เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
PART II: การเมืองอิสลามและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทำไมอาจารย์ถึงสนใจประเด็นการเมืองในโลกอิสลาม
ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน ตอน ป.ตรี ผมทำตัวจบเรื่องเกี่ยวกับสหภาพยุโรป เป็นความเกรียนของเด็กที่ฮอร์โมนกำลังพุลุ่งพล่านอยากลองของ มันพยายามจะบอกว่า ที่มีการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปต่างๆ มันคือการเมืองภายใน การสร้างรัฐแบบใหม่ ก็มั่วไปเรื่อย แต่ด้วยการมองพลวัตแบบนี้จะเห็นการเมืองต่างๆ มันจึงเห็นเฉดของการอ้างอิงกับศาสนา มีประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อย เรื่องแรงงานต่างด้าว
เมื่อมาเรียน ป.โท ช่วงเวลาเดียวกันได้ทำงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ แล้วทำเรื่องชายแดนภาคใต้ ก็เลยไปเลยทีนี้ เจออาจารย์จรัญ มะลูลีม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แกชวนไปละหมาด ไปเลี้ยงละศีลอด ก็เลยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายจากยุโรปมาอยู่ตรงนี้ได้ยังไงก็ไม่รู้เหมือนกัน
ไม่ทราบว่านับถือศาสนาอิสลามหรือเปล่า
ไม่ได้เป็นครับ เป็นพุทธแบบ Atheist
หลังจากที่ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พอจะมองเห็นแรงกดดันของปัญหาจริงๆ บ้างไหม
จริงๆ แล้วความเป็นอัตลักษณ์แบบมุสลิมในสามจังหวัดมันเริ่มมีมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง แต่ก่อนการไม่ถือศีลอด การไม่คลุมฮิญาบ ก็แพร่กระจายไปทั่ว กระแส Islamization เพิ่งแรงขึ้นไม่นานมานี้เอง ไม่นานจริงๆ ไม่เกิน 10 ปี ผมไม่ทราบว่าเพราะอะไร เพราะว่าอัตลักษณ์อาจจะโดนกด มันเลยต้องยิ่ง represent ว่าตัวเองคือใครในสังคมนี้ ก็เป็นไปได้เหมือนกันนะครับ
ภาพรวมของเหตุการณ์น่าจะรุนแรงขึ้นตั้งแต่สมัยเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเมื่อปี 2547 ใช่ไหม
ผมมองว่ามันมีสองฝั่ง ทางทหารเขาจะเชื่อว่าขบวนการฝ่ายที่จะแยกเอกราช มีความพยายามที่ไม่เคยหายไปเลย เพียงแต่ช่วงก่อนหน้าปี 47 มันเป็นช่วงบันไดขั้นของการเตรียมการอะไรของเขา แล้วก็เริ่มต้นด้วยการเผาโรงเรียน ลอบสังหารครู แล้วก็ไปสู่จุดบรรลุคือการปล้นปืน แล้วก็ก่อเหตุ อันนี้คือแผนบันไดเจ็ดขั้นของ พลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย ที่เขาไปพบในบ้าน มะแซ อุเซ็ง นั่นคือความเชื่อของฝ่ายกองทัพ น่าสนใจที่ว่าตอนนี้ผ่านมา 12 ปี ความเชื่อชุดนี้ยังคงอยู่ แล้วไม่เปลี่ยน (เน้นเสียง) ไม่เปลี่ยนเลย
ส่วนฝ่ายคนในพื้นที่เขามองว่า เหตุการณ์ปี 47 มันสะเทือนจริงๆ อย่างที่หนึ่ง – ก่อนหน้านั้นยาเสพติดไม่เคยมี ทหารไม่เคยมี หลังปี 47 ทหารมา ยาเสพติดมี นั่นคือสิ่งที่เขาเห็น อาจจะเกี่ยวกันหรือเปล่า ไม่รู้ ไม่มีหลักฐาน พอเขาเห็นแบบนั้น เขาก็เลยโยงกัน
ขณะเดียวกัน การใช้อำนาจตามกรอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลายครั้งมันสร้างเงื่อนไข เพราะฉะนั้นเหตุการณ์อย่างกรือเซะ ตากใบ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของฝ่ายรัฐ มันหล่อหลอมให้เกิดกลุ่มต่อสู้รุ่นใหม่ รุ่นที่พอโตมาแล้วอาจจะไม่ได้อินกับอุดมการณ์เอกราชปัตตานี ฟังจากที่พ่อแม่เล่ามา แต่ (ตอนนั้น) กูก็อยากไปเล่นสเก็ตบอร์ด จะเป็นอะไรอย่างนี้ แต่หลังเหตุการณ์ปี 47 เขาอยู่ในวัยรุ่น วัย 15-19 อาจจะอยู่ในเหตุการณ์ด้วยซ้ำ แล้วก็พบการกระทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสุดท้ายเขาอาจไปจับอาวุธ หรือไปอยู่ฝ่ายขบวนการ แล้วก็ได้คำตอบว่า อ๋อ เพราะว่าซีแย (สยาม) กดขี่เรามานานแล้ว อาจจะเป็นแบบนั้น
นั่นก็คือสองเฉดที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร ที่ผมบอกว่าน่าสนใจเพราะฝ่ายรัฐยังไม่ยอมเชื่อว่าพวกเขาคับข้องใจจริงๆ เชื่อว่าเป็นขบวนการสมคบคิดมาตั้งนานแล้ว แล้ววันนี้แอคทิวิสต์ที่เป็นนักสิทธิมนุษยชน NGO CSO อะไรต่างๆ ถูกขึ้นแบล็คลิสต์โดยฝ่ายรัฐ ว่าเป็นปีกการเมืองของขบวนการ BRN (Barisan Revolusi Nasional)
เพราะว่า NGO พวกนี้เข้าใจความคับข้องใจของคนในพื้นที่?
ใช่ครับ หลายครั้งก็ช่วยในเรื่องคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมนานาชาติมากขึ้น ซึ่งผมมองว่ารัฐควรจะขอบคุณเขานะ ที่เขาช่วยเป็นอีกชั้นหนึ่งในการตรวจสอบ เพราะในกลไกของสภาวะฉุกเฉินมันไม่มีอะไรตรวจสอบ นี่คือชั้นของการตรวจสอบ เพื่อให้การกระทำโปร่งใส แล้วไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม ควรจะเป็นทีมสันติภาพ ควรเป็นทีมเดียวกัน
หมายถึงต้องแก้ที่กลไกภาครัฐตรงนั้นด้วย โดยเฉพาะกลไกของกองทัพ?
ใช่ครับ แต่มันก็มีการปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้านับตั้งแต่ปี 47 เป็นจุดเริ่มต้น ฝ่ายรัฐก็ปรับตัวค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับความสามารถในการปรับตัวโดยปกติของรัฐไทย ในสามจังหวัดถือว่าไปได้ไกลแล้ว
แต่รัฐบาลไทยเปลี่ยนชุดการปกครองเร็วมาก แล้วการแก้ไขสถานการณ์หรือความเข้าใจจะถูกสานต่อหรือเปล่า
ผมมองว่ากลไกหลักที่รับผิดชอบสามจังหวัดคือ กองทัพ ไม่ว่าจะรัฐบาลชุดไหนก็แล้วแต่ กองทัพก็คือตัวหลัก แล้วในกองทัพก็มีพลวัตไม่มาก ยกเว้นตัว ผบ.ทบ. หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พลวัตภายในมันสามารถที่จะรักษาระดับของความต่อเนื่องของการปฏิบัติได้พอสมควร แต่ในทางนโยบายอาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ในฐานะที่ทำงานลงพื้นที่ คิดว่าฝ่ายกองทัพเขาเข้าใจปัญหามากน้อยแค่ไหน เมื่อเทียบกับคนที่ลงพื้นที่จริง
ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือว่า ที่ผ่านมาเราใช้กำลังรบจากคนนอกพื้นที่ จากทัพภาคอื่น คนเหล่านี้มาพร้อมกับชุดการหล่อหลอมความคิดบางอย่างเกี่ยวกับสามจังหวัด เมื่อมาอยู่ในบริบทเผชิญหน้า เช่น การตั้งด่านตรวจ การค้นบ้าน การไปรักษาความปลอดภัยพระ นั่นคือบริบทของการเผชิญหน้า สองปีกลับบ้าน จบ พอกลับบ้านเขากลับไปพร้อมกับเรื่องเล่าบางอย่างของสามจังหวัดชายแดน ซึ่งไม่แปลกใจถ้าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดี อยู่แบบนั้นสองปี พร้อมกับการเทรนความคิดบางอย่าง แล้วกลับมาพร้อมกับเรื่องเล่าบางอย่าง
