เรื่อง: เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์
ภาพ: สมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly: RA)
ก่อน ‘โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา’ จะเริ่มออกแบบและก่อสร้างในช่วงเดือนกันยายนของปีนี้และมกราคมปีหน้าตามลำดับ องค์กรสมัชชาแม่น้ำ (The River Assembly: RA) องค์กรที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายที่มีความสนใจการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในทุกระดับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรอิสระ และชุมชน ได้จัดเสวนาในหัวข้อ ‘อนาคต แม่น้ำสร้างได้’ เพื่อนำร่องในการประชาพิจารณ์ครั้งที่ 2 และ 3 ช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้
ผู้เสวนาหลักสี่ท่าน เป็นตัวแทนผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ได้แก่ ด้านที่ 1 เรียนรู้จากชุมชนลุ่มน้ำ ประเชิญ คนเทศ ด้านที่ 2 มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมริมน้ำ สุดารา สุจฉายา ด้านที่ 3 ผลกระทบและมุมมองจากผู้ประกอบการ ดวงฤทธิ์ บุนนาค และด้านที่ 4 การออกแบบพื้นที่ริมน้ำสร้างสรรค์ จริณทิพย์ ลียะวณิช ร่วมด้วยผู้ร่วมวงเสวนาสมทบอีกสามท่าน คือ กอบมณี ทัตติยะกุล ตัวแทนจากลุ่มแม่น้ำบางปะกง ประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา และ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ตัวแทนของผู้อยู่อาศัยริมน้ำ
เรียนรู้จากชุมชนลุ่มน้ำ
เราเป็นผู้รับชะตากรรม จากการพัฒนาที่ไม่เคยถามว่า ภาพรวมเป็นอย่างไร
ประเชิญ คนเทศ พูดถึงชะตากรรมของคนนครปฐม หนึ่งในพื้นที่รับน้ำเช่นเดียวกับจังหวัดอื่นในพื้นที่ภาคกลางที่ต้องกลายสภาพเป็นพื้นที่รองรับน้ำอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อเกิดอุทกภัย ส่งผลให้พืชผลเสียหายมากมาย เช่น ส้มโอนครชัยศรีล้มตายหมด ซึ่งกว่าจะใช้เวลาปลูกขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมเก็บเกี่ยวก็ใช้เวลาห้าปี เมื่อน้ำท่วมก็เหมือนต้องมาเริ่มใหม่กับชะตากรรมเดิมๆ ทั้งยังกล่าวยกตัวอย่างของการเป็นอ่างเก็บน้ำชั้นดีว่า
“ในช่วงที่เกิดมหาอุทกภัยปี 54 น้ำจากบางบัวทอง น้ำจากมหาสวัสดิ์ น้ำจากคลองโยง ไหลเข้ามาภายในพื้นที่ของสามพรานและนครชัยศรี ขนาดในช่วงนั้นยังไม่มีการดำเนินการสร้างใดๆ ทั้งสิ้น ยังท่วมได้ขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าหากมีการสร้างคันล้อมขึ้นเพื่อตีโอบน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ แล้วพื้นที่พักน้ำจะเป็นที่ไหน ถ้าไม่ใช่นครปฐม”
ปัจจุบัน รัฐได้สร้างคันล้อมที่สูงกว่าระดับน้ำถึง 50 เซนติเมตร เพื่อกันน้ำเข้าเขตทวีวัฒนาและบางแค ลองคิดดูว่า พื้นที่ที่ว่านั้นจะเป็นอย่างไร หากเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง
“ชาวทุ่งพระพิมลราชาคือโซนด้านล่างที่จะกลายเป็นแอ่งเก็บน้ำชั้นดี เรามักจะพูดกันว่า กรุณาอยู่ในความสงบ ขณะนี้รัฐทำคันล้อมท่านไว้หมดแล้ว”
เป็นประโยคล้อเลียนของประเชิญที่เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังเสวนา ขณะเดียวกันก็กลายเป็นประโยคที่สะท้อนให้เห็นว่า ตราบใดที่รัฐยังทำเหมือนกรุงเทพฯเป็นไข่ในหิน เมื่อนั้นจังหวัดอื่นๆ ก็ยังคงต้องเป็นหนึ่งในพื้นที่รองรับน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
กอบมณี ทัตติยะกุล ตัวแทนจากลุ่มแม่น้ำบางปะกง เสริมสั้นๆ เกี่ยวกับผลกระทบที่ชุมชนริมน้ำของตนจะได้รับว่า คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการรับข่าวสารน้อยมากเช่นเดียวกับเจ้าพระยาและท่าจีน ชาวบ้านไม่ได้มีการเตรียมตัวหรือเตรียมความพร้อมในสิ่งที่จะเข้ามา แต่สิ่งที่ชาวบ้านพอจะทำได้เมื่อรับรู้ คือการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันว่าจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร
“เราไม่ได้อยากเรียกร้องอะไรหรือขอความช่วยเหลือจากใคร เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องทำ และร่วมมือกันเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป”
ส่วนด้านทางเลียบที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นลำดับต่อมา ประมาณ มุขตารี ตัวแทนจากเครือข่ายต่อต้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า จากการกั้นเขื่อนริมน้ำเจ้าพระยาเดิมที่เกิดขึ้นในชุมชนบางอ้อ และชุมชนอื่นๆ นอกจากในปัจจุบัน เขื่อนจะยังใช้การไม่ได้แล้ว ยังเพิ่มปัญหาน้ำเน่าเสียที่ขังอยู่หลังเขื่อน ตลอดจนการเวนคืนที่ดิน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นเลยแม้แต่นิดเดียว
“ตัวโครงการเองก็มีท่าทีการให้ข้อมูลแก่ชาวบ้านไม่ครบ ไม่ทั่วถึง และไม่เข้าใจ จนเกิดความสงสัยต่อกระบวนการของโครงการฯที่กำลังจะเกิดขึ้น” และตบท้ายด้วยว่า “มันเหมือนการเล่นปาหี่ให้ชาวบ้านดู”
มิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมริมน้ำ
เกี่ยวกับผลกระทบในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมริมน้ำ สุดารา สุจฉายา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้กล่าวว่า เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ หลายๆ คนมักจะรู้สึกว่า เป็นเรื่องเก่า ซึ่งจริงๆ มันเป็นรากฐานที่สื่อมาจนถึงปัจจุบัน
“โดยธรรมชาติ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นมาจากดินดอนเก่าและดินดอนใหม่”
สุดาราอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับดินดอนที่ว่านี้ ว่าเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอันเกิดจากที่ราบบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำท่ากลอง และลักษณะของดินดอนทั้งหมดก็มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
“พอเลยอยุธยาขึ้นไปก็เกิดการตั้งถิ่นฐานของผู้คน ฉะนั้นเราจะสังเกตได้ว่า เมืองโบราณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนครชัยศรี คูบัว หรือแม้กระทั่งวัดพระศรีมโหสถที่บางปะกง ก็ตั้งอยู่ริมน้ำทั้งนั้น”
สุดารายังกล่าวอีกว่า ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯที่ตั้งเมืองจากดินตะกอน แต่รวมไปถึงเมืองต่างๆ อย่างนนทบุรีที่เราเรียกว่า ตลาดแก้ว ตลาดขวัญ สามโคก หรือแม้กระทั่งปทุมธานี ก็เกิดจากการตั้งถิ่นฐานริมน้ำเช่นกัน
“ด้วยลักษณะของสังคมริมแม่น้ำที่เราเรียกว่า วิถีชีวิตริมน้ำ (River Live Area) เกิดจากการเป็นชุมชนเล็กๆ เมื่อในอดีต และขยายมาเป็นบ้านเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และอยุธยา ไปสำรวจได้เลยว่า 14 กิโลเมตรแรกที่เขาจะทำถนน เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และสิ่งที่เป็นวังมากมาย ตั้งแต่พระบรมมหาราชวังหรือวังหลวง แล้วเราก็ยังมีวังหน้าก็คือ บริเวณที่เป็นธรรมศาสตร์ปัจจุบัน มีวังหลังคือ ศิริราช มีพระราชวังเดิมซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในสมัยกรุงธนบุรี แล้วยังมีวังอื่นๆ ที่เป็นของเจ้านายองค์อื่น เช่น วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นแบงก์ชาติในปัจจุบัน ไหนจะวังเทเวศร์ซึ่งเป็นวังของสมเด็จพระนางเจ้าฯ รายรอบสำคัญไปหมด”
ดังนั้น จึงไม่ใช่เพียงรากฐานชีวิตของคน ของสังคม ของเมือง ที่เกิดจากน้ำ แต่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดก็อาจถูกทำลายลงไปเช่นกัน หากเรายืนยันจะยังสร้างโดยไร้ความเข้าใจ
“ถ้าเราไปทำลายสิ่งที่มันเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมของฝั่งแม่น้ำก็เท่ากับเราทำลายรากฐานชีวิตและทำให้สิ่งเหล่านี้ไปไม่ถึงมือลูกหลาน เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย” สุดารากล่าวทิ้งท้ายในเชิงประวัติศาสตร์
ผลกระทบและมุมมองจากผู้ประกอบการ
ถ้าซื้อหวย ก็คือ ถูก
คำกล่าวติดตลกของ ดวงฤทธิ์ บุณนาค เมื่อพูดถึงแบบของทางเลียบที่เขายืนยันว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะพูดเกลี้ยกล่อมชาวบ้านอย่างไร สุดท้าย มติ ครม. ก็ออกมาให้สร้างถนนอยู่ดี
นอกจากจะมีบริษัทตั้งอยู่บริเวณริมน้ำแล้ว ดวงฤทธิ์ยังเป็นสถาปนิก ในฐานะนักออกแบบ ครั้งหนึ่งได้มีคนจากชุมชนริมน้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เชิญให้ไปช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดวงฤทธิ์พบว่า เขื่อนกั้นน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อกันน้ำท่วมไม่เวิร์ค และไม่ได้ช่วยให้น้ำไม่ท่วมเลย ประกอบกับการเข้าไปดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวันยิ่งพบว่ามีรอยน้ำรั่ว น้ำก็เข้าอยู่ดี จึงอยากจะเปลี่ยนความคิด จากการสร้างเขื่อนให้ลองไปใช้วิธีอื่น ซึ่งได้เริ่มทำการทดลองแนวคิดนี้ที่ท่าอิฐเรียบร้อยแล้ว
“มันจะมีพื้นที่ที่เรียกว่า กึ่งเปียกกึ่งแห้ง คือ ริมแม่น้ำมันจะมีพื้นที่หนึ่ง ที่พอเวลาน้ำมา ชาวบ้านก็จะรู้ดีว่า โอเค ถ้าน้ำมานะ ฉันต้องเปลี่ยนนะ อันนี้ท่วมนะ เขาก็จะปรับตัวได้ และถ้าพูดถึงในด้านการออกแบบ มันก็ควรจะสร้างโดยเอาถนนมาเป็นเขื่อน เพราะน้ำมันจะวิ่งไปตามแนวถนน”
ดวงฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เพราะออฟฟิศอยู่ริมแม่น้ำ เขาจึงมีโอกาสนั่งสังเกตทางน้ำไหลในทุกวัน และทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำได้ชัดขึ้นว่ามีการเปลี่ยนทิศทางการไหลอย่างไร
“เวลาหน้าแล้ง เราจะเห็นน้ำผักตบวิ่งขึ้น เราก็สงสัย น้ำไปทางนี้ ทำไมผักตบมันวิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้มันวิ่งแรงขึ้น แล้วเห็นชัดกว่าเมื่อก่อน วิ่งย้อนเลย และเพราะเขื่อนพวกนี้แหละ ทำให้น้ำมันวิ่งขึ้นไปง่ายขึ้นแล้วก็แรงขึ้น”
