“มันก็แค่นิยาย ไม่ใช่เรื่องจริงสักหน่อย”
ประโยคติดปากที่ โจว อวี่เฟิน (Zhou Yufen) ตัวละครนักเขียนสาวในภาพยนตร์ The Terrorizers (1986) ใช้เอ่ยตอบเมื่อถูกถามถึงความสมจริงของผลงานที่เจ้าตัวเขียนขึ้น หากแต่เบื้องหลังคำตอบทีเล่นทีจริงนั้น มีเพียงอวี่เฟินที่รู้ว่าเนื้อเรื่องของนวนิยายชื่อดังใต้นามปากกาของตัวเอง มีที่มาจากเหตุการณ์จริงในชีวิตของเธอ
ในวันหนึ่งที่อวี่เฟินได้รับสายจากคนแปลกหน้าซึ่งโทรเข้ามาบอกบางอย่างกับเธอ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เชื่อมตัวเธอเข้ากับผู้คนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และเป็นส่วนสำคัญที่ถูกบันทึกลงในนิยาย
แม้ว่าอวี่เฟินจะมองว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเพียงหนังสือเล่มหนึ่งที่เธอแต่งขึ้นมา แต่สิ่งที่ เอ็ดเวิร์ด หยาง (Edward Yang) ผู้กำกับภาพยนตร์ The Terrorizers ถ่ายทอดมาสู่ผู้ชม กลับทำให้รู้สึกราวกับว่า ตัวละครทุกตัวในภาพยนตร์แม้จะมีชีวิตเป็นของตนเอง แต่ก็ถูกขีดเส้นให้เดินไปตามความต้องการของบางสิ่ง
The Terrorizers ภาพยนตร์แนวดราม่าและอาชญากรรมสัญชาติไต้หวัน บอกเล่าชีวิตของคนหนุ่มสาวแปลกหน้าซึ่งเผชิญปัญหาที่แตกต่างกันในสภาพสังคมโลกาภิวัตน์ในเมืองไทเป (Taipei) หนึ่งคือเด็กสาวที่ดิ้นรนเอาตัวรอดตามวิถีทางอาชญากร อีกคนคือช่างภาพหนุ่มที่มีเป้าหมายเพียงบันทึกภาพความเป็นไปของสังคมเมือง และอีกหนึ่งคู่สมรสที่ต่อสู้กับความคาดหวังของสังคมไปพร้อมกับประคองสถานะสามีภรรยา
คำว่าโลกกลม อาจใกล้เคียงพอจะใช้อธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ของตัวละครในม้วนฟิล์ม แต่อาจไม่เพียงพอจะนิยามวิธีผูกปมเรื่องซึ่งถูกออกแบบมาอย่างรัดกุม The Terrorizers สะท้อนบริบทของสังคมไต้หวัน ถ่ายทอดให้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่สร้างเงื่อนไขจนสามารถเชื่อมโยงชีวิตเหล่าคนแปลกหน้าถึงกัน เกี่ยวข้อง และสร้างอิทธิพลต่อกัน ภายใต้คำว่า ‘เรื่องบังเอิญ’
แม้เส้นเรื่องของภาพยนตร์จะถูกออกแบบและจัดวางอย่างแยบคาย แต่การดำเนินชีวิตของแต่ละคนก็ยังดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ หนังบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาวันต่อวัน เดือนต่อเดือน แต่ละช่วงเวลาหมุนผ่านไปอย่างราบเรียบเหมือนตัวเลขวันที่บนปฏิทิน ครั้นถึงคราวปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกออกมาในฐานะมนุษย์ผู้หนึ่ง ก็ยังดำเนินไปภายใต้ภาวะที่เป็นเหตุเป็นผลและเป็นตามธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของภาพยนตร์ไต้หวันยุคใหม่ (New Wave Taiwanese Cinema) ที่พยายามถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเรียบง่าย สมจริง และเข้าถึงความรู้สึกของผู้คน โดยจำกัดจำนวนตัวละคร และใช้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนภายใต้ความเป็นไปของสังคมมาผูกร้อยทั้งหมดเข้าด้วยกัน
The Terrorizers เป็นตัวอย่างผลงานของคนทำหนังรุ่นใหม่อย่าง เอ็ดเวิร์ด หยาง ที่แสดงถึงความกล้าที่จะแหวกขนบ ละทิ้งโครงสร้างการเล่าเรื่อง (narrative structure) แบบเดิมๆ ที่มักให้ความสำคัญกับจุดเปลี่ยน (midpoint) และจุดสูงสุดทางอารมณ์ (climax) แต่กลับไปใช้การดำเนินเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง เสมือนเรื่องเล่าจากวิถีชีวิตจริงของคนจริงๆ ในสังคม
ทุกครั้งที่เกิดเสียงดังบางอย่างขึ้นท่ามกลางความสงัดในฉาก (scene) ไม่ว่าจะเป็นเสียงโทรศัพท์บ้าน เสียงปืน เสียงรถชน หรือเสียงกดชัตเตอร์ เสียงเหล่านี้เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้ตัวละครดำเนินชีวิตไปสู่จุดถัดไป โดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตรงไหน และไม่อาจรู้ว่าผลลัพธ์แท้จริงของมันคืออะไรกันแน่
กลไกการดำเนินเรื่องลักษณะนี้ ทำงานคล้ายกับระบบการตัดสินใจของมนุษย์ ซึ่งในบางครั้งก็ไม่สามารถจะคาดเดาภาพอนาคตที่ชัดเจนได้ และในบางการตัดสินใจ อาจไม่มีภาพของอนาคตรวมอยู่ในนั้นเลย
“มันก็แค่นิยาย ไม่ใช่เรื่องจริงสักหน่อย”
คำพูดนั้นยิ่งถูกตอกย้ำ เมื่อการตัดสินใจที่ดูยิ่งใหญ่ของตัวละครคนใดคนหนึ่งในภาพยนตร์ ไม่สามารถหยุดยั้งการดำเนินต่อไปของสังคมและคนรอบข้างได้
อารมณ์รัก-โลภ-โกรธ-หลง ความสับสนในจิตใจ และการใฝ่หาอิสรภาพ คือสิ่งที่ปรากฏเด่นชัดอยู่ในการใช้ชีวิตของแต่ละตัวละคร ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สภาพสังคมในขณะนั้นเป็นส่วนสำคัญในทุกๆ การตัดสินใจ
ข้อประจักษ์สุดท้ายที่หยางทิ้งไว้ในภาพยนตร์ปี 1986 ของเขา คือภายใต้แรงบีบคั้นมหาศาลของสังคมที่กว้างใหญ่ เราก็ยังคงเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในพื้นที่เหล่านั้นอยู่ดี
ภาพยนตร์ The Terrorizers โดยเอ็ดเวิร์ด หยาง จัดฉายในเทศกาล Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2022 • วันที่ 26-30 ตุลาคม ที่โรงภาพยนตร์ SF Cinema MBK, House Samyan และ Doc Club & Pub (กรุงเทพฯ) • วันที่ 4-6 พฤศจิกายน ที่โรงภาพยนตร์ SFX Cinema MAYA (เชียงใหม่), Lorem Ipsum (หาดใหญ่) และ A.E.Y Space (สงขลา) ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและโปรแกรมการฉายอื่นๆ: Taiwan Documentary Film Festival in Thailand |