เรื่อง : สันติสุข กาญจนประกร
ภาพ : อนุช ยนตมุติ
1.
“หนังของผมเหมือนบทกวี”
อาทิตย์ อัสสรัตน์
2.
หลอดไฟโดยรอบสว่างวาบ ภายใต้แสงหรุบหรู่ในโรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า จอสีขาวเบื้องหน้าไร้สิ่งมีชีวิตใดๆ เคลื่อนไหว ปรากฏแต่แถวเครดิตชื่อทีมงานไหลขึ้นด้านบนอย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดคั่วกระจายอยู่บนพื้นพรมเป็นหย่อมๆ หนุ่มสาวสองคนเดินตัดแถวเก้าอี้นวมพาตัวเองออกทางประตูเล็กๆ
“คิดอะไรอยู่เหรอ” หญิงสาวเอ่ยถามชายหนุ่ม
“กำลังคิดอยู่ว่า หนังต้องการสื่อถึงเรื่องอะไร” ชายหนุ่มว่า
3.
บนทัศนะของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังไทยเจ้าของรางวัล Jury Prize จากเมืองคานส์ หนังทดลองในเมืองไทยมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น เป็นเรื่องของปัจเจกมากขึ้น ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน คนผลิตไม่ทำตัวเป็นผู้พิพากษาสังคม ซึ่งเจ้าของหนัง แสงศตวรรษ อันอื้อฉาวบอกว่า ประเทืองปัญญาเป็นอย่างยิ่ง
4.
“ถามว่าผมอยากทำหนังให้คนงงเหรอ คงไม่ แค่อยากทำหนังที่ตัวเองชอบ เป็นหนังที่มีความไม่ชัดเจนอยู่ในนั้น”
อาทิตย์ อัสสรัตน์
5.
บนเวทีสุพรรณหงส์ Wonderful Town หนังเล็กๆ นอกกระแสกวาดรางวัลมาได้ทั้งหมด 5 สาขา ทั้งกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม ถ่ายภาพยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม อาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นชื่อของผู้กำกับและคนเขียนบทหนังนอกสายตาเรื่องดังกล่าว
6.
บนเวทีนานาชาติ หนังเรื่องเดียวกัน คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังปูซาน เกาหลีใต้ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลสูงสุดจากเทศกาลหนังแห่งนี้ ก่อนหน้านั้น ชื่อของ Aditya Assarat เป็นที่คุ้นหูของคนในแผ่นดินอื่น จากผลงานหนังสั้นไทยเรื่อง มอเตอร์ไซค์ ที่กวาดรางวัลจากเทศกาลหนังสั้นมาแล้วกว่าครึ่งโลก
7.
บนคำถามของสาธารณชน อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Wonderful Town เป็นใคร ทำไมเขาต้องเลือกทำหนังที่คนดูแล้วไม่รู้เรื่อง อยากเท่หรืออย่างไร
8.
บนเก้าอี้ในสำนักงาน ป๊อป พิคเจอร์ ก้นซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ในชุดสบายๆ เสื้อยืด-กางเกงยีนส์ ต่างจากฟอร์มที่เขาใส่ตอนขึ้นไปรับรางวัลบนเวที เล่าให้เราฟังถึงวิถีทางเลือกต่างๆ ในการใช้ชีวิตและการทำหนัง
ขอย้ำว่า นี่เป็นเพียงเรื่องส่วนตัวล้วนๆ !
9.
