เป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลแบบรายการแสดงภาษีระหว่างหาเสียง และเปิดเผยข้อมูลอีกครั้งเมื่อได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donal Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่กำลังจะมีกำหนดลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2020 ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลภาษีของเขาต่อสาธารณะ
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ไซรัส แวนซ์ (Cyrus Vance) เจ้าหน้าที่อัยการเมืองแมนฮัตตันออกหมายเรียกให้ทรัมป์เปิดเผยข้อมูลแบบรายการแสดงภาษี (tax return) ส่วนบุคคลและนิติบุคคลตั้งแต่ปี 2011-2018 รวม 8 ปี นอกจากนี้ยังส่งหมายเดียวกันไปถึงห้างหุ้นส่วนมาซาร์ส (Mazars llp.) จำกัด บริษัทบัญชีที่ดูแลการเงินให้ทรัมป์มาเป็นเวลานานเพื่อให้เปิดเผยข้อมูลด้วย
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์อ้าง ‘ความคุ้มกัน’ ในฐานะที่เขาเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน (presidential immunity) ซึ่งควรอยู่เหนือการถูกสอบสวนคดีทางอาญาขณะดำรงตำแหน่ง และตอบโต้ด้วยการฟ้องกลับแวนซ์ในชั้นศาลรัฐบาลกลาง
ในวันที่ 7 ตุลาคม วิคเตอร์ มาร์เรโร (Victor Marrero) ผู้พิพากษาศาลรัฐบาลกลางชั้นต้น ตัดสินว่าข้ออ้างเรื่องความคุ้มกันของประธานาธิบดีสหรัฐฟังไม่ขึ้น โดยศาลกล่าวว่าข้ออ้างนี้ “เป็นปฏิปักษ์กับโครงสร้างการปกครองอันดี และขัดกับคุณค่าทางรัฐธรรมนูญของสหรัฐ”
โดนัลด์ ทรัมป์ ดื้อดึงโดยการยื่นอุทธรณ์ต่อ ขณะเดียวกันทนายความฝั่งทรัมป์ก็อธิบายหลักคิดเรื่องความคุ้มกันให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการบอกว่า หากประธานาธิบดียังไม่พ้นจากตำแหน่ง เจ้าหน้าที่มลรัฐใดๆ ก็ไม่อาจแสดงความต่อต้านเป็นปรปักษ์ต่อผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ ต่อให้ประธานาธิบดีคนนั้นจะควงปืนยิงประชาชนบนถนน Fifth Avenue ก็ตาม (เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งในปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ เคยกล่าวว่า เขาสามารถยิงใครสักคนก็ได้บนถนน Fifth Avenue โดยไม่เสียเสียงสนับสนุนเลย)
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตัดสินว่า หลักการความคุ้มกันแห่งประธานาธิบดีสหรัฐไม่มีผลกับคดี เนื่องจากไม่ได้มีการออกหมายเรียกไปยังประธานาธิบดีทรัมป์โดยตรง แต่ส่งไปยังนักบัญชีของประธานาธิบดี ศาลจึงสั่งให้ห้างหุ้นส่วนมาซาร์สจำกัด มอบข้อมูลแบบรายการแสดงภาษีของทรัมป์ให้กับอัยการโจทก์ผู้ฟ้องคดี
“คำสั่งตามหมายเรียกจึงไม่ได้สั่งให้ตัวประธานาธิบดีเองทำอะไร” โรเบิร์ต คัตซ์แมนน์ (Robert Katzmann) หนึ่งในสามผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุในคำตัดสิน
ศาลอุทธรณ์ไม่ได้ชี้ขาดว่าทรัมป์ได้รับการคุ้มกัน โดยไม่ถูกตั้งข้อหาเมื่อละเมิดกฎหมายขณะดำรงตำแหน่งอย่างที่ทรัมป์อ้างมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ศาลระบุว่าต่อให้ทรัมป์ได้รับการคุ้มกันจริง อัยการผู้ฟ้องคดีก็ยังคงมีสิทธิเรียกข้อมูลจากบุคคลที่สามที่ไม่ใช่ประธานาธิบดี หรือสามารถดำเนินคดีได้หากทรัมป์พ้นจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันว่าจะเก็บข้อมูลทางการเงินของตัวเองไว้เป็นความลับ โดย เจย์ เซกุโลว์ (Jay Sekulow) ทนายความฝั่งทรัมป์ กล่าวว่าจะยื่นฟ้องศาลสูงสหรัฐต่อ โดยมีลุ้นว่าในชั้นศาลสูงอาจกลับคำพิพากษาของ 2 ศาลที่ผ่านมา เนื่องจากมีผู้พิพากษาศาลสูง 2 รายที่ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ อีกทั้งเสียงส่วนใหญ่ 5 ต่อ 4 ยังเป็นกลุ่มอนุรักษนิยม ต่างจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเดโมแครต
ข้อมูลแบบรายการแสดงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐ ทั้งภาษีส่วนบุคคลและนิติบุคคล สำคัญตรงที่เป็นตัวช่วยให้เห็นภาพฐานะทางการเงินส่วนตัวและของครอบครัว รวมถึงเห็นการตกลงทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งทรัมป์และครอบครัวเป็นเจ้าของได้
