เรามักได้รับคำแนะนำว่า จะเป็นผู้บริโภคสมาร์ทๆ ต้องอ่านฉลากก่อนซื้อสินค้า แต่กับอาหารทะเลหลายรายการ ซึ่งมีรายงานว่าพบการแปะฉลากบิดเบือนโดยเจตนา อาทิ ความจริงเป็นปลาชนิดนี้ แต่แปะป้ายให้เข้าใจว่าเป็นปลาอีกชนิดที่มีราคาแพงกว่า เจอแบบนี้ผู้บริโภคคงสตันท์จนทำอะไรไม่ถูก
นอกจากความจงใจสื่อสารผิดพลาด ซึ่งมีผลมาจากความต้องการทำกำไร ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียเงินมากโดยใช่เหตุ แต่ได้ของไม่ตรงกับฉลากแล้ว สิ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงเพิ่มขึ้นคือ อาการแพ้ หากผู้บริโภคนั้นแพ้ปลาบางชนิด
ผู้ที่แพ้ปลาอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียได้ อาการหายใจลำบากนั้นอาจพบได้ยากกว่า สำหรับผู้ที่แพ้ปลา สิ่งที่แพ้จริงๆ คือโปรตีนในปลา ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเวียนหัว หายใจขัด ไปจนถึงหมดสติได้
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา Oceana องค์กรปกป้องมหาสมุทรนานาชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ‘Deceptive Dishes: Seafood Swaps Found Worldwide’ โดยพบว่า หนึ่งในห้าของตัวอย่างอาหารทะเลกว่า 25,000 ตัวอย่างที่เก็บข้อมูลมา มีการแปะป้ายผิดโดยเจตนา
Oceana อ้างอิงงานศึกษากว่า 200 ชิ้น ใน 55 ประเทศทั่วโลก จากรายงานพบว่า การจงใจแปะป้ายผิดนี้เกิดขึ้นตลอดสายพานของระบบการผลิตอาหารทะเล ตั้งแต่ตลาดค้าปลีก ค้าส่ง ไปจนถึงการส่งออกและนำเข้า โดยพบว่าร้อยละ 65 มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจทำให้เกิดการแปะป้ายบิดเบือนเช่นนี้
ข้อมูลปี 2014 ในสหรัฐ พบว่ามีการแปะฉลากไม่ตรงกับสินค้าร้อยละ 28 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ร้อยละ 58 เป็นการนำปลาชนิดอื่นมาแปะป้ายเป็นปลาอีกชนิด ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่แพ้ปลานั้นๆ ไม่ได้รับข้อมูลที่ตรงตามความเป็นจริง
ปลาสามชนิดที่มักแปะป้ายผิดโดยเจตนา ได้แก่ กลุ่มปลาแพนกาเชียส (Asian catfish) กลุ่มปลาค็อด (hake) และกลุ่มปลาแมคเคอเรล (escolar)
จากข้อมูล Asian catfish ถูกแปะป้ายหลากหลายจนกลายเป็นปลาราคาแพงชนิดอื่นๆ ถึง 18 ชนิด hake มักถูกแปะป้ายว่าเป็นปลาหิมะ ส่วน escolar มักจะได้รับการแปะป้ายเป็นทูน่าเนื้อขาวและปลาหิมะ
สำหรับในสหภาพยุโรป เมื่อปี 2015 แม้แต่ร้านอาหารในสำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรปเอง Oceana ก็พบว่า 16 จาก 38 ตัวอย่างอาหารทะเลให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง