งานชิ้นที่สองจากสำนักพิมพ์ daydream ภายใต้การจัดพิมพ์เองของ ทานเกวียน ชูสง่า ผู้มีผลงานก่อนหน้าในชื่อ เราต่างสร้างบาดแผลให้แก่กันอยู่เสมอ ในลักษณะความเรียง
ขณะที่ การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มแรกที่หวังเหลือเกินว่าจะมีเล่มต่อไป กระทั่งคลี่คลายไปเป็นนวนิยายสักเล่มในอนาคต
รวมเรื่องสั้นชิ้นนี้ของทานเกวียนบอกเล่าเรื่องราวของภาพตัวแทนวัยรุ่นตอนปลายสู่วัยหนุ่มที่ไม่ใช่จุดเริ่มสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ตรงกันข้ามกลับเป็นการพังทลาย แตกสลาย กระทั่งตายดับไปอย่างไม่มีใครจดจำ
โดยมีแกนหลักอยู่ที่ความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มที่ไม่ลงรอยกับแม่ที่เข้มงวดกวดขัน กับพ่อที่ค่อนข้างขาดความเป็นผู้นำ รักอิสระ และไม่ถือครองค่านิยมทางศีลธรรมจรรยา ไม่ว่าจะเป็น ‘ไม่อาจหวนคืนย้อนกลับ’ ‘การมอดไหม้ที่พ้นผ่านไปนานแล้ว’ ‘ไม่อาจเยียวยารักษา’
ขณะที่เรื่องสั้นทั้ง ‘ในแสงเงาหม่นสลัว’ ‘ความรักไม่โอบกอดเราเสมอไป’ และ ‘สิ่งชำรุด’ คือเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ตกค้าง ตกหล่นอยู่ในร่องรอยแผ่นเสียงของความรู้สึกที่จะวนกลับมาทุกครั้งเมื่อระลึกถึงกลายเป็นอาการที่ไม่อาจก้าวข้าม เพื่อจะตระหนักว่าโดยเนื้อแท้เรานั้นอ่อนแอเพียงไร เพื่อจะปลุกปลอบตัวเองในฐานะสิ่งชำรุดปรักหักพังชิ้นหนึ่ง
และถ้าหากการไม่อาจก้าวข้ามความเจ็บจากบาดแผลในอดีตนำมาซึ่งการแบ่งแยกกลุ่มของเรื่องสั้นในงานของทานเกวียนออกเป็นเรื่องของครอบครัวที่แตกแยก ความรักที่ฝังลึกในความรู้สึก
เรื่องสั้นอย่าง ‘มนุษย์แปลง’ และ ‘เลือนลับดับสูญ’ ที่เปรียบเป็นเสมือนเสียงตัวแทนของคนหนุ่มสาวที่ไม่ต้องการทำตามข้อกำหนดต่างๆ ที่สังคมกำหนดในนามของความดี ทั้งที่ประพฤติการณ์ที่ปรากฏกลับตรงกันข้าม ก็คือเสียงกู่ร้องของผู้คนร่วมสมัยที่ต้องการแสดงออกในทางสังคมและการเมือง แม้เพื่อจะพบว่าการออกไปต่อสู้กับโลกนั้นจะเผชิญความพ่ายแพ้กลับมา
หากแต่ดีกว่าจำนน
หากแต่ดีกว่าการยินยอมโดยไม่เคยตั้งคำถาม
อาจจะเป็นวาระค่อนข้างพิกลท่ามกลางบรรยากาศที่เพิ่งจะผ่านพ้นปีใหม่มาได้ไม่นาน แต่การจะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ โดยที่จำนวนศพของผู้วายชนม์ยังถูกนับไม่เสร็จ และคำตอบของความเจ็บปวดจากการสูญเสียไม่อาจบรรเทาได้ง่ายๆ แค่วลีของการยอมรับในชะตากรรม
การอ่านงานชิ้นนี้ของทานเกวียนทำให้ทบทวนว่า…ความตายอาจโหดร้าย แต่ไม่มากมายเท่าการมีชีวิตอยู่