ภาพประกอบ: Shhhh
บทความนี่ไม่เหมาะกับผู้ที่ชอบอาบน้ำ แต่สำหรับคนไม่ชอบอาบน้ำ… ควรอ่านอย่างยิ่ง
โจเซฟ เมอร์โคลา (Jopheh Mercola) แพทย์ผู้สนับสนุนการแพทย์ทางเลือกและเจ้าของเว็บไซต์ mercola.com เขียนบทความรวบรวมงานหลายๆ ชิ้นพุ่งเป้าไปยังจุดเดียวกันว่า
การอาบน้ำโดยเฉพาะฝักบัว (showering) แท้จริงอาจเป็นการแทรกแซงกลไกการทำงานของจุลินทรีย์ที่อยู่กับร่างกายตามธรรมชาติ (microbiome) ที่สามารถชำระไขมันด้วยตัวเองได้ และยังเป็นการขับล้างน้ำมันธรรมชาติที่เป็นผลดีต่อร่างกายออกไปด้วย
ซ้ำการอาบน้ำด้วยฝักบัวบ่อยๆ นอกจากจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงาน เปลืองสตางค์ค่าสบู่และแชมพู ยังมีหลักฐานสัญชาติอเมริกันจำนวนหนึ่งชี้ว่า น้ำประปาที่ใช้อาบและดื่ม (โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา) มักมีสารปนเปื้อนที่อาจเป็นสาเหตุสำคัญต่อความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งด้วย
ไม่อาบน้ำ จึงเป็นเหตุให้ตัวสกปรก ความสกปรก จึงเป็นเหตุให้ตัวเหม็น?
เจมส์ แฮมบลิน (James Hamblin) บรรณาธิการอาวุโสสำนักข่าว The Atlantic เขียนจดหมายอธิบายขั้นตอนการทดลองลดจำนวนความถี่ในการอาบน้ำของเขา อันสะท้อนวัฏจักรกลไกความเหม็นของตัวเองว่า
เขาค่อยๆ ลดปริมาณการใช้แชมพู สบู่ และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายในการอาบน้ำแต่ละครั้ง ค่อยๆ ลดการอาบน้ำด้วยฝักบัว และค่อยเปลี่ยนพฤติกรรมการอาบจากวันละครั้ง วันเว้นวัน สามวันต่อครั้ง กระทั่งไม่ทำความสะอาดร่างกายด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเหล่านั้นเลย
แต่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ว่า แฮมบลินยังคงล้างมือด้วยน้ำเปล่า ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นสำหรับสุขลักษณะอนามัยในแง่การป้องกันโรค
ความเหม็นล่ะ?
แฮมบลินอธิบายว่า ในช่วงแรกของการเปลี่ยนพฤติกรรม ร่างกายและผมจะมีกลิ่นแรง ซึ่งกลิ่นเหล่านี้เป็นผลจากการที่เราใช้สบู่และแชมพูทุกวัน อันทำให้ผิวหนังเหลือแต่แบคทีเรียตัวที่เร่งการผลิตกับน้ำมัน ที่ได้จากเหงื่อและต่อมไขมัน
สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอื่นๆ จะกำจัดแบคทีเรียที่มีประโยชน์และน้ำมันบำรุงผมและผิวไปชั่วคราว จึงทำให้ร่างกายมีกลิ่นเหม็น แต่เมื่อหยุดพฤติกรรมการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด กลไกของร่างกายจะฟื้นสร้างแบคทีเรียชนิดนั้นๆ ขึ้นมาได้อีกครั้ง และเมื่อนั้น… ต่อให้คุณไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความอะอาดอีกเลย คุณจะก็ไม่มีกลิ่นเหม็น
(ชวนอ่านบทความ ‘เปิดชีวิต ปิดแชมพู‘ งานทดลองลดการใช้แชมพูของกลุ่มทดลอง เพื่อตอบคำถามว่าการไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผมเลยจะเกิดอะไรขึ้น)
ใครเป็นคนกำหนดนิยามคำว่า ‘ความสะอาด’?
เมอร์โคลาอธิบายว่าแนวคิดเรื่องความสะอาด โดยเฉพาะของคนอเมริกันเริ่มลงหลักปักฐานในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 ที่เริ่มมีการตลาดกับผลิตภัณฑ์ด้านความสะอาดอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการอาบน้ำโดยเฉพาะ เช่น สบู่ล้างมือในห้องน้ำ น้ำยาบ้วนปาก ซึ่งแน่นอนว่า… สินค้าเหล่านี้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดเรื่องความสะอาดของคนเสียคราวใหญ่
แต่จากข้อเท็จจริงที่ว่า ยิ่งใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ยิ่งล้างมือด้วยน้ำ (โดยเฉพาะน้ำร้อน) ผิวก็ยิ่งแห้งแตก อันตามมาด้วยการเติมความชุ่มชื้นที่ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันกลับเข้าไปในผิว นอกจากจะเป็นข้อเสียดเย้ยของเมอร์โคลาที่ว่า “เราใช้แชมพูล้างน้ำมันธรรมชาติของเส้นผมออกไป แล้วเราก็เติมมันกลับด้วยน้ำยาหมักผมหรือครีมนวด” ก็ยังเป็นการเปิดช่องผลิตภัณฑ์บำรุงผิวอย่างครีมต่างๆ เข้าทำการตลาดและเปลี่ยนพฤติกรรมคนอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การ ‘หักดิบ’ ลดละเลิกไม่อาบน้ำและไม่ใช้เครื่องประทินผิวเสียเลยอาจเป็นเรื่องสุดโต่งเกินจะทำได้จริงนัก
หาก แคสซีย์ คาร์ลอส (Casey Carlos) อาจารย์ประจำคณะผิวหนังวิทยา (Department of Dermatology) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย (University of California, San Diego School of Medicine) ยืนยันว่าร่างกายมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดตัวเองดีเยี่ยมอยู่แล้ว
คาร์ลอสชี้ว่า เพียงการทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำเปล่าตามบริเวณซอกและข้อพับ จุดเร้น เท้า หรือจุดอับต่างๆ หลังการทำกิจกรรมคลุกฝุ่นหรือหลังการผจญภัย ก็เป็นสิ่งจำเป็นและสะอาดเพียงพอ