เด็กมันเลว เด็กมันไม่ดี พ่อแม่ไม่สั่งสอน และอีกหลายต่อหลายคำก่นด่าจากสังคม เมื่อเกิดอาชญากรรมที่เด็กและเยาวชนเป็นคนก่อ
แน่นอนว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงจากเด็ก หลายคนมักพุ่งเป้าและมุ่งกล่าวโทษไปที่ตัวเด็กและครอบครัวของเด็กเป็นสำคัญ ทว่าสำหรับ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กลับไม่เห็นเป็นเช่นนั้น ป้ามลมองว่าการไร้ซึ่งนโยบายสาธารณะและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ ผนวกกับการไล่เด็กออกจากโรงเรียนกลางคัน (drop out) ก็เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมก่ออาชญากรรม และควรถูกกล่าวโทษด้วยเช่นกัน
“โรงเรียนลอยนวลทุกครั้งเวลาเด็กก่ออาชญากรรม จริงๆ โรงเรียนไม่ควรจะลอยนวล นโยบายสาธารณะของรัฐบาลก็ไม่ควรจะลอยนวล เรามีพื้นที่สีขาว พื้นที่ดีๆ ที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ บ้างไหม สมมุติเด็กออกจากโรงเรียนแล้ว เด็กๆ จะมีที่ปล่อยของปล่อยแสงไหม ไม่มีหรอก ยกเว้นไปอยู่กันในที่มืดแล้วค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นซาตานน้อยๆ”
เสียงจากป้ามลที่พูดถึงรัฐและโรงเรียนที่ลอยนวล และลอยตัวเสมอเมื่อเด็กถูกลงโทษทางกฎหมาย
เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น หนึ่งตัวอย่างของความป่วยไข้จากรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร ก็คือพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง รังแก หรือที่เรียกกันว่า ‘บูลลี่’ ที่มีอยู่ในสังคม ในรั้วโรงเรียน กระทั่งในบ้าน และดูเหมือนจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
การบูลลี่เป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่มีการใช้ความรุนแรง ตั้งแต่การล้อเลียน ด่าทอ จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นบ่อเกิดของพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นตามมา อย่างการก่ออาชญากรรม ฆาตกรรม ฯลฯ
แน่นอนว่าเมื่อเด็กคนหนึ่งกระทำความผิดใดๆ ลงไป โรงเรียนมักมีวิธีการจัดการที่เน้นการลงโทษเป็นหลัก ทำให้เด็กบางส่วนถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา หรือถูกไล่ออกกลางคัน เมื่อโรงเรียนปิดประตูใส่เด็ก ประกอบกับการไร้ซึ่งพื้นที่สาธารณะของรัฐให้เด็กได้ใช้ชีวิตและแสดงศักยภาพ ส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งไร้ทิศไร้ทางที่จะไปต่อ และก่อตัวกลายเป็นอาชญากรอย่างเงียบๆ
การกล่าวว่ารัฐและโรงเรียนเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมของเด็ก จึงไม่ใช่แค่เรื่องที่พูดลอยๆ แต่เกิดขึ้นจริง อย่างที่เกิดขึ้นกับเด็กบางส่วนในบ้านกาญจนาฯ และที่อื่นๆ
WAY สนทนากับป้ามลผู้ซึ่งคอยโอบอุ้มเยาวชนผู้ตกเป็นเหยื่อจากการละเลยของรัฐมานานนับสิบปี พร้อมถามถึงเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริงของการใช้ความรุนแรงของเด็กและเยาวชนไทย ทั้งรับฟังเสียงต่างๆ มากมายภายในใจเธอผ่านบทสัมภาษณ์ครั้งนี้
ป้ามลมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสถานการณ์บูลลี่ของเด็กไทยโดยเฉพาะในโรงเรียนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ป้าคิดว่าสังคมไทยก็เป็นสังคมที่บูลลี่คนมาตั้งแต่อดีตแล้ว ถ้าเราลองไปสำรวจวาทกรรมต่างๆ ก็จะเห็นว่ามันมีคำพูดที่ใช้จิกกัด กดคนไว้เยอะมาก บางทีก็มีการให้ฉายาผู้คนอีกเยอะแยะไปหมดเลย เช่น ไอ้เตี้ย ไอ้ดำ ไอ้เหยิน ไอ้หยิก ซึ่งการบูลลี่มันน่าจะอยู่ในสังคมไทยมานานแล้ว เพียงแต่อาจจะเรียกชื่อที่ไม่เหมือนกันกับปัจจุบันนี้ อาจจะเรียกการล้อเลียน การกลั่นแกล้ง หรือว่ารักดอกจึงหยอกล้อ แต่เมื่อมาใน พ.ศ. นี้ ถ้าเราเทียบเคียงความรู้สึกและผลกระทบแล้ว มันก็คือการบูลลี่ เพียงแต่ก็น่าสงสัยว่าทำไมเมื่อก่อนคนข้ามความรู้สึกอย่างนั้นไปได้ ไม่ได้กลายเป็นปัญหาที่มีแรงกระเพื่อมสูงเหมือนกับสมัยนี้ เพราะว่าอะไร เราน่าจะย้อนกลับไปดูเหมือนกันนะ
ระบบการเยียวยาในสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนอย่างไร
ป้าคิดว่าในยุคก่อนอาจมีระบบการเยียวยาอะไรบางอย่างในตัวมันเอง เช่นสังคมที่ไม่ได้โดดเดี่ยวผู้คนมากนัก สังคมที่ยังได้ยินเสียงซึ่งกันและกัน การอาศัยอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวขยาย ถึงแม้จะดูมีจุดอ่อนเพราะความวุ่นวายของชีวิตมนุษย์เยอะเกินไป แต่จุดแข็งของครอบครัวขยายคือมันอาจจะเป็นที่พักพิง เป็นที่เยียวยาของใครบางคนได้ เช่น เด็กบางคนอาจถูกบูลลี่ที่โรงเรียน แต่ที่สุดกลับมาบ้านก็อาจจะเจอแม่นั่งอยู่หัวไร่ปลายนาคอยที่จะประคับประคองความรู้สึกเขา
แต่พอก้าวผ่านกาลเวลามาพักหนึ่ง การแข่งขันในยุคก่อนอาจจะไม่สูงเหมือนกับในยุคนี้ มันทำให้เราโดดเดี่ยวมากขึ้น เด็กหลายคนกลับมาบ้าน เปิดประตูเข้าไปอาจจะไม่เจอใครเลย มีแต่ทีวี มีแต่ของที่มันไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเขามีคุณค่า หรือไม่ได้ถูกถามไถ่ว่า “วันนี้ไปโรงเรียนเจออะไรมาบ้าง”
ความรู้สึกแบบนี้ทำให้การบูลลี่ส่งผลกระทบที่รุนแรงใน พ.ศ. นี้ ซึ่งทั้งหมดก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะมาด่าเด็กสมัยนี้ว่า อย่าเปราะบาง อย่าดัดจริต คือคนผ่านโลกมาเยอะก็ชอบใช้คำนี้กับเด็กโดยที่ไม่ได้หยิบมาทั้งบริบท เขาหยิบมาเป็นท่อนๆ ซึ่งก็ทำให้ขาดความเข้าอกเข้าใจต่อเด็กๆ หลายคน
เพราะอะไรความเข้าอกเข้าใจจึงสำคัญและส่งผลอย่างไรต่อพฤติกรรมของเด็ก
ตอนวัยเด็กป้าเคยงอนคนในครอบครัว เคืองแม่ แล้วก็ใช้วิธีง่ายๆ เลยคือเดินเข้าไปในป่า สมัยก่อนจะมีป่า มีพุ่มไม้ขนาดใหญ่มาก เราก็เข้าไปซุกตัวอยู่ในนั้นแล้วตั้งใจจะไม่ออกมาด้วย จะอยู่จนมืด พอมืดแล้วผู้ใหญ่ก็หาเราไม่เจอ ซึ่งสมัยก่อนถ้ามีเด็กสักคนหนึ่งหายไป ด้วยความที่เป็นชุมชนเล็กๆ ผู้ใหญ่บ้านก็ตีเกราะ ชาวบ้านก็ถือไม้กันมาตามหา โอ้โห ทีนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่เลย เจ้าเด็กน้อยที่อยู่ในพุ่มก็ยิ่งไม่กล้าออกเข้าไปใหญ่ นั่งตัวสั่นอยู่อย่างนั้น แต่ปรากฏว่าเมื่อออกมาแม่ก็กอด คนในชุมชนก็นั่งล้อมกัน จุดไฟกองเล็กๆ จากนั้นเขาก็ทำพิธีโยนป้าข้ามกองไฟไปมา 3 รอบ คล้ายกับว่าเรียกขวัญ
ภาษาสมัยนี้อาจเรียกว่าเยียวยา จริงๆ ก็คือการรับขวัญ และความรู้สึกที่ว่าเราสำคัญ เรามีคุณค่า ก็กลบความโกรธของเราออกหมดเลย กลายเป็นทุนอีกอย่างในชีวิตเลยว่า เฮ้ย เราสำคัญ เรามีความหมาย
เด็กคนหนึ่งอาจจะมีด้านมืด ด้านเทา ด้านดำ ด้านขาวอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิต ประเด็นสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่า เมื่อผู้ใหญ่เห็นเด็กคนหนึ่งแสดงออกในด้านเทาหรือดำออกมา ผู้ใหญ่จะจัดการกับปรากฏการณ์นั้นอย่างไร เช่น สมมุติป้าหลุดบางคำออกมาว่าเกลียดแม่จังเลยวันนี้ เพราะแม่ไม่ตามใจ แล้วถ้าแม่ตบหน้าเราอีกฉาดหนึ่ง นั่นแปลว่าแม่กำลังเล่นกับด้านมืดของเรา แต่ถ้าแม่โอบกอดเรา แล้วบอกว่าแม่ขอโทษ ความเทามืดของเราก็จะไม่ถูกประกบด้วยความเทามืดของแม่ เมื่อมืดไม่ประกบมืด มันก็ไม่มืดอีกต่อไป เท่านั้นเอง
อะไรทำให้เด็กคนหนึ่งแสดงด้านเทาของเขาออกมา
ป้าเชื่อว่าเป็นเรื่องปกติที่ถ้าเรายังเด็กอยู่ เราก็สามารถแสดงอารมณ์หลากหลายได้ แล้วในที่สุดกระบวนการของครอบครัวจะค่อยๆ ขัดเกลาเราให้กลมมนสวย ดังนั้นคำถามที่เราต้องคุยกันให้ชัดคือ แต่ละครอบครัวใช้เครื่องมืออะไรในการขัดเกลาความเทาๆ ของเด็ก
เด็กทุกคนไม่เคยเป็นผู้ใหญ่มาก่อน แต่ผู้ใหญ่ทุกคนผ่านวันคืนที่เคยเป็นเด็กมาแล้วทั้งสิ้น อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ไม่ใช่แค่วาทกรรมที่พูดให้มันดูเพราะขึ้น ความจริงก็คือว่าเวลาเราจะสอนอะไรเด็กๆ เราต้องนึกให้ได้ก่อนว่าเราไม่ได้คุยกับคนอายุเท่ากัน ประสบการณ์ไม่เท่ากัน ผ่านโลกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นเวลาเราจะคุยต้องตั้งหลักให้ดีก่อน ไม่ใช่อยากจะปล่อยของอะไรก็ปล่อยออกมาเลย มันจะยุ่งไปกันใหญ่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะตรัสรู้ได้ มันต้องย้อนกลับมาอีกว่าในสังคมไทยและสังคมโลก เราปล่อยให้พ่อแม่มะงุมมะงาหรากับการค้นหาศาสตร์เหล่านี้ตามลำพังมานานเท่าไรแล้ว
เมื่อก่อนพ่อแม่อาจจะเรียนรู้จากพ่อแม่ของพวกเขาเองภายใต้โครงสร้างครอบครัวขยาย แต่พ่อแม่เดี๋ยวนี้เขาเรียนรู้จากอะไร รอบๆ ตัวของเขาก็เปลี่ยนไปมาก ไม่ใช่เปลี่ยนแค่โครงสร้างครอบครัวย่อขนาด แต่ระบบใหญ่ทั้งประเทศก็เปลี่ยน ดังนั้นการเลี้ยงลูกใน พ.ศ. นี้ จึงกลายเป็นศาสตร์ที่ทุกคนอยากรู้ มันถึงได้มีคนที่ต้องมาพูดบรรยายให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ฟัง ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจาก 22,800,000 ครอบครัวในประเทศไทยจะวิ่งเข้าหาความรู้แบบนี้ บางคนก็ไม่หาเลย เพราะอาจไม่รู้ว่ามันมีความรู้แบบนี้ แล้วก็ปล่อยให้การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องของอารมณ์ ความรู้สึก ประสบการณ์ของตัวเอง ตัวเองเคยถูกกระทำอย่างไรมาก็ส่งต่อไปแบบนั้น
ทั้งหมดนี้มันไม่เคยถูกเขย่าใหม่ ไม่เคยถูกปรับวิธีคิดใหม่ ก็เลยกลายเป็นว่าใครตรัสรู้ได้ก็พาลูกรอดกันไป ใครตรัสรู้ไม่ได้ก็จมปลักอยู่ที่เดิม
เหตุใดพ่อแม่บางคนถึงเลือกใช้วิธีการเลี้ยงลูกแบบที่เขาเคยเจอมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการตีสั่งสอน ต่อว่า หรือไม่แม้แต่ใส่ใจ และบ้านกาญจนาฯ มีวิธีการป้องกันการกระทำซ้ำซ้อนนี้อย่างไรเมื่อเด็กออกจากที่นี่ไปแล้ว
ป้าคิดว่ามนุษย์ทุกคนต้องเคยมีบาดแผล ดังนั้นเขาจึงต้องถูกเปิดแผลและกรีดแผลนั้นเพื่อรักษา ซึ่งมันจะเหลือแผลเป็นแต่ไม่อักเสบ แต่ถ้าไม่รักษา ไม่กรีดออกมา มันก็จะเป็นแผลที่อักเสบและเจ็บตลอดไป เพราะถ้าเขาไม่รู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อนตรงไหนแล้วเขาไม่แก้ แล้ววันที่ลูกเขากลับสู่ครอบครัว บรรยากาศในบ้านก็จะกลับไปอยู่ในลูปเดิม
ป้าจะบอกเด็กที่จะออกจากบ้านกาญจนาฯ เสมอว่าพ่อแม่หนูมีสองภาพซ้อนกันอยู่ ภาพหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเป็นคนที่ผลักไสไล่ส่งหนูไปก่อคดี แต่ขณะเดียวกันอีก 50 เปอร์เซ็นต์ เขาเรียกว่าปาฏิหาริย์แห่งชีวิตของหนูทุกคน ต่อให้หนูกเฬวราก กะโหลกกะลายังไงก็ตาม เขาก็ไม่เคยทิ้งหนู หน้าที่ของหนูคือ หนูต้องเอาแค่ภาพที่เขาเป็นปาฏิหาริย์แห่งชีวิตเราเท่านั้นติดตัวเราไป ส่วนภาพพ่อแม่ที่ผลักไสไล่ส่งเราออกจากบ้าน ต้องจัดการเอามันออกไปให้หมด ถ้าเราไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ เราจะผลิตซ้ำ แล้วเราก็จะกลายเป็นพ่อแม่ที่ไม่มีกิจกรรมกับลูก เพราะคิดว่าเราถูกเลี้ยงมาแบบนี้แล้วเรารอด แต่เราลืมไปหรือไม่ว่าเวลาสิบกว่าปีที่เราถูกพรากไป ทำให้เราไม่เหมือนมนุษย์คนอื่น ถ้าเด็กเข้าใจโครงสร้างของปัญหาแบบนี้แล้ว เด็กจะไม่โกรธพ่อแม่ แต่เขาจะเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งซึ่งมีแผลได้
ถ้าสรุปว่าครอบครัวเป็นปัจจัยและสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กมีปัญหา จะเป็นการมองข้ามปัจจัยอื่นไปหรือเปล่า
ครอบครัวไม่ใช่สิ่งที่เนรมิตทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ครอบครัวก็ต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างใหญ่ของนโยบายสาธารณะของรัฐ คำถามก็คือรัฐมีนโยบายสาธารณะแบบไหนที่จะเสริมพลัง (empower) ให้ครอบครัวได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งเราไม่พบว่าในประเทศมี
