1
ผมเจอ ชัยภูมิ ป่าแส และ พอละจี รักจงเจริญ ที่เชียงราย
2
ทั้งสองปรากฏตัวบนแผ่นไวนิลขนาดใหญ่ของงาน ‘วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 2561’ การปรากฏตัวของทั้งสองรางเลือน คาดการณ์ว่าระดับ opacity ในการตกแต่งภาพของช่างศิลป์ผู้ออกแบบไวนิลน่าจะลดต่ำไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับภาพบุคคลอื่นที่ปรากฏบนไวนิลแผ่นเดียวกัน
ทำให้ทั้งสองเป็นประหนึ่งดวงดาวที่ดับสูญไปแล้ว แต่ยังคงมองเห็นแสงเรื่อเรือง
คนหนึ่งถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คนหนึ่งถูกบังคับให้สูญหาย ทั้งสองเป็นชนเผ่าพื้นเมือง คนหนึ่งเป็นชาวลาหู่ คนหนึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง
แต่ทั้งสองเป็นมนุษย์เหมือนกัน มนุษย์ที่ถูกกระทำเหมือนกัน
3
“เธอเป็นพี่น้องชนเผ่าไหน?” หญิงสาวคนหนึ่งเอ่ยถามชายหนุ่มที่กำลังใช้มีดประจำตัวฟันไม้ไผ่ขนาดใหญ่บริเวณที่จัดงานวันชนเผ่าพื้นเมือง “เป็นอาข่าหรือลาหู่”
“เป็นอาข่าก็ได้ เป็นลาหู่ก็ได้ เหมือนกันแหละ” ชายหนุ่มเงื้อมีดระหว่างตอบคำถาม
4
ภายในงานมีนิทรรศการแสดงภาพถ่ายชนเผ่าพื้นเมือง ภาพถ่ายใบหน้าผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยงเรียกร้องความสนใจแก่เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่คนหนึ่ง เขายืนดูภาพถ่ายใบนี้อยู่นาน
ชายในภาพชื่อ โคอิ มีมิ หรือ ‘ปู่คออี้’
5
เด็กหนุ่มที่ยืนมองภาพถ่ายชื่อ ปติภาร นาหลง เขาเกิด พ.ศ. 2539 ในจังหวัดสระบุรี ประเทศไทย พ่อแม่ของเขาเดินทางจากประเทศพม่าเข้าประเทศไทย 1 ปีก่อนเขาเกิด
ปติภารเป็น 1 ใน 875,814 คน ที่อยู่ระหว่างรอการกำหนดสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เขาเดินเรื่องขอสัญชาติไทยมาตั้งแต่อายุ 13 ปี ผ่านมา 9 ปี ปลัดอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ยังไม่รับรองเอกสารให้เขา
เขายังไม่มีสัญชาติ ไม่มีสิทธิ มีแต่ความฝัน
6
ปู่คออี้ เกิดปี พ.ศ. 2454 ที่บ้านใจแผ่นดิน ตำบลยาวน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
5-9 พฤษภาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติและเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นได้ปฏิบัติการ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ครั้งที่ 4 มีคำสั่งปราศจากลายลักษณ์อักษรให้ปู่คออี้ออกจากที่พักอาศัย ด้วยเหตุผลเป็น “ชนกลุ่มน้อยที่บุกรุกพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”
เป็นผู้บุกรุกทำลายป่า พวกเขาไม่มีสิทธิอาศัยและทำกินในป่าแก่งกระจาน
เจ้าหน้าที่นำตัวปู่คออี้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ปฏิเสธคำร้องขอของผู้เฒ่าในการเก็บของและทรัพย์สินส่วนตัว บ้านและยุ้งฉางของปู่คออี้และชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านใจแผ่นดิน ถูกเผาทั้งหมด
ชาวบ้านชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจำนวน 6 คน นำโดยปู่คออี้ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2555
ปี 2559 ศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม อ่านคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 การรื้อถอนด้วยการเผาทำลายเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณี
ความฝันหนึ่งของปู่คออี้ในวัย 107 ปี คือการกลับไปตายที่บ้านเกิด – ใจแผ่นดิน
ซึ่งวอดวายไปแล้วตั้งแต่ปี 2554
7
ผมไม่รู้ว่า ปติภาร นาหลง คิดอะไรระหว่างยืนมองภาพถ่ายของปู่คออี้
ในวัย 107 ผู้เฒ่าคออี้เพิ่งได้รับสัญชาติไทย
หากเทียบอายุระหว่างผู้เฒ่าวัย 107 ปี กับเด็กหนุ่มวัย 22 อย่างเขา เขาจะรู้สึกมีหวังหรือหดหู่
8
ในเอกสาร ‘เพราะ G ตัวเดียว ที่พอมีตัวตน’ ได้เผยแพร่ข้อมูลจากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ของคณะวิจัย เป็นการสัมภาษณ์เด็กสาวคนหนึ่งในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
เธอให้ข้อมูลว่า “การที่เราไม่มีบัตรทำให้เราโดนล้อ เคยเสียใจมากจนแอบไปร้องไห้ เรารู้สึกว่าเข้ากับสังคมไม่ได้ ทำอะไรกับเพื่อนก็ไม่ได้ ไปไหนกับเพื่อนก็ไม่ได้ แต่เราคอยให้กำลังใจตัวเอง คอยขอพรกับพระเจ้า”
คณะวิจัยถามว่า ถ้าได้บัตรประจำตัวประชาชน เธอจะรู้สึกอย่างไร
เด็กสาวตอบว่า “คงจะขอบคุณพระเจ้า เพราะพระเจ้าได้ช่วยเรา แล้วก็คงไปเรียนต่อ ประกอบอาชีพเพื่อความฝัน อยากไปเที่ยวอเมริกา ออสเตรเลีย อยากไปเที่ยวที่ไกลๆ”
9
“คุณมองเห็นอะไรในภาพถ่ายปู่คออี้?”
“ผมมองเห็นปัญหาของระบบราชการ ช่องว่างของกฎหมายที่ทำให้คนคนหนึ่งต้องรอคอยนานขนาดนี้ ทำไมคนคนหนึ่งต้องรอถึงอายุ 107 ปี กว่าจะได้รับสิทธิ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย เรามีสิทธิแต่ใช้ไม่ได้ มันเจ็บปวดนะ”
คือความรู้สึกของ ปติภาร นาหลง
10
“การไม่มีสัญชาติทำให้ชีวิตของเรามีค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนที่มีสัญชาติ”
“การจัดการศึกษาที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมือง”
“การแต่งกายมันไม่ได้บ่งบอกว่าเราเป็นคนแบบไหน สถานบริการของรัฐควรปฏิบัติกับคนอย่างเท่าเทียม”
