Journal of Epidemiology and Community Health วารสารทางการแพทย์ของสมาคมแพทย์แห่งอังกฤษ ได้ตีพิมพ์งานวิจัย ที่ศึกษาเรื่องอันตรายระยะยาวจากสารสังเคราะห์ทางเคมีที่ใช้ในกระบวนการบรรจุอาหาร เพื่อการถนอมอาหารและวางจำหน่ายทั่วไป
เจน มุนช์เก จาก the Food Packaging Forum Foundation จากเมืองซูริค หนึ่งในทีมวิจัย เผยว่า สารเคมีสังเคราะห์ขนาดเล็กสามารถซึมหรือละลายลงสู่อาหารได้ โดยที่จะไม่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพโดยทันที แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะปลอดภัยในระยะยาวหรือไม่ โดยเฉพาะกับสารเคมีอย่างฟอมัลดีไฮด์ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของพลาสติกสำหรับห่ออหารรวมถึงถุง และ พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ
เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า สารเคมีบางชนิดอาจสร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค แต่กลับไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ โดยผู้บริโภคที่ทานอาหารที่บรรจุหรือห่อด้วยพลาสติก มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง อันเนื่องมาจากการรับสารเคมีในระดับต่ำ มาตลอดชีวิต
เจน มุนช์เก อธิบายต่อว่ามีความกังวลในเรื่องนี้หลายระดับ อย่างที่ทราบกันดีว่าสารเคมีหลายอย่างเป็นพิษ เช่น ฟอมัลดีไฮด์ สาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง แต่ถูกใช้อย่างถูกกฎหมายในกระบวนการผลิตต่างๆ ซึ่งอาจจะใช้ในปริมาณน้อย เช่น ในขวดน้ำพลาสติก หรือ ภาชนะบรรจุอาหารเมลามีน
สารเคมีอีกชนิดคือ ไบฟีนอล ที่ไปขัดขวางการผลิตฮอร์โมนของร่างกาย และใช้ในภาชนะบรรจุและหีบห่ออาหารและเครื่องดื่ม ยังไม่รวม ไตรบิวทีน (สารประกอบอินทรีย์ที่มีดีบุกเป็นส่วนประกอบ) , ไตรโคซาน , พาทาเลต (สารที่ก่อให้เกิดความอ่อนตัวในเนื้อพลาสติก) และสารเคมีอีกกว่า 400 ชนิดที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมการผลิต
“แม้ว่า วิทยาศาสตร์ของสารเหล่านี้จะเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ผู้กำหนดนโยบายก็จะพยายามทำทุกวิถีทางให้ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ขณะที่ผู้บริโภคยังคงต้องสัมผัสกับสารเคมีทุกวันอย่างไม่รู้ตัว” เจน ขยายความต่อว่า การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในร่างกายอาจเกิดขึ้น เนื่องจากอาหารที่ไปสัมผัสกับวัตถุต่างๆ โดยเฉพาะสารเคมีที่ไปมีขัดขวางการทำงานของฮอร์โมน ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ไม่เคยได้รับการศึกษาและค้นคว้าด้านพิษวิทยาทั่วไปเลย
แต่ถ้าให้สรุปออกมาว่ามีโทษอะไรบ้าง ในงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายในการเฝ้าระวังและประเมินถึงผลกระทบจากการสัมผัสสารเคมีเป็นระยะเวลาสิบๆ ปี ที่สำคัญยังไม่มีกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช้พลาสติกถนอมอาหารจำนวนมากพอที่จะเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ใช้ เพื่อให้เห็นโทษของการใช้อย่างชัดเจน
หากทีมวิจัยก็ยืนยันว่าพบร่องรอยของสารเคมีเหล่านี้ในร่างกาย การวิจัยจึงต้องดำเนินต่อไปเพื่อค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างอาหารที่สัมผัสสารเคมีและโรคเรื้อรังต่างๆ ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็ง โรคอ้วน เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบประสาท ฯลฯ
“ตั้งแต่อาหารถูกใส่หีบห่อหรือบรรจุเพื่อจัดจำหน่าย ประชาชนก็มีแน้วโน้มสัมผัสสารเคมี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ช่องวางของความรู้และข้อมูล ต้องถูกเติมให้เต็มอย่างรวดเร็วและน่าเชื่อถือ” เจน สรุป
……………………………………………
ที่มา : theguardian.com