน จะอาศัยแผ่นปิดที่มีตัวยา fentanyl patches ของบริษัทที่เป็นสาขาของ Johnson & Johnson ส่วนชนชั้นกลางที่ส่วนใหญ่ทำงานออฟฟิศและมักจะมีปัญหาปวดคอปวดหลัง ก็จะใช้ buprenorphine ของ Mundipharma อีกหนึ่งเครือข่ายบริษัทที่บริหารโดยครอบครัวแซคเลอร์ (Sackler) ซึ่งเป็นเจ้าของ Purdue Pharma แห่งคอนเนคติคัต และผู้สูงอายุชาวอินเดียหลายร้อยล้านคนที่มักมีปัญหาปวดตามข้อต่อต่างๆ และหัวเข่า ก็ได้อาศัย tramadol จากบริษัท Abbott Laboratories
ผู้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care) ที่เห็นผู้ป่วยมะเร็งต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดหรือตายไปอย่างทรมาน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐอนุญาตให้มียาแก้ปวดโอปิออยด์ชนิดแรงๆ ในคลินิกและร้านขายยาได้
‘ชีวิตที่ปลอดจากความเจ็บปวด’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกล่อในประเทศที่รายได้กำลังพุ่งสูงขึ้นในกลุ่มคนเมืองจำนวนมาก และประชากรประมาณ 300-400 ล้านคนเขยิบขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง แพทย์ด้านความเจ็บปวดรุ่นใหม่ให้ความหวังกับชาวอินเดียว่า ชีวิตจะดีขึ้นอีกมาก ถ้าร่างกายไม่เจ็บปวด
“อย่าไปเชื่อฟังบรรพบุรุษ” ดูเรชากล่าว “บรรพบุรุษบอกว่าคุณควรทนกับความเจ็บปวด ไม่ควรบ่น ไม่ควรกินยาแก้ปวด แต่เดี๋ยวนี้ ใครๆ ก็อยากจะหายปวดให้เร็วที่สุด”
มีความพยายามอย่างจริงจังในการนำเสนอให้เห็นถึงความทุกข์ยากของผู้ป่วย กลุ่มแพทย์และกลุ่มบริษัทยาสนับสนุนให้มีการใช้ยาบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยมะเร็ง และเรียกร้องให้ผู้ควบคุมยาอนุมัติทะเบียนยาโอปิออยด์แรงๆ ให้คนไข้เข้าถึงได้มากขึ้น บรรดาแพทย์ด้านความเจ็บปวดพากันเปิดคลินิก ตามมาด้วยคลินิกเงาด้านความเจ็บปวด
และแล้วโอปิออยด์ที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ก็พรั่งพรูออกมา ช่วงแรกๆ ก็เป็นไปตามกฎหมายให้ใช้ในทางการแพทย์ แต่ไม่นานนักก็รั่วไหลสู่ถนนและเข้าสู่ตลาดมืด
แนวโน้มที่จะมีผู้ติดยาแก้ปวดเพิ่มขึ้นอีกมากมายสร้างความกังวลใจให้กับวิชาชีพของแพทย์อินเดียบางคน ซึ่งมั่นใจว่า ถ้ารัฐไม่ควบคุม ยาส่วนใหญ่ก็จะแพร่กระจายด้วยอำนาจเงินไปที่ร้านขายยา
“ประชาชนจะรู้เท่าทันหรือไม่ ต่อกลอุบายที่จะทำให้โอปิออยด์แพร่กระจายอย่างกว้างขวาง?” บ็อบบี จอห์น (Bobby John) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของอินเดียในนิวเดลี เอ่ยถาม “มันจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
ตลาดยาแก้ปวดไปได้สวย
สำนักงานใหญ่ของคลินิกความปวดในอินเดียได้เปิดสำนักงานสาขาเล็กๆ ในเชมบูร์ (Chembur) ชานเมืองมุมไบทางตะวันออก บริษัทนี้ได้เผยแพร่อย่างโดดเด่นทางอินเทอร์เน็ตว่า ไกลาศ โกธารี (Kailash Kothari) นายแพทย์ผู้ก่อตั้งคลินิก ปฏิเสธการเรียกร้องจากประชาชนในแอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องการโอปิออยด์ที่ต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์
ในตรอกแห่งหนึ่ง มีคลินิกเล็กๆ ตั้งอยู่ ด้านหน้ามีภาพคนแสดงอาการปวดหลัง ปวดคอ เข่าบ้าง ศีรษะบ้าง ไหล่บ้าง โดยรวมแล้ว ภาพต้องการจะสื่อว่า ‘มุ่งสู่ชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวด’
