ดิฉันมีสิทธิ์ที่จะไม่ใส่รองเท้าส้นสูง

photo credit: Dax Fix Life

นักกฎหมายในแคนาดา กำลังทำงานขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งให้พนักงานหญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน

คริสตี คลาร์ก (Christy Clark) มุขมนตรีของรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ได้ทวีตผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า เธอสนับสนุนร่างกฎหมายของสมาชิกพรรคกรีน (Green Party) ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรค แอนดรูว์ วีเวอร์ (Andrew Weaver) ที่ผลักดันให้ กฎ/ข้อบังคับให้การสวมใส่รองเท้าในที่ทำงานโดยยึดตามเพศสภาพนั้น เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

โดยคลาร์กบอกว่า เห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับเรื่องการไม่บังคับให้ผู้หญิงสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน

ในเฟซบุ๊คส่วนตัวของคลาร์ก ยังเขียนเอาไว้ว่า “ที่ทำงานบางแห่งในบริติชโคลัมเบีย ผู้หญิงยังถูกเรียกร้องให้สวมรองเท้าส้นสูง สำหรับปี 2017 มันไม่ใช่แฟชั่นที่ล้าสมัย แต่มันเป็นเรื่องที่ไม่สมควรยอมรับ”

ต้นเดือนมีนาคมช่วงวันสตรีสากล แอนดรูว์ วีเวอร์ หัวหน้าพรรคกรีนเสนอกฎหมายมาตราหนึ่ง ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองคนทำงานให้สวมใส่รองเท้าหลากหลาย รวมถึงข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่ใช้เพศ การแสดงออกทางเพศสภาพ และอัตลักษณ์ทางเพศ เป็นตัวตั้ง

ในฐานะมุขมนตรี คลาร์กให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ “ให้เร็วและง่ายที่สุด”

บริติชโคลัมเบียไม่ใช่รัฐเดียวที่ผลักดันเรื่องนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ในอังกฤษมีการพิจารณา ประเด็น ‘สุภาพสตรีควรสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงานหรือไม่’ ทั้งนี้เป็นไปตามข้อร้องเรียนของ นิโคลา ธอร์ป พนักงานต้อนรับที่ถูกส่งตัวกลับบ้านเพราะปฏิเสธที่จะสวมรองเท้าส้นสูงในที่ทำงาน

photo credit: verywell.com

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2558 ธอร์ป พนักงานต้อนรับ วัย 27 ปี ยื่นคำร้องให้ ‘ข้อบังคับการสวมรองเท้าส้นสูงขณะปฏิบัติงานของพนักงานหญิง’ เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ธอร์ป ทำงานให้ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอร์ส หรือ พีดับบลิวซี (อังกฤษ: PricewaterhouseCoopers: PwC) หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีสี่แห่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในตำแหน่งพนักงานต้อนรับ วันนั้นธอร์ปใส่รองเท้าแฟลท (พื้นเรียบ-ไม่มีส้น) ไป แต่หัวหน้ากลับบอกว่าเธอว่าต้องใส่รองเท้าส้นสูง 2.4 นิ้ว

“วันนั้นฉันใส่รองเท้าแฟลทสีดำ พอไปถึงเขาให้ชุดกับแจ็คเก็ตมา พอฉันใส่ ซูเปอร์ไวเซอร์ (หัวหน้า) ก็มาบอกว่า “ฝ่ายต้อนรับเรามีแต่พนักงานหญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง” แล้วธอร์ปก็ตอบกลับไปว่า “รู้ไหม ฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระมากเลย”

“พอฉันชี้ไปที่พนักงานชาย แล้วบอกว่าพวกเขาก็สวมรองเท้าไม่มีส้น ทำไมฉันถึงใส่ไม่ได้ แน่นอนพวกเขาหัวเราะกันใหญ่”

“พวกเขาบอกว่า คุณสามารถเดินออกไปแล้วหาซื้อรองเท้าส้นสูงคู่ที่ชอบได้ แล้วเราจะให้คุณเข้าทำงาน”

“ฉันปฏิเสธ พวกเขาเลยให้ฉันกลับบ้าน”

ขณะนี้มีคนร่วมสนับสนุนแคมเปญถอดรองเท้าส้นสูงของธอร์ปแล้วกว่า 152,000 คน ขั้นตอนต่อไปคือส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะกรรมาธิการสภาสตรีและความเท่าเทียมแห่งอังกฤษพิจารณา

นอกจากสิทธิด้านเพศแล้ว การสวมรองเท้าส้นสูงบ่อยๆ มีผลต่อสุขภาพในระยะยาว โดยผลการศึกษาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2557 ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Orthopaedic Research พบว่า การใส่รองเท้าส้นสูงตั้งแต่ 3 นิ้วครึ่งขึ้นไป ทำให้ข้อเข่าทำงานหนักเกินไป และนำไปสู่โรคข้อกระดูกอักเสบ ซึ่งเป็นภาวะข้อเสื่อมที่พบมากที่สุดในประเทศอังกฤษ จากการเก็บข้อมูลของระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติแห่งสหราชอาณาจักร (The National Health Service)

นอกจากนี้ แอนดรูว์ แกลดสโตน นักบาทานามัยหรือผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเกี่ยวกับเท้าจากคลินิก City Chiropody & Podiatry กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อธิบายผลกระทบต่อเท้าจากการใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำว่า ผลเสียนั้นยาวเป็นหางว่าว

“รองเท้าส้นสูงทำให้เกิดได้ตั้งแต่ตาปลาที่นิ้วเท้า ตาปลาระหว่างนิ้วเท้า ทำลายเล็บเท้า และทำให้ตาปลาบนนิ้วเท้ารุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากจะทำให้ผิวบริเวณหลังเท้าด้านแล้ว การเดินบนรองเท้าส้นสูงนานๆ ยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของรูปเท้า ซึ่งส่งผลต่อหัวเข่าและสะโพก และส่งผลระยะยาวต่อการทำงานของเท้า”


ที่มา: independent.co.uk,belfasttelegraph.co.uk

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า