อำนาจเมื่อคราวห่าลง

อำนาจเป็นเครื่องมือ การมีอำนาจไม่ได้ประกันประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน บ่อยครั้งอำนาจที่ล้นเกินทำลายเป้าหมายที่เป็นประโยชน์ของสาธารณะลงไป

นับจากกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรีและบุคคลตามมอบหมาย

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าวนำมาซึ่งการระงับสิทธิเสรีภาพของประชาชนวงกว้าง พื้นที่เสรีภาพกับการควบคุมเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ หากสังคมยินยอมอนุญาตให้รัฐล่วงล้ำก้ำเกินเข้ามาได้ตามอำเภอใจ (หลังจากประกาศ พ.ร.ก.นี้ไม่ถึงสัปดาห์ นายกรัฐมนตรีก็ออกมา ‘ขู่’ ว่าอาจใช้ พ.ร.ก.นี้ต่อไปอีก 2-3 เดือน) ในนาม ‘สถานการณ์ฉุกเฉิน’ บ้าง ‘ผลประโยชน์ของชาติ’ บ้าง โดยไม่ตรวจสอบหรือตั้งคำถามว่าจะสร้างปัญหาที่เป็นชนวนขัดแย้งรุนแรงระหว่างประชาชนกับรัฐในระยะยาวอย่างไร การอธิบายความจำเป็นของการประกาศใช้ พ.ร.ก. อย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะรับรองความชอบธรรมของการใช้อำนาจนี้ รัฐบาลต้องตอบคำถามเกี่ยวกับความเชื่อมโยงอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสถานการณ์การระบาดของโรค ความเดือดร้อนของประชาชนกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย

มีคำถามสำคัญอย่างน้อย 3 คำถามที่ควรต้องคิดและถามคือ 1) ความสมเหตุสมผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2) อะไรคือความเดือดร้อนจำเป็นของประชาชนอันเกิดมาจากการระบาดนี้ สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการตาม พ.ร.ก. มีแนวโน้มหรือมีส่วนช่วยบรรเทาแก้ไขความเดือดร้อนดังกล่าวของประชาชนหรือไม่ 3) นอกจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลมีแผนการหรือแนวทางในการบริหารจัดการประเทศและประชาชนทุกภาคส่วนที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงและบอบช้ำจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร

คำถามที่ 1: ความสมเหตุสมผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ‘ศอฉ.โควิด-19’ แล้ว รัฐบาลยังประกาศข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 ฉบับ (ณ วันที่ 3 เมษายน 2563) ฉบับที่ 1 มีเนื้อหา 16 ข้อ ใจความสำคัญคือ การปิดสถานที่เสี่ยง ห้ามกักตุนสินค้า ห้ามชุมนุม ห้ามเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เป็นจริง และขอความร่วมมือบุคคลเรื่องการเคลื่อนที่ และฉบับที่ 2 มีเนื้อหาสรุปห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่าง 22.00-04.00 น. ยกเว้นบางกรณี

คงจะเร็วเกินไปและไม่เป็นธรรมกับรัฐบาลหากจะประเมินว่ามาตรการดังกล่าวไม่มีประโยชน์ แต่มีประเด็นสังเกตดังนี้ การประกาศใช้ พ.ร.ก. และข้อกำหนดต่างๆ ที่มีลักษณะควบคุมประชาชนนั้น สอดคล้องต่อเป้าหมายของรัฐบาลอันประกอบด้วย 1) เพื่อหยุดการระบาดของโรค และ 2) เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดกับประชาชน หรือไม่

ประการแรก ถ้าพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของการระบาดในประเทศไทย นับจากการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรกในประเทศไทยวันที่ 13 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นกรณีที่ชาวจีนเดินทางมาจากอู่ฮั่น ตลอดเดือนมกราคมผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนทั้งสิ้น (17 จาก 19 ราย และอีก 2 รายที่เป็นชาวไทยนั้น คนหนึ่งมีประวัติไปอู่ฮั่น อีกคนเป็นคนขับแท็กซี่ที่อาจรับนักท่องเที่ยวชาวจีนจากสนามบิน) เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายห้ามนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย

ประการที่สอง นอกจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว กลุ่มก้อน (cluster) ของการระบาดขนาดใหญ่นั้นเกิดจากสนามมวย ทำให้อัตราการติดเชื้อของประเทศไทยพุ่งสูงอย่างรวดเร็วจากหลักสิบสู่หลักร้อยนับจากกลางเดือนมีนาคม และใช้เวลาอีกเพียง 2 สัปดาห์ที่มีผู้ติดเชื้อเกือบสองพันคน

ประการที่สาม ภายหลังมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ของกรุงเทพฯ และของรัฐบาล มาตรการห้ามชุมนุม จนมาถึงการห้ามออกนอกเคหสถาน ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจทันทีต่อประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้ทำงานรับจ้างรายวัน พนักงานบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไปจนถึงคนชายขอบอย่างคนไร้บ้าน การประกาศใช้ พ.ร.ก.นี้ต่างหากที่เป็นปัจจัยเพิ่มภาระและผลกระทบในด้านลบให้แก่พวกเขา ยกตัวอย่างเช่น คนไร้บ้านจะอยู่อย่างไรเมื่อห้ามออกนอกเคหสถานหลัง 22.00 น.

ยังไม่ต้องพูดถึงมาตรการปิดกั้นถนนเพื่อตรวจป้องกันโรคด้วยการให้ตำรวจกั้นถนนเหลือเลนเดียวแล้ววัดไข้คนส่วนใหญ่ด้วยสายตา ก็ไม่น่าจะมีประสิทธิภาพในการสกัดกั้นไวรัส หรือในยามค่ำคืนนั้นมีคนจำนวนหนึ่งใช้เป็นเวลาออกไปซื้อหาของจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากยามกลางวัน

ข้อเท็จจริงเหล่านี้บ่งชี้ว่า ปัญหาใหญ่ของการระบาดในไทยไม่ได้เกิดจากความไม่รับผิดชอบของประชาชน แต่เป็นปัญหาโดยตรงของผู้มีอำนาจที่ละเลยหรือเลินเล่อ

ข้ออ้างที่ว่าหากไม่มีมาตรการคุมเข้มจากรัฐ ประชาชนจะไม่รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ข้อเท็จจริงที่ควรพิจารณาคือ ถ้าประชาชนไม่ห่วงกังวลสวัสดิภาพของตนเองและผู้ที่ตนรัก ทำไมจึงเกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทำไมจึงมีการรณรงค์ ให้ความรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดและการป้องกันตนเองอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน

คำถามที่ 2: พ.ร.ก. มีแนวโน้มช่วยบรรเทาแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนจากการระบาดหรือไม่

ขณะนี้อะไรคือความเดือดร้อนของประชาชนทั้งในเฉพาะหน้าและในระยะอันใกล้ ซึ่งอาจจะจัดหมวดหมู่ได้เป็น 3 หมวดคือ หมวดแรก ความเดือดร้อนจากการระบาดของโรค หมวดที่สอง ความเดือดร้อนจากผลพวงของการระบาด และหมวดที่สาม ความเดือดร้อนจากมาตรการของรัฐ

  • หมวดแรก คือประชาชนและบุคลากรที่ได้รับความเดือดร้อนจากความขาดแคลนอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และยาสำหรับการป้องกันและการรักษาพยาบาล พวกเขาต้องการอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และยา
  • หมวดที่สอง คือประชาชนที่ตกงาน ขาดรายได้เนื่องจากการระบาด พวกเขาต้องการการดูแลจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอุดหนุนในรูปแบบของเงินหรือสวัสดิการอื่นๆ
  • หมวดที่สาม คือประชาชนที่ตกงาน ขาดรายได้ ดำรงชีวิตยากลำบากกว่าเดิมอันเนื่องมาจากมาตรการของรัฐ พวกเขาต้องการการดูแลจากรัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะอุดหนุนในรูปแบบของเงินหรือสวัสดิการอื่นๆ และต้องการความเข้าใจผ่อนปรนจากรัฐไปพร้อมๆ กัน

ประชาชนชาวไทยแม้ว่าจะตกอยู่ในวิกฤติโรคระบาดเหมือนกัน ทว่าบุคคลแต่ละคนเผชิญหน้ากับปัญหาไม่เท่ากัน ที่น่าเป็นห่วงคือทั้ง 3 หมวดนี้ คนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนทั้ง 3 ประการไปพร้อมๆ กัน คือขาดแคลนทั้งอุปกรณ์ป้องกัน เข้าไม่ถึงการรักษา ตกงาน ขาดรายได้ และประสบความยากลำบากจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ ยิ่งเป็นคนที่รายได้น้อย อำนาจน้อย ยิ่งเผชิญกับความลำบากยากเข็ญมากขึ้นตามตัว มาตรการบางมาตรการนอกจากทำให้พวกเขาลำบากทางกายภาพแล้วยังสร้างความลำบากทางจิตใจแก่พวกเขาอีกด้วย เช่น มาตรการอยู่บ้าน-หยุดเชื้อ-เพื่อชาติ สำหรับคนทำงานรับจ้างรายวัน การหยุดคือการขาดรายได้ การกักตัวอยู่บ้านหมายถึงความล่มสลายของครอบครัว ไม่ใช่เพียงความน่าเบื่อในแบบที่คนชั้นกลาง-สูง รู้สึก

เพื่อที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและรับมือกับโรคร้าย รัฐบาลต้องดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และยารักษาโรค ให้เพียงพอและทันต่อสถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้มีไม่เพียงพอและไม่ทราบว่ารัฐบาลได้ดำเนินการตระเตรียมเรื่องนี้ไปแค่ไหนอย่างไร และการเตรียมการในเรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเกี่ยวข้องหรือจำเป็นที่จะต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

คำถามที่ 3: มีแผนการหรือแนวทางในการบริหารจัดการประเทศจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร

รัฐบาลควรจะประกาศต่อประชาชนว่า นอกเหนือจากการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลมีแผนการและแนวทางบริหารจัดการการระบาดอย่างไรบ้าง ซึ่งในประเด็นนี้ได้มีตัวแบบของมาตรการและแนวทางในการจัดการการระบาดที่ประสบผลสำเร็จในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือไต้หวันมาแล้ว เช่น ในกรณีของไต้หวันนั้น รัฐบาลเน้นไปที่การตรวจคัดกรอง ติดตาม ห้ามคนเข้าประเทศ (ซึ่งประเทศไทยน่าจะเลยจุดนี้มาแล้ว) และใช้เทคโนโลยี รวมทั้ง Big data (ที่รัฐบาลชอบกล่าวถึงมาโดยตลอด) ในการช่วยหยุดยั้งการระบาดอย่างได้ผล รวมถึงมาตรการง่ายๆ เช่น การห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ

มาตรการเหล่านี้กระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

นอกจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลควรประกาศแนวทางบริหารจัดการผลพวงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการระบาดของ Covid-19 ด้วย เพราะวิกฤตการณ์ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ลึกซึ้ง กว้างขวาง และยาวนานอย่างแน่นอน ที่ปรากฏชัดในขณะนี้คือ การหยุดชะงักของภาคการผลิตที่แท้จริง โดยเฉพาะเจ้าของกิจการและคนงานในภาคการขายส่ง ขายปลีก โรงแรม และภัตตาคาร ที่มีจำนวนถึงร้อยละ 39.6 ของแรงงานไทย (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2554)

เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า ในท้ายที่สุดผลกระทบจากภาคการผลิตที่แท้จริงก็จะลามไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยด้วย การดำเนินมาตรการเยียวยาตลาดเงินตลาดทุนอย่างแยกส่วน โดยไม่มีมาตรการที่ลงมาถึงเศรษฐกิจฐานรากและประชาชนทั่วไปในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริงจึงไม่เพียงพอ แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาประชาชนบางส่วนบ้างแล้ว แต่ก็นับว่ายังเป็นมาตรการที่น้อยเกินไปทั้งในเรื่องของปริมาณเงิน และเล็กเกินไปในเรื่องของความครอบคลุม

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้ออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ เพื่อจัดหางบประมาณสำหรับแก้ไขวิกฤติ Covid-19 ในวงเงินประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องติดตามดูว่างบประมาณส่วนนี้จะกระจุกตัวอยู่กับตลาดเงินตลาดทุนหรือไม่

พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้อำนาจบุคคลและกลุ่มบุคคลในการจัดการสภาวะที่ยุ่งเหยิง ไม่มีระเบียบ ให้อยู่ในระเบียบ การสร้างระเบียบแตกต่างจากการทำให้เงียบ เพราะความเงียบไม่เท่ากับระเบียบ บ่อยครั้งความเงียบคือความโกลาหลที่รอเวลาอุบัติ เมื่อจะใช้อำนาจสร้างระเบียบก็ควรจะต้องประจักษ์ชัดว่า สิ่งใดไม่อยู่ในระเบียบ สิ่งใดเป็นปัจจัยทำให้สังคมไร้ระเบียบ

การบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ให้ภาพว่ารัฐบาลขาดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการประมาทดูเบาการระบาดของโรค ข่าวอื้อฉาวที่พัวพันคนในรัฐบาลเกี่ยวกับการกักตุน-ส่งออกหน้ากากอนามัยในยามที่ทั่วประเทศต้องการใช้และขาดแคลน การให้ข่าวสารที่ขัดแย้งกันเองของภาครัฐ การช่วยเหลือประชาชน เช่น การจัดหาหน้ากากอนามัยหรือสินค้าราคาสมเหตุสมผลมาจำหน่าย หรือการให้เงินช่วยเหลือ ก็นำไปสู่การทำให้ประชาชนมาชุมนุมกันโดยไม่จำเป็น เป็นต้น

ดังนั้นอำนาจที่ได้มาและมีอยู่ ควรนำไปจัดระเบียบรัฐก่อน รัฐบาลควรจะเริ่มพิจารณาได้แล้วว่าอะไรห้ามทำ อะไรควรทำ และอะไรต้องทำ

การริบสิทธิเสรีภาพและการควบคุมประชาชน ไม่ใช่สิ่งแรกและสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่รัฐควรคำนึงถึงในการบริหารจัดการยามวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติอันเกิดจากโรคระบาด

Author

เอกสิทธิ์ หนุนภักดี
ปัจจุบันสอนวิชาสังคมวิทยาการเมืองอยู่ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า