“เวลาถูกล้อว่า ‘พุมะชะ’ ผมอยากจะถอดรองเท้าแล้วตบปากเขาสักสองที”
“พวกเราถูกเรียกเก็บเงินเพื่อดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติ”
เสียงเหล่านี้คือกังวานจากเด็กและเยาวชนหลายชนเผ่าที่เดินทางมาจากหลายพื้นที่ในงานชนเผ่าแห่งประเทศไทยในวันที่ 8 สิงหาคม 2561 พวกเขาถ่ายทอดประสบการณ์ของตน
เด็กและเยาวชนเหล่านี้เดินทางมาจากหลายพื้นที่ มาจากหลายชนเผ่า ม้ง ลาหู่ อาข่า ไทใหญ่ มานิ กะเหรี่ยง ลาวครั่ง ฯลฯ
มาจากคนละที่ แต่ร่วมชะตากรรมเดียวกัน
11
“พ่อแม่ของผมมาจากพม่า ผมเกิดที่สระบุรี ผมเกิดปี 2539” ปติภาร นาหลง เริ่มต้นเรื่องราวของเขาแบบนี้
“ตอนนั้นพ่อแม่ไม่ได้มีความรู้เรื่องเหล่านี้ พวกเขาทำงานอย่างเดียว เมื่อโตขึ้นผมจึงเริ่มมองเห็นปัญหาของตัวเอง เรามีอะไรไม่เหมือนคนอื่นว่ะ คนอื่นมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งต่างๆ เวลาที่ผมเดินไปไหนมันมีความรู้สึกว่ามีกำแพงบางๆ กั้นอยู่ ขณะที่คนอื่นเดินผ่านออกไปได้เลย กำแพงนั้นผมเรียกว่า สัญชาติ
“ตอนเด็กๆ ผมมองไม่เห็นกำแพงที่ว่านี่หรอก แต่สิ่งที่ผมเจอตอนเด็กๆ ก็คือการล้อการเหยียดในโรงเรียน”
12
ปติภารเกิดที่สระบุรี จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ที่อำเภอสันทราย เชียงใหม่ พ่อกับแม่ของปติภารแยกทางกันที่นี่ แม่ของเขาหนีไปอยู่อำเภอเชียงดาว เขาอยู่กับพ่อที่สันทราย หัวใจของปติภารแตกออกเป็นสองเสี่ยง
13
WAY: ตอนนั้นอายุเท่าไร
ปติภาร: 11 ขวบครับ เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลย เพราะก่อนหน้านั้นผมถูกเพื่อนล้อเพื่อนแกล้งในโรงเรียน โดนเพื่อนรุมทำร้ายร่างกาย ประมาณ 10 กว่าคนที่รุมตีผม แล้วชี้หน้าด่าผมว่า “ไอ้ไทลื้อปลูกฝิ่น” เพราะพ่อผมมีเชื้อไทลื้อ เพื่อนก็จะรุมด่าผมว่า “ไทลื้อปลูกฝิ่น ไอ้ไทใหญ่ ไอ้พม่า” เมื่อก่อนอาจารย์จะสอนทำอะนิเมชั่น โปรแกรม adobe เพื่อนก็ทำอะนิเมชั่นมาล้อเรา เขียนว่า “ไทลื้อปลูกฝิ่น พ่อมึงตาย พ่อมึงเป็นไทลื้อ”
ผมก็ไปฟ้องครู ฟ้องจนครูบอกว่า “ปติภารพอเถอะ ไม่ต้องฟ้องแล้ว” คือผมเจ็บปวดครับ เจ็บมาก เพื่อนไปกินข้าวที่โรงอาหาร แต่ผมกับพี่ชายห่อข้าวไปกินบนห้องเรียนกันสองคนพี่น้อง เรารู้สึกโดดเดี่ยว เรามีความสุขเป็นบางครั้ง แต่แป๊บเดียวก็โดนรังแก ครูมองไม่เห็นปัญหา ครูมองว่าเด็กเล่นกัน เดี๋ยวก็หายกัน แต่สิ่งที่ผมโดนกระทำมันคือแผลในใจ ผมไม่กล้าเปิดใจไปคบไปคุยกับคนอื่น กว่าที่แผลจะสมานมันใช้เวลานาน นานมากจริงๆ
เมื่อแม่มาถามว่า จะอยู่กับใครระหว่างพ่อกับแม่ ผมไม่ลังเลที่ไปอยู่กับแม่ ตรงนั้นคือจุดเปลี่ยน
14
