ความตายที่ใกล้เข้ามาของ ‘สบู่ก้อน’

untitled-1-01

 

 

 

 

ผลสำรวจของ Mintel บริษัทวิจัยการตลาด ที่มีสาขาลูกกระจายอยู่แทบทุกมุมโลก เปิดเผยตัวเลขที่ทำให้วงการสบู่ก้อนต้องสั่นสะเทือน เมื่อพบตัวเลขที่ชี้ว่า

  • ในปี 2014-2015 ยอดขายสบู่ก้อนตกลง 2.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบสัดส่วนยอดขายสบู่ทุกชนิดในตลาด ที่มีตัวเลขเติบโตเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 2.7
  • ไปดูการบริโภคสบู่ก้อนภายในครัวเรือน พบว่าตั้งแต่ปี 2010-2015 ภาคครัวเรือนใช้สบู่ก้อนลดลง 89 เปอร์เซ็นต์ เหลือราว 84 เปอร์เซ็นต์
  • 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคสบู่ทุกประเภท เห็นว่าสบู่ก้อนนั้น ‘ใช้ลำบาก’ กว่าสบู่เหลวที่ปั๊มออกจากขวด
  • 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภค ที่มีอายุตั้งแต่ 18-24 ปี กังวลว่า การใช้สบู่ก้อนอาจเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้
  • 31 เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป คิดเห็นเช่นเดียวกันกับผู้บริโภคอายุ 18-24 ปี

ในบทความเรื่อง ‘The sad slippery slope of bar soap’ หรือแปลเป็นไทยว่า ‘เรื่องน่าเศร้าของยอดขายการลื่นไถลตกลงของสบู่ก้อน’ เขียน (ไว้ด้วยภาษาจิกกัด น่าหมั่นไส้ แต่ฮาเรี่ยราด) โดย เมลิซซา เบรเยอร์ (Melissa Breyer) นักเขียนและคอลัมนิสต์ ในตอนหนึ่งมีความว่า

“ก็ใช่แหละว่า การใช้สบู่ก้อนมันเรียกร้องความยากลำบากจากเรา ไหนจะที่รองสบู่บ้างล่ะ ชอบลื่นไถลหลุดมือบ้างล่ะ แถมสบู่เหลวมันยังใช้ง่ายกว่าเห็นๆ กดๆ ปั๊มๆ เท่านั้นมือก็สะอาด”

ในบทความนี้เราจะค่อยๆ แก้คำถามค้างคาใจกันไปทีละข้อ

หนึ่ง-โอเคล่ะว่า สบู่เหลวนั้นใช้ง่ายกว่า ‘กดๆ ปั๊มๆ เท่านั้นมือก็สะอาด’ แต่ หากมองในแง่การใช้ทรัพยากรที่เป็นภาระต่อโลกนี้เกินไปเล่า? ไหนจะขวดพลาสติก จุกกดปั๊ม แถมยังต้องมีสติกเกอร์ หรือพลาสติกปั๊มฉลากโลโก้มาคาดพาดบรรจุภัณฑ์อีก (ที่สุดท้ายแล้วทุกชิ้นส่วนจะไปจบลงที่ถังขยะใบไหนสักใบ)

อย่างไรก็ตาม เบรเยอร์ดักทางผู้ที่อาจเสนอเหตุผลมาคัดง้างว่า

“แล้วถ้าฉันซื้อเหลวสบู่แบบรีฟิลเล่า ฉันก็อาจลดจำนวนขยะลงได้เช่นเดียวกันนะ”

เบรเยอร์เห็นว่า อย่างไรเสีย จำนวนขยะต่อชิ้น ก็มากกว่าบรรจุภัณฑ์ของสบู่ก้อนที่ใช้กระดาษเป็นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งซับซ้อนและเป็นภาระต่อโลกใบนี้น้อยกว่าอยู่ดี

สอง-เช่นเดียวกับผลวิจัยของ แอนเนตต์ โคห์เลอร์ และ แคโรไลน์ ไวลด์โบลซ์ (Annette Koehler and Caroline Wildbolz) สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริค (The Swiss Federal Institute of Technology in Zurich) ที่พบว่าเฉพาะตัวสบู่เหลว – ปริมาณที่ใช้ล้างมือต่อหนึ่งครั้ง – มีการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์มากกว่าสบู่ก้อนราว 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตัวเลขนี้ไม่นับรวมกับการผลิตบรรจุภัณฑ์ และขั้นตอนในการกำจัดขยะจากบรรจุภัณฑ์นั้นๆ ด้วย

สาม-สำคัญมากๆ คือข้อกังวลที่ว่า “การใช้สบู่ก้อนนั้นสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้มากกว่าสบู่เหลว” ซึ่งเบรเยอร์ได้เขียนอธิบายไว้อย่างแสบๆ คันๆ ว่า

“ทำไมเราถึงได้ ‘ตกใจ’ กับอะไรได้ง่ายขนาดนี้?”

อ้างอิงงานวิจัยจากสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติสหรัฐ สรุปความไว้อย่างชัดเจนว่า แบคทีเรียไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการล้างมือ ‘ไม่ว่าจะจากสบู่ประเภทใด’ รวมทั้งงานวิจัยจากนักสาธารณสุขคนอื่นๆ ก็ยืนยันว่า

“เพียงการล้างมือ ไม่ว่าจะจากสบู่ประเภทใด ก็สามารถป้องการเชื้อโรคได้ ถ้าล้างมืออย่างสะอาดและถูกสุขลักษณะ”

อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านผู้อ่านรู้สึก ‘ยังไม่แล้วใจ’ กับข้อมูลที่อยู่ตรงหน้านี้ สำนักนิตยสาร WAY เคยทำข้อมูลชุดหนึ่งเรื่อง ‘มายาคติแห่งการล้างมือและเชื้อโรค’ เพื่อความแล้วใจและการตัดสินใจบนฐานข้อมูลได้


ที่มา: treehugger.com

 

2016-10-19-new-banner

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า