ขึ้นชื่อว่า ‘ตำรวจ’ ย่อมต้องเป็นอาชีพที่ประชาชนควรให้การไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นผู้บรรเทาความทุกข์ร้อนของประชาชน ทั้งยังต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยเกียรติยศ มีความทะนงในศักดิ์ศรี ยึดมั่นในกฎระเบียบไม่บิดพริ้วอิดออด เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้พลเมืองและสร้างความน่าเคารพเลื่อมใสให้องค์กร
ทว่าปัจจุบัน กลิ่นคาวคลุ้งเหม็นหืนเกี่ยวข้องกับตำรวจปรากฏให้เห็นเกลื่อนกลาดตามหน้าสื่อ บางกรณีเป็นเพียงวินัยส่วนบุคคลหย่อนยาน บางกรณีเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเหตุ และบางกรณีนำไปสู่ความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง
แต่ที่ผ่านมาปัญหาทุกอย่างของตำรวจมักถูกโยนให้เป็นปัญหาส่วนบุคคล แง่มุมของการแก้ไขปัญหาภายในองค์กรจึงเป็นมุมมองแบบบนลงล่าง การกวดขันระเบียบวินัยของข้าราชการตำรวจจึงเป็นทั้งมาตรการและการประเมินตำรวจ ว่าอยู่ในร่องในรอยและปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบหรือไม่
ย้อนไปถึงปี 2537 คำสั่งกรมตำรวจที่ 1212/2537 เรื่อง มาตรการควบคุมและเสริมสร้างความประพฤติและวินัยข้าราชการตำรวจ เขียนไว้ชัดเจนว่า สาเหตุส่วนหนึ่งของภาพลักษณ์ที่เสื่อมเสียและประชาชนเสื่อมศรัทธาในตำรวจ คือ ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิดของข้าราชการตำรวจไม่กวดขัน กำกับ ดูแล สอดส่องพฤติกรรมของข้าราชการตำรวจใต้บังคับบัญชา จึงมีการปรับปรุงมาตรการควบคุมความประพฤติและวินัย โดยเพิ่มการสอดส่องภายในองค์กรมากขึ้น
ตามการนิยามแล้ว วินัยตำรวจคือ การประพฤติตนให้เป็นผู้มีมรรยาทอันดี หากอ้างอิงตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หมวด 5 วินัยและการรักษาวินัย มาตรา 78 การกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เราจะพบข้อปฏิบัติและข้อห้าม เช่น
(2) ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบของทางราชการ โดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง แต่ถ้าเห็นว่าการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นจะทำให้เสียหายแก่ราชการ หรือจะเป็นการไม่รักษาประโยชน์ของทางราชการ จะเสนอความเห็นเป็นหนังสือทันทีเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาทบทวนคำสั่งนั้นก็ได้ และเมื่อได้เสนอความเห็นแล้ว ถ้าผู้บังคับบัญชายืนยันให้ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตาม
(3) ต้องรักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย
(13) ต้องไม่กระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
วิธีป้องกันการผิดวินัยเหล่านี้ ตามมาตรา 80 ระบุว่า ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัย เพื่อป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย สิ่งนี้สอดคล้องกับวิธีคิดที่มีต่อการแก้ไขภาพลักษณ์เสื่อมเสียของตำรวจเสมอมา นั่นคือใช้ระบบบังคับบัญชาคอยกวดขันสอดส่องผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาไปเรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์ปกติ กฎระเบียบเช่นนี้มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เพราะจะทำให้การปฏิบัติงานเพื่อพี่น้องประชาชนมีความชัดเจนและรวดเร็ว
แต่คำถามคือ ระเบียบวินัยที่ตำรวจถูกกวดขันมากขึ้น จะช่วยแก้ไขปัญหาภาพลักษณ์ของตำรวจได้กี่มากน้อย และความประพฤติที่ดีของตำรวจมีหน้าตาอย่างไร
ในวัยเด็ก ถ้าการแต่งกายไม่เรียบร้อย เล็บยาว และผมเผ้าไม่สั้นเกรียนติดหนังหัว เราย่อมต้องถูกครูตักเตือนหรือตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งเป็นวิธีมองระเบียบวินัยและการควบคุมพฤติกรรมที่ไม่แตกต่างจากหน่วยงานราชการ
ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งกายเครื่องแบบ พ.ศ. 2561 ระบุว่า ข้าราชการตำรวจชายทุกคนเมื่อแต่งเครื่องแบบ ให้ตัดผมสั้น ขาวทั้ง 3 ด้าน ความยาวด้านบนไม่เกิน 3 เซนติเมตร ส่วนข้าราชการตำรวจชายที่ปฏิบัติหน้าที่สืบสวนหรือการข่าวหรือป้องกันปราบปรามยาเสพติดเมื่อไม่แต่งเครื่องแบบให้ไว้ผมรองทรงสูง
