เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 เกิดประเด็นถกเถียงในสังคมขึ้นอีกครั้งเมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะอาศัยอยู่ต่อในบ้านพักหลวง ณ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ โดยอ้างเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมสากลและระเบียบของกองทัพบก พร้อมทั้งระบุถ้าอยากเปลี่ยนก็ไปแก้กฎกระทรวง “ผมก็พร้อมออก”
ประเด็นดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งถูกนำมาพูดถึง แต่ประเด็นนี้เคยถูกท้วงจนนำไปสู่การวินิจฉัยตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วใน ‘คดีพักบ้านหลวง’
ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์คืนบ้านพักหลวงที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ในวันนี้เราจึงชวนมาย้อนดู ‘คดีพักบ้านหลวง’ และระเบียบกองทัพเจ้าปัญหาที่ยังคงสร้างความคาใจให้กับประชาชนถึงความชอบธรรมของระเบียบกองทัพและความเหมาะสมในบรรทัดฐานการเข้าถึงสวัสดิการของอดีตราชการมาจนถึงปัจจุบัน
ตาม ‘ข้อระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก ปี 2553’ ได้กำหนดให้ราชการหรือลูกจ้างประจำสังกัดกองทัพบกที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง มีสิทธิ์เข้าอาศัยในอาคารที่พักของราชการได้ แต่สิทธิ์นั้นจะหมดไปเมื่อเสียชีวิตหรือออกจากราชการ หมายความว่า สิทธิ์เข้าอาศัยที่พักสวัสดิการสงวนไว้สำหรับข้าราชการกองทัพบกที่ยังคงรับราชการอยู่เท่านั้น
ทว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กลับอาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งที่ตนเองเกษียณและพ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้วตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
จนกระทั่งในปี 2563 ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคดีพักบ้านหลวง ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การพักบ้านหลวงของพลเอกประยุทธ์อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 170 ประกอบมาตรา 184 และมาตรา 186 ที่ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐมนตรีต้องไม่รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ” รวมไปถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ที่ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกิน 3,000 บาท
หมายความว่า การพักบ้านหลวงโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของพลเอกประยุทธ์นั้น ถูกตีความว่าเป็นการรับประโยชน์อื่นจากหน่วยราชการภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม โดยตัวประยุทธ์เองเป็นรัฐมนตรีที่มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพได้โดยตรง ซึ่งอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญฐานรับผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานภายใต้บังคับบัญชาของตนเอง
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 29/2563 โดยสรุปได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถพักบ้านหลวงต่อได้และไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเกษียณออกจากราชการแล้วจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ก็ตาม เนื่องด้วยเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกปี 2548 โดยจุดตัดสินสำคัญคืออำนาจตามข้อ 5.2 และข้อ 8 ที่ได้ระบุผู้มีสิทธิเข้าพักอาศัยและการกำหนดข้อยกเว้นที่สามารถพิจารณากำหนดให้สิทธิการเข้าพักอาศัยเป็นกรณีเฉพาะรายได้
ศาลให้เหตุผลว่า เนื่องด้วยพลเอกประยุทธ์เคยเป็นอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของ ทบ. ซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับ ทบ. และประเทศชาติ เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. มาแล้ว มีสิทธิเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบกได้ ดังเช่นผู้นำกองทัพหลายคนที่ยังคงพักในบ้านหลวงอยู่ รวมไปถึงเป็นการที่รัฐต้องจัดสรรที่พักให้ผู้นำประเทศเพื่อสร้างความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจในการบริหารประเทศ
กล่าวคือ พลเอกประยุทธ์ไม่ได้อาศัยบ้านพักรับรองในฐานะตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่อาศัยบ้านพักรับรองในฐานะอดีตผู้บัญชาการชั้นสูงของ ทบ. ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นของระเบียบกองทัพบก ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงถือว่าการพักบ้านหลวงของพลเอกประยุทธ์ไม่เป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง
คำตัดสินดังกล่าวนี้ทำให้พลเอกประยุทธ์สามารถอยู่บ้านพักหลวง ในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ ต่อได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของกองทัพบกตั้งแต่รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อปี 2553 เรื่อยมาถึงปัจุบันตอนพ้นตำแหน่ง ทั้งผู้บัญชาการทหารบกและนายกรัฐมนตรีแล้วในปี 2566 รวมทั้งสิ้น 13 ปีเข้าไปแล้ว
ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินคดีพักบ้านหลวงไปแล้วในปี 2563 ทว่าประเด็นดังกล่าวกลับยังคงสร้างความคาใจแก่ประชาชน ภายหลังจากที่มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง
ไม่ว่าจะเป็นข้อครหาถึงการพิจารณาคุณสมบัติบุคคลเพื่อให้สิทธิเข้าพักอาศัยที่พักหลวงของกองทัพบกตามมาตรา 5.2 ที่กำหนดว่า ‘เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพบกซึ่งทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติและเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกมาแล้ว’ ซึ่งในส่วนของ ‘การทำคุณประโยชน์ให้กับกองทัพบกและประเทศชาติ’ นั้นดูเป็นข้อกำหนดที่อาศัยดุลยพินิจจากกองทัพบกมากเกินไป และยังไม่ปรากฏว่ากองทัพบกมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างในการพิจารณา โดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้ถูกมองว่าเป็นช่องว่างทางกฎหมายในการเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน
ข้อครหาถึงความเหมาะสมในการเข้าถึงบ้านพักสวัสดิการของเหล่าผู้บัญชาการทหารชั้นสูงที่เกษียณไปแล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติโดยปกติแล้วข้าราชการไม่ว่าระดับชั้นไหน เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางราชการแล้วก็จำเป็นจะต้องย้ายออกจากบ้านพักสวัสดิการที่อาศัยขณะดำรงตำแหน่ง เพื่อให้ทรัพย์สินส่วนราชการเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนตัว ทว่าพลเอกประยุทธ์กลับยังคงใช้ทรัพย์สินส่วนราชการเรื่อยมาด้วยข้อยกเว้นของระเบียบกองทัพ ทั้งๆ ที่ตนเองพ้นตำแหน่งทางราชการไปแล้ว
ด้วยธรรมเนียมปฏิบัตินี้จึงนำไปสู่ข้อครหาที่ว่า ทำไมภาษีประชาชนถึงถูกนำไปปรนเปรอให้กับการใช้ทรัพย์สินส่วนราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายของคนที่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ? สมควรแล้วหรือที่อดีตผู้บัญชาการทหารชั้นสูงสามารถใช้สวัสดิการส่วนราชการได้แม้ว่าจะพ้นตำแหน่งทางราชการไปแล้ว?
อีกทั้งข้อครหาในเรื่องระเบียบกองทัพที่ได้ให้ความชอบธรรมในการเข้าพักบ้านหลวงของบรรดาอดีตผู้บัญชาการทหารชั้นสูง ประกอบกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญยกระเบียบของกองทัพมาประกอบการวินิจฉัยในคดีนี้ ซึ่งโดยหลักการทางกฎหมายแล้ว กฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่าอย่างระเบียบภายในกองทัพย่อมไม่สามารถขัดหรือแย้งต่อกฎหมายสูงสุดอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ในการวินิจฉัยคดีบ้านพักหลวงที่ดูจะขัดกับหลักลำดับศักดิ์ของกฎหมาย นำไปสู่การตั้งคำถามที่ว่า เพราะเหตุใดระเบียบของกองทัพซึ่งเป็นกฎหมายรองจึงใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศได้?
จากข้อครหาทั้งหมดนี้ยิ่งทำให้ระเบียบของกองทัพบกถูกมองว่าเป็นระเบียบที่สร้างความชอบธรรมให้กับอดีตผู้บัญชาการระดับสูงของกองทัพบกในการเข้าถึงสวัสดิการของข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่มาจากภาษีประชาชน อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นระเบียบที่เอาเปรียบข้าราชการอื่นๆ โดยเป็นการให้ประโยชน์แก่อดีตข้าราชการกองทัพบกเพียงฝ่ายเดียวเมื่อเทียบกับข้าราชการส่วนอื่นๆ
จาก ‘คดีพักบ้านหลวง’ จนถึงปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังคงอยู่บ้านพักหลวงต่อไป แม้ว่าจะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบกองทัพที่ได้ให้สิทธิ์ไว้ และยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่บ้านพักหลวงไปอีกนานเท่าไร ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่กำลังจะมาถึง จนนำไปสู่กระแสการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์คืนบ้านพักหลวง รวมไปถึงการตั้งคำถามของสังคมถึงประเด็นนี้ว่า กฎระเบียบกองทัพในปัจจุบันกำลังรับใช้อะไรอยู่กันแน่
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ กันอย่างจริงจังเสียที?