ระหว่างการพูดคุย อาทิตย์ให้คำนิยามตัวเองว่าเป็นผู้กำกับหนังอินดี้ ไม่ได้อยากเท่ เจ้าตัวบอกว่า ที่ใช้คำคำนี้เพราะมันคือข้อเท็จจริง
“ความหมายของอินดี้ในวงการหนังคือไม่ได้สังกัดค่าย มันไม่เกี่ยวกับเท่หรือไม่เท่ มันก็แค่เรื่องของคุณทำหนังโดยมีค่ายหนังใหญ่ๆ สนับสนุนอยู่ข้างหลังหรือเปล่า คำตอบคือไม่ จะเรียกอะไรก็ตาม ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่ได้อยากใช้คำนี้หรอก
“ตอนที่กลับมาเมืองไทย แน่นอนว่าผมไม่ได้อยากทำหนังในแนวที่ตลาดต้องการ ต้องยอมรับ ไปโทษค่ายไม่ได้ เลยกลายเป็นว่าต้องทำเอง เปิดบริษัทเพื่อทำหนัง Wonderful Town ตัวหนังไม่ขายดารา ไม่ตลก ไม่มีผี ไม่มีแอ็คชั่น ค่ายไหนก็ไม่เอาอยู่แล้ว แต่ผมอยากทำ”
ป๊อป พิคเจอร์ คือบริษัทที่อาทิตย์พูดถึง รับงานทุกประเภท พูดกันตรงๆ แบบไม่ห่วงหล่อ เงินดี ลูกค้านิสัยดี บริษัทเขารับทำทั้งนั้น
“ชีวิตผมแบ่งเป็นสองส่วน ฝั่งหนึ่งผมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อินดี้ เหมือนเป็นศิลปินเดี่ยว สนใจแค่เรื่องตัวเอง อาจพูดได้ว่าเป็นการเห็นแก่ตัว เหมือนกับศิลปินทั่วไปซึ่งส่วนใหญ่เห็นแก่ตัวทั้งนั้น อีกฝั่งคือผมเป็นเจ้าของบริษัท ต้องดูแลลูกน้อง หางาน มันตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ผมต้องดูแลคนอื่น ต้องคิดว่าวันนี้เราทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้าง”
อาจพูดได้ว่าบริหารโลกอุดมคติกับโลกแห่งความจริงได้อยู่มือ อาทิตย์ไม่เคยรู้สึกกระอักกระอ่วนใจที่ต้องทำงานตามใบสั่ง เขาบอกว่าดีเสียอีก มันทำให้คิดถึงตัวเองน้อยลง
“มันทำให้เรามีความสุขคนละแบบ การทำหนังมันก็เป็นความฝันตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน แต่ในอีกฝั่ง ได้ดูแลคนอื่นมันดีนะ เห็นน้องๆ มีงานทำ มีค่าข้าว ค่าเช่าบ้าน สิ่งที่ผมใช้วัดก็เหมือนที่เจ้าของบริษัททั่วๆ ไปใช้ คือลูกค้าดีไหม จ่ายเงินตรงเวลาไหม กำไรเยอะไหม ผมไม่สนใจว่าเนื้องานมันจะต้องอาร์ต”
ถูกของเขา หน้าฉากหลังฉากเป็นอย่างไรไม่เห็นต้องปิดบัง สังคมเราขาดแคลนผู้นิยมความตรงไปตรงมา ชั่วๆ ดีๆ มันก็ดูมีเสน่ห์กว่าพวกปากว่าตาขยิบเป็นไหนๆ“มันก็คล้ายกับชีวิตของคนทั่วๆ ไป คือหาเงินเพื่อยังชีพ แล้วเอาส่วนที่เหลือไปหล่อเลี้ยงความฝัน เพราะถ้าเราทำแต่งานเพื่อหาเงิน ไม่ทำอะไรเพื่อฝันเลย ชีวิตคงน่าเบื่อ” เขาว่า
10.
น่าเบื่อ ดูไม่รู้เรื่อง จะให้เข้าไปหลับในโรงหรืออย่างไร กล่าวสำหรับผู้ไม่คุ้นชินกับหนังเมินตลาด (ซึ่งจริงๆ ใครเป็นคนกำหนดตลาดก็ไม่รู้) ข้อหาข้างต้นดูเหมือนเราจะได้ยินได้ฟังอยู่บ่อยๆ
“ผมเป็นคนดูหนังทุกแนวนะ สังเกตว่าเวลาเราไปดูหนังบางประเภท หนังที่เล่าเรื่องทุกอย่าง เราเอามันอยู่ในมือหมด ผมไม่มีทางที่จะกลับไปดูใหม่ ไม่ซื้อแผ่นมาดูอีกแล้ว เพราะมันไม่มีอะไรใหม่ที่จะเรียนรู้ ถามว่าสนุกไหม มันก็สนุก แต่เหมือนฟังมุขตลก ทีแรกก็ขำ แต่พอรู้แล้วมันก็ไม่ตลกแล้ว
“แต่หนังอีกแบบมันอาจไม่สนุกเท่า ดูไปหลับไปด้วยซ้ำ น่าเบื่อ แต่หลังจากนั้น ถ้าหนังมันดีจริง มันจะทิ้งอะไรอยู่ในหัวให้เราได้คิดต่อ เราเอาหนังทั้งเรื่องมากำอยู่ในมือไม่ได้ มีอะไรที่รั่วออกมาอยู่เสมอ เหมือนบทกวี คุณอาจไม่เข้าใจมันทั้งหมดในทีแรก แต่เราสามารถกลับไปอ่านได้อีก ความหมายก็จะเลื่อนไหลไปตามสภาพอารมณ์ ความเติบโตของวุฒิภาวะ”
ไม่ได้ดัดจริตหรือตั้งใจทำหนังให้แตกต่างจากชาวบ้านชาวช่อง อาทิตย์บอกว่าเขาถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น
“ผมดูหนังแบบนี้มาตลอด มันฝังอยู่ในหัว เวลาทำเลยถนัดที่จะทำหนังแนวนี้ ซึ่งอาจไม่ค่อยถูกรสนิยมคนไทย เราไปว่าใครไม่ได้หรอก หนังบางแนวผมก็ทำไม่ได้จริงๆ อย่างหนังตลก หนังผี ไม่ใช่อะไร มันทำไม่เป็น หนังผีหนังตลกแบบบ้านเรา ผมไม่ได้โตมากับมัน เลยไม่ค่อยเข้าใจ”
11.
อย่างที่อาทิตย์ว่า ชีวิตช่วงวัยรุ่นเขาเติบโตในต่างประเทศ พ่อส่งไปเรียนไฮสคูลที่บอสตัน-อเมริกา ก่อนไปจบตรีสาขาประวัติศาสตร์และโทด้านภาพยนตร์ที่ นิวยอร์ก
“ที่นิวยอร์กดูหนังเยอะมาก บ้านผมอยู่ติดกับร้านเช่าวิดีโอด้วย เป็นช่วงที่ได้ดูหนังแปลกๆ ประหลาดๆ ถามว่าเข้าใจไหม เด็กอายุยี่สิบก็ไม่เข้าใจอะไรหรอก แต่พอดูไปเรื่อยๆ มันทำให้เราอยากค้นหามากกว่าการเป็นแค่คนดู เริ่มถามตัวเองแล้วว่า หนังมันทำอย่างไร”
สงสัยไหม ดูไม่รู้เรื่องแล้วติดใจอะไรกับหนังประหลาดๆ เหล่านั้นนักหนา
“ตอบยากนะ หนังนอกกระแส หนังทุนต่ำ หนังอินดี้ หนังแปลกๆ มันก็คือการเล่าเรื่องอย่างหนึ่ง เพียงแต่มันเล่าไม่ชัดเจน ชวนให้เราค้นหามากขึ้น อีกอย่างคือมันสะท้อนคนทำด้วย สะท้อนประเทศในหนังนั้นๆ เราได้เรียนรู้วิธีคิดของคนที่แตกต่างกัน”
12.
จากประวัติ สุ่มเสี่ยงที่จะโดนครหาเอาได้ง่ายๆ ว่าที่แท้ก็เป็นลูกคนรวย ถึงทำอะไรได้ตามใจ
“ไม่ปฏิเสธว่าฐานะครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ การที่ผมจะเลือกทำอะไร ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากครอบครัวมีฐานะดี ถามว่าเงินมันซื้ออะไรได้ไหม ได้หลายอย่างนะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความอิสระ เเต่ทั้งนี้ ฐานะครอบครัวที่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานอะไรออกมาได้ดี”
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของคนบนโลก ไม่ได้ทำงานที่ตัวเองสนใจและรักที่จะทำมันจริงๆ
“เจอมาหลายคนที่ไม่ได้รักที่จะทำอะไรเลย หาแรงกระตุ้นอะไรไม่ได้ ยกตัวอย่างพี่สาวผมนี่แหละ ซึ่งโอกาสเราเท่ากันทุกอย่าง ทุกวันนี้ทำงานธนาคาร รายได้ดีด้วยนะ แต่จะบ่นตลอดว่า ไม่อยากทำเลย ไม่รู้ว่าตัวองชอบอะไร คนบ่นอย่างนี้เยอะ ซึ่งหลายคนต้องทำเพื่อหล่อเลี้ยงชีพ บางคนไม่มีโอกาสเลือก ผมพูดได้ไม่ทั้งหมดหรอก”
“คุณแนะนำพี่สาวอย่างไร”
“ไม่แนะนำอะไรเลย จริงๆ เราไม่ควรไปก้าวก่ายตรงนั้นด้วย มันเป็นเรื่องของชีวิต เป็นเรื่องของการเลือกทางเดิน ชีวิตคนเรามีรายละเอียดต่างกัน เราไม่มีทางรู้เรื่องลึกๆ ของชีวิตคนอื่น แต่สำหรับผม อย่างการทำหนัง ถ้าเราชอบมันมากๆ มันเหมือนมีน้ำมันมาคอยหล่อให้เราเดินต่อไปได้เรื่อยๆ”
13.