ส่วนการไว้ผมของข้าราชการตำรวจหญิงเมื่อแต่งเครื่องแบบ ต้องไม่ปล่อยให้ผมยาวประบ่าจนปิดอินทรธนู หากผมยาวต้องขมวดปลายผมให้เรียบร้อย และหากต้องใช้อุปกรณ์ในการเก็บผม เช่น กิ๊บหรือริบบิ้น ต้องใช้สีดำเท่านั้น (แน่นอนว่าห้ามไว้ผมเปีย ผมแกละ ผมหางม้า ผมม้า และทรงอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสม) และข้าราชการตำรวจทุกคนห้ามทำสีผม ยกเว้นกรณีที่ย้อมผมดำเท่านั้น
เครื่องแบบที่สวมใส่ต้องใช้สีกากี และให้ใช้ผ้าสีกากีพระราชทาน (เกร็ดที่รู้หรือไม่รู้ก็ได้: สีกากี ในภาษาเปอร์เซีย แปลว่า สีของแผ่นดิน)
นอกจากทรงผมและเครื่องแบบจะต้องตรงตามระเบียบแล้ว ท่วงท่าก็ต้องสง่างามให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ ข้อที่ 10 ของระเบียบดังกล่าวระบุว่า ข้าราชการตำรวจทุกคนจะต้องประพฤติตนให้อยู่ในระเบียบวินัยโดยเคร่งครัด เมื่อ ‘แต่งเครื่องแบบ’ ต้องแต่งกายให้เรียบร้อย หลีกเลี่ยงการแสดงกริยาท่าทางที่ไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ เช่น ยืนกอดอก ล้วงกระเป๋า ยืนพิง เท้าแขน เท้าเอว หรือนั่งไขว่ห้าง เป็นต้น ตลอดจนไม่แสดงกริยาวาจาใดๆ ในลักษณะหยาบคาย ดูหมิ่น หรือเหยียดหยามประชาชน
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ผ่านวาระ 3 จากสภาฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 อาจเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะช่วยปฏิรูปองค์กรตำรวจได้จริงหรือไม่ ที่สำคัญคือ ยังไม่มีส่วนใดชี้ถึงการแก้ไขสิทธิและเสรีภาพในทรงผมและเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่
เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ยังคงมีหมวดวินัยและการรักษาวินัยคล้ายเดิม แต่ก็มีข้อปฏิบัติบางประการที่เพิ่มเข้ามา เช่น ในมาตรา 104 ของร่าง พ.ร.บ.การกระทำความผิดวินัยร้ายแรง มีข้อห้ามข้าราชการตำรวจล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นต้น
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ยังคงเปิดช่องให้ผู้บังคับบัญชาใช้กำลังกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้หากต้องรักษาวินัย เพราะทั้งมาตรา 106 ของร่าง พ.ร.บ. และมาตรา 81 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ระบุว่า หากมีความจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาวินัยและปราบปรามข้าราชการตำรวจผู้ก่อการกำเริบ ผู้บังคับบัญชาอาจใช้อาวุธหรือกำลังบังคับได้ ถ้าสมควรแก่เหตุ โดยที่ผู้บังคับบัญชาและผู้มีส่วนร่วมไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา และต้องรายงานผู้บังคับบัญชาที่มีลำดับชั้นเหนือตนเรื่อยจนถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติโดยเร็ว
ฉะนั้น แม้การควบคุมวินัยภายในองค์กรตำรวจจะมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตำรวจ แต่ก็เป็นไปตามกรอบการมองที่ว่าปัญหาใดๆ ล้วนเกิดขึ้นจากความผิดพลาดส่วนบุคคล การแก้ไขปัญหาจากภายในจึงหนีไม่พ้นการยึดโยงกับการกระทำของอำนาจตามสายบังคับบัญชา และเอื้อมไม่ถึงใจกลางของปัญหาที่เป็นระบบของตำรวจเสียที
ทรงผมและเครื่องแต่งกายอาจเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มปลายเหตุของปัญหา หรือเป็นเพียงสัญลักษณ์ของระบอบอำนาจนิยมในการควบคุมผ่านร่างกายและระเบียบวินัย ท้ายสุดแล้ว ‘การปฏิรูป’ อาจกลายเป็นคำฟุ่มเฟือยในเอกสารราชการก็เท่านั้น
อ้างอิง
- คำสั่งกรมตำรวจ ที่ 1212 / 2537
- ความประพฤติและระเบียบวินัย
- พระราชบัญญัติ ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗
- การแต่งเครื่องแบบการปฏิบัติตนเมื่อแต่งเครื่องแบบชนิดของเครื่องแบบ และระเบียบปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ
- ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติตนของข้าราชการตำรวจเมื่อแต่งเครื่องแบบ
- ปฏิรูปตำรวจ 8 ปี ตั้งกรรมการหน้าซ้ำหลายชุด แต่ผ่าน กม. ได้ฉบับเดียว!
- เปิดร่างพ.ร.บ.ตำรวจฯ สร้างระบบคุณธรรม ประชาชนมีส่วนร่วม ปฏิรูปตั๋วตำรวจ