แม้เราจะมีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่เขาจะปฏิบัติหน้าที่ก็ต่อเมื่อเจอเด็กคนหนึ่งถูกทุบตีในครอบครัว เขาไม่ได้ทำในเชิงเฝ้าระวังสำหรับครอบครัวที่อ่อนแอ เราจะปล่อยให้ครอบครัวเหล่านี้ เก่งไม่เก่ง ดีไม่ดี หรือสำเร็จไม่สำเร็จตามลำพังไม่ได้ ถ้าเราปล่อยเช่นนั้นเราไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาล แต่ในเมื่อเรามีรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อผู้คนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งก็จะเชื่อมกับบางคำถามที่มักถามกันว่าเราคิดอย่างไรกับเด็กที่ทำความผิด ก็เพราะสังคมไทยชอบเกรี้ยวกราดใส่เด็กที่ทำความผิดไง สมมุติว่าวันนี้มีเด็กสักคนหนึ่งปล้นที่ไหนสักแห่งหนึ่ง ทำร้ายใครสักคนหนึ่ง พรุ่งนี้ข่าวก็จะรุมด่าเด็กคนนั้น
ความเกรี้ยวกราดที่เรามีต่อปัจเจก ทำให้เราไม่สามารถไปถึงนโยบายสาธารณะ คนออกแบบนโยบายสาธารณะจึงมักจะลอยนวลทุกปรากฏการณ์ ไม่มีใครตั้งคำถามว่านโยบายสาธารณะที่ดีของประเทศไทยมีไหม เพราะทุกคนก็จะมาลงที่ครอบครัวหรือไม่ก็โทษว่าเด็กไม่ดี
ช่วยขยายคำว่านโยบายสาธารณะในความต้องการของป้ามลเพิ่มหน่อย
อย่างตอนนี้เด็กกำลังคลั่งสเก็ตบอร์ดกัน ถ้ารัฐบาลชาญฉลาด ทำพื้นที่สเก็ตบอร์ดให้ทั่ว อบต. แล้วมีอุปกรณ์ให้เด็กๆ สามารถเข้าไปเล่นฟรี ไม่เสียเงิน หรือปิดเทอมซึ่งมีทั้งหมด 120 วัน จาก 365 วัน ใน 120 วัน 22,800,000 ครอบครัว มีไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่สามารถพาลูกหลานตัวเองไปต่างประเทศได้ แม้ไปเพียงไม่กี่วัน แต่โลกทัศน์ ชีวทัศน์ ความรู้สึกตาสว่าง มันเป็นพลังที่จะเคลื่อนเด็กคนนั้นต่อๆ ไป แล้วก็ต่อยอดให้ไปตรงอื่นอีกเยอะแยะไปหมด แล้วก็มีครอบครัวอีกจำนวนไม่มาก แม้อาจไม่มีเงินไปต่างประเทศ แต่สามารถซื้อค่ายพักแรมในประเทศได้ แน่นอนพ่อแม่เขาไม่ใช่มีเงินอย่างเดียว แต่ต้องรู้ด้วยนะว่าค่ายพักแรมจะทำให้ลูกเราอิ่มเอมแค่ไหน ขณะเดียวกัน มีพ่อแม่อีกจำนวนมหาศาลไปต่างประเทศก็ไม่ได้ ไปค่ายพักแรมก็ไม่ไหว ตัวอย่างจากแม่เด็กที่บ้านกาญจนาฯ นี่แหละ เขาเก็บแบงก์ 20 ไว้เยอะแยะเลย แล้วพอปิดเทอมปั๊บ บอกลูกไปอยู่ร้านเกมเลยนะ อย่าออกมา ตกเย็นเลิกงานแม่ค่อยเข้าไปรับ นี่ดีที่สุดแล้วนะ นี่เป็นเดอะเบสท์ของพ่อแม่กลุ่มหนึ่ง
ทุกวันนี้มีครอบครัวจำนวนมหาศาลไม่รู้จะไปไหน แล้วรัฐทำอะไรอยู่ นโยบายสาธารณะตอนปิดเทอมคืออะไร รู้จักไหมเนี่ย (เน้นเสียง) คือการไม่มีพื้นที่ให้เด็กไง นี่คือนโยบายสาธารณะเพียงอย่างเดียวไม่ต้องพูดเรื่องอื่นเลยนะ พอไม่มีปั๊บก็เหมือนกับว่า 120 วันของเด็กๆ ถูกฆ่าไป แล้วเด็กวัยรุ่นเนี่ยอันตรายที่สุดคือเมื่อเขามีเวลาว่าง แล้วเขาจัดการเวลาว่างนั้นไม่เป็น
ถ้าการเมืองดี มีรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเด็กมาติดคุก แต่มันจะเหลือน้อยมาก มันจะทำให้เราทำงานง่ายขึ้น จะทำให้เรามีทางออกเยอะขึ้น
นอกจากครอบครัว และปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเด็กและเยาวชนแล้ว ระบบการศึกษาของไทยไปต่ออย่างไรดี
ป้าคิดว่าการศึกษาไทยต้องปรับตัวแบบปฏิวัติเลย ไม่ใช่ปฏิรูป เพราะเป็นปัจจัยที่เข้ามาทำร้ายเด็กๆ ค่อนข้างชัดเจน คำว่าโรงเรียนไม่ปลอดภัยมันเป็นเรื่องจริง โรงเรียนไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ โรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ให้เด็กปล่อยของปล่อยแสง โรงเรียนเลือกปฏิบัติต่อเด็กๆ ถ้าเด็กคนนั้นไม่ใช่เด็กที่อยู่ในนิยามที่โรงเรียนคิดว่าเป็นเด็กดี เด็กเก่ง ซึ่งมันไม่ใช่
จริงๆ แล้วการทำโรงเรียนให้ปลอดภัย ไม่ใช่เป็นแค่อุดมคติ แต่ต้องทำให้เป็นจริง ไม่ใช่คำพูดลอยๆ สิ่งที่สามารถพูดได้อย่างเป็นรูปธรรมเลยคือ เด็กที่ก่ออาชญากรรมในประเทศไทยเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นเด็กที่ถูกผลักออกจากโรงเรียน หรือเป็นเด็กที่ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคัน ในนิยามของป้าคือ พอประตูโรงเรียนปิดใส่เขา ประตูคุกก็เปิดต้อนรับ
เท่าที่เราไปดูประวัติการศึกษาเด็กบ้านกาญจนาฯ และรวมเด็กที่อื่นที่เราศึกษากันมา พบว่ากลุ่มที่ถูกให้ออกจากโรงเรียนกลางคันที่เยอะที่สุดคือ กลุ่ม ม.ต้น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะเอาความรู้ของเขาไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ ความรู้ไม่มี กับอีกอย่างที่พบคือ เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ดี เป็นผู้แพ้ ไม่มีคุณสมบัติอะไรที่จะไปสมัครงานที่ไหนเลย และที่สำคัญเมื่อเด็กถูกให้ออกจากโรงเรียนเป็นสิบเป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่น มันเหมือนมีพลังอะไรบางอย่างดึงดูดพวกเขาเข้าหากัน มาเจอกัน
เวลาว่างที่มากมายทั้งหมด รวมทั้งการเป็นผู้แพ้ของเขาเพราะถูกให้ออกกลางคัน คือการบอกว่าเขาไม่เป็นที่ต้องการ นิสัยไม่ดี หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นลบ ทำให้เขาสร้างตัวตนขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง และเราไม่เคยพูดเลยว่าโรงเรียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมนี้ตรงไหน เราไม่เคยพูด (เน้น) เราพูดแค่ว่าปัจเจกมันนิสัยไม่ดี แล้วถ้าเราเข้าไปอ่านในสื่อออนไลน์แทบร้อยเปอร์เซ็นต์บอกเอามันไปฆ่าเลย ให้มันติดคุก ให้ตายในคุก เป็นอะไรซึ่งวนอยู่แบบนี้ สำหรับป้า ป้ารู้สึกว่าแบบ…โอ้ย โรงเรียนลอยนวลทุกครั้งเวลาเด็กก่ออาชญากรรม จริงๆ โรงเรียนไม่ควรจะลอยนวล
นโยบายสาธารณะของรัฐบาลก็ไม่ควรจะลอยนวล เรามีพื้นที่สีขาว พื้นที่ดีๆ ที่สร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ บ้างไหม สมมุติเด็กออกจากโรงเรียนแล้ว เด็กๆ จะมีที่ปล่อยของปล่อยแสงไหม ไม่มีหรอก ยกเว้นไปอยู่กันในที่มืดแล้วค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นซาตานน้อยๆ
การออกกลางคันไม่ควรเป็นการแก้ปัญหา ถ้าเด็กทำผิด โรงเรียนควรจัดการอย่างไร
แล้วทำไมจะต้องลงโทษล่ะ ถ้าเป็นเรื่องการเรียนก็ช่วยเรื่องการเรียน ถ้าเป็นเรื่องพฤติกรรมก็มาคุยกัน ไม่อย่างนั้นบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเด็กไปฆ่าคนมาแล้ว ไม่ต้องจับเขาฆ่าทิ้งหมดเหรอ เพราะนี่ไม่ใช่ผิดระเบียบแบบไม่ถอดรองเท้าในห้องเรียน แต่นี่เขาไปฆ่าคนมา
ถ้าคิดว่าเด็กทำผิด แล้วเด็กจะต้องไม่มีที่หยัดยืนในสังคม เราก็คงตามฆ่าเด็กหมดประเทศล่ะมั้ง แล้วทำไมเด็กบ้านกาญจนาฯ ซึ่งฆ่าคนมาเรายังทำงานได้ เด็กในโรงเรียนเขาไม่ได้ฆ่าใคร แต่เขาอาจไม่เชื่อง แล้วเราจัดการกับความไม่เชื่องของเด็กไม่เป็นหรือ ถ้าไม่เป็น มาเป็นครูทำไม
เรามักเข้าใจว่า สถานพินิจหรือบ้านกาญจนาฯ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง พอทำผิดก็เข้ามา แล้วก็ออกไป ป้ามลคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
คำตอบป้าก็คือว่า โลกมันกว้างใหญ่และสังคมมันใหญ่มาก มันคงไม่มีแพทเทิร์นเดียวที่จะช่วยให้เด็กทุกคนเป็นผู้ชนะหรือรอดได้หมด ระหว่างทางก็อาจมีเด็กตกหล่นอยู่บ้าง งานเฝ้าระวังของประเทศต้องมีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีงานเยียวยาสำหรับเด็กที่ตกหล่นด้วย
ป้าอยู่บ้านกาญจนาฯ คนชอบถามว่าป้ามีความสามารถ ทำไมป้าไม่ทำงานกับเด็กที่อยู่ต้นน้ำหรือต้นทางให้เขาแข็งแกร่งขึ้นมา ป้าอยู่กับเด็กปลายน้ำเพื่ออะไร เสียของเปล่าๆ ไหม
คำตอบของป้าคือ ไม่ใช่เลย เด็กเหล่านี้เขาก็เคยเป็นเด็กต้นน้ำ เป็นเหมือนลูกหลานคุณมาก่อน แล้วกระบวนการต่างๆ ในสังคมที่ไม่ได้ถูกออกแบบมาดีพอ ทำให้เด็กเปราะบางจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นคนปลายน้ำอยู่กับป้าที่นี่ แต่ใช่ว่าเขาจะเป็นคนปลายน้ำตลอดไป วันหนึ่งเขาก็ต้องออกไปจากบ้านนี้อยู่แล้ว ไม่มีคุกที่ไหนในโลกที่จะขังเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีตลอดชีวิต
ดังนั้นเด็กก็ต้องกลับคืนสู่ครอบครัว แต่ถ้ากระบวนการทั้งหมดที่เขาอยู่กับเรา เราดูแลเขาดี กู้เขาคืน เยียวยาเขาได้ เมื่อเขากลับสู่ครอบครัวอีกครั้ง เขาก็ไม่ใช่เป็นหุ่นแข็งๆ นั่งในบ้าน แต่เขาจะกลายเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่ในวันข้างหน้าเขาอาจเป็นพ่อแม่คน เขาก็จะกลายเป็นอีกคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ดูแลคนต้นน้ำคนใหม่ของแผ่นดิน
อะไรคือเรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานสำหรับป้ามล
ทำอย่างไรให้รัฐบาลเข้าใจเงื่อนไขชีวิตของคนที่อยู่ชายขอบและเปราะบาง และมีนโยบายสาธารณะที่เป็นคุณต่อผู้คนเหล่านั้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นชะตากรรมส่วนตัวของใครของมัน แล้วก็ไปเข้าทางคนไทยส่วนหนึ่งซึ่งเป็นพุทธเพี้ยน ก็จะมองว่าที่เราเลี้ยงลูกดีเพราะมีกรรมดี ที่เลี้ยงไม่ดีเพราะมีกรรมไม่ดี ซึ่งไม่ใช่เลย ต้องยอมรับก่อนว่ารัฐบาลมีส่วนอย่างมากในการที่จะสร้างนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อมนุษย์ชายขอบ
อย่างขณะนี้ที่บ้านกาญจนาฯ พบบ่อยๆ เลยคือ เด็กที่ไม่ได้เติบโตในมือของพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ต้องเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ เมืองอุตสาหกรรม และส่งเงินไปให้เขาเติบโตในมือของปู่ย่าตาทวด มีตัวอย่างกรณีหนึ่ง งานยากมากเลย เขาจบ ป.6 ปู่ย่าตาทวดก็เลี้ยงไม่ไหว เพราะเกเรมาก เลยส่งให้ไปอยู่กับแม่ ด้วยความที่แม่อยู่กรุงเทพฯ มานาน เขาก็มีสามีใหม่แล้ว แม่บอกให้เขาไปเช่าบ้านอยู่ห้องนู้น อย่าเข้าบ้านนี้ เดี๋ยวพ่อเลี้ยงไม่ชอบ แล้วนึกออกไหมว่าเด็กจะรู้สึกอย่างไร สุดท้ายเด็กก็เช่าบ้านเล็กๆ อยู่คนเดียว แล้ววันหนึ่งเด็กก็ถูกจับมาอยู่ที่นี่
นี่คือสิ่งที่เรารู้สึกได้ว่ามันไม่ใช่เป็นปัญหาของปัจเจก การที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องทิ้งลูกไว้ในชนบทกับปู่ย่าตายาย เพื่อมาหางานทำในเมืองใหญ่ มาหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม มันไม่ใช่ปัญหาของปัจเจก แต่เป็นปัญหาของรัฐสวัสดิการ ปัญหาเชิงนโยบายของรัฐที่ไม่เคยคิดถึงคนที่อยู่ชายขอบ
จำนวนของเด็กและเยาวชนตามสถานพินิจหรือแม้แต่บ้านกาญจนาฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ไม่น้อยลงหรอกค่ะ มันเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเด็กสมัยนี้เลวกว่าเด็กสมัยก่อนนะ ต้องไม่ใช่คำนี้ด้วย เหตุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะสังคมเต็มไปด้วยการแข่งขัน สังคมมันด่วนไปหมดเลย แล้วมันก็พร้อมจะทิ้งคนเอาไว้ข้างหลังมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ได้แปลว่าเมื่อก่อนคนเมตตาสูงกว่านี้หรอก แต่ด้วยบริบทของสังคม ระบบนิเวศทางสังคมที่เปลี่ยนไป ดังนั้นมันยิ่งทำให้เราต้องเรียกร้องนโยบายที่มีวิสัยทัศน์จากรัฐให้มากขึ้นด้วย
ถ้าป้ามีโอกาสส่งเสียงได้ ป้าจะบอกเสมอว่า หยุดเกรี้ยวกราดต่อปัจเจกได้แล้ว หันไปตั้งคำถามกับผู้คิดนโยบายสักทีเถอะ แล้วก็ต้องจริงจังกับคนกลุ่มนั้นด้วย เพราะตลอดเวลาประเทศใช้เงินภาษีมหาศาล คนพวกนั้นไม่ได้ตอบโจทย์เลย แต่ก็ลอยนวลตลอดเวลา นอกจากไม่ตอบโจทย์แล้ว เขายังลอยนวลด้วย
ป้าคิดว่าเด็กๆ เหล่านี้จะรอดอีกเยอะมาก ถ้าเรามีนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อพวกเขา และจะรอดทั้งหมดเลยถ้าประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการ และจะรอดไม่เหลือสักคนเลยถ้าโรงเรียนไม่ drop out เด็กๆ
กระบวนการเยียวยา ณ บ้านกาญจนาภิเษก
เด็กที่เข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ เราไม่ได้จับเขามาขังไว้ให้ครบจำนวนวันตามที่ศาลพิพากษาแล้วถึงเวลาก็ปล่อยไป มันไม่ได้แน่นอน เราก็ต้องมาดูว่าอะไรที่เป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งให้เขามาติดคุก อะไรที่เป็นปัจจัยดึงดูดให้เขาออกจากบ้านไปก่ออาชญากรรม
เด็กที่นี่เขียนไดอารีทุกคืน ทำให้เราได้อ่านงานเขียนของพวกเขาเยอะมาก บางคืนเด็กคนหนึ่งก็จะหลุดอะไรออกมาอย่างไม่ได้ตั้งใจว่า “ไม่รู้ผมกลับไปจะเจอพ่อคนเดิมหรือเปล่า คนที่ชอบพูดแต่ความสำเร็จของตัวเองซ้ำๆ ซากๆ” “บ้านของผมไม่เคยมีกิจกรรมร่วมกันเลย” “บ้านของผมเรื่องเล็กๆ เรายังไม่เคยคุยกันเลย แล้วเรื่องใหญ่เราจะคุยกันได้อย่างไร” จากคำพูดเหล่านี้ผ่านไดอารี เราพบว่าทั้งหมดนั้นกลายเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งเด็กๆ ออกจากบ้านทั้งสิ้น
พอเขามาอยู่กับเรา 3 เดือน เขารู้จักเรา เรารู้จักเขา สนิทกันแล้ว เราอ่านไดอารีของเขาจนเรารู้แล้วว่า วิธีคิด ตัวตน มุมมองของเขาเป็นอย่างไร จุดอ่อนจุดแข็งของเขาคืออะไรเรารู้หมด เราก็จะเริ่มกระบวนการ workshop empower ครอบครัว
กิจกรรมที่หนึ่ง เราออกแบบให้ทุกครอบครัวช่วยกันแบ่งกลุ่มคิด เช่น ถามว่าเมื่อลูกอายุ 18 อยากให้ลูกเป็นอะไร คำตอบก็จะออกมาเหมือนกันหมดเลย ไม่ว่ากี่รุ่นๆ ก็คืออยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกรับราชการ อยากให้ลูกเรียนหนังสือให้จบ
สิ่งที่พ่อแม่ตอบมาทั้งหมดนี้ เราเรียกมันว่าเป้าหมาย
เป้าหมายของคนที่เป็นพ่อแม่ทั้งโลกก็คงไม่หนีจากตรงนี้ แต่ทำไมพ่อแม่บางคนถึงประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกในเป้าหมายที่เหมือนกัน และทำไมพ่อแม่บางคนถึงไม่ประสบความสำเร็จ คำตอบอยู่ตรงที่ว่า เราใช้เครื่องมือคนละตัวกัน
พ่อแม่ก็มีทุนของตัวเอง มี mindset ของตัวเอง เราก็ต้องมีวิธีที่จะดีเบตกัน เช่น วันหนึ่งป้าโหลดภาพภาพหนึ่งมาให้เด็กๆ ช่วยกันตอบว่านี่คือภาพอะไร ภาพนี้ก็คือกล้องฟิล์ม ซึ่งพ่อแม่ทุกคนในห้องรู้จัก แต่เด็กสมัยนี้เขาไม่รู้จัก ป้าก็ถาม พ่อแม่คิดไหมว่าเพราะอะไรเด็กถึงตอบไม่ได้ว่านี่คือกล้องฟิล์ม คำตอบก็ง่ายนิดเดียวคือ ยุคสมัยมันเคลื่อนที่มาไกลมาก การเปลี่ยนแปลงแบบนี้บ่งบอกว่าลูกเราเติบโตภายใต้ระบบนิเวศสังคมที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นสิ่งที่พ่อบอกว่าพ่อถูกเลี้ยงมาแบบนี้ แล้วพ่อก็ใช้วิธีของปู่ที่เลี้ยงพ่อมา มาใช้เลี้ยงลูกตัวเองต่อ แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ คำตอบก็อยู่ตรงนี้แหละ โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เรื่องบางเรื่องอาจจะดูเจ๋งมากในปี พ.ศ. ของพ่อ แต่เราเอามาใช้ในยุคนี้ไม่ได้แล้ว
กิจกรรมที่สอง เราจะเห็นว่าความคิดของพ่อแม่จะค่อยๆ นุ่มลงจากเมื่อกี๊ที่เป็น fixed mindset เราได้ออกแบบกิจกรรมที่สอง โดยให้พ่อแม่รู้จักกับเด็กหนุ่ม 2 คน ในเชิงสัญลักษณ์ ออกแบบให้เป็น good boy กับ bad boy
good boy เป็นประธานนักเรียน เรียนรัฐศาสตร์ ตั้งใจเป็นนักการทูต แต่ bad boy ก็คือมีเพศสัมพันธ์กับแฟนตั้งแต่ ม.ต้น ใช้ยาเสพติด มีปัญหากับพ่อเลี้ยง พ่อแม่ที่ได้ good boy เขาก็รู้สึกว่าไม่มีอะไรน่าห่วง แต่พ่อแม่ที่ได้ bad boy จะรู้สึกกลุ้มใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงบอกพ่อแม่ว่า พ่อแม่คิดว่า good boy คนนี้เป็นเด็กดีตลอด 24 ชั่วโมงไหม เขาดีตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชาติเลยไหม แล้ว bad boy คนนี้เลวตลอดไปเลยไหม มีบางนาทีหรือบางชั่วโมงที่เขาดีไหม พ่อแม่ก็จะนิ่งไปพักหนึ่ง เพราะเขาก็รู้สึกว่าใครจะดีจะเลวตลอด 24 ชั่วโมง
ดังนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาดีหรือเขาเลว ประเด็นอยู่ที่ว่าเมื่อเขามีพื้นที่ในการแสดงความดีงามออกมา พ่อแม่ทำอย่างไรกับความดีงามเหล่านั้น เมื่อเขาแสดงตัวเองออกมาแบบเทาแบบดำ พ่อแม่ทำอย่างไรกับความเทาความดำของเขา ตรงนั้นสำคัญกว่า
กิจกรรมที่สาม เราใช้วิธีให้เด็กและผู้ปกครองดูหนังสั้นที่สร้างจากเรื่องจริงของเด็กบ้านกาญจนาฯ พอดูจบเราก็แจกการ์ดที่มีปัจจัยผลักไสและปัจจัยดึงดูดอยู่ แล้วให้พ่อแม่ลูกถกเถียงกันว่าการ์ดใบไหนเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งให้เด็กคนนี้ออกไปก่ออาชญากรรม แล้วการ์ดใบไหนเข้าข่ายปัจจัยดึงดูดให้เขาออกจากบ้าน
ครั้งหนึ่งเคยมีเด็กหนุ่มของเรามาด้วยคดีฆ่าปาดคอแท็กซี่ ซึ่งเป็นข่าวใหญ่หน้าหนังสือพิมพ์ เด็กหนุ่มคนนี้เขาหยิบการ์ดใบเดียว คือตีเส้นตีกรอบ แล้วเขาก็บอกพ่อกับแม่เขาว่า “ผมเลือกตีเส้นตีกรอบครับ ที่ผมเลือกอันนี้เพราะว่าตอนเด็กๆ ป๊าสั่งให้ผมทำอะไร ผมทำทุกอย่าง แต่พอผมโตขึ้น ผมไม่ไหวแล้วครับ แต่ป๊าก็ไม่เคยเปลี่ยน ผมเคยหนีออกจากบ้านครั้งหนึ่ง แล้วผมคิดว่าป๊าจะเปลี่ยนบ้าง แต่เมื่อผมกลับมา ป๊าก็เหมือนเดิม”
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้เขาต้องออกจากบ้านไปเป็นรอบที่สอง ทีนี้เขาเริ่มมีต้นทุน คือมีเพื่อนที่รอเขาอยู่ การเอาตัวรอดของเขาในแต่ละวันก็คือ ลักวิ่งชิงปล้น จนมาถึงวันที่ฆ่าแท็กซี่
“ตอนผมฆ่าแท็กซี่เสร็จ ผมกระโดดออกมาจากรถ ผมถามตัวเองทันทีเลยว่า เฮ้ย…เรามาไกลขนาดนี้ได้ยังไง ผมร้องไห้นะครับ และป๊าคงไม่เชื่อว่าเป็นผมตอนที่ดูทีวี ดังนั้นผมไม่อยากฆ่าใครอีกแล้ว และผมก็ไม่อยากเป็นคนแบบนี้ ผมขออย่างเดียวถ้าจะขอจากป๊า ก็คือเอาตีเส้นตีกรอบแบบนี้ออกไปจากบ้านให้เราด้วย”
พ่อของเด็กก็นั่งฟังด้วย แล้วเราก็ถามว่าป๊ามีอะไรจะพูดไหม ป๊าก็บอกว่ามี “ผมมีลูกคนเดียว ผมมีธุรกิจของครอบครัว แล้วผมผิดตรงไหนครับ ถ้าผมจะเป็นผู้กำกับและลูกของผมต้องเป็นพระเอก และพระเอกที่ดีต้องเดินตามเส้นผู้กำกับ ผมผิดตรงไหน”
วิธีที่จะหยุดคนแบบนี้ เราต้องไม่เถียงเขาเพื่อจะเป็นคู่อริกัน แต่เราจะหันไปถามพ่ออีกบ้านหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกระบวนการนี้ว่า Support Group เราจะถามบ้านโน้นว่า พ่อคิดยังไงคะ ลองเล่าหน่อย เขาก็บอก “ไม่ได้นะ ลูกเรามาไกลขนาดนี้แล้ว เราต้องถอย เพื่อให้มีพื้นที่ให้ได้คุยกันใหม่” ทุกคนก็จะตอบด้วยภาษาที่ต่างกัน แต่ก็คือต้องยอมรับก่อนว่าเราผิดไปแล้ว
เราเรียกกระบวนการนี้ว่า ชวนพ่อแม่หาระเบิดเวลา เพื่อให้เขารู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกเขาออกจากบ้าน ซึ่งพอรู้แล้วก็จะเหลือเวลาให้เขาและลูกเข้ามาบ้านกาญจนาฯ อีกเป็นปี เพราะคำสั่งศาล ระหว่างนี้เวลาเขาปรึกษาเรา เขาจะไม่มีปัญหา หรือพูดแบบฟุ้งกระจาย มันจะโฟกัสและจะทำให้การทำงานเราง่ายขึ้น
อีกเวิร์คช็อปหนึ่งของบ้านกาญจนาฯ คือเวิร์คช็อปก่อนคืนเรือน เด็กที่กำลังจะถูกปล่อยกลับสู่ครอบครัว เขาต้องตั้งเป้าหมายในชีวิต เช่น เราจะให้โจทย์ไปว่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้ เป้าหมายในชีวิตที่อยากทำคืออะไร จะไปเรียนหนังสือ จะไปทำงาน จะไปบวช จะไปเป็นทหาร เพื่อให้ทุกครอบครัวมีแผนตัวเองชัดขึ้น
จนกระทั่งใกล้ถึงวันปล่อยตัวก็ถึงกระบวนการที่จะมานั่งวางแผนกันว่า ถ้าได้รับอิสรภาพตรงนี้จะทำอะไร เราก็ให้คำถามต่อว่า แผนดี ทุกอย่างสวยงาม ดูมีความหวังและอนาคต แล้วอะไรที่จะเป็นเหตุให้มันพัง จากนั้นพอเขาตอบเสร็จ เราก็ถามอีกว่า ถ้าจะให้แผนนี้ประสบความสำเร็จเหมือนกับที่คิดกันอยู่ ณ นาทีนี้ ใครต้องทำอะไร ทำอย่างไร ให้พูดออกมา ในที่สุดเด็กก็เขียนออกมา สุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็จะมองเห็นตัวเองว่า ควรจะต้องซัพพอร์ตลูกอย่างไร