ความยุติธรรมคืออะไร

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ฟรอยด์เขียน สำหรับจิตใต้สำนึกแล้วความยุติธรรมหมายถึง “ถ้าเราไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ คนอื่นไม่ควรได้รับอนุญาตด้วยเช่นกัน”

According to Freud the unconscious basis of the concept of justice is the idea: “What I am not permitted to do, no one else should be permitted, either”

ฟรอยด์เขียนต่อไปว่าความยุติธรรมสัมพันธ์กับคำว่าสมมาตรด้วย “ถ้าอะไรเกิดกับมือขวาก็จะต้องเกิดกับมือซ้ายด้วย หากมีอะไรเกิดขึ้นกับเด็กก็ควรเกิดขึ้นกับพี่น้องด้วยเช่นกัน”

There is a relationship between justice and symmetry. “It is fair that what happened to the right must happen to the left.” “Symmetry is achieved if what happened to a child happens to the other brothers and sisters as well.”

Otto Fenichel. The Psychoanalytic Theory of Neurosis, 1946.

                                

ส่วนที่ว่าด้วยสมมาตรนี้เป็นส่วนที่ผมชอบมาก ตั้งแต่วันที่รับราชการใหม่ๆ จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ได้ยินในห้องประชุมเป็นระยะๆ เวลามีการโต้เถียงเรื่องความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม แล้วแต่คำศัพท์จะเรียกขาน มักจะมีใครสักคนพูดว่า “นิ้วมือสิบนิ้วของคนเรายังไม่เท่ากันเลย โลกจะมีความยุติธรรมได้อย่างไร” ประมาณนี้

ผมรำคาญประโยคนี้เสมอมา ได้ยินทีไรก็หงุดหงิดด้วยอับจนปัญญาว่าไม่รู้จะสรรหาคำพูดอะไรมาเถียง สติปัญญามีเพียงว่านี่ไม่ควรเป็นอุปมาอุปไมยที่ยอมรับได้ ไม่รู้ไปขุดเอามาจากไหน แต่ดูเหมือนมันจะรับใช้ความต้องการของสังคมได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว นั่นคือ “คนเราเกิดมาไม่เท่ากันแล้วจะเรียกร้องหาความยุติธรรมได้อย่างไร” ก็อาจจะจริงแต่ยอมรับมิได้

จำได้ว่ามีครั้งหนึ่งเป็นนายแพทย์รุ่นพี่ซึ่งผมเคารพมาก มิใช่เพียงเคารพมากแต่เป็นผู้มีพระคุณคอยดูแลตัวผมเองครั้งที่เรียนจบออกจากกรุงเทพมหานครมาทำงานที่จังหวัดเชียงรายใหม่ๆ วันนั้นที่ประชุมคุยกันเรื่องช่องทางพิเศษสำหรับผู้มีอุปการคุณของโรงพยาบาล ระหว่างที่แสดงความเห็นกันนั้นเอง รุ่นพี่พูดขึ้นว่า “นิ้วมือสิบนิ้วของคนเรายังไม่เท่ากันเลย โลกจะมีความยุติธรรมได้อย่างไร” เพื่อปรามผู้ที่ค้านให้ยอมรับข้อเสนอนี้เสียดีๆ ใครบางคนในจังหวัดควรมีช่องทางพิเศษ

ที่จริงเวลานั้นตัวผมเองมิได้ว่าอะไร มีติดใจเพียงว่าผู้มีอุปการคุณควรหมายถึงอะไร ใคร กินความแค่ไหน พูดง่ายๆ ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอุปการคุณไหม แล้วหัวหน้าส่วนราชการอื่นๆ แม้กระทั่งนักข่าวส่วนท้องถิ่น อีกทั้งภริยาของท่านต่างๆ จะเป็นผู้มีอุปการคุณไหม หรือแม้กระทั่งผู้บริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีเกณฑ์การบริจาคหรือเปล่า มากเพียงไร บ่อยแค่ไหน บัตรผู้มีอุปการคุณนี้มีวันหมดอายุหรือเปล่า

ความขี้สงสัยมีสารพัดให้สงสัยด้วยพอจะรู้อยู่ว่าบัตรผู้มีอุปการคุณมิได้มีประโยชน์อะไรมากนักในสังคมของเรา ด้วยใครบางคนย่อมได้สิทธิพิเศษนี้โดยชาติกำเนิดหรือด้วยสถานะทางสังคมอยู่แล้วแม้จะไม่มีบัตรอะไร แค่ใบหน้าก็พอ

ถึงวันนี้ เราเห็นตัวอย่างที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ ผู้มีอุปการคุณโรงพยาบาลและครอบครัวเข้าถึงวัคซีนที่ดีมีคุณภาพก่อน หรืออย่างน้อยมีสิทธิซื้อวัคซีนที่ดีมีคุณภาพก่อนที่จะปล่อยออกสู่สาธารณชนอย่างเท่าเทียม มีตัวอย่างให้เห็นเป็นระยะกับกรณีโรงพยาบาลขนาดยักษ์ในกรุงเทพฯ และมีให้เห็นในโรงพยาบาลต่างจังหวัดบางแห่ง

เมื่อไปเรียนจิตเวชศาสตร์กลับมาอีกครั้งจึงรู้ว่าเรื่องนิ้วมือสิบนิ้วไม่เท่ากันคนเราย่อมไม่เท่ากันนี้ ที่แท้มาจากจิตใต้สำนึกของมนุษยชาตินี้เอง มิหนำซ้ำมีเขียนเอาไว้ในตำราด้วย ตำราที่อ่านเป็นภาษาอังกฤษใช้คำว่า symmetry ไม่ทราบว่าฟรอยด์ใช้ภาษาเยอรมันว่าอะไร เวลาอ้างอิงฟรอยด์มีเรื่องที่เราควรระวังเสมอคือฟรอยด์เขียนเป็นภาษาเยอรมัน การถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษจึงคลาดเคลื่อนได้ เมื่อแปลเป็นภาษาไทยสามารถคลาดเคลื่อนได้ซ้ำสอง นอกจากนี้ผมมักจะมีประโยคตามเสมอคือ ‘ถ้าฟรอยด์ถูก’ ด้วยเหตุที่ฟรอยด์อาจจะผิดได้บ้างเมื่อเวลาผ่านมาร้อยปี แต่ด้วยประสบการณ์ส่วนตัวผมพบว่าส่วนใหญ่ถูก

เขียนเพี้ยนไปอีกนิดหนึ่งว่า “ถ้าเราทำไม่ได้ คนอื่นต้องทำไม่ได้ด้วย” คือความยุติธรรม ซึ่งฟรอยด์ใช้คำว่า justice เชื่อว่าประโยคนี้ถูกแปรรูปต่อไปเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป “ถ้าเราไม่ได้ คนอื่นต้องไม่ได้ด้วย” หรือ “ถ้าคนอื่นทำได้ เราต้องทำได้ด้วย”

คราวนี้ก็ลองยกตัวอย่างเถอะครับ จะพบว่าจิตใจคนเราไปเรื่อยๆ ได้สนุกมาก เช่น ถ้าคนอื่นรุกป่าได้ เราควรรุกได้ด้วย ถ้าสร้างรีสอร์ตในเขตป่าไม่ผิด สร้างกระต๊อบอยู่ย่อมไม่ผิดเช่นกัน แล้วก็มาเรื่องวัคซีนถ้าคนอื่นได้วัคซีนดีๆ ได้อย่างรวดเร็ว เราก็ควรได้เช่นกันตั้งแต่แรก

สำหรับท่านที่สูญเสียพ่อแม่ คนรักหรือบุตรไปในวิกฤตการณ์โควิด-19 ช่วงที่มีผู้ป่วยวันละ 20,000 คน เสียชีวิตวันละ 200 คน ตามตำราแล้วย่อมมีจิตใต้สำนึกที่ไม่สงบจนถึงทุกวันนี้แน่ ประเด็นคือพวกเขามิได้เรียกร้องความยุติธรรม เป็นจิตใต้สำนึกของมนุษย์เองที่เรียกร้อง และถ้าไม่สามารถก้าวผ่านได้จิตใจย่อมไม่สงบไปอีกนาน

จึงว่าความผิดพลาดบางเรื่อง จำเป็นต้องได้รับการชำระ เรื่องวัคซีนนี้ก็เช่นกัน

ถ้าฟรอยด์ถูก ความไม่ยุติธรรมที่เราเห็นวันนี้จะสร้างผู้ป่วยจิตเวชในสังคมขึ้นมาอีกมาก ไม่นับว่าได้สร้างบุคลิกภาพหลงตนเองและต่อต้านสังคม (Narcissistic & Sociopathic personality disorder) ขึ้นมาจำนวนหนึ่งก่อนแล้ว

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า