เพราะฉะนั้นการปรับตัวที่ผมบอกว่าน่าสนใจของภาครัฐไทยคือ ตุลาคมนี้ มีนโยบายออกมาแล้ว ว่าจะถอนกำลังรบภาคอื่นออกหมด แล้วใช้กำลังในพื้นที่เท่านั้น คือภาค 4 ส่วนหน้า คู่ไปกับกลไกระดับท้องถิ่น เช่น อส. หรือทหารพราน ซึ่งฝ่ายรัฐมองว่า กลไกนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มันประสบความสำเร็จในการยึดคืนพื้นที่ทางการเมืองและอิทธิพลทางการทหารในระดับหมู่บ้านสีแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ในขณะเดียวกัน กลไกนี้ กำลังรบที่เป็นกึ่งทหาร เช่น อส. ชรบ. ทหารพราน ก็มีผลข้างเคียงในแง่ที่ว่า ถ้าเปรียบเป็นยา ผลข้างเคียงของยาตัวนี้มักจะสร้างเงื่อนไขกับชาวบ้าน เช่น ใช้การเข้าถึงอาวุธของตัวเองไปล้างแค้นส่วนตัว อยู่นอกกรอบวินัยของทหาร เพราะทหารจะถูกเทรนกันมา นี่ก็เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้น
การถอนกำลังดูจะเป็นความก้าวหน้ามากๆ ของรัฐไทย?
นี่เป็นจุดขายเลย
กับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นหลายจุดหลังช่วงประชามติ คิดเห็นอย่างไร
ตอนนี้ข้อมูลค่อนข้างจะเคลียร์ชัดพอสมควร อาจจะไม่ถึงขั้นฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็มากพอที่จะทำให้เราตัดชอยส์ออกได้
หนึ่ง – มันเป็นสเกลที่มากกว่ากลุ่มการเมืองภายใน กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือ มากกว่าที่จะเป็นไปได้ว่าเป็นเสื้อแดง เราเห็นการก่อเหตุที่อาจจะมีข้อระบุว่าเป็นเสื้อแดงที่ผ่านมามันไม่ขนาดนี้ เช่น อาจจะเผาศาลากลาง หรือระเบิดปิงปอง เล็กๆ น้อยๆ แต่สเกลที่เกิดขึ้นนี้เป็นระบบ เป็นขบวนการมืออาชีพ เป็นซีรีส์ในพื้นที่หลายแห่งของพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่ากลุ่มการเมืองน่าจะตัดทิ้งไปได้
สอง – ถ้ามองไปที่ IS (Islamic State) รูปแบบของการก่อเหตุไม่ใช่ IS ถ้าพูดว่าเป็น IS ก็เป็น IS ที่ค่อนข้างหน่อมแน้มมาก คือ IS จะรุนแรงกว่านี้มหาศาลมาก ในกรณีที่เขาเข้าถึงพื้นที่ตรงนั้นได้ ในการจะก่อเหตุ ขนาดของความรุนแรงจะมากกว่านี้ และการโจมตีที่เกิดขึ้นมันมีลักษณะของความเป็นไทยมากกว่า เช่น โจมตีสถานีตำรวจ ซึ่ง IS ไม่ทำ ไม่รู้จะทำไปทำไม เพราะเป้าของเขาคือสภาวะสมัยใหม่ หรืออย่างมากที่สุดคือการโจมตีบาร์ฝรั่ง อาจจะมองว่าใช่ไหม แต่พอมีเผาตลาดบางเนียงด้วย มีการวางระเบิดหน้าโรงพักที่สุราษฎร์ฯ ไม่ใช่แน่ๆ
สาม – ถ้ามองในแง่ความเป็นมืออาชีพ โอเค อาจเป็นคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก IS แต่คนที่ได้รับแรงบันดาลใจไม่มีความสามารถพอ ก็เลยได้แค่นี้
ผมชวนดูเหตุการณ์ระเบิดที่จาการ์ตา คนทำคือคนที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก IS และเป็นมือใหม่ ไม่เคยไปรบที่อัฟกานิสถาน ดูออนไลน์อย่างเดียว แต่ศักยภาพที่คนไม่ใช่มืออาชีพทำได้ ณ ตอนนั้น ก็ยังถึงขั้นระเบิดพลีชีพ คือสเกลความไม่เป็นมืออาชีพของ IS กับความไม่เป็นมืออาชีพในการวางระเบิดของไทย ต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ดังนั้นไม่น่าใช่
