เรื่อง: อาทิตย์ เคนมี / ภาพ: อารยา คงแป้น
ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเรารู้จักยากระตุ้นประสาทที่ชื่อ ‘ยาม้า’ ‘ยาขยัน’ ของคุ้นเคยในหมู่ผู้ใช้แรงงานที่อาศัยเป็นตัวช่วยให้สู้ทนงานหนัก ถัดมาปี 2539 มันถูกเปลี่ยนคำเรียกขานเพื่อสร้างความรับรู้ใหม่ในชื่อ ‘ยาบ้า’ โดย เสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะนั้น
วันนี้ยาบ้ากำลังจะถูกยกระดับจากใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน ด้วยการตัดออกจากบัญชียาเสพติดร้ายแรงประเภทที่หนึ่ง ตามแนวนโยบายของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เหมือนโยนหินถามทาง ท่ามกลางความคิดเห็นของสังคมที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน
หากสังคมไทยยังพอหลงเหลือพื้นที่ว่างสำหรับการถกเถียง และพร้อมจะรับฟังกันอย่างมีเหตุมีผล ลองมาฟังคำอธิบายกันชัดๆ อีกครั้งจากปากคำของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติด ภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาวิจัยด้านยาเสพติด
ต้นเหตุที่นำมาสู่ประเด็นการถกเถียง เกิดจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด (The UN General Assembly Special Session: UNGASS) ปี 2016 ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่ง ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าวถึงผลสรุปเบื้องต้นจากที่ประชุมดังกล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากทุกประเทศทั่วโลกได้ประกาศสงครามยาเสพติดมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งค้นพบว่าไม่สามารถปิดฉากสงครามด้วยวิธีการนี้ได้ นำมาสู่การค้นหาแนวทางใหม่ๆ ด้วยการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างสร้างสรรค์และมีมนุษยธรรม
สรุปง่ายๆ ว่า ขณะนี้ทั่วโลกต่างยอมรับในความพ่ายแพ้และยอมจำนนต่อการใช้วิธีการรุนแรง พร้อมเปลี่ยนทิศทางมาสู่การยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับยาเสพติดให้ได้ โดยลดทอนการมองปัญหายาเสพติดให้เป็นอาชญากรรมลง
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเตรียมที่จะปรับลดมาตรการความรุนแรงของบทลงโทษ แยกแยะระหว่างผู้ขาย ผู้เสพ และผู้ป่วยออกจากกันให้ชัดเจน รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการบำบัดมากขึ้น พร้อมทั้งหามาตรการควบคุมกำกับสารตั้งต้นที่เรียกว่า ‘แอมเฟตามีน’ ให้อยู่ภายใต้การดูแลโดยภาครัฐเอง
ด้านมืดและด้านสว่างของแอมเฟตามีน
แอมเฟตามีนซัลเฟตเป็นสารสังเคราะห์เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้น เช่น กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้เกิดการขยายตัว ใช้รักษาโรคหอบหืดให้ทุเลาลงได้ นอกจากนี้ยังมีผลต่อการกระตุ้นประสาทสมองและหัวใจ ทำให้คึกคักตื่นตัว
