เรื่อง : ณขวัญ ศรีอรุฯ
1
สมมุติฐาน (ของผู้ชม) : ผี วิญญาณ สิ่งลึกลับเหนือธรรมชาติ ศรัทธา ปาฏิหาริย์ ฯลฯ จักมีอิทธิพลเหนือผู้ที่ให้ความหมายต่อมันเท่านั้น ถ้าเราไม่กลัวผีก็ทำอะไรเราไม่ได้ดอก
การทดลอง (ในภาพยนตร์) :
– ให้ครอบครัวที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ไปโบสถ์ ห่างเหินพระเจ้า มาอยู่อาศัยในบ้านเก่าที่มีประวัติความเป็นมาน่าสยอง
– มอบหมายให้นายตำรวจหนุ่มผู้ไม่กลัวผี เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย และเป็นพยานต่อเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ
2
บ้านหลังนั้นตั้งอยู่โดดเด่นกลางสวนในชนบทอันสวยงาม มีธารน้ำใสไหลผ่านด้านหลัง ต้นไม้โบราณแผ่ร่มเงาน่าสบาย กิ่งใหญ่แตกแขนงยื่นออกมาสุดเหยียดชวนให้ปีนเล่น
บ้านเก่ามีเรื่องราวของมัน เรื่องเล่าเหล่านั้นฝังอยู่ในเนื้อไม้ ในทุกรอยขูดขีด (มีชื่อใครสลักอยู่นะ?) อยู่ในเสียงเอี๊ยดอ๊าดยามย่างเหยียบลงบนพื้น หรือกระทั่งข้าวของสัพเพเหระในห้องเก็บของใต้ดิน
สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ที่คนชอบของเก่าเข้าใจดี เหมือนเรื่องตื่นเต้นที่รอให้เราค้นพบ เหมือนการประมูลกล้องจาก ebay แล้วพบว่ามีม้วนฟิล์มเก่าค้างกล้องอยู่ คุณนำภาพไปล้าง ถ้าเจอภาพฉากฆาตกรรม คุณจะโยนกล้องตัวนี้ทิ้งไหม
บ้านหลังนี้มีคนตาย ตายมาหลายคน ตายเพราะฆ่ากันตายเสียด้วย (ฆาตกรต่างบอกว่ามีปีศาจดลจิตดลใจ แต่ใครๆ ก็พูดได้นี่) มันเป็นประวัติศาสตร์อันไม่อาจลบเลือน แต่คนรุ่นหลังก็มีทั้งที่รู้และไม่รู้ บางทีความไม่รู้ก็ช่วยให้เรารอดพ้น แต่หนังเรื่องนี้บอกว่า ถึงเราจะไม่รู้สึกรู้สา แต่เราก็ไม่อาจรอดพ้น
3
ดูหนังแล้วพาให้นึกถึงชายคนหนึ่ง ผู้กลัวผีจนขึ้นสมอง เสียงแกรกกรากของบานหน้าต่างพาให้จินตนาการของเขาเตลิดเปิดเปิง แต่ผมก็ไม่เคยถามหรอกนะ ว่าเขาเคยเจอผีตัวเป็นๆ (ตายๆ?) ไหม
ความกลัวของเขาคงสมเหตุสมผลขึ้น หากมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น แต่ความกลัวคงเป็นเรื่องไร้สาระ หากไม่เคยเห็นหรอก แต่กลัวที่จะเห็น
ผีคงฉลาดพอ ที่จะเลือกลงทุนลงแรงไปกับผู้ที่มีแนวโน้มจะขวัญกระเจิง พูดอย่างนี้เหมือนคนเราสามารถเลือกได้เลย ว่าจะยอมเป็นเหยื่อหรือไม่…แล้วคนที่ไม่ใช่เหยื่อ ควรจะสงสารเห็นอกเห็นใจคนที่กลัวผีไหม
สำหรับคนที่คิดว่าตนเองเจอผีมาจริงๆ ผมขอยกตัวอย่างพ่อกับแม่ ทั้งสองคนเคยไปนอนโรงแรมแถวนครปฐม แม่มาเล่าให้ฟังทีหลังด้วยน้ำเสียงขบขันว่า ไม่ได้นอนแทบทั้งคืน เพราะมีคนโบราณรบพุ่งกันโหวกเหวกโวยวายรอบๆ เตียง พอหันไปจะปลุกพ่อ พ่อกลับกรนคร่อกๆ สบายใจเฉิบ
เหมือนตัดพ้อต่อว่าและไม่จริงจัง แต่เท่าที่ผมทราบ แม่พยายามหลีกเลี่ยงการไปนอนค้างอ้างแรมนอกสถานที่ทุกรูปแบบนับแต่นั้น เรื่องนี้ถ้าถามพ่อ คงได้เรื่องเล่าอีกเรื่องหนึ่ง แต่พ่อเลือกที่จะไม่แสดงความเห็น
ชีวิตจริงก็คงมีอะไรทำนองนี้เกิดอยู่ทุกบ่อย ภาษิตอินเดียนมีอยู่ว่า “อย่าเพิ่งตัดสินใคร หากยังไม่ได้รองสวมรองเท้ามอคคาซินของเขาเดินไปสองดวงจันทร์”
เราเรียกหลายสิ่งรวมๆ ว่าผี แต่ถ้าพูดให้เฉพาะเจาะจง เราคงกล่าวได้ว่า มันคืออาการกลัวสิ่งที่ไม่รู้แน่ว่าคืออะไร แต่ที่แน่ๆ คือมันอยู่นอกตัวเรา มีอำนาจเหนือเรา บงการให้ทำสิ่งที่เราไม่อยากทำ ทำให้เราประกอบด้วยอุปนิสัยไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย จับจด โป้ปด อ่อนแอ และแพ้พ่าย
ผีสิงเขาแล้ว กรรมวิธีไล่ผีก็รุนแรงและอาจฆ่าเขาได้ ว่าแต่ใครจะเป็นคนไล่ล่ะ คงไม่ใช่คนใจแข็งเหี้ยมเกรียมผู้ไม่เคยเห็นใจคนถูกผีหลอก เขาเอ่ยอย่างไม่ยี่หระว่า ผีน่ะ ไม่มีหรอก นายก็แค่แพ้ใจตัวเอง
ไปปรึกษาเขาจะได้อะไร เหมือนคุยกับข้างฝา
ผีฉลาด และเจาะเข้ามาทางช่องที่เปราะบางที่สุด จากเสียงหวีดหวิวของลม อาจชัดเจนขึ้นจนกลายเป็นเสียงกระซิบโน้มน้าวให้เราทำอะไรบางอย่างที่ไม่สมควรทำ เช่น การฆ่าลูกตัวเอง…สารภาพตามตรงว่าถึงแม้ผมจะไม่กลัวผี แต่ถ้าผมพบคนที่ได้ยินเสียงกระซิบกระซาบในหูตลอดเวลา ก็คงเสียวสันหลังวาบๆ เหมือนกันนั่นล่ะ
ความกลัวเป็นสากล ถึงคุณจะไม่กลัวผี คุณก็กลัวอะไรสักอย่างอยู่ดี
4
จะดูหนังผีให้สนุก คุณต้องสวมตัวเองลงไปในตัวละคร พินิจสักครู่ผมก็รู้แล้วว่า ตัวเองคงไม่แคล้วนายตำรวจคนนั้น (คนที่ไม่กลัวผีน่ะ) ที่กระชับปืนลูกซองในมือเรียกความอุ่นใจ แต่สะดุ้งเฮือกเมื่อประตูปิดดังปัง!
เขาไม่ได้กลัวหรอก อาการสะดุ้งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติน่ะ – ผมพยายามแก้ตัวแทน
เหยื่อแต่ละรายในหนังถูกผีกระทำอย่างมีชั้นเชิง บ้างกระตุกขายามเราหลับใหล บ้างฝากรอยช้ำไว้ในร่มผ้าโดยที่เราไม่รู้ตัว บ้างปรากฏกายมาพูดจาเล่นหัว พาเราละเมอเดินเอาหัวโขกกำแพง…ในที่สุดเหยื่อต่างสนองรับด้วยเสียงหวีดร้องกันถ้วนหน้า
แต่หมอนี่ นายตำรวจกล้ามโต นั่งง่วงๆ ซดกาแฟแก้เซ็ง (เดาว่าเขาก็คงไม่ได้ไปโบสถ์เหมือนกัน) เขาดูจะกลัวผีน้อยที่สุดแล้ว แต่กลับถูกผีกัดเลือดโชก!
พุทธิปัญญาสว่างวาบ เสียงในหัวบอกว่า อย่าใจจืดใจดำกับเหยื่อนักเลย
วิญญาณร้ายทั้งหลายจ๋า ไม่ต้องกระซิบข้างหูใคร ให้เอามีดมาจ่อคอข้าพเจ้าหรอกนะ
กลัวแล้วจ้า
*************************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เรื่องเล็กในหนังใหญ่ นิตยสาร Way ฉบับ 66)