ในฐานะของผู้เคยไปปล่อยลมหายใจในต่างแดน อะไรคือความแตกต่างของเด็กไทยกับเด็กฝรั่ง
“พูดตรงๆ ผมไม่เคยแตะตีนเข้าไปในโรงเรียนไทยเลยนะ อาจไม่เหมาะที่จะพูดเรื่องนี้ แต่ถ้าวัดจากประสบการณ์ เด็กฝรั่งกล้าแสดงออกมากกว่า ตอนผมเอาหนังไปฉายต่างประเทศ มีช่วงตอบคำถาม ฝรั่งทุกคนถามหมด แต่เด็กไทยไม่เคยถาม มันเป็นวัฒนธรรม ถูกหลอมโดยระบบการศึกษา สอนให้พูดในสิ่งที่ครูบอก จริงอยู่ มันอาจดีบางอย่าง แต่มันก็มีจุดบกพร่อง”
“บกพร่องอย่างไร” เราถาม
“อย่างน้อยๆ ก็เป็นเหตุผลที่เราเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะอะไร ไม่มีใครกล้าพูด กล้าเถียง หัวใจของประชาธิปไตยคือการเข้าใจในสิทธิของตัวเอง” อาทิตย์ให้ความเห็น
14.
บนคำถามของช่วงวัยแห่งการแสวงหา ความหมายเดียวกับการค้นหาความหมายชีวิตของคนหนุ่มสาว
“ถามว่าผมค้นหาตัวเองเจอหรือยัง เอ่อ…คงยังไม่เจอหรอก แล้วผมว่าไม่มีวันเจอ เพราะชีวิตมันเดินหน้าอยู่เรื่อยๆ เจอแล้วเปลี่ยนแปลงจนวันตาย นี่ไม่ได้กระแดะนะ คนเราพูดไม่ได้หรอกว่ารู้จักตัวเองดีร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความหมายของชีวิตที่ดีในสายตาคุณ” เราอยากรู้
“ชีวิตที่มีความสุข วัดง่ายๆ ว่าคุณมีความสุขหรือเปล่า คิดง่าย แต่ทำยาก มันไม่ต้องไปตามเกณฑ์อะไรหรอก เราชอบไปคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ต้องมีรายได้เท่านี้ มีแฟน มีลูก ความสุขของชีวิตผมมันไม่ได้อยู่ในหมวดสิ่งดีๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดกัน ผมมองกว้างๆ ตื่นขึ้นมาแล้วมีความสุขไหม ถ้ามี ก็ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรมัน ไม่มีแฟน ไม่มีลูก ถ้ามันเป็นตัวเราก็อย่าไปสน แค่วัดว่าเราตื่นขึ้นมาแล้วมีความสุขไหมก็พอ”
15.
บนประเพณีของคนทำนิตยสาร บรรทัดท้ายๆ นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาถ้อยคำสวยๆ มาสรุปเรื่องราวให้กินใจ
ทรรศนะของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ถูกหรือผิด วิถีทางเดินที่เขาเลือกสมควรเคารพนับถือและเดินตามไหม หรือเอาเข้าจริงๆ ก็เป็นแค่เด็กนอกพลังเหลือ
ไม่รู้สิ
บอกแล้วไง ว่านี่เป็นแค่เรื่องส่วนตัวล้วนๆ
*******************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ มีนาคม 2552)