เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์: The Last Breath of Samyan ลมหายใจเฮือกสุดท้ายในหน้าประวัติศาสตร์สามย่าน

ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง พื้นที่ประวัติศาสตร์สุดท้ายในชุมชนสามย่าน 

ยืนหยัดและต่อสู้กับการไล่รื้อของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

The Last Breath of Samyan คือภาพยนตร์สารคดีสะท้อนลมหายใจของชุมชนสามย่านที่ยังคงรอการตัดสินจากกระบวนการทางกฎหมาย 

ลมหายใจที่หวังพึ่งการส่งเสียงของผู้คน เพื่อดำรงอยู่ต่อไป

ลมหายใจ… เฮือกสุดท้ายที่แน่วแน่ ตั้งตรง และเปี่ยมไปด้วยความหวัง

“คิดว่าภายในปลายปีนี้ก็จะรู้คำตอบแล้วครับ ว่าศาลเจ้าแม่จะได้หายใจต่อไหม” เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวยิ้มๆ หลังจากที่เราพูดคุยกันมาระยะหนึ่ง

‘หายใจต่อ’ เป็นคำที่ผู้กำกับคนนี้เลือกใช้ อาจเพราะศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นทื่อๆ มันกอปรไปด้วยจิตวิญญาณ สร้างขึ้นด้วยความประณีต ความเชื่อและความศรัทธา นี่คือมรดกทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม การไล่รื้อถอนสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ จึงไม่ใช่เพียงการทุบทิ้ง แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นการหยุดลมหายใจของชุมชนสามย่านไปพร้อมๆ กันด้วย

The Last Breath of Samyan เริ่มต้นจากอะไร

อย่างที่เราทราบกันว่าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ เขาพยายามพัฒนาพื้นที่ตามแผนพัฒนาเมืองของเขา เปลี่ยนชุนชมดั้งเดิมให้เป็นศูนย์การค้า เป็นอาคารพาณิชย์ เป็นคอนโด พูดง่ายๆ ว่าทำกำไรให้มากที่สุดจากพื้นที่ที่มีอยู่ ซึ่งสิ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ก็คือศาลเจ้าแม่ทับทิม เป็นสถานที่สุดท้ายที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 

ปัจจุบัน พี่นก ​(เพ็ญประภา พลอยสีสวย) ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกฟ้อง 4,600 ล้าน เป็นคดีความกันในชั้นศาล ทีนี้กระบวนการก็ยื้อมาเรื่อยๆ ครับ ความหมายของคำว่า ‘ลมหายใจสุดท้าย’ เฮือกนี้ ผมคิดว่าเป็นเฮือกที่ยาวหน่อย คนที่เคยสัมผัสกับผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็น่าจะรู้ว่ามันเป็นเฮือกที่ทรมาน ก่อนหน้านี้เขามีคำสั่งให้พี่นกย้ายออกนานแล้ว แต่ผมคิดว่ากระบวนการทางสังคมก็กดดันให้พี่นกอยู่ต่อ และตัวพี่นกเองก็เป็นนักสู้ด้วย ไม่ยอมถอย ก็เลยอยู่มาถึงปัจจุบันนี้

จริงต้องๆ บอกแบบนี้ว่า หนังเรื่องนี้เราทำกัน 2 ขยัก คือมีทีมเก่าเขาทำ แต่เขาทำไม่จบ ซึ่งเขาทำดีนะครับ แต่ติดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาและงบประมาณ ช่วงนั้นผมเพิ่งฉายเรื่อง 18 ปี ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง พอหนังจบแล้ว แฟรงก์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล) ก็มาคุยกับผมว่า มาช่วยสานต่อโปรเจกต์ได้ไหม เขาก็ไปถ่ายเพิ่มอีกเยอะพอสมควรนะครับ แล้วก็มาตัดต่อใหม่หมด งานเก่าจริงๆ เขาก็ทำดีเหมือนกัน แต่ว่าเขาทำเป็นสารคดีเชิงข่าว ทีนี้ผมเอามาตัดต่อใหม่ให้เป็นสารคดีที่มีความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น

ความผูกพันของคนในพื้นที่ต่อศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง เป็นอย่างไรบ้าง

ผมว่าความรู้สึกเหมือนผัวเมียหย่าร้าง คือเขาอยากอยู่ แต่มันอยู่ไม่ได้ ต้องแบกรับค่าเช่าที่มากขึ้นทุกวัน พอจ่ายไม่ไหวก็ต้องย้ายออก มันเหมือนผัวเมียที่อยู่กินกันมานาน จนถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่าจะหย่าร้างหรือเปล่า จะจบความสัมพันธ์นี้อย่างไร มันเป็นความสัมพันธ์แบบ toxic relationship น่ะครับ