เชียงดาวทำให้ปติภารแปลกแยกน้อยลง เพราะที่เชียงดาวมีชนเผ่าพื้นเมืองที่หลากหลาย แน่นอนว่าพวกเขาส่วนหนึ่งไม่มีสิทธิ ไม่มีสัญชาติ เหมือนปติภาร
“ตอน ม.1 มีคนเริ่มถามถึงบัตรประชาชน มันทำให้ผมฉุกคิดขึ้นมาว่า อะไรคือบัตรประชาชน ในเมื่อเราก็มีบัตรของเราอยู่แล้ว ผมมีบัตรครั้งแรกตอน ป.3 ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจอะไรเลย พอมาถึง ม.1 มันเป็นจุดพีคของชีวิต ผมเริ่มต้นที่จะค้นหา เริ่มต้นที่จะพิทักษ์สิทธิของเรา ผมควรได้รับสัญชาติไทย ผมเกิดเมืองไทย ผมควรได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายหลักแผ่นดิน”
บัตรที่ปติภารพูดถึง คือบัตรที่แสดงถึงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน คือบุคคลที่รัฐไทยรับฟังว่า ยังพิสูจน์สถานะทางกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไม่ได้ หรือพิสูจน์ได้แล้วว่าเป็นคนต่างด้าว แต่ยังส่งกลับประเทศต้นทางไม่ได้ บัตรประเภทนี้จึงถูกออกให้บุคคลในสถานการณ์ดังกล่าวหลังจากการจัดทำทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้ใช้เป็นเอกสารรับรองตัวบุคคลในระหว่างรอการกำหนดสถานะบุคคลตามกฎหมายใหม่ หรือรอการส่งกลับออกนอกประเทศไทย
ปติภารหยิบกระเป๋าสตางค์ออกมาจากกระเป๋าสะพาย ในนั้นมีบัตรสีขาวระบุชื่อ สกุล ที่อยู่
ทุกครั้งที่เขามองบัตรนี้ มันตอกย้ำกับเขาว่า นายปติภาร นาหลง เป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีสิทธิทำงาน แต่ต้องขออนุญาต และต้องไม่ทำอาชีพที่สงวนให้คนสัญชาติไทย
เอาเข้าจริงๆ แล้ว บ้านเกิดของปติภารอยู่ที่มวกเหล็ก
15
WAY: ตอนที่มีคนถามถึงบัตรประชาชน คุณรู้สึกยังไง
ปติภาร: รู้สึกไม่ปกติในหลายๆ อย่าง เช่น ผมต้องการไปต่างจังหวัด อย่างตอนบวชเณรไม่ค่อยมีปัญหาหรอก เพราะมีใบสุทธิในการเดินทาง แต่พอเป็นฆราวาส เวลาจะออกไปไหนผมต้องไปทำเรื่องที่อำเภอ เสียค่าธรรมเนียม 80 บาท จริงๆ ก็ไม่ควรเก็บหรอก ตอนนั้นมีคนเข้ามาช่วยเหลือในเบื้องต้น บอกว่าผมสามารถทำเรื่องขอสัญชาติได้นะ ผมไม่มีสูติบัตร แต่มีใบรับรองการเกิด
เมื่อกลับไปดูใบรับรองการเกิด มันเขียนว่าผมมีสัญชาติไทย…โอ้โห ผมยิ้มเลย ก็เลยย้อนกลับไปโรงพยาบาลมวกเหล็ก ผมก็ไปขอใบรับรองการเกิด เป็นหลักฐานบันทึกว่าผมเกิดวันนี้นะ เวลานี้นะ แล้วไปยื่นที่อำเภอ สักพักหนึ่งโรงพยาบาลก็โทรมา หมอคนที่ทำคลอดให้ผมนั่นแหละ เรายังติดต่อเขาได้อยู่ เขาโทรมาบอกว่าเขาเขียนผิด ตอนนั้นเหมือนโลกทั้งใบพังลงมา…พังเลย โอกาสหายไปต่อหน้าต่อตา ประตูอยู่ข้างหน้า แต่หายไปอีกแล้ว ตอนนั้นรู้สึกโกรธมาก ตอนนั้นเป็นเณรอยู่เลยโกรธเยอะไม่ได้ ผ้าเหลืองคลุมอยู่ หมอเขียนผิด…เราแบบ หมอทำไมมึงทำแบบนี้ เขียนผิดมาสิบกว่าปี ด้วยความที่แม่เราไม่รู้เรื่องด้วย ตอนนั้นเราเกิดภาคกลางซึ่งมีคนไทยเยอะ หมอก็เขียนสัญชาติไทย เรารู้สึกว่าโลกพังทลาย