สำนักข่าว CNBC ตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารภาษีอาจแสดงภาพให้เห็นที่มาของรายได้ของประธานาธิบดีทรัมป์ เช่น เอกสาร Schedule A หรือเอกสารแสดงการคำนวณการลดหย่อนภาษี, เอกสาร Schedule B หรือเอกสารแสดงการได้รับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคาร, เอกสาร Schedule E หรือเอกสารเกี่ยวกับการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ที่กฎหมายอนุญาตให้หักลดหย่อนค่าเสื่อมราคาและซ่อมบำรุงได้, แบบฟอร์ม 8283 หรือเอกสารแสดงรายการบริจาคสิ่งของที่มีมูลค่ามากกว่า 500 ดอลลาร์ ฯลฯ
ยิ่งไปกว่านั้น แวนซ์ อัยการโจทก์ ซึ่งเป็นคนจากฝั่งเดโมแครต ยังพยายามค้นหาหลักฐานการจ่ายเงินปิดปากผู้หญิง 2 ราย ได้แก่ สตอร์มี แดเนียลส์ (Stormy Daniels) นักแสดงหนังผู้ใหญ่ และ แคเรน แมคดูกัล (Karen McDougal) นางแบบ ทั้งคู่อ้างว่าเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับทรัมป์ก่อนที่ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี 2016 แต่ทรัมป์ปฏิเสธคำอ้างดังกล่าว ส่วนทนายฝ่ายทรัมป์ก็ออกมาโจมตีว่าการสืบสวนข้อมูลทางการเงินครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อโจมตีทางการเมือง
แม้จะไม่มีกฎหมายข้อไหนบัญญัติให้ประธานาธิบดีต้องแสดงเอกสารภาษี แต่ก็กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งไปโดยปริยาย ระหว่างปี 1974-2012 มีประธานาธิบดีคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมเปิดเผยเอกสารรายการแสดงภาษีโดยสมัครใจ คือ เจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) โดยแสดงเอกสารภาษีไม่สมบูรณ์ที่มีข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับรายได้สุทธิ รายได้ที่ต้องเสียภาษี การลดหย่อนภาษีเฉพาะที่สำคัญ และจำนวนภาษีจ่าย
ที่จริงแล้วทรัมป์เคยให้สัญญาไว้เมื่อปี 2016 ขณะยังเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีว่าเขาจะเปิดเผยเอกสารดังกล่าว แต่เมื่อเวลาผ่านไป แม้จะมีการฟ้องร้องและออกหมายเรียกหลายครั้งก็ยังไม่สามารถนำเอาข้อมูลการจ่ายภาษีของทรัมป์ออกมากางต่อสาธารณชนได้
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ห้างหุ้นส่วนมาซาร์สที่มีทรัมป์เป็นผู้ว่าจ้าง ก็เคยได้รับหมายเรียกในลักษณะเดียวกันจากคณะกรรมการกำกับและปฏิรูป คณะกรรมการสืบสวนหลักของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐ (House of Representatives Committee on Oversight and Reform) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการสืบสวนประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน สุดท้ายศาลอุทธรณ์สั่งให้มาซาร์สเปิดเผยเอกสารที่โจทก์ร้องขอ แต่ไม่รวมถึงเอกสารแสดงรายการภาษีของทรัมป์ มีการฟ้องร้องทรัมป์ในลักษณะเดียวกันอีกหลายคดี และจบลงด้วยการฟ้องกลับ ขออุทธรณ์ หรือแขวนคดีค้างไว้ในชั้นศาล
โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เหตุผลว่า เขาไม่สมัครใจเปิดเผยเอกสารแสดงรายการภาษี เนื่องจากที่ผ่านมามีกรมสรรพากรแห่งสหรัฐอเมริกา (Internal Revenue Service IRS) คอยทำหน้าที่เป็นหน่วยงานตรวจสอบบัญชีของเขาอยู่แล้ว จึงไม่ต้องแสดงรายการภาษีซ้ำซ้อนอีก ทรัมป์อ้างว่าเขาถูกตรวจสอบบัญชีเป็นเวลานานหลายปีก่อนจะได้รับการเลือกตั้งเสียอีก แม้ปกติแล้ว IRS จะทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีแก่ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเฉพาะขณะดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น ทั้งนี้ ทรัมป์เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า กฎหมายเรื่องการเปิดเผยเอกสารแสดงรายการภาษี “อยู่ข้างเขา 100 เปอร์เซ็นต์”
อ้างอิงข้อมูลจาก: uk.reuters.com aljazeera.com cnbc.com bloomberg.com forbes.com |