ความเสียหายระยะยาวในยุคพัฒนาการถดถอย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

ปิดเทอมยาวนานทำให้เด็กๆ ถดถอย ความข้อนี้เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากยังไม่เข้าใจได้มากพอ วันนี้จะอธิบายอีกครั้งหนึ่ง

พัฒนาการทุกเรื่องของเด็กๆ มีเวลาวิกฤติในตัวเอง หมายความว่าถ้าเด็กๆ ไม่ทำอะไรบางอย่างในปีนั้นๆ เราจะไม่ได้ทำอีกหรือทำได้ยาก เหตุที่ทำได้ยากเพราะว่าเด็กๆ จะสนใจและมีหน้าที่ต้องพัฒนาเรื่องถัดไป

จะว่าไปก็คล้ายเรื่องเด็กสอบตก เด็กสอบตกแทนที่จะให้เขาสอบเรื่องเดิมจนกว่าจะเข้าใจ แต่เรามักออกข้อสอบใหม่ให้เขาตกซ้ำ เวลาที่เสียไปในการตกซ้ำทำให้งานใหม่ไหลเข้ามาพอกหนาขึ้นทุกวันจนกระทั่งทำไม่หวาดไม่ไหว สุดท้ายไม่ได้อะไรเลยทั้งเรื่องเก่าและเรื่องใหม่

กลับมาที่เรื่องพัฒนาการ เวลาเด็กๆ พัฒนาติดขัดที่เขาต้องทำคือซ่อมแซมหรือชดเชย

ยกตัวอย่าง

เรามีคำแนะนำที่ชัดเจนจากสมาคมกุมารแพทย์ทั่วโลกว่า ไม่ควรให้เด็กเล็กดูหน้าจอก่อนอายุ 2 ขวบ เหตุเพราะ 2 ขวบปีแรกเป็นเวลาวิกฤติของการสร้างใบหน้าแม่ตามด้วยการสร้างแม่ หากปล่อยให้เด็กดูหน้าจอมากเกินไปในแต่ละวันและถ้าเด็กคนนั้นโชคไม่ดี เขาจะสร้างวงจรประสาทเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับจอสี่เหลี่ยม มากกว่าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับวงกลมสองวงและรอยยิ้ม  

นั่นคือดวงตาและริมฝีปากของแม่

เป็นไปได้ว่าเขาจะไม่สบตา มองผ่านดวงตาแม่เลยไปด้านหลัง และไม่ยิ้มตอบเมื่อแม่ยิ้มให้ ตามด้วยไม่พูด และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นติดตามมา เราเรียกภาวะนี้ว่าออทิสติกเทียม  

เรารักษาออทิสติกเทียมได้ คือพฤติกรรมไม่สบตาแม่ที่เกิดจากการดูหน้าจอมากเกินไป นี่มิใช่ออทิสติกแท้ที่เกิดจากปัจจัยทางชีววิทยาแท้ๆ ซึ่งยากต่อการรักษามากกว่า เด็กดูหน้าจอมากไปจนเกิดเหตุเราก็หยุดหน้าจอ สมมุติว่าเด็กมีอาการออทิสติกเทียมที่อายุ 2 ขวบครึ่ง คือไม่สบตาแม่ ไม่ยิ้มให้แม่ ไม่สนใจแม่  เราหยุดหน้าจอทันที

เมื่อเราหยุดหน้าจอที่ 2 ขวบครึ่ง สมมุติเด็กพัฒนาคืนมาเป็นปกติที่อายุประมาณ 4 ขวบ เขาสบตาแม่และพูดได้เล็กน้อยแล้ว เรื่องที่อยากให้ทุกท่านเข้าใจคือ ‘เวลาที่สูญหาย’ ระหว่าง 2 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบนั้นเราไม่มียาให้กินเพื่อเอาเวลาคืนมา กับไม่มีทางลัดที่จะเอา ‘พัฒนาการที่สูญหาย’ ซึ่งควรกินเวลา 1 ปีครึ่งนั้นคืนมา   

พูดง่ายๆ ว่าเด็กคนนี้จะล้าหลังอยู่ 1 ปีครึ่งไปพักใหญ่ อาจจะค่อยๆ พัฒนาและพยายามสปีดเอาคืนมาได้ทีละเล็กละน้อย ในที่สุดก็อาจจะทำสำเร็จที่อายุ 6-7 ปี หรือมากกว่า

แต่หืดขึ้นคอ

เพราะอะไรจึงหืดขึ้นคอ เพราะระหว่างที่เขาพยายามเร่งความเร็วของพัฒนาการให้ทันเด็กคนอื่นที่อายุเท่ากัน โจทย์พัฒนาการใหม่ๆ ของช่วงชั้นอายุต่างๆ ก็หลั่งไหลเข้ามาทับถม ไหนของเก่าก็ต้องทำ ไหนของใหม่ก็ต้องเอา อะไรๆ จึงติดขัดไปหมดนับแต่นั้น ซ่อมแซมได้บ้างไม่ได้บ้างไปเรื่อยๆ สุดท้ายพัฒนาการก็กะพร่องกะแพร่ง มีรอยโหว่เป็นจุดๆ ไม่รู้ที่ไหนบ้าง

แม้แต่จิตแพทย์และนักจิตวิทยาก็งง 

ควรรู้ว่าตอนที่เด็กดูหน้าจอ เขาอาจจะโชคดีมิได้เป็นออทิสติกเทียม แต่ออทิสติกเทียมหรือความพร่องของพัฒนาการใดๆ มิใช่ปรากฏการณ์มีหรือไม่มี (all-or-none) แต่อาจจะมีนิดหน่อย มีปานกลาง หรือมีมากที่สุดได้ เด็กคนหนึ่งมิได้เกิดอาการออทิสติกเทียมขั้นสูงสุดเสมอไป แต่ที่เกิดแน่คือความกะพร่องกะแพร่งของพัฒนาการเป็นจุดๆ กระจัดกระจายไปทั่วรากฐาน แล้วเราไม่รู้ว่าตรงไหนบ้าง

