ว่าด้วยการล่มสลายของเยอรมนีตะวันออก ชาติสังคมนิยมที่ปฏิเสธการปรับตัวไปตามยุคสมัย ไม่เดินตามรอยโซเวียต ฮังการี และโปแลนด์ ที่เริ่มเปิดประตูบ้านสู่โลกใหม่ ถนนเส้นที่พวกเขาเลือกนำไปสู่การล่มสลายของเยอรมนีตะวันออก พร้อมๆ กับการสิ้นอายุขัยของกำแพงเบอร์ลินที่ยืนตระหง่านระหว่างปี 1961-1989
หนังสือที่มีที่มาจากงานวิจัย ‘การปฏิวัติในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (เยอรมันตะวันออก) อันนำไปสู่การเปิดกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1989’ อ้างอิงเหตุปัจจัยของการล่มสลายไว้หลายประการ เช่น
“…ประชาชนของประเทศนี้ถูกห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจทางการเมืองของรัฐบาล ใครก็ตามที่ยังขืนดื้อดึง ก็จะถูกเพ่งเล็งระแวงสงสัย ไปจนกระทั่งถูกคุกคาม…”
“…รัฐบาลที่มาจากพรรค SED (Socialist Unity Party of Germany) นี้มีเครื่องมือที่ใช้ควบคุมศัตรูหรือใช้ป้องปรามผู้ที่อาจกลายเป็นศัตรูได้ในภายหลัง ซึ่งนั่นก็คือ กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ (Ministerium für Staatssicherheit หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในหมู่ประชาชนเยอรมันตะวันออกว่า Stasi) การที่กลุ่มฝ่ายค้านและกลุ่มที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปรากฏตัวขึ้น ทำให้เหล่าผู้ปกครองเชื่อมั่นว่า การใช้หน่วยงานด้านความมั่นคงดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น…”
“ในการประชุมใหญ่ของพรรค SED ที่จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลินตะวันออก ระหว่างวันที่ 17-21 เมษายน ค.ศ. 1986 และมีผู้แทนของพรรคเข้าร่วมประชุมถึง 2,500 คน ที่ประชุมได้เลือกบุคคลเดิมทั้งหมดเข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลาง ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นสมาชิกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1981 แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของพรรค หลังจากนั้นคณะกรรมการกลางได้เลือกสมาชิกกรมการเมือง ซึ่งก็เป็นบุคคลเดิมเช่นเดียวกัน สมาชิกที่มีอายุมากที่สุดคือ นายเอริค มีลเคอ (Erich Mielke, 1907-2000) ซึ่งมีอายุเกือบ 80 ปีแล้ว ส่วน นายเอกอน เครนช์ ซึ่งหนุ่มที่สุดก็มีอายุ 50 ปี ชายชรากลุ่มนี้เองที่มีบทบาทกำหนดทิศทางทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของเยอรมันตะวันออก มาจนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1989 เมื่อเกิดการปฏิวัติอย่างสงบโดยประชาชนขึ้น และต้องรับผิดชอบต่อการล่มสลายของรัฐในเวลาต่อมาด้วย”
ข้อมูลหลายประการในหนังสือเล่มนี้จึงทำหน้าที่เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นปัจจุบันหันไปเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี