คนบางคนไม่เคยเข้าใจสถานการณ์อะไรเลย ผมจะอธิบายอย่างไรดี ผมหมายความว่ามีคนจำพวกหนึ่งที่ถูกโลกตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์อยู่ร่ำไป ถูกขานให้ออกจากเกมครั้งเดียวไม่พอ แต่ไม่รู้อีกกี่ครั้ง ด้วยเหตุผลเดิมๆ แล้วพวกเขากลับยังอยู่รอดมาได้ คนจำพวกนี้ผิดพลาดตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นชีวิต อย่างเช่น อึราดกางเกงตอนเกรดสอง จากนั้นก็ใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในเมืองของเราซึ่งผู้คนไม่เคยลืมเรื่องอะไรเลย (จะเมืองไหนก็เถอะ เมืองไหนๆ ก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น) แล้วคนเหล่านี้ก็ยังจัดการได้ พิสูจน์ว่าตนเองเป็นคนร่าเริงเบิกบาน อ้าง และแสดงให้เห็นว่าไม่มีวันนึกอยากไปอยู่ที่ไหนนอกจากในเมืองนี้
แต่คนอีกจำพวกนั้นต่างออกไป คนเหล่านี้ไม่ย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่คุณอยากให้ย้ายไปเสีย จะว่าเพื่อตัวของเขาเองก็ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะเริ่มขุดหลุมฝังตัวเองแบบไหนก็ตามเมื่อครั้งอายุยังน้อย อาจไม่ต้องชัดเจนถึงขนาดอึราดกางเกงด้วยซ้ำ พวกเขายังคงขุดเรื่อยไป ขุดซ้ำอยู่อย่างนั้น ถึงขั้นขยายความเรื่องราวเสียเองหากมีทีท่าว่าคนอื่นจะไม่สังเกตเห็น…
. . .
สองย่อหน้าข้างต้นตรึงความสนใจของผมได้อยู่หมัด มันจะค่อยๆ คลี่คลายเป็นเรื่องราวในชีวิตรายล้อมของชายหนุ่มความมั่นใจต่ำคนหนึ่ง และหญิงสาวชื่อโอไนดา เรื่องเล่านำพาเราไป ในกำเนิดที่ไม่อาจเลือก ห้วงสงคราม การเกณฑ์ทหาร การถูกคัดออก (ชายคนนี้เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่) ความตายตามอายุขัยของบิดามารดา
มีห้วงตอนเล็กๆ เขากล่าวถึงห้องรมแก๊ซ
“ทุกสิ่งถูกกวาดเรียบ ความเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมกันโดยฉับพลัน”
อีกสักประโยค ที่อยู่ตรงนั้น ท่ามกลางสีเทา
“…แค่อยู่มานานพอก็ช่วยลบปัญหาต่างๆ ไปได้”
อ้อ… มันมาจากเรื่องสั้นของ แอลิซ มันโร ชื่อเรื่องว่า ‘ความทระนง’
มันเป็นเรื่องเล่าน่ะนะ เป็นชีวิตและลมหายใจลึกยาวห้วงหนึ่ง ที่ไม่ได้คาดคั้นท่วงท่าปัญญาชน หรือญาณสำเร็จรูปอันใดที่สามารถให้ความสว่าง แต่มันเป็นแค่ชีวิต ฉาก และตอน ที่อยู่ๆ ก็ซึมแพร่เข้ามากลืนกับชีวิตของเราเอง
หลังจากอ่านรวมเรื่องสั้น สุดชีวิต ไปครึ่งเล่ม ผมชักเริ่มไม่แน่ในแล้วว่าชีวิตของคนไหนเป็นคนไหน ทั้งหมดถูกเล่าอย่างละเอียดลออ แต่ก็มีสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่อาจรู้ และไม่อยากรู้ ทิ้งเรี่ยรายไว้เสมอๆ … ก็เหมือนเวลาเราฟังเรื่องเล่าของชีวิตคนอื่นๆ นั่นแหละ เรารู้ได้เท่าที่เราจะรู้ — แต่มันต่างไปสักนิดตรงที่ เรื่องเล่าเหล่านั้นชวนให้ใจเราอยู่เฉยๆ รับรู้ รับทราบ หรืออาจถึงขั้นสะเทือนใจ แต่ไม่อยากปีนไต่ขึ้นบัลลังก์ไปนั่งตัดสิน
มันเป็นการอ่านที่ให้อรรถรสดีนะ มันโรเขียนแบบคนที่ผ่านเวลามา (นี่สินะ ข้อดีของความชรา!) หวนรำลึกถึงฉากตอน รายละเอียดในชีวิต สวยงาม เหมือนผ้าทออย่างประณีตที่ ย้อมสีเอิร์ธโทน เราต้องใช้มือสัมผัสอย่างช้าๆ ถึงปมต่างๆ บนผืนผ้านั้น
ผ้าบางผืนก็ยับยู่เสียจนเกินเยียวยา แต่มันก็ยังเป็นผ้า ที่นุ่ม…
วรรณกรรมก้าวเลยผ่านจุดที่ให้ปัญญา ก้าวเลยผ่านจุดที่ก่อร่างสร้างอุดมคติแก่ตัวเราเอง (คือถ้ามาด้วยท่วงท่าแบบนั้น เราไม่อ่านหรอก) แม้จะห่างเหินกันไปบ้างในบางคราว แต่เราก็ยังหลงใหลในมัน ความหลงใหลนี้ต้องต่อสู้แย่งชิงพื้นที่กับเรื่องเรียกร้องความสนใจอีกหลายสิ่ง แต่ทุกครั้งที่สายตาไล่ไปช้าช้า ใน ’เรื่องเล่า’ แบบนี้
บางที ผมกลับรู้สึกว่าตัวเองเพิ่งมีชีวิต