แอนนา แดเนียล นักโภชนาการและโฆษกขององค์กรโภชนาการแห่งสหราชอาณาจักร (British Dietetic Association) เผยว่า ผู้บริโภคยังมีความเข้าใจผิดว่าคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอต้องได้รับโปรตีนเพิ่มเป็นพิเศษมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะนักกีฬาต้องได้รับโปรตีนมากกว่าใคร
“โปรตีนสามารถหาได้จากไข่ โยเกิร์ต เนื้อสัตว์ และคนส่วนใหญ่ที่ออกกำลังกายหรือเข้าฟิตเนสอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง ครั้งละหนึ่งชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องได้รับโปรตีนเพิ่ม เพราะเราได้รับเพียงพอแล้วจากมื้ออาหารประจำวัน” แดเนียลให้ข้อมูล
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (Public Health England: PHE) ให้คำแนะนำในเรื่องนี้ว่า ปริมาณโปรตีนที่คนอายุ 19-64 ปีควรได้รับในแต่ละวันอยู่ที่ 55.5 กรัมสำหรับผู้ชายและ 45 กรัมสำหรับผู้หญิง ขณะที่ สถาบันทางการแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (US Institute of Medicine) แนะนำว่า แต่ละวันร่างกายควรได้รับโปรตีนอย่างน้อย 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม
ดร.อลิสัน เท็ดสโตน หัวหน้านักโภชนาการ ของ PHE ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนส่วนใหญ่บริโภคโปรตีนในปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำในแต่ละวัน และแม้ว่าคุณจะออกกำลังกายสม่ำเสมอและกินโปรตีนเสริมเพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ มันก็แทบไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรมากเป็นพิเศษ
จากการสำรวจของยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) สถาบันวิจัยตลาดระดับโลก พบว่า กลุ่มเครื่องดื่มประเภทพร้อมดื่ม (ready to drink) ที่มีส่วนผสมของแป้งโปรตีนและแท่งโปรตีนที่ระบุว่ามีโปรตีนอย่างน้อย 20 กรัม มูลค่าทางการตลาดเติบโตถึง 160 เปอร์เซ็นต์ในปี 2011
ด้าน นีลสัน (Nielsen) ก็วิเคราะห์ตลาดกลุ่มเดียวกัน และพบข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่าในปี 2015 ยอดขายโปรตีนบาร์มีอัตราการเติบโตถึง 63 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2014 ขณะที่มินเทล (Mintel) – ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผลิตภัณฑ์ ตลาดผู้บริโภคและสื่อ เผยผลการสำรวจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมโปรตีนเปิดตัวในตลาดไปแล้วถึง 40 เปอร์เซ็นต์
ทอม แซนเดอร์ส ศาตราจารย์กิตติคุณด้านโภชนาการและสารอาหาร มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้บริโภคกำลังตกอยู่ท่ามกลาง ‘สารอาหารที่ไร้สาระ’
“ตอนนี้สถานที่ออกกำลังกายต่างๆ พยายามขยายเครื่องดื่มโปรตีนเชค (high-protein shakes-ผงผสมน้ำแล้วเขย่าพร้อมดื่ม) เราจำเป็นต้องกำจัดผลิตภัณฑ์ไร้ประโยชน์เหล่านี้ออกไปจากอุตสาหกรรมนม ซึ่งก็คือ เวย์โปรตีน เพราะมันเต็มไปด้วยสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นการขายของราคาถูกให้แพงแบบไร้เหตุผล”
แดนนี คอมเมน อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยเรดดิง (University of Reading) เผยว่า แม้จะมีหลักฐานงานวิจัยมายืนยันมากมายว่ายิ่งกินโปรตีนเสริมเท่าไหร่กล้ามเนื้อก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น หากข้อเท็จจริงคือ คนปัจจุบันกินโปรตีนเข้าไปในปริมาณเกินกว่าที่ร่างกายต้องการอยู่แล้ว
“มันคือการตลาดที่ชาญฉลาดมาก แม้ว่าคุณจะออกกำลังกายแบบสุดๆ หรือตั้งเป้าหมายไว้ที่ร่างกายอันอุดมด้วยกล้ามเนื้อมัดแน่น รู้ไหม คุณไม่จำเป็นต้องกินโปรตีนเสริมหรอก” คอมเมนแนะนำ
เพราะโปรตีนที่รับเข้ามามากเกินไปจะถูกร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะ
“เท่ากับว่าคนที่กินโปรตีนเกินไป ทิ้งเงินจำนวนนั้นลงชักโครก” คอมเมนเปรียบเทียบ
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่าโปรตีนที่มากเกินไปจะไม่มีอันตราย (ยกเว้นการเพิ่มงานหนักให้ไต)
“ยกตัวอย่างเช่น โปรตีนที่ได้รับมากเกินไป จนเบียดบังอาหารต่างๆ ที่ควรได้ เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชขัดสีน้อย ฯลฯ ที่สำคัญโปรตีนเสริมเหล่านี้มีปริมาณน้ำตาลสูงแต่เส้นใยต่ำ จึงไม่เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ” แดเนียล นักโภชนาการและโฆษกขององค์กรโภชนาการแห่งสหราชอาณาจักร เสริม
ดาเรน บีล ผู้ก่อตั้ง musclefood.com ที่สนใจและเชี่ยวชาญเรื่องการกินลีนและขายพิซซ่า ช็อกโกแลตและเบียร์โปรตีนสูง บอกว่าคนที่มาออกกำลังกาย ส่วนหนึ่งเพราะต้องการควบคุมปริมาณอาหารที่ตัวเองกินเข้าไป
“เขากินโปรตีนมากเกินไปไหม? มันขึ้นกับว่าเป้าหมายของเขาคืออะไร งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการกินโปรตีนเยอะจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ แต่มันก็ยังต้องตั้งอยู่บนความสมดุลระหว่างคาร์บและไขมันด้วย
“ส่วนเป้าหมายง่ายๆ ของผมคือ อะไรก็ได้ที่ทำให้แผนการกินอาหารสุขภาพของลูกค้าง่ายขึ้น” บีล ทิ้งท้าย
ด้านโฆษก สหพันธ์อาหารและเครื่องดื่มแห่งสหราชอาณาจักร (Food and Drink Federation) แนะนำว่า ตลาดที่เติบโตขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคที่สูงขึ้น อาหาร/เครื่องดื่มโปรตีนสูงตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน
“แต่ก็มีหลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่าอาหารโปรตีนสูงทำให้เราอิ่มได้นานขึ้น คือเร่งให้อิ่มเร็วและควบคุมความหิว ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อคนที่ต้องการสร้างความสมดุลให้ร่างกาย อย่างไรก็ตาม ปริมาณโปรตีนต้องระบุชัดเจนในฉลาก ควบคู่กับปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลและทางเลือกแก่ผู้บริโภค”