ในด้านโครงสร้างการกระจายยาแก้ปวด โกธารีมีคลินิกหลายแห่งในมุมไบ เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงพยาบาลหลายแห่ง และยังต้องบินไปที่คลินิกของเขาในเมืองกัว (Goa) สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Indian Academy of Pain ซึ่งเป็นสาขาการศึกษาแขนงหนึ่งของ Indian Society for the Study of Pain ที่มุ่งสร้างมาตรฐานการอบรมด้านการจัดการความเจ็บปวดในทางการแพทย์
“ตอนนี้แพทย์ทั่วไปก็ได้เริ่มจ่ายยาเหล่านี้แล้ว” ดูเรชากล่าว “แต่เราก็ยังไม่ได้ให้การศึกษาแก่ประชาชนว่าจะใช้หรือหยุดใช้ยาเหล่านี้เมื่อใด”
ที่คลินิกของดูเรชาก็เช่นเดียวกับคลินิกอื่นๆ ในอินเดีย คนไข้จ่ายเงินสดแลกกับบริการและใบสั่งยา ศูนย์จัดการความปวดเดลีคิดค่าบริการให้คำปรึกษา 10 ดอลลาร์ แผ่นยาปิดแก้ปวดเฟนตานิลของ Johnson & Johnson อีก 10 ดอลลาร์ และสำหรับแผ่นยาปิดแก้ปวด buprenorphine ของ Mundipharma สำนักงานของดูเรชาจะได้รับ 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้
ในห้องนั่งคอยพบแพทย์ภายใน East Delhi Clinic ของดูเรชามีแผ่นแสดงความขอบคุณจาก Johnson & Johnson ในโอกาสที่ดูเรชาไปบรรยายในงานสัมมนาเรื่องการจัดการความเจ็บปวด โดยบรรยายเกี่ยวกับ tapentadol ซึ่งเป็นโอปิออยด์ตัวหนึ่งที่วางตลาดโดย Johnson & Johnson ในปี 2009 เคาน์เตอร์จ่ายยาของคลินิกนี้จำหน่ายยาชื่อทางการค้าว่า Ultracet ซึ่งเป็นยาเม็ด tramadol ที่ผลิตโดยโรงงานในเครือของ Johnson & Johnson
ในแต่ละปีจะมีแพทย์ 20 คนมาเข้าอบรมกับโกธารีเป็นเวลา 3-6 เดือน เขาบอกว่าทำการอบรมไปแล้ว 150 คน “มีมากกว่า 50 คนที่มีคลินิกขจัดความเจ็บปวดเป็นของตนเองแล้ว กระจายอยู่ในส่วนต่างๆ ของอินเดีย” โกธารีกล่าว
โกธารีบอกว่า มีเพียงบางโรงพยาบาลในมุมไบเท่านั้นที่รับรักษาผู้ป่วยมะเร็งและใช้ยาโอปิออยด์ “เราใช้ยาเหล่านี้มากขึ้นทุกปี” เขากล่าว “ร้านขายยาและโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขอใบอนุญาตครอบครองยาเหล่านี้ และความแพร่หลายก็ดีขึ้นเรื่อยๆ มิใช่มีเพียงโอปิออยด์ชนิดเม็ดสำหรับรับประทานเท่านั้น แต่ยังมีชนิดน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน ชนิดฉีด และชนิดแผ่นปิดอีกด้วย”
โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในอินเดียส่วนใหญ่ได้บรรจุเรื่องการบริหารจัดการความเจ็บปวดเข้าเป็นอีกหนึ่งสาขาพิเศษเฉพาะ (specialty) ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โกธารีบอกว่า การรับรองคุณภาพของโรงพยาบาลอินเดียในปัจจุบันนั้น สมาคมวิชาชีพกำหนดให้แพทย์และพยาบาลจะต้องมีความสามารถในการประเมินความเจ็บปวดได้เช่นเดียวกับการวัดชีพจร อุณหภูมิ การหายใจและความดันโลหิต
อุตสาหกรรมยาก็ก้าวตามทัน โกธารีกล่าวว่า เมื่อย้อนหลังไป 20 ปี มีบริษัทยาเพียงไม่กี่แห่งที่วางตลาดยาแก้ปวดในอินเดีย “แต่ถึงวันนี้ เกือบจะทุกบริษัทมีเรื่องการจัดการความเจ็บปวดแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งแผนก”
เซลส์แมนของ Sun Pharma บริษัทยาที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในอินเดีย สะท้อนว่า
“เดี๋ยวนี้ประชาชนขับรถเองมากขึ้น จึงมีการปวดหลังมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ยา” เช่นเดียวกับอัตราการเป็นโรคอ้วนที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้ต้องใช้ยามากขึ้น ทั้งโรคปวดหลังและปวดเข่า “ดังนั้น ตลาดยาแก้ปวดจึงไปได้สวย”
มานโมฮัน ซิงห์ (Manmohan Singh) รองประธานกรรมการบริหาร Modi-Mundipharma ในนิวเดลี กล่าวว่า การให้ยาแก้ปวดโอปิออยด์เป็นทางเลือกที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการปวดอันเนื่องจากมะเร็ง เขายังกล่าวอีกว่า ในการส่งเสริมการขายของบริษัท จะต้องเน้นย้ำให้แพทย์ใส่ใจในเรื่องข้อมูลความปลอดภัยและในเรื่องผลข้างเคียง
“ควรทำให้คนไข้เข้าใจอย่างชัดเจนถึงเป้าหมายของการรักษาที่สัมพันธ์กับความเจ็บปวดและการทำงานของอวัยวะส่วนนั้นๆ รวมถึงให้เข้าใจเรื่องผลข้างเคียงของโอปิออยด์ โอกาสที่จะมีการใช้อย่างผิดๆ (misuse) และในทางที่ผิด (abuse) ตลอดจนการเสพติด” เขาเขียนในบทความ
ก้าวที่ผิดพลาด
ความเฟื่องฟูของการจัดการความเจ็บปวดในอินเดียเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองแบบบังเอิญ ก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) ได้ลงทุนทุ่มเทอย่างมากในระบบการดูแลสุขภาพ ฤดูใบไม้ร่วงของปีที่แล้ว รัฐบาลอินเดียได้ริเริ่มโครงการประกันสุขภาพภาครัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก เรียกว่า Ayushman Bharat หรือที่นิยมเรียกกันว่า ‘Modicare’ โครงการนี้ประกันสุขภาพให้คนอินเดียที่ยากจนประมาณ 500 ล้านคน และเมื่อถึงปี 2020 รัฐบาลจะเปิดศูนย์ดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ 150,000 แห่ง และรัฐบาลได้ให้เงินประเดิมโครงการนี้ไว้ 484 ล้านดอลลาร์
ซึ่งโครงการนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าไม่มีการคลายความเข้มงวดของกฎหมายยาเสพติด
คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแห่งชาติถือกำเนิดเมื่อปี 1968 และกฎหมายยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทปี 1985 ได้ระบุเงื่อนไขต่างๆ สำหรับแพทย์ที่ต้องการสั่งจ่ายยาแก้ปวดโอปิออยด์ พร้อมกับบทลงโทษหากมีการละเมิด
กฎหมายยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้รับการแก้ไขในปี 2014 เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า การบรรเทาอาการปวดเป็นเรื่องสำคัญ กฎหมายที่แก้ไขแล้วมีกลุ่มยาเกิดขึ้นใหม่ เรียกว่า รายการยาเสพติดที่จำเป็น ได้แก่ มอร์ฟีน, เฟนตานิล, เมทาโดน, oxycodone, โคเดอีน และ hydrocodone
เอ็ม. อาร์. ราชาโกปาล (M. R. Rajagopal) วิสัญญีแพทย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งการดูแลรักษาแบบประคับประคองในอินเดีย แสดงความกังวลว่า การก้าวที่ผิดพลาดของรัฐบาลจะทำให้มีการกระจายโอปิออยด์อย่างแพร่หลายกว้างขวาง สวนทางกับงานที่เขาทำมาหลายทศวรรษ ที่เขาไม่แนะนำให้ใช้ oxycodone หรือ hydrocodone
หลายทศวรรษที่ผ่านมา เขาพยายามชี้แนะนักกฎหมายระดับชาติว่า ไม่ควรผ่อนผันให้ใช้โอปิออยด์ แต่ควรส่งเสริมให้ใช้มอร์ฟีนและยาแก้ปวดชนิดอื่นๆ “เป็นเวลานานมากแล้วที่แพทย์ไม่เคยเห็นยาเม็ดมอร์ฟีน” เขากล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com |
สนับสนุนโดย