เหลือโจทย์สุดท้ายที่ส่วนใหญ่เขามองกันในแง่นี้ ก็คือ กลุ่มทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด มองในเชิงยุทธศาสตร์ ถ้าเรามองไปที่ BRN ซึ่งเป็นกำลังรบหลัก ประการที่หนึ่งคือว่า BRN ยืนยันครั้งหนึ่งว่า เหตุการณ์สามจังหวัด 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นฝีมือเขาแค่ 30 อีก 70 เป็นภัยแทรกซ้อน เป็นกลุ่มค้ายา กลุ่มค้าอาวุธ เป็นขบวนการผิดกฎหมาย ข้อมูลนี้ตรงกันกับที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าระบุสถิติเหตุการณ์ ว่าเป็นเหตุจากผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือ ผกร. แค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นภัยแทรกซ้อน เพราะฉะนั้นเมื่อคู่ขัดแย้งให้ข้อมูลตรงกัน แทนที่จะดิสเครดิตกัน นั่นแปลว่า ข้อมูลชุดนี้น่าจะเชื่อถือได้พอสมควร
ประการที่สองก็คือว่า ในเชิงยุทธศาสตร์ BRN ในแง่ขององค์กร ไม่มีผลประโยชน์ในการทำแบบนี้ เสียรังวัดด้วยซ้ำ เพราะเขากำลังมีกระบวนการที่จะเจรจา การพูดคุยเพื่อสันติสุข แน่นอนว่า BRN อาจถูกตั้งคำถามว่าอยู่ในกระบวนการพูดคุยหรือเปล่า เพราะในมาราปาตานี (Mara Patani) มีคนกล่าวอ้างว่าเป็น BRN อยู่สองคนเป็นอย่างน้อย แต่สองคนนี้มีจุดเชื่อมต่อกับขบวนการ BRN ในภาพใหญ่ ได้รับอนุมัติในองค์กรนำ BRN จริงหรือเปล่า ยังถูกตั้งคำถาม เพราะว่า BRN เองก็ประกาศว่าจะไม่มีการเจรจากับรัฐไทยโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม หลังจากที่ข้อเสนอของ ฮัสซัน ตอยิบ ถูกปัดตกไป BRN ก็ประกาศในยูทูบแบบนั้น
เพราะฉะนั้น การตั้งคำถามว่า BRN อยู่ในกระบวนการพูดคุยจริงหรือไม่ ก็คือจุดตั้งต้นของการที่เราจะวิเคราะห์ในเชิงยุทธศาสตร์ ว่าการโจมตีของเขา การก่อเหตุของเขา ที่ขยายพื้นที่ออกไป มันไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะเขาไม่ได้อยากเข้าสู่กระบวนการเจรจาอยู่แล้ว จะไปกดดันอะไร กับการที่รักษาระดับศักยภาพในการก่อเหตุเฉพาะพื้นที่เพื่อหล่อเลี้ยงความหวาดกลัว มันเป็นรูปแบบที่เป็นไปได้มากกว่า ไม่มีความสมเหตุสมผลที่จะออกไปข้างนอก
หรือในกรณีที่เขาอยากจะกดดันเข้าสู่กระบวนการเจรจา กระบวนการเจรจาตรงนี้มันดำเนินต่อไปได้ในแง่หนึ่ง แม้จะเป็นรัฐบาลทหารก็ตาม มันก็ดำเนินไปได้ด้วยการที่สังคมไทยข้างนอกยังคงไม่สนใจเรื่องนี้อยู่ ถ้าเมื่อใดก็ตามที่สังคมไทยข้างนอกเห็นว่าเป็น BRN แน่นอนว่าสังคมไทยจะให้คุยหรือว่ายังไง ผมว่าคงจะสนับสนุนให้เกิดการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด อย่างบดขยี้ให้เด็ดขาดมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่มองในเชิงยุทธศาสตร์แล้ว BRN ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง หลักฐานต่างๆ ที่มันโยงกันอยู่กับสามจังหวัด เช่น มือถือซัมซุงฮีโร่ที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย และเคยใช้ที่นราธิวาส มันเป็นตัวชี้ชัดว่าน่าจะเป็นสามจังหวัด เพราะฉะนั้นถ้า BRN ไม่ใช่ แล้วใคร
เหตุระเบิดที่หน้ารามฯเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลยืนยันเชิงลึกว่า น่าจะเป็นกลุ่ม PULO-MKP เป็นพูโลกลุ่มใหม่ และไม่ใช่ BRN
กลุ่มก่อเหตุในสามจังหวัดมีหลายกลุ่มที่มีความซับซ้อนมากมาย?
เวลาเรามองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เราจะเห็นขบวนการเดียว นี่คือสิ่งที่สังคมไทยส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นองค์กรที่ชัดเจนอยู่อันเดียว แต่ข้างในมีหลายขบวนการมาก BIPP GMIP BRNC พูโลใหม่ พูโลเก่า มันเยอะแยะเต็มไปหมดเลย Bersatu ก็ยังอยู่ แล้วในมาราปาตานีที่เขาต้องเซ็ตขึ้น เพราะจะเป็นองค์กรร่วมให้กับขบวนการเหล่านี้ ในขณะที่ BRN เองก็มีหลายก๊ก หลายมุ้ง มีปีกการเมือง ปีกการทหาร มีสายอูลามะที่คอยฟัตวาการต่อสู้ว่าถูกต้องยังไง
มันเป็นไปได้ว่า การที่รัฐบาลไทยปัดตก TOR หรือการเจรจาชุดล่าสุดที่กัวลาลัมเปอร์ และนำมาซึ่งการปลดเลขานุการคณะพูดคุยฝ่ายรัฐไทยออกจากตำแหน่ง แล้วก็ไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดการเดินหน้าการเจรจาเกิดขึ้น ภาวะชะงักงันของการพูดคุยตรงนี้ และสะท้อนถึงความไม่จริงใจของรัฐไทยตรงนี้ ซ้ำเติมด้วยการใช้นโยบายการรุกคืบทางการทหาร ผ่านทุ่งยางแดงโมเดล เป็นไปได้ว่าจะทำให้กลุ่มซึ่งน่าจะเป็นคนรุ่นมีอายุน้อย เขาอาจจะรู้สึกว่า ตัวแทนของเขากำลังติดกับดักเจรจา หรืออาจจะมองคนที่ไปคุยในนามของเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนแก่ อาจจะหาทางลงหรือเปล่า ไม่ได้จริงใจหรอกที่จะเอาเอกราชเหมือนเดิม พวกเขาเหล่านี้อาจจะไม่รอ อาจจะโกรธแค้น และฉีกไปในแนวทางสุดโต่งมากขึ้น ด้วย scenario ที่มองว่า น่าจะเป็นคนที่เป็นรุ่นหนุ่ม ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการก่อเหตุโดยไม่ได้คำนึงถึงผลเชิงยุทธศาสตร์มากนัก
มีความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อเหตุอาจจะมาจากพื้นที่สามจังหวัด แต่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของขบวนการโดยตรงด้วยหรือเปล่า
อีกแนวคิดหนึ่งก็มองว่า 12 ปีเป็นอย่างน้อยของความรุนแรงที่เกิดขึ้น มันเป็นเป็นเวลาที่นานพอที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อุตสาหกรรมความมั่นคง’ และ ‘อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง’ แปลว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถมีอาชีพขึ้นมาได้จากความรุนแรงที่หล่อเลี้ยงอยู่
เช่น ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน การค้ายาเสพติด อาชญากรรมต่างๆ ในเชิงทฤษฎีแล้ว กลุ่มอาชญากรรมและกลุ่มก่อการร้ายมักจะมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่ในพื้นที่ต่างๆ มีเหมือนกันหมด อิรักก็มี ซีเรียก็มี อาจจะลิงค์กันในลักษณะใดก็แล้วแต่ เช่น คนประกอบระเบิดอาจเป็นกลุ่มอาชญากรรมด้วย เป็นต้น
เพราะฉะนั้นในอีกแนววิเคราะห์หนึ่ง เช่น ปกรณ์ พึ่งเนตร ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในภาคใต้มานาน เขามองว่า จะเป็นไปได้มากกว่าว่า เป็น ‘ฟรีแลนซ์’ คือผู้วางระเบิดเป็นฟรีแลนซ์
ถามว่าทำทำไม หนึ่ง – แม้กระบวนการพูดคุยอาจจะชะงัก แต่มันยังคงอยู่ และมันมีความมั่นใจบางอย่างที่รู้สึกว่า ยังไงก็แล้วแต่ ฝ่ายรัฐไทยก็ไม่ตัดกระบวนการนี้ทิ้ง มาราปาตานีก็ยังคงคุย สอง – เดือนตุลาคมจะมีการถอนกำลังออก สาม – มีการรุกคืบระดับพื้นที่ มันมีแนวโน้มที่ทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้มีพลวัตเปลี่ยนไปสู่สถานการณ์ใหม่ที่ไม่ใช่แบบที่เป็นอยู่
ในขณะที่ภาคประชาสังคมในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนา CSO ต่างๆ มีความมั่นใจมากขึ้นในการมาบอกว่า เราไม่เอาความรุนแรง เราประณามทุกความรุนแรงนะ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการไหนก็แล้วแต่ แม้กระทั่งล่าสุด มีพระรูปหนึ่งออกมาพูดว่า ถ้ามีอีกศพหนึ่งนะ จะให้ฆ่าโจรใต้ให้หมดเลย องค์กรสงฆ์ปัตตานีก็ออกมาบอกว่า แบบนี้ไม่ถูกต้อง นั่นแปลว่า ฝ่ายภาคประชาสังคมในสามจังหวัดค่อนข้างมีความเข้มแข็งขึ้น และอยู่ตรงข้ามกับความรุนแรง ทิศทางแนวโน้มมีโอกาสจะคลี่คลาย
แต่ขณะเดียวกัน บรรดาฟรีแลนซ์ หรือนักอุตสาหกรรมความไม่มั่นคงเหล่านี้ 12 ปีมันมากพอที่จะทำให้เขารู้สึกว่า นี่อาชีพฉัน และดังนั้น อยากให้สถานการณ์มันเป็นแบบนี้แหละ เดินหน้าต่อไป อย่าคลี่คลายไปเป็นแบบอื่น
ก็เลยคิดกันว่าอาจจะเป็นฟรีแลนซ์มากที่สุด?
ก็เป็นอีก scenario หนึ่ง หนึ่ง – อาจจะเป็นกลุ่มที่แตกตัวออกมาจาก BRN สอง – ก็คืออาจะเป็นฟรีแลนซ์หรือผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากความรุนแรงที่ยังคงอยู่
มีความพยายามเชื่อมโยงกับเรื่องการทำประชามติบ้างหรือเปล่า
ครับ เพราะก่อนหน้าประชามติก็มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แล้วก็ระเบิดหลายจุดในยะลา นราธิวาส และยังเลือกวันที่เป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วย
มีนัยยะเลยใช่ไหม
นัยยะของการปฏิเสธรัฐไทย แต่ปฏิเสธจริงไหม หรือถ้าเป็นฟรีแลนซ์ ถ้าผมเป็นคนที่อยากให้ความรุนแรงคงอยู่ ผมก็ต้องเลือกวันแบบนี้ พื้นที่แบบนั้น ขณะที่ปีกการทหารของ BRN ก็คงเลือกแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้นการเลือกวันหรือพื้นที่ มันก็อาจจะไม่ได้บอกว่าเป็นใคร
ถ้าจะสรุปแนวทางในอนาคตของสามจังหวัดโดยรวม ก็ต้องดูทิศทางของแต่ละกลุ่มใช่ไหม
ใช่ครับ มันไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานานมาก เป็นสิบๆ ปี อย่างน้อยที่สุดกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขมันยังคงต้องรักษา และต้องทำให้เห็นความจริงจังในการเดินหน้าให้เร็วขึ้น ให้มากขึ้นกว่าตอนนี้ เพื่อให้คนฝ่ายต่างๆ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มติดอาวุธ ผู้ที่นิยมฝ่ายขบวนการ เขาเล็งเห็นว่า ขบวนการนี้เวิร์ค เขาจะได้กระโดดเข้ามาสู่วงนี้ ไม่ไปเลือกวิธีการใช้ความรุนแรง
