เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: ศิริโชค เลิศยะโส
1.
ภาสกร จำลองราช
ลองเสิร์ชชื่อของเขาลงในกูเกิล
ข้อมูลกว่า 41,200 บทความถูกประมวลสู่หน้าจอด้วยความเร็ว 0.18 วินาที บันทึกในฐานข้อมูลออนไลน์สรุปความได้ว่า เขาเคยเป็นอดีตนักข่าวการเมืองมือรางวัล เครือมติชน มีชื่อของเขาปรากฏในรายงานข่าวกึ่งสารคดีจำนวนมากในเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ชื่อ ‘สำนักข่าวชายขอบ’ และ ‘Deep South Watch’ ในชื่อไทยว่า ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’
เข้าไปค้นชื่อของเขาในฐานข้อมูลห้องสมุดออนไลน์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่ามีชื่อของเขาปรากฏในงานเขียนหลายเรื่อง
สนามข่าวสีแดง: เรียนรู้โต๊ะข่าวภาคใต้
คนชายข่าว คนชายขอบ: วิถีที่ถูกรุกล้ำ
คนชายข่าว คนชายขอบ: คนเล็กน้อยที่ถูกลบกลืน
คนชายข่าว คนชายขอบ: ส่องนิเวศวัฒนธรรมและผลกระทบข้ามแดน
เป็นต้น
เข้าเว็บนู้น ออกเว็บนี้ อนุมานจากข้อมูลเท่าที่มีคนเคยเขียนถึงและได้บันทึกเรื่องของเขาไว้ในโลกออนไลน์ แอบนิยามผู้ชายที่ชื่อภาสกรในใจเอาเองคนเดียวว่า เขาอาจเป็น ‘นักข่าวที่ใกล้จะสูญพันธุ์’ ในศตวรรษที่ 21 นี้ก็เป็นได้
ไหมล่ะ ก็เราอยู่ในยุคที่ข่าวบันเทิงและรายงานคลิปเด็ดจากยูทูบประจำสัปดาห์ กินพื้นที่รายงานข่าวเช้าไปหมดแล้วมิใช่หรือ?
2.
“ไม่ใช่สำนักข่งสำนักข่าวอะไรหรอก เป็นแค่เว็บไซต์ เป็นพื้นที่ที่เอาไว้ป้อนข้อมูล มีอะไรก็ใส่ลงไปเท่านั้น และก็เป็นเว็บสำหรับคนที่สนใจกลุ่มเล็กๆ เพราะเรื่องราวของคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ มันไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าไรนัก ทั้งๆ ที่มันควรจะใช่ไหม? เพราะคนกลุ่มนี้ คนเล็กคนน้อยกลุ่มนี้ เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
“แต่ก็ไปว่าอะไรใครไม่ได้ ส่วนหนึ่งที่ผู้คนไม่สนใจ ไม่เข้าใจ ก็อาจเป็นเพราะเรายังทำงานไม่ดีพอ ทำข้อมูลได้ไม่เข้าตา ข่าวที่ออกมาเลยไม่เตะตาเขาก็ได้”
ภาสกรตอบคำถามที่ว่า สำนักข่าวชายขอบเกิดขึ้นมาจากอะไร
หากตอบให้ตรงและแจ้งชัดกว่านี้ ภาสกรเล่าว่า สำนักข่าวชายขอบอาจเป็นวิวัฒนาการของเซคชั่นข่าว ‘คติชน’ พื้นที่สองหน้ากระดาษในหนังสือพิมพ์รายวันมติชนกรอบวันอาทิตย์
“คติชน คติของชน คนทุกกลุ่ม ไปสะดุดตาชื่อนี้จากหนังสือเล่มไหนไม่รู้นะ แต่มันกินใจมาก เลยเอามาตั้งเป็นชื่อคอลัมน์เพื่อเขียนเกี่ยวกับคนในสังคม”
แต่เซคชั่น ‘คติชน’ ที่ภาสกรว่า ไม่ใช่จุดเริ่มต้นงานด้านการข่าวที่ทำให้เขามีชื่อในวงการการสื่อสารมวลชน ในอีกทาง ภาสกรเติบโตมาจากงานข่าวสายการเมือง
