113 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ‘สตรีกับสันติภาพ: บทบาทภายใต้กระแสชาตินิยมและมุมมองความมั่นคง’

วันที่ 12 มกราคม 2568 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเสวนา Pridi Talks #29 เนื่องในโอกาส 113 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในหัวข้อ ‘สตรีกับสันติภาพ: บทบาทภายใต้กระแสชาตินิยมและมุมมองความมั่นคง’ ณ สมาคมธรรมศาสตร์ ซอยงามดูพลี ที่มุ่งเน้นประเด็นสำคัญคือ บทบาทสตรีกับนโยบายสันติภาพ ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังคุกรุ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี ผศ.อัครพงษ์ คํ่าคูณ กรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนี้ 

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย แสดงทัศนะว่า สตรีในนัยยะการสร้างความมั่นคงและสันติภาพ รวมไปถึงชาตินิยม ทั้งหมดนี้ย่อมตีความได้ว่าสตรีเป็นบุคคลที่อ่อนนอกแข็งใน แต่ภายใต้บริบทสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีผู้หญิงอยู่เบื้องหลัง จึงเป็นความท้าทายว่า หญิงจำต้องสยบยอมให้กับสังคมชายเป็นใหญ่ และจะทำอย่างไรให้ก้าวข้ามทะลุกรอบความคิดเช่นนี้ 

ลัดดาวัลย์ ยกตัวอย่างผู้หญิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนสำคัญ ในกรณีของ คอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) อดีตประธานาธิบดีหญิงของฟิลิปปินส์ ที่ได้แสดงพลังความเป็นหญิงท้าทายสังคมชายเป็นใหญ่ในทางการเมืองได้อย่างโดดเด่นและกล้าหาญ รวมถึงการสร้างสังคมประชาธิปไตยของฟิลิปปินส์ เมื่อ นินอย อากีโน (Ninoy Aquino) วุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์ ผู้เป็นสามีถูกลอบสังหารภายหลังเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด ดังนั้น ลัดดาวัลย์สรุปข้อคิดว่า สถานการณ์สร้างบุรุษฉันใด สถานการณ์ก็สร้างสตรีฉันนั้น

ดร.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มุ่งสร้างสัมพันธ์อันดีกับชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งยังเข้าใจสำนึกชาตินิยมมลายู สนับสนุนให้ชาวมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยกร่างข้อเสนอ 7 ประการของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ผู้นำความคิดของชาวมลายูมุสลิม แต่ถูกฝ่ายความมั่นคงตีตราว่าเป็นกบฏ ขณะที่ท่านผู้หญิงพูนศุขมีบทบาทสำคัญในการทำงานเบื้องหลังอาจารย์ปรีดีมาตลอด อย่างน้อยเอกสารงานของอาจารย์ปรีดีในประเด็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องผ่านสายตาท่านผู้หญิงพูนศุขเสมอ

นอกจากนี้ ชญานิษฐ์ยังสะท้อนภาพของผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการตั้งคำถามทำไมไม่มีนักกิจกรรมชาตินิยมมลายูที่เป็นหญิงเลย จนได้คำตอบว่า บทบาทของผู้หญิงมักจะถูกบดบังด้วยวัฒนธรรมปิตาธิปไตยในท้องถิ่น ถูกจำกัดบทบาทหน้าที่เพียงแค่ความเป็นแม่ แต่ความน่าสนใจในเรื่องเล่าแห่งความเป็นชาติ มักถูกส่งต่อโดยคนเป็น ‘แม่’ อย่างเข้มข้น

ชานันท์ ยอดหงษ์ นักวิชาการอิสระ มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองได้นำพาท่านผู้หญิงพูนศุขเข้าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชาตินิยม ‘เสรีไทย’ ทว่า การนิยามความเป็นชาตินิยมล้วนมีเงื่อนไขและบริบทที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันท่านผู้หญิงพูนศุขก็เคยร่วมขบวนการสันติภาพในการต่อต้านการเข้าร่วมสงครามเกาหลีของไทย จนถูกจับกุมโทษฐานกบฏสันติภาพ 

‘แม่ เมีย มิ่ง มิตร’ หรือ 4 ม. คือ การนิยามชาตินิยมที่เกี่ยวข้องกับบทบาทสตรีในช่วงการสถาปนารัฐประชาชาติหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สะท้อนความเคลื่อนไหวภายใต้ร่มเงาของสามีหรือร่มเงาของครอบครัว เป็นดอกไม้ของชาติ จากการเชิดชูบทบาทสตรีในฐานะทรัพยากรของรัฐ แต่รัฐก็ไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าผู้ชายที่มีบทบาทในฐานะผู้รักชาติ (Patriot) การสร้างความมั่นคงแบบทหาร เหล่านี้ให้ความหมายต่อผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ท่านผู้หญิงพูนศูข ถูกมองในฐานะ ‘หลังบ้าน’ แต่ก็ไม่ควรดูแคลนหลังบ้าน เพราะท่านกระทำการมากมายหลายประการที่มิใช่เพียงการสนับสนุนสามี แต่หลายเรื่องนั้นส่งผลเชิงนโยบายในอาณาบริเวณทางสังคม ซึ่งล้วนมาจากหลังบ้านด้วย และท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ท่านไม่ใช่ผู้หญิงที่อยู่แต่ในบ้านเท่านั้น

มาที่โจทย์สำคัญของวงเสวนาวันนี้ คือคำว่า ‘ชาติ’ ที่เกิดจากการประกอบสร้าง เราใช้สัญลักษณ์ในการสร้างชาติที่เกี่ยวข้องกับความเป็นหญิง ความเป็นแม่ เราเรียกประเทศว่า ‘มาตุภูมิ’ ในขณะที่ความเป็นชายถูกนิยามในฐานะผู้เข้มแข้ง ผู้ปกป้องคุ้มครอง

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า หากดูบทบาทของผู้หญิงในเมียนมา อย่าง ออง ซาน ซูจี บทบาททางการเมืองของเธออาจไม่ได้สวยหรูเทียบเท่ากับ คอราซอน อากีโน เท่าใดนักจากหลากหลายประเด็นที่เธอถูกตั้งคำถาม อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางการเมืองของเมียนมาในช่วงปี 1988 หลังเธอเดินทางจากอังกฤษกลับสู่เมียนมา ในฐานะลูกสาวของนายพลอองซาน และเป็นหญิงชาวพม่าที่ได้รับการศึกษาในระดับสูง ทำให้เธอมีความโดดเด่นขึ้นมา

ลลิตาชวนคิดต่อว่า เมื่อเรามองขบวนการชาตินิยมหรือขบวนการต่อต้านเผด็จการทหารในเมียนมา เราจะไม่เห็นบทบาทของสตรีคนใดในฐานะผู้นำที่โดดเด่นเท่าอองซาน ซูจี เพราะผู้หญิงจำนวนมากมีบทบาทในฐานะหลังบ้านของผู้ชาย แต่ภายหลังการรัฐประหารในปี 2021 มีผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมการประท้วงกับฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา และจำนวนหนึ่งต้องหลบหนีไปยังพื้นที่ปลอดภัยในประเทศเพื่อนบ้าน พวกเขามีจิตใจที่เข้มแข็งมากเพราะสามีต้องไปรบ จึงกล่าวได้ว่า หากสังคมเมียนมาไม่มีผู้หญิงอยู่เบื้องหลัง ระบบครอบครัว สังคม ย่อมไม่อาจเข้มแข็งได้ดังเช่นทุกวันนี้

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า