และที่เป็นห่วงที่สุดสำหรับดวงฤทธิ์ก็คือ การสร้างถนนริมน้ำในช่วง 14 กิโลเมตรแรกที่จะนำร่องสร้างก่อน เพราะถ้าทำได้ ต่อให้คัดค้านต่อต้านอย่างไร และ 140 กิโลเมตรที่เหลือจะต้องตามมาแน่นอน
“ตอนนี้ที่ผมได้ข่าวมาก็คือ มีนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เขาอยากได้นะ กับ 14 กิโลเมตรแรกที่กำลังจะทำ เพราะเขามีที่ดินอยู่ริมแม่น้ำและถนนไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะฉะนั้น 14 กิโลเมตรแรกที่ว่า มันไม่มีจริงๆ หรอก มันเป็นขั้นแรกของ 140 กิโลเมตร เขาเตรียมพัฒนากันเรียบร้อยแล้ว” พร้อมย้ำว่า อยากให้เห็นผลกระทบจริงๆ ของสิ่งที่ทำกัน เพราะบางทีสิ่งที่เราคิดว่าเวิร์คมันอาจจะไม่เวิร์คก็ได้
การออกแบบพื้นที่ริมน้ำสร้างสรรค์
“มันเป็นคำตอบที่น่าตกใจ” จริณทิพย์ ลียะวณิช กล่าวในฐานะตัวแทนของคนที่ทำโครงการ โค ครีเอท เจริญกรุง เพราะก่อนเริ่มทำโครงการ ได้สอบถามว่า ชาวบ้านอยากทำอะไรกับพื้นที่ริมน้ำที่มีอยู่ หรือแม้กระทั่งการจินตนาการถึงชีวิตริมน้ำ แต่คำตอบที่ได้รับคือ พวกเขาไม่สามารถจินตนาการหรือตอบอะไรได้เลย
โดยโครงการ โค ครีเอท เจริญกรุง เป็นโครงการที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้ชุมชนในย่านเจริญกรุงสามารถใช้พื้นที่ริมน้ำทำกิจกรรมได้ ดำเนินการตั้งแต่เจริญกรุง 28 ถึงซอยที่ 50 ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 เดือน และเสวนาครั้งนี้ จริณทิพย์ก็พร้อมที่จะแบ่งปันถึงประสบการณ์ในฐานะหน่วยงานรัฐที่ทำงานใกล้พื้นที่ริมน้ำ
“ด้วยภารกิจที่มันใหญ่มากขึ้น เราเลยย้ายศูนย์รักษาการจากสุขุมวิทมาเจริญกรุง สิ่งหนึ่งที่เราเลือกที่นี้ คือ ตัวย่านมีความน่าสนใจ กรุงเทพฯเกิดที่นั่น เป็นศูนย์กลางของธุรกิจของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และตัวอาคารด้านหลังเองก็มีพื้นที่ริมน้ำที่คนเข้าถึงได้ แต่ไม่มีคนเล็งเห็นถึงประโยชน์ตรงนั้น” ด้วยเพราะอยากทำงานที่ต้องการอยู่ร่วมกับคนในย่านเจริญกรุง โครงการ โค ครีเอท เจริญกรุง จึงเกิดขึ้นมา
จริณทิพย์กล่าวเพิ่มเติมถึงโจทย์ที่ยากของทางการทำโครงการนี้ว่า การให้คนในพื้นที่บอกถึงเรื่องราวชีวิตหรือกิจกรรมที่จะทำร่วมกันในด้านการเป็นชุมชนริมน้ำแล้วชาวบ้านไม่สามารถตอบได้ว่าเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนยากระตุ้นชั้นดีสำหรับตัวเองและทีม ที่ตั้งใจจะให้ชุมชนมีพื้นที่ในการสร้างกิจกรรมร่วมกับแม่น้ำและทรัพยากรที่มีอยู่
“เราต้องการทำให้พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำเป็นพื้นที่ที่ หนึ่งคือ คนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นจากถนนเส้นใหญ่ เส้นเล็ก หรือจากทางแม่น้ำ และ สองคือ คนสามารถใช้พื้นที่นั้นเพื่อทำเป็นกิจกรรมสาธารณะ ทั้งหมดคือโจทย์ของเรา”
แบบที่ออกมาจึงมีลักษณะเป็นบันไดระหว่างทางบกกับทางน้ำ แล้วก็มีต้นไม้ สิ่งหนึ่งที่จริณทิพย์สังเกตเห็นก็คือ เราไม่เคยมองริมแม่น้ำเจ้าพระยาในมุมมองที่สูงขนาดนี้มาก่อน
“เพราะเราถูกบดบังด้วยรั้วหรือไม่เคยเข้าถึง การที่เราได้มีโอกาสยืนและมองแม่น้ำด้วยสายตาที่กว้างมาก มันเป็นความรู้สึกที่อัศจรรย์”