ย้อนกลับไปในปี 2536 เขาเริ่มอาชีพด้วยการเป็นนักข่าวการเมือง สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะถูกย้ายไปเป็นนักข่าวประจำสภา แล้วจึงขอย้ายกลับมาประจำที่กระทรวงแรงงานอีกครั้ง
ณ จุดเวลานี้ เซคชั่น ‘คติชน’ จึงถูกร่างขึ้น
“มันตั้งแต่ครั้งที่อยู่ทำเนียบแล้ว ที่เราได้เข้าไปสัมภาษณ์ พูดคุยกับชาวบ้านที่เข้ามาประท้วงอยู่หน้าสภาฯ หน้าทำเนียบ และพอกลับมาประจำอยู่ที่กระทรวงแรงงาน เราก็ยิ่งได้พูดคุยกับคนที่ทุกข์ใจกับความไม่เป็นธรรมมากขึ้น
“พอถึงจุดหนึ่งเราก็มานั่งคิด ไอ้ห่าเอ๊ย เราเอาไมค์ไปจ่อปากนักการเมืองอยู่ทุกวัน เรื่องที่เขาพูด มันลงไปถึงชาวบ้านจริงๆ ไหม แล้วชีวิตอาจเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว ชีวิตมีการเปลี่ยนแปลง เราก็กลับมาคิดทบทวนสิ่งที่เราทำอยู่ ก็คิดแค่ว่าอยากเปลี่ยนแปลง ก็เลยลาออกมา”
เริ่มต้นจากการชักชวนเพื่อนนักข่าวแต่ละสำนักไปลงพื้นที่ เก็บข้อมูล ทำข่าว โดยที่ไม่จำกัดวิธีการนำเสนอ และช่องทางในการเผยแพร่ แต่การทำงานโดยจิตอาสา ปัจจัยสำคัญคือช่องว่างในสมุด planner เมื่อว่างไม่ต้องตรงกัน การจะทำงานเป็นทีมลักษณะนี้ให้ต่อเนื่องเป็นเรื่องยากลำบาก
“มันมีกิเลสส่วนตัว เราชอบเดินทาง ชอบท่องเที่ยว แต่สันดานนักข่าว ไปเที่ยวมันก็อยากเขียนสิ่งที่เราเจอะเจอ ทีนี้พอเพื่อนๆ ไม่ได้ว่างพร้อมกันบ่อยๆ เราก็เลยตัดสินใจทำต่อเอง ก็เลยมาเรื่อยๆ จนเป็นเว็บข่าวรูปแบบนี้ เป็นเว็บ เป็นช่องทางให้เสียงของชาวบ้านมันออกไปข้างนอกได้”
3.
“ภาสกรเป็นคนที่ได้หมายไปเยอรมนี แล้วเขียนเรื่องเมียฝรั่งไปขายส้มตำอยู่ที่นู่น ประเด็นของเรื่องนั้นคือความต้องการของผู้หญิงคนหนึ่งที่อยากจะบอกว่า ถึงเป็นเมียฝรั่ง ได้อยู่ต่างประเทศ ก็ใช่ว่าจะมีชีวิตดีๆ แบบที่ใครคิด
“เขาเป็นคนที่เขียนเรื่องผลกระทบต่อผู้หญิงขายบริการย่านสีลม ในช่วงเหตุการณ์คนเสื้อแดงปิดแยกราชประสงค์ ปี 53 ไปดูว่ารายได้ของคนทำงานลดน้อยลงไหม เกิดอะไรขึ้นต่ออาชีพที่ผู้คนทำราวกับว่าไม่มีมันอยู่
“เขาเป็นคนที่มีสายตามองหาแต่ประเด็นเล็กน้อยที่เกิดขึ้นในสังคม”
อุ้ย – จารยา บุญมาก นักข่าวหนึ่งในสามคนของสำนักข่าวชายขอบ ยื่นหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ ปกของมันเป็นสีดำ มีตัวอักษรสีขาวรูปลักษณ์สะอาดตาเขียนว่า คนชายข่าว คนชายขอบ: คนเล็กน้อยที่ถูกลบกลืน
“เราชอบเล่มนี้ที่สุด”
นั่งพูดคุยกัน เธอเล่าว่า ภาสกร จำลองราช เป็นคนที่ทำงานสุ่มเสี่ยงจะโดนยิงตายจากการเปิดโปง ลงไปจับ ไปเขย่าประเด็นยากๆ ที่สื่อน้อยสำนักจะอยากลงไปทำ