ในทุกๆ เหตุการณ์ ความรุนแรงที่มันคลุมเครือแบบนี้ หนึ่ง – คือมี spoiler หรือพวกที่ก่อกวน ผู้ที่รู้สึกว่าจะสปอยล์เหตุการณ์ คือฉันไม่ได้อะไรจากเหตุการณ์นี้หรอก แต่ฉันเกลียดมัน ก็ไม่เอา ไม่คุย ไม่คุยกับพวกซีแย
หรือฝ่ายทหารเองก็ต้องยอมรับว่า มีคนที่ยังไงก็ไม่เห็นด้วยกับการเจรจา เขาก็อาจจะใส่เกียร์ว่าง หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ อันนี้ไม่ได้เบลมใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะครับ แต่ในเชิงทฤษฎี มันเป็นไปได้ที่จะเกิด spoiler
สุดท้ายแล้ว เราพบว่า การที่มีปีกของคู่ขัดแย้งที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้แนวทางสันติวิธี มันมีอยู่ในทุกเหตุการณ์ แล้วกลุ่มเหล่านี้จะแตกตัวออก ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุดก็คือ มินดาเนา ในวันที่ MILF (Moro Islamic Liberation Front) ทำข้อตกลงบังซาโมโร (Bangsamoro Republik) กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ มันก็มีกลุ่มสุดโต่งที่แตกตัวออก แล้วบอกว่า ฉันยืนยันการใช้อาวุธต่อไป ขณะเดียวกันเมื่อข้อตกลงนี้บรรลุผล แล้วกำลังจะไปสู่การบัญญัติในกฎหมายเพื่อที่จะให้ปกครองตนเอง และข้อตกลงในการปกครองพื้นที่มินดาเนาในแบบใหม่ กลุ่ม MNLF ซึ่งเคยตกลงกับรัฐบาลมาก่อน ก็กลับมาก่อเหตุอีกครั้งหนึ่ง เพราะตัวเองหลุดออกจากกรอบการเจรจาอันนั้น นั่นคือพลวัตที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ความรุนแรงแต่ละที่ มันไม่จบเลย มันเป็นพลวัตที่เราต้องยืนยันและรักษาแนวทางสันติกันต่อไป เพราะไม่มีทางเลือกอื่น ก็ใช้กำลังทหารมา 12 ปี ได้ผลไหม ก็เป็นคำตอบที่ดีอยู่แล้ว
ถ้าเปรียบเทียบภาพรวมของชาติต่างๆ เพราะเหตุใดกลุ่มอิสลามจึงมีข้อขัดแย้งกับรัฐ และมีการต่อต้านด้วยความรุนแรงเสมอๆ
ถ้ามองในแง่ของชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม ผมว่าปัญหาในเคสแบบนี้มันเกิดมากไม่ใช่ปัจจัยเรื่องมุสลิมหรือไม่เป็นมุสลิม แต่มันเกิดมากในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเปิดกว้างเพียงพอในทางการเมือง
เราพบว่า ปัญหาแบบนี้ เรื่องชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในรัฐ มันไม่ใช่แค่มลายูมุสลิม ชนกลุ่มน้อยชาวเขา ปกากะญอ กะเหรี่ยง ก็ไม่แพ้กัน บิลลี่ก็โดนอุ้ม ก็เหมือนกัน เพียงแต่ว่าคนเหล่านั้นเขาอยู่กันกระจายๆ ไม่มาก แต่มลายูมุสลิมมีพื้นที่ของตัวเอง และเป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่นั้น นั่นคือความสามารถในการที่จะต่อสู้ต่อรองอย่างมีพลัง ไม่ว่าจะใช้การทหารหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่โจทย์ของการต่อสู้นั้นคือการเปิดพื้นที่ทางการเมือง
