เบิร์กลี่ กลายเป็นเมืองแรกในสหรัฐอเมริกา ที่ประชากรเห็นชอบให้ผ่านกฎหมายการเก็บภาษีเครื่องดื่มน้ำอัดลม ด้วยคะแนนเสียงถึงร้อยละ 75
การขับเคลื่อนครั้งนี้มีเจตนาต่อสู้กับกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำอัดลม ที่ใช้งบประมาณไปแล้ว 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับการรณรงค์ต่อต้านการเก็บภาษีดังกล่าว
ที่ผ่านมาหลายๆ นโยบายที่มีจุดมุ่งหมายควบคุมปริมาณการดื่มน้ำอัดลมของชาวอเมริกันมีอันล้มไปหลายครั้ง อาทิ การจำกัดขนาดเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่ขายในร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ สนามกีฬาฯ ไม่ให้ใหญ่เกิน 16 ออนซ์ (473 มิลลิลิตร) ของไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก แต่สุดท้ายศาลก็พิจารณาให้ตกไป จากการอุทธรณ์ของสมาคมเครื่องดื่มแห่งสหรัฐอเมริกา (American Beverage Association) และภาคเอกชนต่างๆ ว่า “เป็นการแทรกแซงผู้บริโภคอย่างไม่เคยมีมาก่อน”
การดื่มน้ำอัดลมและเครื่องดื่มรสหวานต่างๆ มีผลต่อปัญหาสุขภาพชาวอเมริกัน โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคอ้วน กระทั่งอายุขัยเฉลี่ยที่ลดลงเรื่อยๆ นักวิจัยด้านสุขภาพจากภาครัฐก็เสนอว่าการเก็บภาษีเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถลดปริมาณการดื่มได้
เบิร์กลี่เป็นเมืองแรก ที่นำร่องการการเก็บภาษีน้ำอัดลมได้สำเร็จ ในอัตราออนซ์ละ 1 เซนต์ และถ้าการเก็บภาษีน้ำอัดลมเป็นไปได้สวย ปริมาณการบริโภคน้ำอัดลมในเบิร์กลี่ลดลง และสุขภาพโดยรวมของประชากรดีขึ้น ทั้งหมดจะกลายเป็นคำถามที่ท้าทายในปีต่อๆ ไป และท้ายที่สุดคำตอบก็จะคลี่คลายไปสู่การแก้ปัญหาระดับนโยบายในอนาคต
“เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่เหนือน้ำอัดลม และ ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ในประเด็นสุขภาพสาธารณะ การผ่านกฎหมายครั้งนี้เท่ากับเป็นการกระตุ้นให้หลายๆ เมือง ทั่วโลกมีกำลังใจสู้กับโรคอ้วนและเบาหวาน” ไมเคิล บลูมเบิร์กแถลงชื่นชม
แต่การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด ลอรี่ คาพิเทลลิ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเบิร์กลี่ หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำอัดลมจะฟ้องร้องเพื่อยับยั้งการเก็บภาษีให้ได้
ทั้งนี้ เมืองเบิร์กลี่จะเริ่มเก็บภาษีในสัดส่วนออนล์ละ 1 เซนต์จากผู้จัดจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 เป็นต้นไป
***********************************
ที่มา : berkeleyside.com,bloomberg.com,treehugger.com