คือตึกที่รอวันถล่มเมื่อสร้างสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เวลาเด็กติดขัด อาจจะมีปรากฏการณ์อีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วย หนึ่งคือการติดขัด เรียกว่า fixation สองคือการถดถอย เรียกว่า regression  

เปรียบง่ายๆ เหมือนเราขับรถไปแล้วพบการจราจรติดขัด เราทำได้สองวิธีคือติดต่อไปหรือถอยหลังไปตั้งหลักใหม่

การถอยหลังไปตั้งหลักใหม่ทำได้สองวิธีคือ หนึ่งไปนอนดีกว่า สองคือหาทางลัดชอร์ตคัตเพื่อจะไปต่อไป เราพบว่าสำหรับเรื่องพัฒนาการแล้วเด็กๆ มักจะทำประการแรกมากกว่าคือ ไม่ทำอะไรแล้ว

การหาทางลัดชอร์ตคัตเพื่อซ่อมแซมหรือชดเชยพัฒนาการเป็นเรื่องทำได้ แต่ก็ต้องการคำแนะนำพิเศษไปจนถึงการลงมือช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญ คือจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือพยาบาลกระตุ้นพัฒนาการ

เมื่อเด็กๆ ปิดโรงเรียนบ่อยครั้ง ทุกครั้งที่ปิดก็ไม่มีอะไรก้าวหน้ามากนัก เพราะเราเรียนออนไลน์ด้วยวิธีดั้งเดิมเสียมาก คือตั้งกล้องสอนแล้วถ่ายทอดมาที่บ้าน ไม่นับว่าบางแห่งเรียนวันละ 6-8 ชั่วโมง จริงๆ แล้วมีการบ้านวันละ 6-8 ชิ้นอีกต่างหาก (เพราะเป็นภารกิจของครูที่จำเป็นต้องสอนให้หมดก่อนปิดภาคการศึกษาของปีนั้นๆ)

ผลลัพธ์ที่ได้คือ เด็กไม่ได้ความรู้อะไรดังคาดหวัง แต่ที่เสียหายมากกว่าการไม่ได้ความรู้คือ เด็กมีพัฒนาการติดขัดและบางคนถดถอย    

เด็กๆ พัฒนาด้วยวิธีมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่ หรือปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ในกรณีนี้คือเพื่อนๆ ที่โรงเรียน เด็กๆ มิได้พัฒนาด้วยการนั่งทางในหรือเข้าฌานอยู่ที่บ้าน สำหรับเด็กอนุบาลการเล่นคนเดียวมิใช่เรื่องเสียหาย แต่การได้ออกไปเล่นกับมนุษย์คนอื่นบ้างเป็นเรื่องดี สำหรับเด็กประถมการไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมากพอเป็นเรื่องเสียหาย

เด็กที่เรียนด้วยโฮมสคูลกลับเสียหายน้อยกว่า เหตุเพราะพ่อแม่ที่ตัดสินใจทำโฮมสคูลได้ระวัง (aware) เรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว พวกเขามีวิธีที่จะให้เด็กได้พบปะหรือเรียนรู้ร่วมกันกับ ‘สังคม’ รอบตัวตามความเป็นจริงตั้งแต่แรก โดยไม่ต้องไปนั่งรวม 40-50 คนที่ห้องเรียน แต่สำหรับพ่อแม่ที่มิได้ตั้งตัวมาเพื่อการโฮมสคูล การปิดโรงเรียนสร้างความเคว้งคว้างมากกว่ามาก

อ่านถึงตรงนี้ พยายามไม่สับสนระหว่างเรื่อง ‘การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น’ กับเรื่อง ‘การเข้าสังคม’ สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ความข้อนี้ติดไว้ก่อน ไว้จะกลับมาเล่าใหม่

เวลาผ่านมา 1 ปีครึ่งแล้ว และเรายังไม่เห็นนวัตกรรมการศึกษาเลย นอกเหนือจากเรื่องปิดทั้งหมดหรือเปิดทั้งหมด (all-or-none) ไม่มีความพยายามจะถักทอโรงเรียนต่างๆ เข้าสู่นิวนอร์มอลตามสโลแกนที่ให้ไว้ เราทำได้เพียงสร้างคำศัพท์ออนไซต์ ออนไลน์ ออนนั่น ออนนี่ ที่เขียนในประกาศปิดโรงเรียนเป็นระยะๆ

1 ปีครึ่งเป็นเวลาที่นานมาก เป็นเวลาวิกฤติของพัฒนาการหลายเรื่อง ของแต่ละช่วงชั้น ของพัฒนาการ ของเด็กแต่ละคน ทุกเดือนที่ผ่านไปเด็กจะติด – fixate หรือถอย – regress ไม่มากก็น้อย

เหล่านี้เป็นการขาดทุนครั้งใหญ่ของทุกคน ของเจเนอเรชั่น และของประเทศ

Author

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
คุณหมอนักเขียนผู้มีความสนใจที่หลากหลาย ตั้งแต่ การ์ตูน หนังสือ ภาพยนตร์ สุขภาพกายและจิต การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ นับเป็น Influencer ขวัญใจของเหล่าพ่อๆ แม่ๆ ด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วยมุมมองที่สมจริง ไม่โรแมนติไซส์

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า