“เขาทำเรื่องยากและไม่เคยปล่อยทิ้งแหล่งข่าว อย่างกรณีชาวเลที่ถูกรุกไล่ที่อยู่อาศัยจากกลุ่มนายทุน พี่ภาสก็เริ่มติดตามและถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขามาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สึนามิ จนมาถึงทุกวันนี้เขาก็ยังตามต่อไม่หยุด และดูเหมือนปัญหาก็ยังแทบไม่คลี่คลายเลยด้วย
“พอเขาจับประเด็นพวกนี้ มันก็ลามไหลไปยังประเด็นเรื่องคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ เรื่องแรงงาน เรื่องคนเล็กคนน้อยที่ถูกกันออกจากพื้นที่เพราะโครงสร้างของสังคม เขาขึ้นเหนือลงใต้ ทำงานตลอดเวลา พอมีลูกก็หิ้วลูกเมียลงพื้นที่ไปด้วย ทำจนลูกสาวถามเขาว่า พ่อเป็นนักข่าวได้อย่างไร หนูไม่เคยเห็นพ่อทำงานเลย อ้าว…ทำงานตลอดเวลาจนลูกคิดว่านี่เป็นชีวิตปกติไปแล้ว (หัวเราะ)”
จากปากคำของจารยา กลุ่มเป้าหมายของสำนักข่าว คือการทำงานสื่อสารระหว่างชาวบ้านกับสังคม และเฉพาะเจาะจงไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ แต่…คำว่าชาวบ้านและชายขอบ ดูจะกินอาณาบริเวณกว้างไกล และเป็นเธอเองที่ให้คำนิยามคนชายขอบ ตรงกันกับสิ่งที่ภาสกรอธิบายไว้ว่า
“คนชายขอบไม่เป็นแต่เพียงผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ติดชายแดนประเทศ หากเป็นคนในเมืองก็ได้ เป็นคนที่ทำงานมีเงินเดือนมากๆ ก็ยังได้ ตราบใดที่เขาเหล่านั้นไม่ถูกสังคมมองเห็น และถูกกันออกไปจากระบบ”
ดังเช่นที่เธอว่า คนชายขอบในสายตาของภาสกรคือ เมียฝรั่งที่ขายส้มตำในเบอร์ลิน กระทั่งผู้ให้บริการในใจกลางเมืองหลวง-สีลม
ถ้าอิงตามคำอธิบายนี้ มันก็…กว้างเหลือเกิน ดังที่เธอว่าไว้อีกครั้ง มันลามไหลไปได้ตั้งแต่ คนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ แรงงาน ปัญหาชายแดน และอีกมาก
คำถามคือว่า ต้องทำอย่างไร นักข่าวจำนวนสามคนของสำนักข่าวชายขอบจะทำงานสำเร็จลุล่วงครอบคลุมประเด็น ‘คนชายขอบ’ ทั้งหมดไปได้
คำตอบของเธอมีอยู่ว่า หนึ่ง-เขาปั้นเด็กๆ ไว้ตามพื้นที่ต่างๆ
และสอง-อาจไม่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ตั้งไว้เรื่อง ‘การทำงานให้ครอบคลุมคนชายขอบทั่วประเทศ’ แต่มันมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ในคำบอกเล่าของเธออยู่ว่า
ข่าวที่ผลิตขึ้นโดยทีมของสำนักข่าวชายขอบ ไม่ได้การันตีว่ามันจะถูกปล่อยให้เป็นข่าวอยู่เฉพาะหน้าเว็บของตัวเอง หลายๆ ครั้ง ข้อมูลที่ทีมงานหาได้ อาจถูกเรียบเรียงและบอกออกไปให้สำนักข่าวอื่นเป็นผู้เล่นข่าวก่อน และไม่ประกาศตัวว่า คือเขา สำนักข่าวชายขอบ และเด็กๆ ที่ภาสกรเคยไป ‘ปั้น’ ไว้ เป็นคนจรดปากกาเขียนข่าวออกไป
“บางทีเราไม่อาจรู้เลยว่า ข่าวที่เราอ่านๆ อยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์ มันมาจากปากกาของเขาหรือเปล่า
“เขาเป็น ghost writer”
4.