“ในบ้านเราก็ใช้ในชื่อที่เรียกว่า ‘ยาขยัน’ หรือ ‘ยาม้า’ ก็เป็นแอมเฟตามีนเหมือนกัน ชาวไร่ชาวนาก็ใช้เวลาลงแขกเพื่อจะได้มีเรี่ยวแรงทำงาน เขาก็ใช้ยากระตุ้นกัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของเกษตรกรเรามานาน อย่างภาคเหนือถ้าจะเก็บลำไย ต้องเก็บด้วยความรวดเร็ว ถ้าปล่อยให้ฝนตกลงมาลำไยจะเสียหาย เขาจึงต้องใช้ยากระตุ้นในการทำงาน ทางภาคใต้เวลาไปกรีดยางตอนเช้าเขาก็ใช้ยากระตุ้น เพียงแต่ยากระตุ้นทางใต้อาจใช้ใบกระท่อมแทน แม้กระทั่งชาวสวนในอเมริกาใต้เขาก็เคี้ยวใบโคคาก่อนไปทำงานได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกหรือลึกลับอะไร”
เมื่อมีการใช้แอมเฟตามีนแพร่หลายมากขึ้น ภายหลังจึงมีบริษัทยาเข้ามาทำการผลิต มีความพยายามคิดค้นสารสังเคราะห์ตัวใหม่ๆ ในหมู่นักเคมี นักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่า และเป็นที่นิยมในการใช้บำบัดผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคเหงาหลับ เพื่อกระตุ้นให้รู้สึกคึกคัก มีชีวิตชีวา สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ หรือแม้กระทั่งใช้บำบัดโรคทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น
ข้อสังเกตของ ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ พบว่า สาเหตุที่ทำให้แอมเฟตามีนได้รับความนิยมแพร่หลาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ย่ำแย่ เกิดภาวะฟองสบู่แตก เกิดปัญหาเหลื่อมล้ำของรายได้ ผู้คนตกงาน ทำให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเพิ่มจำนวนตามไปด้วย
ทว่าข้อพึงระวังมีอยู่ว่า หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม แอมเฟตามีนย่อมมีคุณมากกว่าโทษ แต่หากใช้ในทางที่ผิด ผลกระทบด้านลบก็ย่อมตามมา
มีการค้นพบว่า ส่วนผสมของยาม้าหรือยาขยันในอดีตแตกต่างไปจากยาบ้าในปัจจุบัน โดยมีส่วนผสมของตัวยาที่แรงขึ้น ประกอบด้วย เมตแอมเฟตามีน 20-30 เปอร์เซ็นต์ และคาเฟอีน 70-80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงกว่าและอันตรายมากกว่า
“ตัวยาที่เขาผลิตให้มีฤทธิ์แรงมากขึ้นคือ ‘เมตแอมเฟตามีน’ ถ้าใช้ยาเกินขนาดก็มีอาการทางจิตได้ คือมันไปกระตุ้นมากเกิน ซึ่งอาการทางจิตส่วนหนึ่งก็เป็นฤทธิ์ยา อีกส่วนหนึ่งก็เพราะร่างกายมันทรุดโทรม ไม่ได้พักผ่อน ไม่กินข้าว ไม่ได้นอน ในสภาพอย่างนั้นสมองก็มีโอกาสกระทบกระเทือน” ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ บอก
ยาเสพติดจากกองทัพระบาดสู่เมือง
ช่วงเวลาสำคัญที่แอมเฟตามีนถูกนำมาใช้อย่างหนักเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลก ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ให้ข้อมูลว่า ทั้งกองทัพอเมริกัน เยอรมัน ญี่ปุ่น และอังกฤษ ต่างก็ต้องพึ่งพาสารแอมเฟตามีน เพื่อปลุกเร้าให้ทหารกรำศึกชนิดข้ามคืนข้ามวัน
“เมื่อมีการค้นพบสารกระตุ้นตัวนี้ มันจึงเป็นที่นิยมใช้ในกองทัพ แทบจะเรียกได้ว่ากองทัพใหญ่ๆ ทั้งหมดก็ใช้กันทั้งนั้น แต่พอสงครามโลกสงบ บริษัทที่ผลิตยาตัวนี้มาเพื่อปั้นกองทัพก็จะมียาเหลืออยู่ 2 ล้านเม็ดในอเมริกา มันก็ถูกกระจายไปสู่สังคม แม้แต่ประธานาธิบดีอเมริกาหลายคนก็ออกมายอมรับว่าเคยใช้ยากระตุ้น”
เมื่อสังคมรับรู้กันว่าแอมเฟตามีนออกฤทธิ์อย่างไร การใช้เพื่อความบันเทิงต่างๆ นานาจึงเกิดขึ้นตามมา และเมื่อใช้เกินขนาดก็ส่งผลกระทบต่อสมองและเกิดอาการเสพติดในที่สุด
จะเห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาเชิงสังคม เมื่อใดก็ตามที่สังคมยังสนใจใช้สารชนิดนี้ในทางที่ผิด ไม่ว่าจะแบนอย่างไรเขาก็ยังหาได้ จนเกิดเป็นธุรกิจมืด และเมื่อมีความต้องการสูง ผู้ค้าก็ขึ้นราคา ราคาก็แพง กำไรก็เยอะ คนก็ไหลเข้าสู่ธุรกิจมืดเยอะ ทำให้มีคนตายเยอะ แล้วคนที่ตายส่วนใหญ่ก็คือ คนจน คนที่มารับจ้างขนยา
“ประเทศเม็กซิโกเขาประกาศเลยว่า ทิศทางการปราบปรามที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่ใช่สงครามยาเสพติด แต่เป็นสงครามที่ทำกับผู้คนของเขาเอง ยิ่งทำอย่างนี้มากขึ้น คนของเขาก็ตายมากขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงคิดว่าน่าจะมาผิดทาง”
แก้ปัญหาคนจนล้นคุก
ภายหลังจากสถานการณ์ยาเสพติดขยายวงออกไป ทำให้ประเทศไทยยกระดับจากยาม้าเป็นยาบ้า และเปลี่ยนนิยามจากวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่สองขึ้นมาเป็นยาเสพติดร้ายแรงประเภทที่หนึ่ง ควบคู่กับการเพิ่มอัตราโทษที่มากขึ้น
นั่นทำให้ในเวลาต่อมาได้เกิดนโยบายฆ่าตัดตอน เกิดการกวาดล้างขบวนการยาเสพติดครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ส่งผลให้เรือนจำเต็มไปด้วยนักโทษคดียาเสพติด
ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ยกผลสำรวจประชากรไทยทั้งประเทศเมื่อปี 2554 ประมาณการว่า มีคนที่เคยเสพยาบ้าอยู่ราว 1 ล้านคน และหากนับรวมคนที่เคยใช้สิ่งเสพติดผิดกฎหมายประเภทอื่นๆ จะมีประมาณ 2-3 ล้านคน ซึ่งสะท้อนได้ว่า การใช้สิ่งเสพติดผิดกฎหมายไม่ใช่เรื่องที่หาได้ยากในบ้านเรา
“เรายังพบอีกว่า ในจำนวนคนที่เคยเสพยาบ้าจำนวนมากถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ เขาใช้ยาบ้าโดยที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับใคร นั่นแสดงว่าถ้าเราจะจัดการกับคนที่เขารู้จักใช้ เราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา จะเอาเขามาติดคุกทำไม เขาใช้เพื่อทำงานหาเลี้ยงลูกเมีย ไม่ได้ไปก่อคดีอะไร แต่คนที่เราต้องให้ความสนใจคือ คนที่เริ่มใช้ประจำจนแทบไม่หยุดยั้งและอาจก่อความรุนแรงได้ ฉะนั้น เราต้องเข้าถึงเขาให้ได้ก่อน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีอยู่แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้ยาเสพติดทั้งหมด
“แต่เมื่อเราประกาศสงครามโดยยกระดับเป็นยาบ้า แล้วปราบปรามขั้นเด็ดขาด ตำรวจก็ต้องการทำยอด สถิติก็ขึ้นมาเรื่อยๆ ในคุกจึงเต็มไปด้วยผู้เสพซึ่งไม่ได้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงอะไรเลย ผ่านมาสิบกว่าปี เรามีคนที่เข้าคุกไปเพื่อจะเรียนรู้ว่า อ๋อ เขาค้ายากันแบบนี้ รับมาจากตรงนี้ ส่งตรงนี้ กลายเป็นโรงเรียนสอนอาชญากรรม จึงไม่แปลกที่ยิ่งใช้มาตรการนี้นานเข้าก็ยิ่งมีคนเข้าสู่วงการมากขึ้นๆ แล้วยาเสพติดจะลดลงได้อย่างไร” ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าว
มองผู้เสพเป็นผู้ป่วย
เมื่อทั่วโลกเริ่มประสบปัญหาแบบเดียวกัน หลายประเทศจึงมีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายใหม่ โดยลดมาตรการปราบปรามขั้นรุนแรงแล้วหันมาเน้นการบำบัดผู้ติดยา เปลี่ยนวิธีการมองผู้เสพให้เป็นผู้ป่วยที่ควรได้รับความช่วยเหลือ
“ยุโรปเขาเริ่มขยับก่อน ไม่ปราบแล้ว ถ้าใครใช้ยาเสพติด ก็ให้ความรู้เขา ให้เขารู้จักควบคุมและใช้ให้ถูกวิธี ถ้าคุณเริ่มรู้สึกมีปัญหา คุณมาหาเรา เราจะสอนวิธีใช้ที่ถูกต้องให้ แต่ดีที่สุดคือไม่ใช้เลย ด้วยวิธีการนี้มันก็ไม่ต้องไปแอบไปซ่อนตำรวจ เขาสามารถมียาที่ควบคุมตามขนาดได้ มีมาตรฐานการผลิต มีความปลอดภัย คนที่เขาเข้ามาคุยด้วยก็เป็นคนในวงการแพทย์ เข้ามาดูแลสุขภาพเขาได้ ถ้าติดขัดไม่มีงานทำ ก็มีบริการสังคมเข้ามาช่วยสงเคราะห์หางานให้ คือเอาตลาดมืดเข้ามาอยู่ในระบบ แทนที่จะกวาดคนเข้าคุก ก็เอาเข้ามาในระบบ แล้วเพิ่มงบประมาณด้านการดูแล ทางด้านสุขภาพ คนเราพอมีทางเลือกที่ดีกว่า ไม่มีใครหรอกที่อยากเดินเข้าสู่ที่มืด
ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ บอกอีกว่า มีงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมทหารอเมริกันที่เข้าร่วมสงครามเวียดนาม พบว่า หลังสงครามยุติแล้วทหารอเมริกันจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ติดเฮโรอีน จนเกิดข้อกังวลว่าปัญหาเฮโรอีนจะระบาดหนักในอเมริกา แต่เมื่อติดตามดูพฤติกรรมของทหารเหล่านั้นภายหลังกลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัว กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ก็ไม่พบว่ามีการติดเฮโรอีนอีก
“งานวิจัยบ่งชี้ว่า ถ้าคนเรามีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าก็จะไม่ไปซ้ำซากกับสิ่งเสพติดอีก เพราะความสุขที่ได้จากคนรัก จากครอบครัว มันมากกว่า ฉะนั้น ปัญหายาเสพติดจึงเป็นเรื่องของสังคม ตัวยาเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ ทิศทางทั่วโลกมีแนวโน้มว่า เมื่อประเทศใดหันมาใช้นโยบายเชิงบวก สังคมก็เริ่มมีความสงบ อาชญากรรมลดลง
“เมื่อเป็นอย่างนั้น ยุโรปที่นำหน้ามาก่อนจึงเรียกร้องว่าเลิกเถอะ เพราะคนของเขาใช้ยาเสพติดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหมอคอยดูแลให้ พอผ่านมาสักระยะหนึ่งก็มีแรงกดดันไปยังสหประชาชาติว่า เปลี่ยนเถอะ นโยบายปราบไม่ได้ผลหรอก หลายประเทศทำมาเยอะแล้วก็เจอปัญหาเหมือนกัน อเมริกาหลังจากปราบมานานก็ยังจนแต้ม”
ทั้งชีวิตเราดูแลผู้ติดยา
เมื่อลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติดลงแล้ว ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ เสนอว่า มาตรการที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันคือ ภาครัฐต้องลงทุนจัดบริการทางสังคมและบริการทางการแพทย์ให้มากขึ้น เพราะผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ใช่อาชญากร ฉะนั้น คนดูแลผู้เสพต้องเป็นหมอ ไม่ใช่ตำรวจหรือทหาร
“ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมีข้อสรุปแล้วว่า เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขยินดีรับภาระที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องมาคุยกันต่อว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร” ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ กล่าว
นอกจากนี้ ควรมีการจำแนกประเภทยาเสพติดกับยาที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อให้คนไข้มีสิทธิ์เข้าถึงยาได้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ โดยระดับสากลมีการแบ่งกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่หนึ่ง เช่น เมตเทอร์โดน หรือมอร์ฟีน เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ไม่มีขายตามร้านขายยาและโรงพยาบาลทั่วไป การสั่งยาต้องสั่งโดยหน่วยงานด้านยาของประเทศนั้นๆ และต้องควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการรั่วไหล
ส่วนวัตถุออกฤทธิ์ประเภทที่สอง คือ ยาที่ขายในโรงพยาบาลได้เพื่อใช้รักษาคนไข้โรคหอบหืด โรคซึมเศร้า เหงาหลับ และโรคสมาธิสั้น แต่หากเป็นร้านขายยาต้องมีใบสั่งแพทย์จึงจะสามารถซื้อได้
ทุกวันนี้รัฐก็มีการจ่ายยาเองในราคามาตรฐาน ยกตัวอย่างมอร์ฟีน ถ้าหลุดไปในตลาดมืดจะมีราคาสูงมาก แต่ทุกวันนี้หมอก็ต้องใช้มอร์ฟีนในการผ่าตัด สารเคมีพวกนี้ยังมีความจำเป็นในทางการแพทย์ ฉะนั้น ความกังวลที่ว่าถ้าเอามาใช้แล้วจะคุมอยู่ไหม ทุกวันนี้เราก็ใช้อยู่แล้ว สารเสพติดต่างๆ เราก็ใช้อยู่แล้ว อย่าไปกังวลว่ามันจะรั่วไหล เพราะทุกวันนี้มันก็รั่วไหลอยู่แล้ว แต่ถ้าเอาเข้ามาในระบบแล้วมีมาตรฐานการผลิต มีการใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนจริงๆ มันก็น่าจะลดความรุนแรงได้ จะเป็นการตัดวงจรการค้าในตลาดมืดด้วยซ้ำไป
จุดยืนของไทยวันนี้
จากการประชุม UNGASS (UN General Assembly will hold a Special Session) เดือนเมษายนที่ผ่านมา ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ให้ข้อสรุปว่า ท่าทีของไทยพร้อมที่จะลดทอนความเป็นอาชญากรรมของยาเสพติด และเปิดโอกาสให้ผู้เสพได้รับการดูแลจากภาครัฐที่ดีขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ไทยยืนยันว่ายังไม่พร้อมที่จะผลักดันให้ยาเสพติดเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
“จุดยืนรัฐบาลก็คือ ยาเสพติดยังผิดกฎหมาย โทษประหารชีวิตก็ยังมีอยู่ เรามีนโยบายทั้งปราบ ทั้งป้องกัน ทั้งบำบัด ไม่เปลี่ยนแปลง แต่การปราบจะเน้นผู้ค้ารายใหญ่ ไม่ใช่จับแต่ผู้เสพรายเล็กๆ นี่เป็นสิ่งที่ รมว.ยุติธรรม ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยได้ชี้แจ้งให้ที่ประชุมสหประชาชาติทราบ
“เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะมานั่งปราบอยู่อย่างนี้ก็คงไม่ได้ หรือจะรอเป็นประเทศสุดท้ายก็คงไม่ใช่ เราต้องเปลี่ยน ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ก็เปลี่ยนไปแล้ว เราคงต้องคิดใหม่ เพียงแต่ว่าเราพร้อมหรือเปล่า”
ผศ.ดร.นพ.อภินันท์ ย้ำอีกครั้งว่า ณ วันนี้ยาบ้ายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถใช้ได้อย่างเสรี หากแต่นโยบายนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลง