Timeline วัยรุ่นฟันน้ำนม เพราะเกิดในยุคอย่างแบด เลยต้องแซดอย่างบ่อย

“รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี” คือคำขวัญวันเด็ก ปี 2566 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจุดตั้งต้นของคำขวัญวันเด็ก เปรียบเสมือนข้อคิดที่นายกรัฐมนตรีฝากไว้ให้อนาคตของชาติซึ่งมีสภาพคล้ายผ้าขาวรอวันแต่งเติม

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตท่ามกลางอุณหภูมิการเมืองอันร้อนแรง ความแตกแยกของสังคม และสภาพเศรษฐกิจที่ดำดิ่ง ย่อมทำให้ผ้าขาวผืนนั้นถูกเติมแต่งชนิดหาความประณีตบรรจงได้ยากเย็น และถูกบีบคั้นให้ต้องเป็นอะไรสักสิ่ง ดั่งเทมเพลตคำขวัญวันเด็กสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ว่า “ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็น…”

หากถามว่า แล้วเด็กสมัยนี้มีคุณลักษณะเป็นอย่างไร ก็อาจต้องสำรวจสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตมาเสียก่อน

พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้นิยามว่า ‘เด็ก’ หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ขณะที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า ‘เยาวชน’ หมายถึง บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์

หากใช้เกณฑ์ ‘ฟันน้ำนม’ เป็นจุดตัด มนุษย์เราจะมีฟันตามธรรมชาติ 2 ชุด ชุดแรกเรียกว่าฟันน้ำนม ชุดที่สองเรียกว่าฟันแท้ โดยฟันน้ำนมจะทยอยหลุดออกจากช่องปากจนถึงอายุราว 12 ปี และหากนับย้อนกลับไปเด็กกลุ่มนี้จะเกิดในช่วงปี 2554

เมื่อเทียบเคียงกับมุมมองคลาสสิกอย่างทฤษฎีจิตวิทยาสังคม (Theory of Psychosocial Development) ของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน-เยอรมัน ที่กล่าวว่า ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงแก่ชรา บุคคลจะพบวิกฤตจากความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่ต้องการและสิ่งที่สังคมคาดหวังตามแต่ละช่วงวัย 

วิกฤตทางจิต-สังคม ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องธรรมชาติและส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพ หรือ ‘ตัวตน’ ซึ่งปัจจัยที่กำหนดการสร้างบุคลิกภาพในแต่ละขั้น คือผู้ปกครอง ครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู รวมถึงสังคมภายในสถานศึกษา ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การโอบรับคุณลักษณะทั้งด้านบวกหรือด้านลบในแต่ละระยะของการเติบโต และถึงแม้บุคคลจะมีบุคลิกภาพในเชิงลบ อีริคสันก็ชี้ว่า บุคคลิกภาพเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่อยู่ควบคู่กับการเติบโต คือฉากทัศน์ของเรื่องราวทางสังคม ซึ่งหากนำทฤษฎีของอีริคสันมาเทียบทาบกับบริบทเฉพาะของประเทศไทย ก็อาจบอกได้คร่าวๆ ว่า ทำไมเด็กไทยในปัจจุบันจึงกลายเป็น ‘วัยรุ่นทรงแซด’ ที่แซด (โคตร) บ่อย

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า