นำข้อสงสัยดังกล่าวกลับไปสอบถามเขา
“จะบอกว่าเป็นนักข่าวผีไหม ไม่รู้นะ มันเหมือนกับเป็นวัฒนธรรมของการทำข่าวไปแล้ว สมมุติว่ามีคนไปลงพื้นที่มา เขียนข่าวมา แต่มีนักข่าวอีก 10 ฉบับ มาเขียนข่าวเดียวกัน โดยที่ข่าวนั้นมีจุดตั้งต้นมาจากสำนักข่าวแหล่งนี้ อย่างนี้ถือว่า ‘ผี’ ไหม?
“เช่นเดียวกัน ผมทำข่าว ที่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ มาชิ้นหนึ่ง แต่ด้วยความที่เป็นสำนักข่าวชายขอบ ลงแทบตาย อย่างมากก็มีคนอ่านแค่หมื่นคน แต่ถ้าสมมุติเพื่อนๆ เขาเห็นว่าข่าวชิ้นนี้มันมีประโยชน์ เป็นเรื่องของชาวบ้าน เรื่องที่เขาถูกรังแก แล้วเขาหยิบข่าวนี้ไปลง ผลกระทบมันต่างกันนะ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อกระแสหลักมันยังมีพลังมากกว่า เราไม่มีพลังขนาดนั้น”
จะเรียกว่า ‘นักข่าวผี’ ก็ได้ แต่เขาเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่ และเขาจะชอบใจ หากข้อมูลที่ได้ส่งไปที่ ‘ถังข่าว’ ไปยังเพื่อนนักข่าว แล้วสื่อกระแสหลักเอาไปตามต่อ
“แล้วแต่ คือส่งข้อมูลไปแล้วเขาจะเอาไปทำอะไร จะไปคอนเฟิร์มข้อมูลต่อ ไปหาแหล่งข่าวสัมภาษณ์ต่อ หรือจะลงไปทั้งอย่างนั้นเลยก็ได้ เพราะมันก็มีความรู้มือกันในฐานะนักข่าวอยู่แล้ว ว่าข่าวของเรามันเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง จะเอาไปทำยังไงก็ได้ไม่ว่ากัน แต่โดยสันดานนักข่าวแล้ว เขาก็ยอมไม่ได้หรอกที่จะลงข่าวไปโดยที่ไม่ยืนยันข้อมูลเลย”
แล้วแหล่งข่าว แล้วข้อมูลข่าวเหล่านี้มาจากไหน? ใช่หรือไม่ว่าแอบไปปั้นเด็กให้เป็นนักข่าวไว้ตามพื้นที่ต่างๆ แล้วให้รายงานข่าวกลับมายังสำนักข่าวชายขอบ
“คือจริงๆ แล้วไม่ได้เรียกว่าปั้นอะไร เป็นแค่ความตั้งใจหนึ่งตั้งแต่ครั้งที่ทำงานเป็นนักข่าวประจำ อาจจะฟังดูหล่อนะ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วไม่ได้ยิ่งใหญ่ เพียงแต่ครั้งที่เราเป็นนักข่าวอยู่มติชน เราเห็นรุ่นพี่ฝึกงานน้องแล้วให้แค่ถอดเทป บอกให้น้องไปทำข่าวตรงนั้นตรงนี้แล้วก็จบ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ พอถึงวันที่ต้องเป็นหน้าที่เราในการช่วยฝึกน้อง เราก็เลยตั้งโปรแกรมไว้เลยว่าต้องฝึกน้องๆ ให้เป็นนักข่าวอย่างไร
“อย่างแรกต้องให้กล้า รู้จักการตั้งถามคำถาม เรียบเรียงข้อมูล แล้วก็สื่อสารออกมา แล้วเราก็ใช้โมเดลเดียวกันนี้กับการทำสำนักข่าวชายขอบ”
นี่ไม่ใช่งานเล่นๆ แบบทำไปงั้น นี่คือพันธกิจของสำนักข่าวชายขอบ!
“เราแค่ช่วยให้เขารู้วิธีการหาข้อมูล เรียบเรียง และสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเขา หรือในสถานการณ์ที่เขาต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ ที่มีพลังและจะมาเอาทรัพยากรของเขา ให้เขารู้ว่าเขาควรจะเรียบเรียงข้อมูลและสื่อสารอย่างไร”
พันธกิจที่ว่า ก็คือการพยายามติดอาวุธให้กับคนในพื้นที่ และไม่เพียงติดอาวุธ ข้อมูลจำนวนหนึ่งที่ได้มาของสำนักข่าวชายขอบ ก็มาจากนักข่าวชายขอบกลุ่มนี้ด้วยเหมือนกัน
“และเขาไม่จำเป็นต้องส่งกลับมาที่เรา มีบ้างที่เขาก็รายงานกลับไปยังเพื่อนนักข่าวที่เราเคยพาไปลงพื้นที่ด้วย ก็ยังติดต่อกันและคอยส่งข้อมูลให้กันนับแต่นั้นมา หรือกระทั่งการเรียบเรียงข้อมูลแล้วเขียนลงเฟซบุ๊ค อย่างนั้นก็ถือเป็นความสำเร็จเหมือนกัน”
5.
เคยมีเรื่องเล่าถึงภาสกรไว้ว่า
“ดิฉันเหนื่อยมากกับการลุกขึ้นมาทำให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดของ กุ้ง -ยุทธนา ผ่ามวัน*- แต่ที่ท้อหนัก เพราะดูเหมือนว่าสื่อมวลชนจะสนใจเพียงกรณีของกุ้ง แต่ยังมีผู้คนอีกมากที่ประสบปัญหาความไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ ดิฉันไม่อยากให้เรื่องของกุ้งเป็นเพียงข่าวรายวันที่นักข่าวสนใจเพียงเพื่อต้องการขายข่าว
“แต่กระแสข่าวคงจะเริ่มตกไปแล้ว ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นอีกต่อไป ผู้สื่อข่าวอยากสัมภาษณ์กุ้ง และต้องเป็นแค่กุ้งเท่านั้น ดิฉันพยายามพูดถึงเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ที่ตกอยู่ในปัญหาเดียวกับกุ้ง การจะช่วยกุ้งคนเดียวคงไม่ได้ มีผู้สื่อข่าวส่วนน้อยมากที่อยากฟังเรื่องที่เราอยากบอก ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่อยากเขียน อยากพูดถึง อยากนำเสนอความชื่นมื่นและชัยชนะของกุ้งในพื้นที่สื่อของตัวเอง แต่ภาสกรอยู่ในส่วนน้อยของคนเหล่านี้
ในวันที่เราแน่ใจแล้วว่า กุ้งได้รับการยอมรับแล้วว่ามีสัญชาติไทยโดยการเกิด และยังได้สิทธิ์ในการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาสกรก็โทรมาหา เรานัดพบกัน ด้วยการสัมภาษณ์อย่างลึกซึ้ง ละเอียดลออและจริงจัง เราสรุปบทเรียนของกุ้งเพื่อมิให้เรื่องนี้เกิดแก่เด็กและเยาวชนคนอื่นๆ และภาสกรก็สนใจ ดิฉันวางปัญหาของอาภรณ์รัตน์ แซ่หวู หรือเบเบ๊ เยาวชนไร้สัญชาติอีกคนลงในมือภาสกร ด้วยความหวังว่าเขาจะช่วยเบเบ๊ และไม่ใช่เฉพาะเบเบ๊ ยังมีอีกหลายกรณีที่ดิฉันร้องเรียกให้ภาสกรรีบมาช่วย เรื่องของจอบิ ก็เป็นผลงานของภาสกร หรือเรื่องของการส่งลูกของแรงงานต่างชาติชาวพม่าก็เป็นผลงานของภาสกร
“ต่อจากนั้นมา เขาก็รับหน้าที่เข้าไปในที่เกิดเหตุและจุดตะเกียงเจ้าพายุเพื่อทำข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในสังคมไทย”