16
“หลังจากนั้น ผมเริ่มส่งเรื่องไปที่องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปร้องเรียน เขาก็ส่งเรื่องไปที่อำเภอมวกเหล็ก เขาก็แจ้งว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นเอกสารแก้ต่างมา สิ่งแรกที่ทำคือฉีกทิ้งเลย ผมหมดกำลังใจ มองไม่เห็นทาง
“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก็พยายามช่วยผม แนะนำให้ผมรู้จักหน่วยงานต่างๆ แนะนำให้ผมรู้จักองค์กรเอกชน ผมก็เริ่มเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเขา ก็มองเห็นการทำงานของเขา มองเห็นระบบระเบียบการขอสัญชาติ
“หลังจากที่พวกเขารับรู้ข้อมูลของผม คนในองค์กรเอกชนบอกว่าผมได้สัญชาติแน่นอน ไปอำเภอเลย ตอนนั้นผมเริ่มเห็นประตูอีกครั้ง ประตูที่จะนำผมไปสู่โลกกว้างมากขึ้น
“ตอนนั้นผมเรียนไปด้วยและศึกษาเรื่องเหล่านี้ไปด้วย ศึกษาทีละนิดทีละหน่อย เริ่มจากการเข้าค่าย ร่วมกิจกรรมกับหลายๆ องค์กร ร่วมกับมูลนิธิรักษ์ไทย เปิดโอกาสให้เราได้เจอคนมากมาย ก็เริ่มเดินเรื่องเอง เพราะเกรงใจเขา แค่เขาบอกเราว่ามีโอกาสที่จะได้เป็นคนไทยนะ มันก็เป็นอะไรที่แบบดีมากแล้ว
“เราเริ่มเดินเรื่องที่อำเภอ อำเภอก็บอกให้ทำเอกสารนู่นนี่นั่น ก็นานมาก ตอนนั้นก็หมดไปเยอะเหมือนกัน หมดเงินเยอะ”
17
ปติภาร อ้ำอึ้งตอนที่ถูกถามว่า เงินที่จ่ายให้เจ้าหน้าที่ถือเป็นช่องทางปกติไหม
“ไม่เชิงครับ” ปติภารบอก “เอาง่ายๆ ว่า เขายอมมาหาเราครับ แต่เขาจะอิดๆ ออดๆ แต่พอเรามีอะไรที่เรียกว่าสินน้ำใจ คือผมรู้นะว่าทำแบบนี้มันไม่ดี แต่ผมก็รู้ว่าถ้าเราไม่ทำ ชะตากรรมผมจะเป็นยังไง พอเรามีให้เขา การดำเนินการจะไวขึ้น แต่ก็มีคนที่ไม่เอาเงินกับผมนะ
“ผมต้องการพยาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการขอสัญชาติ มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และคนที่ยืนยันว่าเราเกิดที่ไทย คือคนที่จะยืนยันว่าผมเกิดที่ไทย อยู่สระบุรี แต่ผมมาอยู่ที่เชียงใหม่นานแล้วไง ก็ต้องหาพยาน ตอนแรกคิดจะปลอมพยาน แต่คิดไปมามันไม่ได้ ยังไงก็ไม่ใช่ ก็เอาตรงๆ แต่เตี๊ยมกับผู้ใหญ่บ้านว่า เราเกิดที่ไทยจริงๆ นะ เอาหลักฐานที่มีให้เขาอ่าน ก็พูดตามจริงทุกอย่าง พอมีพยานยืนยันการเกิด ขั้นตอนต่อมาก็คือค้นประวัติอาชญากรรม”
18
