รองเท้าหนังงูหลาม (python) แบรนด์ Balenciaga ไปจนถึงเทรนช์โคท (เสื้อคลุมสำหรับฤดูใบไม้ผลิ) ตัวยาวที่ทำจากหนังงูแท้ – กำลังอิน
ความต้องการ ‘หนังงูหลาม’ วัตถุดิบหลักงานแฟชั่นระดับไฮเอนด์ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จน Kering บริษัทที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ดังๆ อย่าง Gucci, Yve Saint Laurent และ Alexander McQueen จึงลงทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงงูหลามขึ้นเอง
น่าสนใจว่าเคอริงที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส ลงทุนสร้างฟาร์มงูหลามในประเทศไทย ที่ครบวงจรตั้งแต่เพาะพันธุ์จนถึงพร้อมส่งออกหนัง โดยงูทุกตัวจะถูกเลี้ยงในสภาพที่เหมาะสม ด้วยเกษตรกรมืออาชีพ ภายใต้ระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เหตุผลสำคัญที่เคอริงลงทุนสร้างฟาร์มเองก็เพื่อหาแหล่งผลิตวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันจากนักรณรงค์และนักอนุรักษ์ต่างๆ ที่ต่อต้านการใช้หนังจากสัตว์ต่างแดนมาผลิตป้อนอุตสาหกรรมแฟชั่น
เมื่อเร็วๆ นี้กลุ่มอนุรักษ์อย่าง PETA เข้าซื้อหุ้นใน LVMH ซึ่งเป็นเจ้าของ Louis Vuitton, Christian Dior และ Givenchy ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามต่อต้านการทารุณต่อสัตว์
ก่อนหน้านี้พีตาก็มีหุ้นอยู่ใน Prada และ Hermes ซึ่งการถือหุ้นนี้ถือเป็นหนึ่งในแคมเปญต่อต้านการใช้หนังสัตว์ต่างแดนที่หายาก เช่น งู จระเข้
เคอริงเผยว่า ฟาร์มงูจะเริ่มป้อนหนังสัตว์พร้อมใช้งาน (มาจากตัวที่โตเต็มวัย) ได้ในปี 2018 และจะสามารถรองรับความต้องการของตลาดจำนวนมากได้ภายในปี 2020
ฟาร์มเพื่อการพาณิชย์เช่นนี้มีบ้างแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน แต่กระบวนการที่เคยใช้ในอดีต คือ การลักลอบจับงูอย่างผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ฟาร์มงูหลามแบบลักลอบนี้จะอยู่ที่ประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย และลาว
ในอดีต การทำฟาร์มงูหลามและงูหลามพม่า (งูสองพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ถูกมองว่าเป็นความฟุ่มเฟือยสิ้นเปลือง เพราะงูต้องใช้เวลาสามปีถึงจะโตเต็มที่ หนังจึงมีคุณภาพ และยังเลี้ยงดูยาก โดยเฉพาะการเลี้ยงในพื้นที่จำกัด
มารี แคลร์ ดาโว (Marie-Claire Daveu) หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของเคอริง ให้ข้อมูลว่า “นี่คือพันธกิจระยะยาวในการพัฒนาและหาวัตุดิบหนังงูอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน และต้องใช้เวลาไม่น้อยเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าคุณภาพต้องดีที่สุด”
เคอริงแถลงอีกว่า การเริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ ในการหาวัตถุดิบเริ่มขึ้นเมื่อสามปีที่แล้ว และร่วมงานกับ บริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Centre: ITC) และ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านงูหลามและงูเหลือมของ สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature) ในนาม The Python Conservation Partnership นำเสนอรายงานซึ่งแสดงข้อมูลสำคัญคือ การลักลอบค้าหนังงูอย่างผิดกฎหมายมีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์
โดยเฉพาะปีที่แล้ว หนังงูที่รัฐบาลจีนลักลอบนำเข้ามามีมูลค่าสูงถึง 48 ล้านดอลลาร์ ซึ่งต้นทางมาจากเวียดนาม
แต่ละปียุโรปจะมีการนำเข้าสัตว์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างถูกกฎหมายราว 500,000 ชิ้น เพื่อนำมาผลิตเป็นแอคเซสซอรีต่างๆ เช่น เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว ปริมาณการนำเข้าสูงขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ภายใต้ อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เคอริงยังไม่มีโครงการเลิกหาแหล่งวัตถุดิบจากป่าอย่างถูกกฎหมาย เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์เลื้อยคลานให้อยู่ในถิ่นของมัน ไม่มีการล่าข้ามถิ่น
“เราแค่อยากจะมั่นใจว่าหนังที่เราซื้อนั้นไม่ได้ทำลายสัตว์พันธุ์ต่างๆ ในป่า และถ้าหนังสัตว์มาจากการเลี้ยงในฟาร์มที่มีสภาพเหมาะสมต่อการเติบโตของพวกมันมากที่สุด ผู้เลี้ยงมีความรู้และความเชี่ยวชาญภายใต้ระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด” ดาโวอธิบาย
ขณะเดียวกันเคอริงพยายามเรียกร้องให้แบรนด์ต่างๆ ที่ทำงานด้วยหันมาใช้วัตถุดิบและเส้นใยที่ผ่านกรรมวิธีการที่ยั่งยืน เช่น ฝ้ายออร์แกนิค และขนแกะเมอริโนที่เลี้ยงอย่างยั่งยืนในนิวซีแลนด์
แบรนด์ต่างๆ อย่าง Stella McCartney Balenciaga กำลังทำโครงการนี้ โดยโบนัส 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริหารก็จะถูกนำไปใช้ในโครงการผลิตอย่างยั่งยืนดังกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com