นี่คือข้อความที่ อาจารย์แหวว – รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเคลื่อนไหวและนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เขียนถึง ภาสกร จำลองราช ไว้ในงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาสื่อในสังคมไทยที่มีผลกระทบต่อสุขภาวะและสิทธิมนุษยชนของเด็กและเยาวชน และครอบครัวมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
งานวิจัยที่ใช้ภาสกร เป็นวัตถุทดลองงานวิจัย
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากการที่ภาสกรติดต่อขอเข้าไปทำข่าวเรื่อง กุ้ง – ยุทธนา ผ่ามวัน บุคคลไร้สัญชาติด้วยข้อเท็จจริง* อย่างที่อาจารย์แหววบันทึกไว้ว่า “เป็นการสัมภาษณ์อย่างลึกซึ้ง ละเอียดลออและจริงจัง”
นำเรื่องนี้ไปสอบถามที่เขา เขายิ้มขำแล้วตอบว่า “คิดว่าอาจารย์แหววอยากจะใช้งานพี่มากกว่า (หัวเราะ)”
อย่างไรก็ตาม ภาสกรเล่าว่า จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหาเรื่องข้อกฎหมายของคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ หากคำถามมีอยู่ว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติที่เขาติดตาม ลดน้อยลงไหม?
“ถ้าเทียบกับปัญหาชาติพันธุ์อื่นๆ เรื่องไร้รัฐ-ไร้สัญชาติทางข้อกฎหมายดูจะคลี่คลายไปมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ดิน อย่างเช่นกรณีปู่คออี้ ชาวปกากะญอ หรือเรื่องชาวเล เหล่านี้ เรื่องไร้รัฐ-ไร้สัญชาติดูจะคลี่คลายไปมากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องที่สืบสาวกันทางกฎหมายได้
“แต่ถ้าเป็นมุมมองของคนไทยที่มีต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ นับวันก็มีแต่จะแย่ลง”
เพราะเราอยู่ในยุคที่ ข่าวบันเทิงและรายงานคลิปเด็ดยูทูบประจำสัปดาห์ กินพื้นที่รายงานข่าวประจำวันไปแทบสิ้น แล้วอย่างนี้ คำถามยอดฮิต เขายังเชื่อ ในปฏิบัติการของข่าวอยู่ไหม โดยเฉพาะข่าวความทุกข์ร้อนของชาวบ้าน (แต่อาจเว้นไว้ถ้าข่าวนั้นๆ เป็นประเด็นดราม่า เรียกความสงสารเชิงพาณิชย์จากผู้คน)
ถามให้เฉพาะเจาะจง เขายังเชื่อในสิ่งที่ทำในงานของสำนักข่าวชายขอบอยู่ไหม ถ้าสิ่งที่เขารายงานไป มันอาจไม่เกิดผลเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
“เรายังเชื่อในพลังของข่าว เพราะมันเป็นช่องทางเดียวที่เรื่องของผู้คนจะถูกส่งไปยังผู้มีอำนาจได้เร็วที่สุด”
คำถามข้างต้นอาจจะเป็นการติ๊ต่างและดูหมิ่นความดูดายของประชากรไทยเกินไป คำถามดังกล่าวกว้างและวัดผลได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำถามเชิงปรัชญาข้อนี้ไม่ใช่สิ่งที่เขาเก็บมาใส่ใจ
“เราแค่ทำเพราะชอบ ไปลงพื้นที่เพราะอยากไป แล้วมันก็เป็นแค่สันดานนักข่าว ไปเจออะไรก็เก็บมาเขียนลงเว็บเพียงแค่นั้น”