ในขั้นตอนการสืบค้นประวัติอาชญากรรม ดูเหมือนว่าการเป็นคนไทยช่างลำบากและมีราคาที่แพงเหลือเกิน
“ผมไปที่โรงพัก เริ่มจากพิมพ์ลายนิ้วมือ มีค่าใช้จ่าย 300 บาท ผมไม่เคยได้ใบเสร็จรับเงินเลย รู้มั้ยสิ่งที่ผมเจอคืออะไร ตำรวจบอกว่า ได้เงินมาเติม ROV แล้ว เงินหลักร้อยคือชีวิตของผมนะครับพี่
“หลังจากนั้นผมก็รวบรวมหลักฐานเอาไปให้เจ้าหน้าที่ เขาให้ผมไปถ่ายเอกสาร 3 ชุด หมดไป 500 บาท ผมไปถ่ายเอกสารของผมกับของพี่ชายก็หลักพันแล้ว เขายังไปบอกร้านถ่ายเอกสารให้เก็บผมเพิ่มอีก 450 เป็นค่าก็อปปี้ส่งให้ปลัด ผมอยากจะบอกเขาว่าผมทำอะไรให้อำเภอนี้เยอะมาก ผมเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนให้อำเภอนี้ ผมทำงานเพื่อส่วนรวม แต่คุณมาทำแบบนี้กับผม กับคนแบบผม มันน่าเกลียดมาก
“ผมเคยเจอเรื่องราวแบบนี้ เจ้าหน้าที่คุยกัน ถามกันว่าวันนี้ได้เท่าไร เขาก็พูดกันเองว่าเก็บคนนี้ได้เท่าไร วันนี้ได้เท่านี้เอง แล้วไม่มีใบเสร็จ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น แล้วมีการพูดอีกว่า ใกล้ปีใหม่แล้วต้องหาเงินซื้อชุดพื้นเมือง ฟังแล้วมันแบบ…
“ทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้เงิน เขาจะเก็บในลิ้นชัก เงินเหล่านี้มันไปไหนไม่ได้หรอกครับนอกจากกระเป๋าตัวเอง เห็นเลยว่าพอตกเย็นก็เอาเงินเหล่านั้นใส่กระเป๋าตัวเอง แล้วเดินกลับบ้าน บางทีก็หารกันกับเพื่อนเจ้าหน้าที่ พวกเขาเก็บเอารีดเอากับคนแบบผม คนที่ไม่มีสิทธิ จนผมรู้สึกสงสารคนที่มีชะตากรรมร่วมกับผม เจ็บปวดนะครับกับการที่ไม่ได้เป็นคนไทยแล้วโดนแบบนี้ ทำไมมึงไม่เห็นความลำบากกูบ้างวะ กูก็เหนื่อยนะ กูก็อยากมีอยากเป็นเหมือนคนอื่นเขานะ ความฝันกูก็มีเหมือนกัน ไม่ใช่ต้องมาเสียเงินกับอะไรแบบนี้ แล้วก็ผัดวันประกันพรุ่ง ผลัดไปเป็นปี”
19
WAY: ตอนนี้กระบวนการไปถึงไหน
ปติภาร: พิสูจน์เรียบร้อยหมดแล้ว ปลัดกำลังตรวจสอบเอกสาร ตอนนี้ปลัดยังไม่เซ็นเลย ทั้งที่ในกฎหมายระบุว่าขั้นตอนทั้งหมดมันไม่เกิน 180 วัน นี่ผม 2 ปีแล้ว ผมอยากจะเดินเข้าไปแล้วบอกว่าผมจะถือเอกสารไปเองก็ได้พี่ พี่บอกผมแค่ว่าไปทางไหนยังไง ผมอยากจะไปเองด้วยซ้ำ ผมรู้ด้วยว่าต้องยื่นให้ใคร
หลังจากปลัดเซ็นแล้ว ขั้นตอนต่อจากนี้คือผมต้องส่งต่อไปที่จังหวัด เพื่อตรวจสอบเอกสารทั้งหมดที่เราเดินเรื่องมา ถ้าผ่าน จังหวัดจะขอหมายเลข 13 หลักให้ แล้วจังหวัดจะส่งกลับไปที่อำเภอ เพื่ออำเภอจะเรียกถ่ายบัตรประจำตัวให้เรา ก่อนจะถ่ายบัตรต้องให้ผู้ใหญ่บ้านมาเซ็นอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดที่ผมกลัวว่าจะเจออะไรอีกหรือเปล่า