ทำไมจึงเลือกที่จะเล่าผ่านภาพยนตร์เชิงสารคดี

เราคิดว่าเราไม่อยากให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมจบอยู่แค่ #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ในทวิตเตอร์ แล้วก็ไม่อยากให้เป็นสกู๊ปข่าวหรือรายการ ซึ่งจริงๆ ผู้กำกับหรือทีมสร้างเดิมก็คิดไว้ดีแล้ว ในแง่ที่ว่ามันย่อยง่าย มีข้อมูลครบถ้วน เพียงแต่ผมอยากให้ประเด็นนี้เข้าไปอยู่ในแวดวงที่ไกลออกไปจากนักกิจกรรมด้วย ก็คือแวดวงบันเทิง แวดวงคนทั่วไป สุดท้ายก็เลยเป็นภาพยนตร์เชิงสารคดี

ถือเป็นแนวที่คุณถนัดอยู่แล้วใช่ไหม

ก็…ใช่ครับ จริงๆ ผมก็ทำหนังสารคดี ก่อนหน้านี้ก็ทำหนังสั้น ทำเอ็มวี ทำหนังทดลอง ก็ทำทุกแนวนะครับ แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ

ใครควรดูหนังเรื่องนี้

ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นปัญหาทั่วโลกนะ ไม่ใช่แค่ในไทย คือต่อให้เราไม่ได้อยู่แถวสามย่าน ไม่ได้เรียนอยู่จุฬาฯ แต่มันก็กระทบกับเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไอเดียการพัฒนาเมืองแบบที่สามย่านกำลังเผชิญอยู่นี้มันกำลังกระจายตัวไปทั่วประเทศ เราไม่มีทางรู้เลยว่า อนุสาวรีย์หรือแหล่งประวัติศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ จะหายไปพร้อมกับไอเดียนี้ด้วยหรือเปล่า 

ผมคิดว่า คนที่เชื่อว่าการพัฒนาเมืองไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับคุณค่าประวัติศาสตร์เนี่ย ก็ควรมาดูหนังเรื่องนี้ แล้วก็ช่วยแชร์ ช่วยส่งต่อหน่อยครับ ที่เราตั้งใจจะฉาย The Last Breath of Samyan ในช่วงเดือนนี้ก็เพราะว่าจะมีการสืบพยานอีกครั้งในกระบวนการไล่รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิม คือกระบวนการทางกฎหมายก็เรื่องหนึ่ง แต่กระบวนการทางสังคมที่ผู้คนจะช่วยกันส่งเสียงก็เป็นส่วนที่สำคัญ

อะไรคือความแตกต่างระหว่างศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง กับศาลเจ้าแม่ทับทิม จุฬาฯ

สารคดีของเรามีการเปรียบเทียบคุณค่าทางประวัติศาสตร์เดิมกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร จริงๆ ต้องแจ้งแบบนี้ครับว่า ณ วันที่เราคุยกันปัจจุบัน (13 มิถุนายน 2566) ถ้าเสิร์ชแผนที่หาศาลเจ้าแม่ทับทิม มันจะไปเจอที่อื่นนะครับ ที่ไหนก็ไม่รู้ คงมีฝ่ายที่เขาไม่ได้สนับสนุนการมีอยู่ของศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิม ไปปักหมุดเอาไว้ ก็เป็นการเล่นเชิงเทคนิคอะไรแบบนี้

ในแง่คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม หรือความรู้สึกของคน มันต่างกันอย่างไรบ้าง

ในสารคดีจะมีคนพูดถึงในเชิงสถาปัตยกรรม การออกแบบศิลปะแบบแต้จิ๋ว แต่ผมจะพูดในเชิงคนทำหนัง อย่างเวลาเราทำหนัง หนึ่งในกระบวนการสำคัญก็คือการหาสถานที่ หาโลเคชัน โดยอาชีพผมเองก็ไปดูมาหลายจุด เราดูแว๊บเดียวก็รู้ว่ามันต่างกัน อันนึงมันของแท้ กับอีกอันนึงมันประดิษฐ์มาก ถ่ายมุมไหนก็ดูปลอมไปหมดถ้าให้พูดตามตรง

ดูเหมือนว่าศาลที่จุฬาฯ สร้างขึ้นใหม่จะมีปัญหาเรื่องตัวอักษรจีน ข้อห้ามทางพิธีกรรม และการอัญเชิญเทพเจ้าจีนแบบผิดๆ ด้วยใช่ไหม

ถูกต้องครับ จริงๆ ตัวสถาปัตยกรรมเนี่ย ถ้าดูในหนังก็จะมีข้อมูลเหล่านี้ เช่น เรื่องแสงสว่างกับความร้อนในศาลใหม่ ไม่แคร์เรื่องทิศทางลม ในขณะที่ศาลเก่าไม่ต้องเปิดไฟก็อยู่ได้ 

แต่ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมก็เรื่องหนึ่ง แต่เรื่องคุณค่าทางจิตใจน่ะสิสำคัญ สถานที่นี้อยู่มาตั้งแต่ก่อนพ่อแม่เราเกิดด้วยซ้ำ แต่วันหนึ่งมันหายไปด้วยเหตุผลที่ต้องการจะทำกำไรสูงสุดจากที่ดินตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เหตุผลที่ควรจะยกมาคุยกัน

คนที่ออกมาขับเคลื่อนประเด็นนี้ นอกจากคนในพื้นที่แล้ว ทำไมถึงมีนิสิต นักศึกษา หรือเยาวชน มาร่วมด้วย

ตรงนี้น่าสนใจนะครับ หลายครั้งเราอาจเข้าใจว่าคนรุ่นใหม่มักจะพยายามรื้อถอนสิ่งเก่าๆ แล้วนำเทคโนโลยีเข้ามาแทน แต่กลายเป็นว่าคนที่มาปกป้องเรื่องนี้เป็นคนรุ่นใหม่เสียส่วนใหญ่ แล้วก็เริ่มจากคนรุ่นใหม่ด้วย ผมคิดว่าเพราะเขาเห็นความสำคัญตรงนี้แหละ แน่นอน การพูดว่าเขาเห็นความสำคัญมันอาจฟังดูง่ายไป แต่นั่นเป็นเพราะเขาเชื่อมโยงตัวเองกับพื้นที่ตรงนั้น เขารู้สึกว่ามันเป็นของเขา แล้วผมคิดว่าความรู้สึกนี้มันจำเป็น 

สำหรับประเทศประชาธิปไตย ความรู้สึกว่าถึงการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของคือสิ่งสำคัญ เพราะพื้นที่ทางประวัติศาสตร์มันเชื่อมโยงตัวเขากับจุฬาฯ เชื่อมโยงตัวเขากับชุมชน ถ้าใช้คำของอาจารย์วาสนา (รองศาสตราจารย์วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ) ก็คือมันเชื่อมตัวเขากับบรรพบุรุษของเขา 

อีกส่วนหนึ่งคือ เขาอาจไม่ได้สนใจหรือศรัทธาศาลเจ้าแม่ทับทิม แต่เขามองว่าจุฬาฯ ทำไม่ถูก ผมคิดว่าในยุคนี้การออกมาส่งเสียงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราเห็นว่าใครที่มีอำนาจใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง

การส่งเสียงของคนในสังคมมีผลแค่ไหนต่อความเป็นไปของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง

ผมว่าสองทางนะ หนึ่งคือถ้าเปิดให้มีการโหวต แน่นอนว่าตามกฎหมาย ที่ดินก็เป็นของเขา กฎเกณฑ์การเช่าก็เป็นของเขา เป็นของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ แต่ถ้าเราพอจะเป็นประชาธิปไตยทางตรงได้ อะไรที่เป็นทรัพย์สินร่วมกัน ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ก็ต้องตัดสินใจร่วมกัน ให้ชุมชม นิสิต นักศึกษา มีส่วนรวมในการตัดสินใจ ผมว่าเรื่องนี้ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

อีกส่วนหนึ่ง ผมว่ากระบวนการทางสังคม การมีส่วนร่วม การส่งเสียงสะท้อนมันสำคัญมาก เราเห็นตัวอย่างจากหลายเมืองนะครับ อย่างสารคดีเรื่อง Urbanized (2011) ที่ไปสำรวจการพัฒนาเมือง เขาใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมเยอะมาก ในการตัดสินใจว่าเมืองหนึ่งเมืองควรจะพัฒนาอย่างไร คนเล็กคนน้อยก็สามารถส่งเสียงได้ ผมคิดว่ามันควรจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น แน่นอน เราต้องยอมรับว่ากระแส #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ก็มีส่วนทำให้สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ หรือคนที่เชื่อว่าศาลเจ้าแม่ควรถูกรื้อ ชะลอการตัดสินใจไปด้วย

การที่มีนิสิตเป็น ‘คณะกรรมการ’ ของศาลเจ้าแม่ทับทิมด้วย สะท้อนถึงอะไรบ้าง

ผมว่ามันจุดประเด็นนะ ให้นิสิต นักศึกษา คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่ได้มีอำนาจมากมายในประเทศนี้ รู้สึกว่าเขาควรจะต้องมีส่วนร่วมกับสิ่งที่เขารัก กับสิ่งที่เขาเชื่อว่ามันควรจะคงอยู่ต่อไป อย่างนิสิตจุฬาฯ เขาสู้ทุกทาง พยายามกดดัน ส่งจดหมาย ประท้วง ในสารคดีก็จะได้เห็น action scene เหล่านี้

คาดหวังว่าสารคดีเรื่องนี้จะจุดประกายคนในสังคมอย่างไรบ้าง

การที่หนังเรื่อง The Last Breath of Samyan เข้าฉายที่ House Samyan ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แล้วผมมองว่าโรงก็ใจกว้างให้เราฉาย จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ผู้ผลิตหนังอย่างเดียวที่ควรจะถ่ายทอดประเด็นทางสังคมให้มากขึ้น แต่ว่าตัวโรงภาพยนตร์ คนดู นักวิจารณ์ ผมคิดว่าทุกฝ่ายก็ต้องมองคุณค่าในเชิงสังคมไปกับงานภาพยนตร์ด้วย 

ส่วนจะจุดประกายอะไรกับคนในสังคมไหม ผมไม่แน่ใจ (หัวเราะ) คุณคงต้องไปดูหนังก่อนว่า มันมีพลังเพียงพอไหม แต่แน่นอนว่ามันเป็นหนังอินดี้ เราไม่ได้ฉายเครือใหญ่ การที่จะมีคนมาดูเยอะแยะก็คงเป็นความฝัน

แต่ก็ดูมีคนสนใจไม่น้อย?

ก็หวังว่ายอดความสนใจจะกลายเป็นยอดขายตั๋ว (หัวเราะ) 

คิดว่าคนที่มีอำนาจทางวัฒนธรรมในไทยให้ความสำคัญกับอะไร

ถ้าพูดรวมๆ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องไทยนิยม ค่านิยม 12 ประการ ไทยนิยมไม่ใช่ไทยสากล ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเลยไปไหนไม่รอด อย่างการรำ น้อยมากที่จะเห็นภาครัฐสนับสนุนรำไทยแบบพิเชษฐ์ (พิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปิน นักออกแบบท่าเต้น) หรือหนังไทยแบบเจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เราไม่ค่อยเห็นรัฐสนับสนุนไทยสากล ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไทยนิยม เพราะเชื่อว่าการอนุรักษ์ของเก่าๆ โดยที่ไม่มีการตีความใหม่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ผมคิดว่าคนที่มีอำนาจในทางวัฒนธรรมในไทยยังสนับสนุนแบบนั้น

แต่ก็แน่นอนว่าภาคราชการหลายส่วนที่พยายามจะทำอะไรใหม่ๆ อย่างศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผมก็เห็นโปรเจกต์ดีๆ จากกองทุนสื่อสร้างสรรค์หรือแหล่งทุนเหล่านี้อยู่พอสมควร

วัฒนธรรมแบบไหนในไทยที่ยังไม่เห็น แต่อยากเห็น

ผมว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์ สมัยนี้เราเน้นไปที่คอนเทนต์ใช่ไหม (หัวเราะ) เราได้ยินคำพวกนี้จนเซ็งว่า ตกลงคอนเทนต์มันคืออะไร ทำหนังก็กลายเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ไปแล้ว เรามักจะโฟกัสที่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ บางส่วนก็จะโฟกัสที่ผู้จัดจำหน่ายไปต่างประเทศ แต่วัฒนธรรมการวิจารณ์ในประเทศเรามันน้อยมาก นักวิจารณ์ประเทศเราอยู่ไมได้ด้วยงานเขียนวิจารณ์ด้วยซ้ำ ผมคิดว่าจริงๆ ถ้าการวิจารณ์เราเข้มแข็ง บทหนังเราจะพัฒนาไปไกลมาก การวิจารณ์ที่เข้มข้น no mercy (ไม่ปรานีปราศรัย) ในหลายประเทศก็พูดถึงเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยแทบไม่มี นักวิจารณ์ไทยก็เป็นเหมือนนักรีวิวเสียส่วนใหญ่ ไม่ค่อยมีการวิจารณ์ในเชิงคุณค่าสักเท่าไร

เป็นไปได้ไหมที่ภาพยนตร์สารคดีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมจะได้โลดแล่นในโรงหนังเครือใหญ่บ้าง 

เอ่อ จริงๆ คือผมไม่เคยลองติดต่อ ไม่เคยติดต่อไปหาโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ คือถ้าผมติดต่อ เขาอาจจะเอาก็ได้นะ ผมไม่ทราบจริงๆ นอกจากฉายที่ House Samyan กับ Doc Club & Pub. แล้ว เราก็มีไปฉายงานอินดี้ต่างๆ ที่ต่างจังหวัดด้วย 8 กรกฎาคมนี้ ก็จะไปฉายที่เชียงใหม่ ในงาน Chiang Mai Book Fair มันจะเป็นการออร์แกไนซ์แบบนี้น่ะครับ เป็นงานของคนตัวเล็กๆ จัดงานเล็กๆ 

แต่สำหรับโรงใหญ่ เท่าที่พวกเราทุกคนทราบโดยทั่วไป หนังที่ไม่ได้รับความนิยมก็จะถูกลดรอบอย่างไม่เป็นธรรม หนังที่ได้รับกระแสนิยมก็จะถูกเพิ่มรอบอย่างเต็มที่ ซึ่งก็พูดยาก เพราะเขาก็เป็นภาคเอกชน ซึ่งสิ่งที่รัฐควรทำก็คือเพิ่มผู้เล่นที่สามให้มากขึ้น ขยายศักยภาพของโรงเล็กๆ ให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น หรือว่าเพิ่มโรงหนัง stand alone มากขึ้น

ผู้เล่นที่สามในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ควรเป็นอย่างไร

คือโรงหนังที่ฉายหนังอย่างเป็นธรรมกับผู้ผลิต เข้าใจประเด็นทางสังคม แน่นอนว่ากำไรก็เป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ แต่ก็ควรให้คุณค่ากับความเป็นภาพยนตร์มากขึ้น ถ้าเราอยากจะเห็นหนังไทยเติบโต พื้นที่ฉายเป็นส่วนสำคัญมาก

อย่าง The Last Breath of Samyan ก็มีโปรแกรมไปฉายที่เชียงใหม่ คิดว่าทำไมสารคดีเรื่องนี้ถึงได้รับความสนใจจากคนนอกพื้นที่

ผมว่าคนเขาอยากดูนะ ถ้าถามผมว่าทำไมเชียงใหม่ถึงเอาไปฉาย เอาจริงๆ ก็ไม่ทราบ ไม่เคยถามเหตุผลเขาเหมือนกัน เขาขอไปฉายเราก็ดีใจ เพราะเขาขายตั๋วให้เราด้วย (หัวเราะ) คงคล้ายๆ เวลาเราดูหนัง เราไม่ได้ดูเรื่องที่เชื่อมโยงกับตัวเองอย่างเดียว เราดูเรื่องที่มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรา แต่เราสนใจเรื่องนั้น อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง คงเหมือนเวลาเราดู The Little Mermaid มั้ง เราคงไม่เข้าใจว่าการเป็นเงือกเป็นยังไง แต่ว่าเราก็สนใจเรื่องแบบนี้เหมือนกัน

พูดถึงโรงตามต่างจังหวัดเนี่ย การจะดูหนังที่อินดี้หน่อย หรือหนังทุนต่ำสักเรื่องหนึ่ง ก็ต้องเข้ากรุงเทพฯ หรือรอลงแพลตฟอร์มออนไลน์ ผมเองก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับผู้ชมที่นั่นด้วย อย่างเรื่อง 18 ปี ความทรงจำ ความฝัน ความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตชายแดนใต้ ผมเอาไปฉายเชียงใหม่ซึ่งมีกรณีต่อต้านการสร้างมัสยิด มีกรณีการต่อต้านนิคมฮาลาล ผมเองก็อยากรู้ปฏิกิริยาผู้ชม

คิดว่าอะไรทำให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมหยัดยืนอยู่ได้ จนถือเป็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชุมชนสามย่าน 

ตอบได้สองแง่ครับ ในแง่สังคม มีแรงกดดันเยอะ ทั้งจากนักการเมืองและนักข่าวจำนวนมาก คนสามัญธรรมดาก็ออกมาร่วมกันส่งเสียง จุฬาฯ เขาจะทำอะไรก็ต้องคิดแล้ว แต่ถ้าสังคมปล่อยให้เรื่องนี้เงียบ เผลอๆ พรุ่งนี้เขาก็เข้าไปรื้อแล้ว 

อีกแง่หนึ่งคือทางกฎหมาย เราเปลี่ยนทีมทนาย 2 ครั้ง คือทีมแรกก็ทำดีมากนะครับ เขาทำทุกอย่างครบถ้วน แต่ด้วยระยะเวลาที่สู้มาตั้งแต่ปี 2562 พอเปลี่ยนทนายใหม่ เขาก็มีเทคนิคทางกฎหมายว่าจะต้องมีการสืบพยานนะ เพราะกระบวนการทางกฎหมายที่ผ่านมาขาดการสืบพยาน ผมคิดว่าภายในปลายปีนี้ก็จะรู้คำตอบแล้วครับ ว่าศาลเจ้าแม่จะได้หายใจต่อไหม

การสืบพยานครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

ภายในเดือนมิถุนายนนี้ครับ จะมีการสืบพยานอีกรอบ เรามีเฟสบุ๊ก The Last Breath of Samyan สามารถติดตามข่าวสารได้จากตรงนั้น แล้วจริงๆ ศาลเจ้าแม่ทับทิมก็มีทั้งเฟสบุ๊ก (เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง) และอินสตราแกรม (@dont_wreckmyhome) อินสตราแกรมก็จะโพสต์เรื่องน้องหมาในศาลเสียส่วนใหญ่

ทำไมถึงรับทำสารคดีเรื่องนี้ต่อจากทีมเดิม แล้วอะไรคือความคาดหวังในการทำหนังสารคดีเรื่องนี้

ส่วนตัวผมก็สนใจอยู่แล้ว คิดว่ามันมีมุมที่เราอยากเล่าเพิ่ม ประเด็นสังคมก็เป็นประเด็นที่เราสนใจอยู่แล้ว คือผมไม่ได้ทำแค่ในเรื่องการพัฒนาเมือง ส่วนใหญ่ก็ทำประเด็นสังคมทั้งหมด เรื่องเพศ ความเท่าเทียม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ก็เป็นประเด็นที่สนใจทั้งหมด เรื่องสารคดีก็คิดว่าเราพอจะช่วยได้ แล้วอีกอย่าง แฟรงก์ เนติวิทย์ เขาก็ขอมา 

ภาพยนตร์คือบันทึกประวัติศาสตร์ เพียงแต่บันทึกเรื่องนี้ยังเขียนไม่จบ จะเขียนจบหรือเปล่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับมุมทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่มันเกี่ยวข้องกับคนดูด้วย ว่าจะช่วยส่งเสียงเรียกร้องต่อไปอย่างไร หนังมันจบในตัวของมัน 75 นาที แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อคือบทสนทนาในสังคม ข่าวที่เอาไปตีความใหม่ๆ คนที่ช่วยกันเผยแพร่กระจายข่าวเรื่องนี้ให้กว้างขวางมากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่จะช่วยต่ออายุหรือลมหายใจของศาลเจ้าแม่ทับทิม

ในอีกแง่ผมก็อยากจะท้าทายวงการหนังไทยเหมือนกัน ที่ทุกวันนี้ก็มีหนังตลก หนังรักอะไรลักษณะนี้ เขาก็ทำดีของเขา แต่เราอยากจะเพิ่มเรื่องเล่าใหม่ๆ เข้าไปในแวดวง คือยังมีอีกหลายเรื่องนะที่น่าเล่าในประเทศไทย อย่างผู้ลี้ภัยที่ถูกกักตัวใน ตม. มาไม่รู้กี่ปีแล้ว หรือเรื่องอื่นๆ เยอะไปหมด

ภาครัฐหรือภาคเอกชนควรทำอย่างไร เพื่อผลักดันวงการหนังไทยให้ไปไกลกว่าแค่หนังรัก

คือภาครัฐเนี่ย ไอเดียความเป็นไทยของเขามีปัญหา เราก้าวไม่พ้นไทยนิยมอย่างที่ผมพูดไป ส่วนภาคเอกชน เราต้องการนักลงทุนที่กล้ามากขึ้น กล้าเสี่ยงมากขึ้น แน่นอนว่าอันนี้เป็นรสชาติใหม่ในสังคม เสี่ยงครั้งแรกๆ มันอาจจะไม่เวิร์กก็ได้ แต่มันจำเป็นต้องทำ คอนเทนต์เก่าๆ เราก็ตันกันหมดแล้ว หรือเราจะเล่าเรื่องหนังรัก หนังตลกไปอีก 20-30 ปี มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหมครับ ทั่วโลกเขาเปลี่ยนกันไปหมดแล้ว ผมว่ามันมีความจำเป็นที่เราต้องขุดคุ้ยเรื่องที่น่าสนใจในประเทศนี้ แล้วเล่าออกมาในเชิงภาพยนตร์ได้บ้าง เรามีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่เก่งมาก เล่าหลายประเด็นที่เป็นมุมสีเทาในประเทศนี้ด้วยซ้ำ อย่าง sex workers และอื่นๆ แต่ในแวดวงในภาพยนตร์เนี่ย ยังเห็นน้อยนะครับ

อะไรคือความยากลำบากในการทำหนังสารคดีที่พูดถึงผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมา

มี มีแน่นอน ผมคิดว่าเรื่องนี้พูดได้ จริงๆ เราก็ติดต่อขอสัมภาษณ์สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ด้วยนะ ตอนแรกเขาก็ตกลง เราก็แจ้งวันเขาไป แล้วเขาก็เงียบหายไปนานเลย เงียบจนเรารู้สึกว่า ไว้พร้อมก่อนละกัน เดี๋ยวเราทำสารคดีภาค 2 ไปสัมภาษณ์ก็ได้ (หัวเราะ) เราก็อยากฟังจากฝั่งจุฬาฯ แต่ก็แน่นอนว่า กระบวนการที่จะฉายหนังก็มีแรงกดดัน ผมคงเล่าในรายละเอียดไม่ได้ แต่มีแรงกดดันแน่ๆ ที่ผมเจอด้วยตัวเอง แล้วผมคิดว่าคนที่เจอหนักกว่าผมก็คือนิสิตที่เคลื่อนไหวอยู่ ทั้ง physical และ mental ที่เขาต้องเผชิญกับสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ 

อย่างที่เราทราบว่าสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ก็ใช้วิธีไม่ติดต่อ แม้แต่ตัวพี่นกเองที่เป็นผู้ดูแลศาล ซึ่งจริงๆ สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ ควรจะให้ผู้มีอำนาจมาเจรจาต่อรอง แต่ก็ไม่มี ก็เป็นคนทั่วไปด้วยซ้ำ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจอะไร

คาดหวังให้สารคดีเรื่องนี้กระตุ้นความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของของคนในประเทศนี้อย่างไรบ้าง

คือเวลาเราใช้หลักบางอย่างเนี่ย มันไม่ได้มีแค่หลักกฎหมาย กฎหมายเป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่ง แต่มันหลักสิทธิมนุษยชนด้วย หลักสิทธิอื่นๆ ด้วย ทุกเรื่องในประเทศไทยควรที่จะคำนึงถึงหลักนี้ด้วย อย่างเรื่องภาคใต้ก็ดี ทุกวันนี้ก็มีกฎหมายหลายฉบับ บางฉบับก็ยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ใช้ควบคุมจัดการพื้นที่พิเศษนี้ โดยไม่แคร์ถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจทำอยู่ไม่ถูกต้อง ผมก็อยากให้มองว่าการประท้วงการต่อต้านเป็นสิ่งที่พึงกระทำ

เป็นไปได้ไหมว่า สุดท้ายแล้วศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง จะไม่ถูกรื้อถอน

คงต้องดูว่าจุดจบของเรื่องนี้เป็นอย่างไร จุฬาฯ เปลี่ยนใจ หรือว่าเกิดการประท้วง ถ้ามันมาจากการที่ผู้มีอำนาจเปลี่ยนใจ ผมคิดว่าก็เป็นมุมที่เขาคิดได้ว่าการพัฒนาเมืองต้องอยู่คู่กับคุณค่า กับความหมายของชุมชนได้ ไม่จำเป็นต้องไล่รื้อชุมชน แต่ถ้ามันเกิดจากการประท้วงต่อต้าน ผมคิดว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งนี้คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่า เสียงของประชาชนมีอำนาจในประเทศนี้จริงๆ ต่อให้เป็นที่ดินของสำนักทรัพย์สินจุฬาฯ แต่ว่าความผูกพันในที่ดินนี้มีมากกว่าแค่กฎหมาย

ส่วนตัวผมก็คงยินดีแน่นอน เราสนับสนุนเรื่องนี้ เราสนับสนุนให้กระบวนการพัฒนาเมืองอยู่คู่กับคนตัวเล็กๆ ได้ ไม่ใช่พัฒนาแล้วคนตัวเล็กๆ ต้องกระจายออกไปนอกเมือง คนตัวเล็กๆ อยู่ไม่ได้ และแน่นอน ถ้ามีโอกาสผมก็อยากกลับไปคุยกับคนในสารคดีภาพยนตร์เรื่องนี้อีก

กลับกัน ถ้าศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ถูกรื้อถอนจะเป็นอย่างไร

ถ้าลมหายใจสุดท้ายของสามย่านถูกรื้อทิ้ง ผมคิดว่าเราอย่างน้อยต้องมีพิพิธภัณฑ์เก็บไว้ เราไม่มีพิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโบราณและร่วมสมัยของไทยด้วยซ้ำ มีคนพยายามทำ แต่มันก็กระจัดกระจาย เราไม่ได้รวบรวมไว้ ส่วนใหญ่พิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้ก็จะอยู่ในวัด เป็นสถาปัตยกรรมของวัดนั้นๆ เราไม่ได้มีสถาปัตยกรรมของสิ่งที่ถูกรื้อถอน สิ่งที่ถูกเอาออก ถ้าเรารักษาศาลเจ้าแม่ไว้ไม่ได้ อย่างน้อยก็ควรจะมีพิพิธภัณฑ์เอาไว้

สำนักทรัพย์สินจุฬาฯ มีความพยายามในการติดต่อ หรือประนีประนอมมากน้อยแค่ไหน

มีการส่งคนมาคุยครับ มากกว่า 1 รอบ แต่ก็อย่างที่แจ้งไปว่าไม่ใช่คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เคยมีการดีลให้พี่นกย้ายออก แต่ก็ไม่ได้มีหนังสือสัญญาอะไรอย่างชัดเจน มันควรจะมีลายลักษณ์อักษรก่อนว่า ย้ายออกคือย้ายอย่างไร แล้วศาลเจ้าแม่จะไปอยู่ตรงไหน พี่นกเขาก็อยู่ตรงนั้นมานาน ตั้งแต่รุ่นอดีตกาลครอบครัวเขา ผมคิดว่าจุฬาฯ ถ้าจะต้องประนีประนอมก็ควรประนีประนอมกับพี่นก แล้วก็คุยกันอย่างตรงไปตรงมา

อย่างน้อยจุฬาฯ ก็สร้างศาลเจ้าแม่ทับทิมให้ใหม่แล้ว นั่นคือการประนีประนอมหรือเปล่า

ตอบได้สองแง่นะครับ ในแง่การสร้าง ผมว่าทำให้ดีเท่าเดิมได้หรือเปล่า ไม่แน่ใจ แต่ทำให้ดีเนี่ย มันทำได้ แต่ที่เราพบตอนนี้คือมันไม่ดีเลย ทุกอย่างมันผิดเพี้ยน มันไม่มีไอเดียของสถาปัตยกรรมเดิมแบบแต้จิ๋วเลย อีกข้อหนึ่งคือมันไม่ใช่ว่า เราสร้างใหม่ได้หรือเปล่า แต่เป็นเรื่องที่ว่าควรรื้อถอนมันหรือเปล่า ทุกวันนี้คอนโดก็สร้างเสร็จเกือบหมดแล้ว แล้วศาลก็ยังตั้งอยู่ เราก็พบว่ามันอยู่ร่วมกันได้ คือแน่นอนปัญหาที่เกิดขึ้นตามก็อาจจะมี อย่างเรื่องเสียงปะทัด ผมก็ไม่เห็นด้วยนะกรณีที่วัดจะไม่ยอมลดราวาศอก มันเป็นเรื่องที่ต้องเจรจาต่อรองกันได้

ถ้าศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่ถูกรื้อถอนจริงๆ ผมว่ามันจะเป็นความหวังให้คนทั่วโลกเลยนะ คนที่เชื่อในเรื่องนี้ คนที่เขาผูกพันกับสถานที่ที่เขาเกิด ที่เขาเติบโตมา คนที่เขาใช้เวลาอย่างน้อย 4 ปี เรียนที่ละแวกนั้น แล้วก็คุ้นเคยกับมัน มันจะสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความหวังให้กับคนเหล่านี้ได้ว่า คนตัวเล็กๆ ก็สามารถปกป้องสถานที่ซึ่งนายทุนมองไม่เห็นได้ คิดว่าไม่ใช่แค่นิสิตจุฬาฯ รุ่นต่อๆ ไป แต่รวมถึงกรณีคนในพื้นที่อื่นๆ หรือคนในประเทศที่การพัฒนาดำเนินไปแบบ gentrification (การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น) การพัฒนาเมืองที่พยายามจะไล่คนตัวเล็กตัวน้อยออกไป คือเราต้องอยู่กับโลกแบบนี้น่ะครับ โลกที่สิ่งเก่าๆ ปะทะกับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ตรงไหนคือจุดสมดุล คือคำตอบที่เราต้องหาให้ได้ในศตวรรษนี้

ขอถามย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ใครบ้างควรดูหนังสารคดีเรื่องนี้

ผมคิดว่าผู้บริหารจุฬาฯ ควรดู ด้วยใจของคนทำหนังจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนดู แต่มันคงเป็นไปได้ยาก ชมรมวิจารณ์บันเทิงมีรางวัลหนึ่ง ผมไม่อยากพาดพิงเขานะ (หัวเราะ) มีรางวัลหนึ่งเป็นรางวัลหนังที่ทำเงินสูงสุด ซึ่งเป็นรางวัลที่ไม่ต้องแข่งขัน มันชัดเจนว่าใครได้ ก็ขำๆ เพราะว่าเป็นชมรมวิจารณ์บันเทิง แต่กลับให้รางวัลหนังทำเงินสูงสุด แต่ไม่เป็นไร เราเข้าใจ คิดว่าก็หลากหลายดี ก็เป็นอีกสีสัน ส่วนหนังของเราก็คงไม่มีวันได้รางวัลนั้น ดังนั้นถ้าตอบว่าคนทั่วไปควรมาดูก็คงกว้างไป 

คนที่ควรมาดูจริงๆ ก็คือคนที่เชื่อว่าศาลไม่ควรอยู่ตรงนั้น เปิดใจมาดู มาลิ้มลองรสชาติที่แปลกใหม่ อาจดูแล้วไม่เห็นด้วยก็ได้ หรือดูแล้วคิดว่ารื้อไปก็ดีแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร ลองฟังข้อมูลอีกด้านหน่อยก็คงดี ผมว่ามันสำคัญนะ เวลาจะวัดว่าเรามีเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจ มันไม่ได้วัดแค่กับคนฝั่งเรา มันต้องวัดว่าเรามีความเห็นอกเห็นใจกับคนอีกฝั่งหรือเปล่า ในเวลาที่เขาควรจะได้รับมัน ดังนั้นผมว่ามันไม่ใช่แค่ศาลเจ้าแม่ทับทิมกับจุฬาฯ แต่กับกรณีพิพาทอื่นๆ ด้วย 

ความเห็นหลังรับชมสารคดีสำคัญอย่างไร

ความเห็นของคนในสังคมก็เหมือนภาคต่อ อย่างในทวิตเตอร์ #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม สุดท้ายกระแสสังคมก็คงจะนำไปสู่บทสนทนาในชีวิตประจำวัน บทสนทนาระหว่างกินข้าวว่าควรเอายังไงต่อกับศาลเจ้าแม่ เอายังไงต่อกับจุฬาฯ ไม่ใช่หน้าที่ของหนังอีกต่อไป หนังมันก็จบลงที่ 75 นาทีนั่นแหละ บทสนทนาต่างหากที่จะช่วยต่ออายุหรือหยุดลมหายใจของศาลเจ้าแม่ทับทิม

ฟิซซา อวัน
ฟูลไทม์นิสิต พาร์ทไทม์บาริสต้า พกหนังสือไว้ข้างกายเสริมสร้างความเท่ในยุคดิจิทัล

Photographer

วัชรวิชญ์ ภู่ดอก
กินเก่ง หลงทางง่าย เขียนและถ่ายในคนเดียวกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า