จริณทิพย์ยังกล่าวอีกว่า หลังจากจบโครงการนี้ สิ่งหนึ่งที่ทางทีมและตัวเองได้ค้นพบคือ นอกจากตัวพื้นที่ต้นแบบมันจะสามารถพัฒนาต่อได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานรัฐควรจะเป็นก็คือ การเป็นหน่วยงานที่พร้อมจะบริการประชาชน
“เราจะต้องเข้าไปทำความรู้จักกับเขาอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานมีโจทย์ของเขาอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรถึงจะเชื่อมประโยชน์ เชื่อมโยงโจทย์ เชื่อมจุดเข้าด้วยกัน”
ไม่มีเมืองหลวงไหนที่ไม่มีแม่น้ำ
แม่น้ำมันเป็นวิญญาณ เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรม มันเป็นเส้นเลือดที่เชื่อมโยงเมืองหลวงกับประเทศ
ในฐานะคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำคนหนึ่ง และแน่นอนว่า หากมีการทำถนนริมน้ำขึ้น หน้าบ้านของเขาก็คงไม่เหลือ เช่นเดียวกับคนที่อยู่ริมน้ำคนอื่นๆ ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ กล่าวว่า เขาไม่เห็นข้อเสียของการไม่สร้าง แต่การสร้างเหมือนจะเห็นข้อเสียเต็มไปหมด
“ในเมื่อมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบอีกหลายๆ อย่าง มันน่าจะเป็นโครงการที่ไม่รีบ ทำไมต้องรีบ นี่เป็นคำถามที่ผมยังหาคำตอบไม่ได้”
เพราะโครงการมีงบประมาณมากถึง 30,000 ล้านบาท และใน 14 กิโลเมตรแรกจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 14,000 ล้านบาท จากการไม่ให้รายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ ฮิวโก้จึงลงความเห็นเป็นคำเปรียบว่า มันคือโครงการเสริมสวย
“มันไม่ใช่โครงการที่เป็นความลับของชาติ หรือจำเป็นที่จะต้องมีถนนริมน้ำเพื่อการสัญจร มันเป็นแค่โครงการเสริมสวยที่ไม่จำเป็นต้องลึกลับอะไร แต่สิ่งที่ออกมามันทำให้ผมรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ของผู้ปกครองและผู้ถูกปกครองควรจะให้เกียรติกัน ควรฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำ ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ ก็ตาม โดยเฉพาะเมื่อสิ่งนั้นเป็นของส่วนรวม”
ฮิวโก้ยกตัวอย่างจากต่างประเทศว่า ปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมีการคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจังในเชิงพัฒนาว่า ทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แม่น้ำ หรือผืนดิน มันเป็นส่วนรวมที่ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
“เมืองหลวงที่ดังๆ เจ๋งๆ ของโลกล้วนมีแม่น้ำทั้งนั้น เพราะแม่น้ำมันเป็นเส้นเลือดใหญ่ ดังนั้น ไม่ว่าจะทำทางเท้าหรือถนนปั่นจักรยาน ผมไม่ว่า แต่อย่างที่บอกว่า ไม่อยากให้รีบ และไม่ควรจะเป็นความลับ เพราะมันเป็นผลกระทบวงกว้างมากกว่าแค่ในกรุงเทพฯ
“ไม่สร้างเราก็ยังอยู่กันได้ อีกห้าปีค่อยมาคุยกันใหม่ สิบปีค่อยมาคุยกันใหม่ มันเป็นเรื่องที่ต้องมาคุยกันใหม่ นี่ล่ะ คือการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้เราต้องช่วยกันจัดการและดูแล เกี่ยวกับความเป็นอยู่และวัฒนธรรม ว่าพวกเราชาวกรุงเทพฯเป็นใคร และอยู่ในเมืองอะไร”