ผมกังวลขั้นตอนสุดท้ายว่าเขาจะขอมาเก็บอะไรเราหรือเปล่า เพราะผมรู้จักพี่คนหนึ่ง เขาโดนเก็บไป 50,000 บาท คนในอำเภอโทรมาเรียกให้เขาจ่ายค่าอาหารให้ 50,000 แลกกับการออกบัตรประชาชนให้ คิดดูแล้วกัน 50,000 นะพี่
WAY: ถ้ามันเกิดขึ้นกับคุณ คุณจะทำอย่างไร
ปติภาร: ถ้าผมเลือกแจ้ง ป.ป.ช.นะ แม่งก็พวกเดียวกันเลย ผมมองแบบนี้จริงๆ ถ้าเป็นเรา เราก็ต้องจ่าย ถ้าเป็นพี่ พี่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้แล้ว
20
ปติภารเรียนภาควิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจภาคพิเศษ ระดับชั้น ปวส.ปีที่ 2 เขาเรียนเฉพาะวันอาทิตย์ เวลาที่เหลือ 6 วัน – ทำงาน
“เพราะถ้าผมเรียนภาคปกติมันมีค่าใช้จ่ายสูง ผมไม่มีกำลัง ผมไม่สามารถกู้เรียนได้ ผมไม่สามารถหาทุนได้ หลายคนบอกสามารถหาทุนได้ แต่ผมไม่ใช่คนเรียนดี ผมเรียนกลางๆ แม่ช่วยบางส่วนด้วย ผมเป็นฟรีแลนซ์ ตรวจสอบระบบเครื่องรูดบัตรของธนาคารกรุงเทพ เวลาเครื่องมีปัญหา ผมก็เข้าไปดูแล เป็นวิทยากรให้มูลนิธิรักษ์ไทยด้วย”
21
“คุณอยู่เชียงดาว บ้านเดียวกับชัยภูมิ ป่าแส?”
“รู้จักครับ แต่ไม่ค่อยโอเคกันเท่าไร ผมไม่ค่อยชอบเขาเท่าไร เป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผมกับเขา แต่ตอนเขาตายผมก็พยายามที่จะทำอะไรบางอย่าง ถึงแม้ผมจะไม่ชอบเขา แต่การที่เขาตายแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้น เรามองว่าคุณกำลังโยนขี้ให้เด็กคนนี้ เด็กคนนี้ควรได้รับความเป็นธรรม คุณบอกว่าเขามียาบ้า แต่หลักฐานล่ะ ตอนนั้นผมคิดว่าผมอยู่เฉยๆ ไม่ได้ ก็เลยทักไปหาพี่ของชัยภูมิ พี่สาวก็ถามว่า พอจะหาข้อมูลอะไรได้มั้ย ผมก็พยายามหาข้อมูล พอหามาได้ผมก็ไปพูดคุยกับเพจดังๆ ในเฟซบุ๊ค เผื่อจะทำอะไรได้บ้าง
“ตำรวจเล่นเรื่องยาเสพติดกับเขา เพราะที่เชียงดาวถ้าคุณจะเล่นเรื่องนี้มันทำได้ เพราะที่นั่นยาบ้าราคาถูกมาก ถูกกว่าบุหรี่ซองหนึ่ง คือตราบใดที่เราเป็นชนเผ่า เราก็สามารถถูกยัดเยียดข้อกล่าวหาแบบนี้ได้ตลอดเวลา
“สังคมสร้างมายาคตินี้ขึ้นมา สังคมบอกว่าพม่าเป็นชนชั้นแรงงาน เขมรเป็นชนชั้นแรงงาน ลาวเป็นชนชั้นแรงงาน พวกชาวดอยผลิตยาบ้า พวกชายแดนผลิตยาบ้ามาทำลายประเทศไทย แต่มันไม่ใช่ สังคมพยายามยัดเยียดความผิดให้พวกเรา”
22
คุณอาจรำคาญที่แบ่งบทแบ่งตอนเสียเรี่ยราดถึง 22 บท แต่เพื่อสื่อความหมายไปถึงเด็กหนุ่มอายุ 22 ปี ที่ยังคงรอคอยสัญชาติไทย เพื่อมีสิทธิเหมือนคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้
หวังว่าปติภารจะไม่ต้องรอนานเท่ากับที่ปู่คออี้รอคอย ไม่อย่างนั้น scoop บางชิ้นอาจมีถึง 107 บท