กรณีมินดาเนาก็เช่นเดียวกัน เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกความศิวิไลซ์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของฟิลิปปินส์ เราพบว่าเดินออกไปถนนยังเป็นลูกรัง น้ำประปายังมาไม่ครบทุกเวลา ไฟฟ้าก็ตัดบางเวลา แต่ฝั่งตรงข้ามเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ล้อมรั้วลวดหนาม แล้วก็มีบริษัทของตะวันตกที่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ 24 ชั่วโมง เราเจอแบบนั้นในพื้นที่ของเรา ซึ่งเราไม่ได้อะไรเลย นั่นก็เป็นโจทย์ในเรื่องของความไม่เป็นธรรมได้ แต่เมื่ออัตลักษณ์มันแตกต่างกัน มันเลยยิ่งถลำลึกความขัดแย้ง เส้นแบ่งของงการเผชิญหน้ามันมีอีกเส้นหนึ่งทับลงมา ทับให้เป็นตัว bold (ตัวหนา) ก็คือความแตกต่างกัน ความเป็นอื่นไปจากเรา
อาจารย์เคยไปดูกระบวนการที่มินดาเนาด้วยใช่ไหม
ไปแล้วครับ เขาให้ไปดูกระบวนการเจรจาสันติภาพ แต่พอไปถึงรถฮัมวีนำหน้า ห้ามออกจากโรงแรม เขามี ARMM (Autonomous Region in Muslim Mindanao) ตัวแทนฝ่ายการทหารของรัฐ ตัวแทนขององค์การระหว่างประเทศ และตัวแทนของฝ่ายโมโร คือ MILF เขาก็จะตั้งอย่างประเจิดประเจ้อเลย เสมือนกับว่ายอมรับการดำรงอยู่ แต่การจะเข้าเขตพื้นที่ ต้องขออนุญาต ยกเว้น UN หรือองค์การระหว่างประเทศไม่ต้องขอ แล้วพอเข้าไป ความหวาดระแวงมันยังเยอะ เพียงแต่ว่ามันยืนยันแล้วว่าจะมีการเจรจา ยืนยันแล้วว่าจะหาทางออกโดยการทำให้คนตายน้อยที่สุด มันก็ต้องเดินหน้าต่อ
สิ่งที่ยังเป็นโจทย์ ที่ผมเชื่อว่าทางสามจังหวัดยังไม่ค่อยเห็นใครตอบกัน สมมุติว่ามันผ่านพ้นกระบวนการตรงนี้ไปแล้ว ไปสู่การคิดถึงคำตอบ หรือทางออกทางการเมืองบางอย่างร่วมกันได้แล้ว มลายูมุสลิมจะออกแบบการปกครองตัวเองยังไง ยังไม่เห็นคำตอบ มีคำตอบแค่ว่า ฉันไม่เอารัฐไทยแบบนี้ แต่จะกระจายอำนาจแบบพิเศษ เป็นเมืองพิเศษ อยากจะลงประชามติ เอาเอกราช หรืออยากอยู่กับรัฐไทยแบบนี้ แต่กระจายอำนาจให้มากขึ้น เวอร์ชั่นไหน จะเอาแบบไหน ยังไม่มีพื้นที่ของการพูดคุยตรงนี้ ซึ่งผมเชื่อลึกๆ ว่า ถ้าเราเปิดพื้นที่การคุยตรงนี้ มันอาจจะไม่ถึงเอกราชก็ได้
โดยส่วนตัวคิดว่าคำตอบคืออะไร
ไม่มี ไม่มีการคิดกัน ในหมู่นักวิชาการ ผมเชื่อว่ามีช่วงหนึ่งที่เราพยายามเสนอเรื่องของท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจากโมเดลต่างๆ เช่น ปัตตานีมหานคร ก็ดูตอบรับดีจากพื้นที่พอสมควร แต่ตัวเขาคิดยังไง เรายังไม่มีพื้นที่ให้คนในพื้นที่ได้พูดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นไปได้ไหมที่เราจะเปิดพื้นที่ตรงนี้ โดยอาจจะไม่สนใจเรื่องข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เสียงตรงกลางมันดังขึ้น เพราะทุกวันนี้คนตรงกลางประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ ถูกเคลมความเห็นโดยสองฝ่าย คือรัฐไทยกับขบวนการ